ฟุเง็งโบะซะสึ (สมันตภัทรโพธิสัตว์)
(Fugen Bosatsu zo)

พุทธจิตรกรรมของญี่ปุ่นซึ่งเป็นผลงานขั้นเอกอุชิ้นหนึ่ง วาดขึ้นในสมัยเฮอังเมื่อศตวรรษที่ 12 นี่คือผลงานที่ถ่ายทอดจากเนื้อความตอนหนึ่งใน “สัทธรรมปุณฑรีกสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรในพุทธศาสนาและมีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าในญี่ปุ่นตอนนั้น ภาพนี้คือสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงช้างเผือกที่มีงา 6 กิ่ง ประทับท่ามกลางดอกไม้จาง ๆ ที่ร่วงโปรยปราย โดยปรากฏพระองค์จากแดนบริสุทธิ์ทางตะวันออกอันไกลโพ้นต่อสายตาของผู้นับถือ ภาพมีความยาวแนวตั้ง 158.8 เซนติเมตร ความกว้างแนวนอน 74.8 เซนติเมตร วาดบนผ้าไหมโดยใช้สีที่ทำจากแร่ ลงลายเส้นสีทองสีเงิน ในภาพมีลายสวยงามสะดุดตาที่ทำขึ้นโดยทักษะที่เรียกว่า “คิริกะเนะ” ซึ่งเป็นการตัดทองเปลวให้เป็นริ้วละเอียดและติดลงไป ภาพนี้สะท้อนความนิยมในสุนทรียภาพชั้นเลิศของขุนนางที่กุมหัวใจสำคัญด้านการเมืองและวัฒนธรรมในสมัยนั้น ทว่าเบื้องหลังที่ทำให้เกิดผลงานงดงามชิ้นนี้ขึ้นยังมีเหตุผลอื่นอีกด้วย