ถาม-ตอบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

คณะผู้เชี่ยวชาญของ NHK ตอบคำถามจากคุณผู้ฟังเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ความท้าทายของระบบการรักษาอาการลองโควิด

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด ครั้งนี้เกี่ยวกับความท้าทายในการสร้างระบบรักษาอาการลองโควิด

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้เผยแพร่คู่มือเพื่อขอให้ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการลองโควิดไปยังสถาบันทางการแพทย์ในท้องถิ่นหรือปรึกษาแพทย์ที่ไปพบอยู่เป็นประจำ แต่กล่าวกันว่าคลินิกในชุมชนบางแห่งไม่สะดวกใจที่จะรักษากลุ่มคนเหล่านี้ หรือปฏิเสธพวกเขา โดยบอกว่าพวกเขาจินตนาการไปเอง

นายแพทย์โมริโอกะ ชินอิจิโร จากศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติแห่งชาติชี้ว่า การวางระบบให้ผู้คนที่บอกว่าพวกตนมีอาการลองโควิดสามารถเข้ารับการรักษาได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ

เขากล่าวว่างานวิจัยแสดงให้เห็นว่าราว 1 ใน 4 ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงเผชิญอาการบางอย่างแม้จะผ่านมาแล้ว 18 เดือนก็ตาม และเมื่อพิจารณาถึงเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีสถานที่มากขึ้นที่รับพวกเขาเข้ารักษา

นายแพทย์โมริโอกะกล่าวว่าการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยเช่นว่านี้อาจใช้เวลานานกว่าปกติ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอาการและรายละเอียดอื่น ๆ เขากล่าวว่าด้วยเหตุนี้อาจทำให้สถาบันการแพทย์บางแห่งรับผู้ป่วยได้น้อยลง แต่เขาเชื่อว่าต้องดำเนินความพยายามเพื่อพิจารณาเรื่องปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการเก็บค่ารักษาพยาบาลด้วย

ทางกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นกำลังขอให้ทุกจังหวัดทั่วญี่ปุ่นร่างรายชื่อของสถาบันการแพทย์ ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดและให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายในวันที่ 28 เมษายน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2566)

สถาบันทางการแพทย์รักษาอาการลองโควิดอย่างไร

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด ครั้งนี้เกี่ยวกับว่าสถาบันทางการแพทย์รักษาอาการลองโควิดอย่างไร

สถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งโรงพยาบาลคิตาโนะในเมืองโอซากาเป็นหนึ่งในสถาบันทางการแพทย์ที่มีแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเชี่ยวชาญในการรักษาอาการลองโควิด

แพทย์ประจำแผนกดังกล่าวจะตัดสินว่าอาการของผู้ป่วยนั้นเกี่ยวข้องกับโควิด-19 หรือเกิดจากโรคอื่น โดยใช้วิธีสอบถามอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด

นายแพทย์มารูโมะ ซาโตชิ จากโรงพยาบาลแห่งนี้ระบุว่า การตัดสินขั้นแรกเป็นสิ่งสำคัญเพื่อดูว่าผู้ป่วยเผชิญอาการตามหลังจากโรคโควิด-19 หรือจากโรคอื่น ๆ เนื่องจากโรคเรื้อรังทั้งหลาย เช่น อาการทางข้อรูมาตอยด์ อาจย่ำแย่ลงเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เขากล่าวว่าการวินิจฉัยอย่างแม่นยำจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่แผนกซึ่งเชี่ยวชาญในการรักษาอาการนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ

เขายังกล่าวด้วยว่าบางคนที่บอกว่าตนเป็นลองโควิดมีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากความกังวลอย่างมากที่เกิดจากสุขภาพที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์มารูโมะกล่าวว่าในบางกรณี อาการทั้งหลายเกิดจากความกังวลว่าอาจเกิดอาการตามหลัง เขากล่าวว่าร้อยละ 60 ของผู้คนในวัยทำงานที่อยู่ในช่วงวัย 40 ถึง 50 ปี ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไม่สามารถกลับไปทำงานได้โดยเร็วหลังจากที่หายแล้ว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2566)

การรักษาอาการลองโควิด

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด ครั้งนี้เกี่ยวกับว่าจะรักษาอาการลองโควิดได้อย่างไร

ศาสตราจารย์คุตสึนะ ซาโตชิ จากมหาวิทยาลัยโอซากากล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ว่ายังไม่มีการรักษาใดที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิผลในการรักษาอาการตามหลังของโรคโควิด-19 เขากล่าวว่าหากต้องการเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเผชิญอาการลองโควิด การดำเนินขั้นตอนเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อหรือไปเข้ารับวัคซีน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

นายแพทย์โมริโอกะ ชินอิจิโร จากศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติแห่งชาติกล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการวิจัยทางคลินิกว่าด้วยการรักษาที่หลากหลาย ผลของการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงซึ่งใช้กับอาการทางประสาทนั้นมีแนวโน้มที่ดี ตลอดจนยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาแบบรับประทานของไฟเซอร์

นอกจากนี้ บริษัทชิโอโนงิของญี่ปุ่นก็กำลังศึกษาว่ายาโซโควาซึ่งเป็นยาใหม่สำหรับรับประทาน สามารถบรรเทาอาการบางอย่างของอาการตามหลังจากโรคโควิด-19 ได้ นับจนถึงปัจจุบัน ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 14.5 ของผู้ป่วยที่ใช้ยาโซโควารักษาระบุว่า หลังจากผ่านมา 6 เดือน พวกตนเผชิญอาการอย่างน้อย 1 ใน 14 อาการที่เกี่ยวเนื่องกับลองโควิด เช่น ไอหรือเหนื่อยอ่อน สัดส่วนดังกล่าวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 26.3

บริษัทชิโอโนงิระบุว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาโซโความีความเสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 45 ที่จะเผชิญอาการตามหลังจากโรคโควิด-19

ส่วนความคืบหน้าอื่น ๆ ในญี่ปุ่นนั้น มีรายงานหลายฉบับที่ระบุว่าการบำบัดด้วยการถูแรง ๆ ในจมูกโดยใช้ก้านสำลีได้ช่วยบรรเทาหลายอาการที่เกี่ยวเนื่องกับลองโควิด โดยประสิทธิผลของการรักษาด้วยวิธีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม สถาบันทางการแพทย์บางแห่งกำลังใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยลองโควิด

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่เป็นรูปธรรมเนื่องจากยังอยู่ระหว่างขั้นวิจัย แต่การรักษาบางแนวทางแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดีว่าจะเป็นวิธีรักษาลองโควิดที่เป็นไปได้ในอนาคต

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2566)

จะวินิจฉัยอาการลองโควิดได้อย่างไร

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด ครั้งนี้เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องวิธีการวินิจฉัย หากผู้ป่วยเผชิญอาการต่าง ๆ จากอาการตามหลังของโรคโควิด-19

ศาสตราจารย์อิวาซากิ อากิโกะ จากมหาวิทยาลัยเยล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาที่ศึกษาเรื่องลองโควิด ศาสตราจารย์อิวาซากิและคณะกำลังศึกษาว่าการทดสอบแบบใดที่สามารถตัดสินได้ว่าผู้ป่วยเป็นลองโควิดหรือไม่

พวกเขากำลังพยายามหาคำตอบว่ามีสารที่เป็นสารเฉพาะซึ่งตรวจพบในเลือดของผู้ป่วยลองโควิดหรือไม่ หรือผู้ป่วยมีฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนเฉพาะอยู่ในระดับสูงหรือไม่ สิ่งนี้ก็เพื่อจะได้กำหนดวิธีที่จะวินิจฉัยอาการป่วยด้วยการตรวจเลือดได้

ขณะนี้ ทางคณะวิจัยกำลังมุ่งเน้นไปที่ระดับของคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนสเตียรอยด์ ฮอร์โมนดังกล่าวทำหน้าที่คอยกดระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ เป็นที่ทราบกันว่าระดับของคอร์ติซอลในเลือดจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่คนเราตื่นนอนตอนเช้า เลยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉง

การวิจัยของศาสตราจารย์อิวาซากิและคณะพบว่า ระดับคอร์ติซอลในเลือดของผู้ที่เป็นลองโควิดในช่วงตื่นนอนนั้น มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นลองโควิดอย่างมาก งานวิจัยนี้ได้เปิดเผยลักษณะบางอย่างของลองโควิดแต่ยังมีอะไรอีกมากมายเกี่ยวกับกลไกของลองโควิดที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2566)

สมมติฐานเกี่ยวกับกลไกของอาการลองโควิด

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด ครั้งนี้เกี่ยวกับสมมติฐานในปัจจุบันว่าด้วยเรื่องกลไกของลองโควิด

นับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบถึงกลไกของผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวอันเป็นผลจากโรคโควิด-19

ศาสตราจารย์อิวาซากิ อากิโกะ จากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาที่ศึกษาผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่คงอยู่เป็นเวลานาน ได้คิดสมมติฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับกลไกของลองโควิด ดังต่อไปนี้

- ถึงแม้อาการที่ปรากฏช่วงแรก ๆ เช่น ไอหรือมีไข้ ได้หายไปแล้ว แต่ไวรัสนี้หรือเศษของไวรัสที่แตกออกมายังคงอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเป็นระยะเวลานาน
- ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งตามปกติแล้วจะคอยปกป้องร่างกายของเรา กลับเริ่มที่จะโจมตีร่างกายตัวเองหลังจากที่ติดเชื้อ
- อวัยวะที่เสียหายจากการติดเชื้อต้องใช้เวลานานเพื่อเยียวยา
- ไวรัสโรคเริมหรือไวรัสอื่น ๆ ที่อยู่ในร่างกายอยู่แล้ว ถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวจากการติดโควิด-19

ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าวว่า “พอเราเริ่มทำความเข้าใจว่าแอนติเจนของเชื้อไวรัส (ส่วนหนึ่งของไวรัส) หรือ RNA (ยีนของไวรัสโคโรนา) ยังคงอยู่ในหลายส่วนของร่างกาย ถึงแม้จะผ่านไปหลายเดือนหลังจากติดเชื้อแล้วก็ตาม สมมติฐานที่ว่าการติดเชื้อไวรัสนี้จึงดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน เลยได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ห้องปฏิบัติการของเรามีแผนที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับการรักษาปัญหาเรื้อรังด้วยการใช้ยาโควิดต่าง ๆ”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2566)

อาการตามหลังที่เกิดจากโรคโควิด-19 ณ ช่วงหนึ่งหลังหายจากโรคนี้

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด ครั้งนี้เกี่ยวกับผลสำรวจเรื่องสัดส่วนของผู้ที่ยังเผชิญอาการตามหลังจากโรคโควิด-19 ณ ช่วงเวลาหนึ่งหลังหายจากโรคนี้

ผลสำรวจในญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้คนที่เผชิญอาการตามหลังจากโรคโควิด-19 นั้นแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ผ่านไป หลังจากที่พวกเขาหายจากโรคนี้

ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยศาสตราจารย์คุตสึนะ ซาโตชิ จากมหาวิทยาลัยโอซาการ่วมกับเมืองโทโยนากะ ในจังหวัดโอซากา โดยเก็บข้อมูลผู้อยู่อาศัยในเมืองนี้ราว 26,000 คน ที่เคยติดโควิด-19 นับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปี 2565 ผ่านทางอีเมลและทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ

มีผู้ตอบการสำรวจกว่า 4,000 คน ร้อยละ 47.7 ของผู้ตอบกล่าวว่า พวกตนยังคงมีอาการต่าง ๆ หลังจากแยกกักตัวมาแล้ว 10 วัน ร้อยละ 5.2 ระบุว่าพวกตนมีผลพวงบางอย่าง 1 เดือนหลังจากเริ่มเป็นโควิด-19 และร้อยละ 3.7 มีอาการตามหลังเหล่านี้ 2 เดือนหลังจากที่เริ่มป่วย

ผลสำรวจยังพบด้วยว่าผู้ที่มีอาการหนัก มีแนวโน้มมากกว่าที่จะเผชิญอาการตามหลังทั้งหลาย และผู้ที่เข้ารับวัคซีนแล้วมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะเผชิญอาการเหล่านี้

ศาสตราจารย์คุตสึนะกล่าวว่าเราต้องพิจารณาประเด็นที่ว่า ผู้ที่เผชิญอาการต่าง ๆ มีแนวโน้มมากกว่าที่จะตอบแบบสำรวจในลักษณะนี้ แต่การสำรวจในเมืองโทโยนากะแสดงผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับผลสำรวจที่ดำเนินการในต่างประเทศ เช่น ผลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอาการหนักและผู้ที่เคยเข้ารับวัคซีนแล้ว ในหลายกรณี อาการต่าง ๆ จะหายไปเมื่อเวลาผ่านไป แต่บางคนก็เผชิญอาการเหล่านั้นเป็นระยะเวลานาน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2566)

ความเสี่ยงที่เกิดจากอาการลองโควิด

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด โดยเป็นเรื่องของการวิเคราะห์เชิงรายละเอียดของใบเสร็จค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ โดยมุ่งหาข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของลองโควิด

คณะที่นำโดยศาสตราจารย์ฮิราตะ อากิมาซะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโงยะได้วิเคราะห์ใบรับรองค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ซึ่งระบุชื่อโรคและการรักษา โดยเก็บข้อมูลจากผู้คน 1.25 ล้านคนที่จ่ายค่ารักษาทางการแพทย์ไม่ถึง 200,000 เยนต่อปี สิ่งนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังร้ายแรง

คณะวิจัยเก็บข้อมูลเพื่อดูความแตกต่างของสัดส่วนผู้คนที่มีอาการพบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้ป่วยลองโควิด โดยเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่เคยติดโควิด-19 กับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ ทางคณะวิจัยมุ่งเน้นไปยัง 10 อาการซึ่งรวมถึงความรู้สึกเหนื่อยล้าและปวดศีรษะ

คณะวิจัยเริ่มที่การวิเคราะห์ข้อมูลจากช่วงเวลา 1 ปีนับจนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงระบาดระลอกที่ 1 ถึง 3 ในญี่ปุ่น ราวร้อยละ 3 ของผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสนี้เลย มาโรงพยาบาลเพราะมีอาการ 10 อาการนี้ แต่ในกลุ่มของผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ราวร้อยละ 16 คิดเป็นประมาณ 5 เท่าของตัวเลขของผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสนี้

ในช่วงการระบาดระลอกที่ 4 และ 5 สัดส่วนดังกล่าวในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วสูงกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อประมาณ 6 เท่า และในการระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งสายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว คณะวิจัยพบว่าความแตกต่างดังกล่าวค่อนข้างน้อย โดยนับจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ความแตกต่างของสองกลุ่มนี้อยู่ที่ 3 เท่า

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าการวิเคราะห์นี้ดำเนินการแค่กับใบเสร็จค่ารักษาทางการแพทย์เท่านั้น และไม่เพียงพอที่จะหาความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสนี้กับอาการต่าง ๆ แต่เขากล่าวว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนที่ติดเชื้อมักจะไปโรงพยาบาลเพราะคิดว่าเป็นอาการลองโควิด และว่าในช่วงการระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด พบว่าความแตกต่างนี้น้อยลง ซึ่งอาจชี้เป็นนัยได้ถึงประสิทธิผลของวัคซีนและความรุนแรงที่ก่อให้เกิดโรคของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นลดลงไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2566)

ผลสำรวจในญี่ปุ่นเกี่ยวกับอาการหลังหายจากโรคโควิด-19

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด โดยเป็นเรื่องของผลสำรวจในญี่ปุ่นเกี่ยวกับอาการหลังหายจากโรคโควิด-19

คณะนักวิจัยที่นำโดยโมริโอกะ ชินอิจิโร จากโรงพยาบาลแห่งศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติแห่งชาติได้เก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการหลังหายจากโควิด-19

ผู้ร่วมวิจัยมีจำนวน 502 คน อายุตั้งแต่ 20 ถึง 79 ปี ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ที่รวมถึงผู้เข้ารับการรักษาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงพฤศจิกายน 2564

ร้อยละ 32.3 ของผู้ตอบกล่าวว่าพวกเขามีอาการ 6 เดือนหลังหายจากโควิด-19 ร้อยละ 30.5 มีอาการหลังหายจากโควิด-19 แล้ว 12 เดือน ร้อยละ 25.8 มีอาการหลังจากนั้น 18 เดือน ซึ่งเท่ากับประมาณ 1 ใน 4 คน

คณะวิจัยยังได้ถามถึงลักษณะอาการที่พวกเขาเผชิญ 1 ปีหลังหายจากโรคนี้ ร้อยละ 11.7 มีอาการเกี่ยวกับความจำ, ร้อยละ 11.4 สมาธิสั้น, ร้อยละ 10.3 มีปัญหาเรื่องการรับกลิ่น และร้อยละ 9.1 มีอาการสมองล้าหรือมีความรู้สึกว่าไม่สามารถคิดอ่านได้อย่างแจ่มแจ้งเหมือนที่เคย, ร้อยละ 7.5 รู้สึกซึมเศร้า, ร้อยละ 5.9 มีปัญหาเรื่องการรับรส, ร้อยละ 5.6 หายใจไม่อิ่ม, ร้อยละ 3.8 รู้สึกอ่อนล้า และร้อยละ 3.5 ผมร่วง

คณะวิจัยพบว่าปัญหาเรื่องการรับรส ผมร่วง และสมาธิสั้น มีแนวโน้มมากกว่าที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกับผู้หญิง ส่วนอาการหายใจไม่อิ่ม ไอ และรู้สึกอ่อนล้า เป็นอาการเรื้อรังในกลุ่มผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 แล้วมีอาการปานกลางหรืออาการหนัก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2566)

อาการหลังหายจากโรคโควิด-19 แล้วเป็นอย่างไร

หลายประเทศได้เริ่มรักษาโรคโควิด-19 ในฐานะโรคติดเชื้อทั่วไปแล้ว แต่ยังคงต้องรับมือกับผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่เรียกกันว่าลองโควิด เราจะนำเสนอข้อมูลที่พบล่าสุดเกี่ยวกับอาการหลังหายจากโรคโควิด-19

องค์การอนามัยโลกจำแนกอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 ไว้ดังต่อไปนี้

ตามปกติแล้ว อาการของลองโควิดปรากฏขึ้นในช่วง 3 เดือนนับตั้งแต่ที่เริ่มป่วยเป็นโควิด-19 อาการเหล่านั้นจะคงอยู่ไปอย่างน้อย 2 เดือน และเป็นอาการที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เราจะมองว่าอาการเหล่านั้นเป็นลองโควิด ก็ต่อเมื่อตรงตามรายละเอียดทั้ง 3 ข้อนี้

อาการลองโควิดนั้นมีลักษณะเฉพาะที่รวมถึงการเหนื่อยล้า, หายใจไม่อิ่ม, ความจำผิดปกติ, สมาธิสั้น และปัญหาเกี่ยวกับการรับกลิ่นและรับรส

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่ามีผู้ป่วยที่รายงานว่าเกิดอาการต่าง ๆ มากถึง 50 อาการ ส่วนความถี่ของอาการลองโควิดที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าผู้ป่วยแสดงอาการบางอย่างหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถือเป็นเรื่องยากมากที่จะตัดสินว่าอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสนี้หรือไม่ หรือเป็นอาการจากสาเหตุอื่น ๆ

โมริโอกะ ชินอิจิโร แพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติแห่งชาติกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมอาการที่คงอยู่เป็นเวลานานจึงเกิดขึ้นหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และยังไม่ทราบกลไกที่อาการเหล่านี้ก่อตัวขึ้นมา เขากล่าวว่าจำเป็นต้องตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อตัดสินว่าอาการที่ผู้ป่วยเผชิญนี้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จริงหรือไม่ และจากนั้นก็หาทางรักษาอาการดังกล่าว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2566)

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะเสนอมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ศาสตราจารย์ทาเตดะ คาซูฮิโระ จากมหาวิทยาลัยโทโฮ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า เขาไม่คิดว่าการยุติการตรวจหาเชื้อและการรักษาฟรี จะทำให้ผู้คนไม่อยากไปพบแพทย์เมื่อสงสัยว่าติดเชื้อ เนื่องจากการชำระค่าใช้จ่ายด้วยตนเองเกือบจะเท่ากับยอดที่ผู้ซึ่งสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ต้องจ่ายเมื่อไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่ายาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น อาจต้องจ่ายแพง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงควรให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอไปอีกระยะหนึ่งและดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

รัฐบาลมุ่งที่จะให้มีคลินิกและโรงพยาบาลมากขึ้นที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังจากที่มีการจัดประเภทของโรคโควิด-19 มาเป็นประเภทที่ 5 ศาสตราจารย์ทาเตดะกล่าวว่าด้วยเหตุนี้ อาจทำให้เกิดความสับสนหากสถาบันทางการแพทย์ซึ่งไม่ได้ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน แต่อยู่ดี ๆ กลับมีการขอให้รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษา

เขากล่าวว่าควรมีการขอให้สถาบันทางการแพทย์ร่วมมือในระดับที่สามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่กดดันตนเองมากจนเกินไป และชี้ว่าสถาบันทางการแพทย์ส่วนใหญ่ให้การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว และถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องค่อย ๆ เพิ่มจำนวนของสถานที่ที่เปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษา ด้วยการขอให้สถานที่เหล่านี้เพิ่มมาตรการต้านการติดเชื้อทีละน้อย ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีอยู่แล้วเพื่อใช้กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

เขากล่าวว่ามาตรการเหล่านี้รวมถึงการทำให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะเว้นระยะห่างจากกัน ตลอดจนการระบายอากาศอย่างเหมาะสมด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2566)

โรงพยาบาลรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะเสนอว่าโรงพยาบาลทั้งหลายมีแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยยกตัวอย่างเป็นคลินิกหนึ่งในกรุงโตเกียว

สถาบันการแพทย์บางแห่งซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาได้ ขณะนี้มีการพิจารณาที่จะรับผู้ป่วยแล้ว เนื่องจากสถาบันการแพทย์เหล่านี้จะสามารถทำเช่นนั้นได้เมื่อมีการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่

ดร. คิจิมะ ฟูจิโอะเป็นผู้อำนวยการคิจิมะคลินิกในเขตชินจูกุของกรุงโตเกียว ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มแพร่ระบาดในญี่ปุ่น ดร. คิจิมะมีความคิดเกี่ยวกับการเปิดรับผู้ป่วยที่เป็นโรคโควิด-19 แต่เขาตัดสินใจไม่ทำเช่นนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยคนอื่น ๆ เนื่องจากคลินิกของเขาไม่ได้สร้างให้สามารถแยกผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงด้านการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่ตามแผนที่วางไว้นั้น ดร. คิจิมะจึงพิจารณาว่าเขาจะสามารถเริ่มรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้อย่างไร และเริ่มดำเนินการด้วยการขอให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อทำนัดหมายผ่านทางโทรศัพท์ โดยกำหนดช่วงเวลาที่ไม่มีผู้ป่วยคนอื่น ๆ อยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ของคลินิกต้องระบายอากาศและฆ่าเชื้อโรคภายในห้องหลังจากที่ผู้ป่วยคนนั้นออกไป

ถึงแม้จะดำเนินการป้องกันไว้ก่อนแล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถขจัดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยอื่น ๆ จะต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน เจ้าหน้าที่ของคลินิกก็ยังมีความกังวลอยู่

ดร. คิจิมะกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ของคลินิกสามารถเตรียมพร้อมเพื่อต้านการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยอาจไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ เขาต้องดำเนินมาตรการอย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะติดเชื้อให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการหาโรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษา

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการหาโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษา

ปัจจุบัน สถาบันต่าง ๆ เช่น ศูนย์สาธารณสุขของภาครัฐทำหน้าที่ประสานหาโรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้ารักษา แต่รัฐบาลระบุว่าหลังจากที่มีการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่ ความรับผิดชอบดังกล่าวจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเชิงหลักการ

ในขั้นแรก โรงพยาบาลเหล่านี้จะเริ่มประสานงานกันว่าโรงพยาบาลใดจะรับผู้ป่วยเข้ารักษา แต่ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยเท่านั้น แต่หลังจากฤดูใบไม้ร่วง การหาโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยอาการหนักเข้ารักษาก็จะเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลทั้งหลายเช่นกัน

เพื่อให้ดำเนินการเช่นนั้นได้ จึงมีการส่งเสริมให้โรงพยาบาลใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีข้อมูล เพื่อให้สามารถแบ่งปันข้อมูลเรื่องเตียงว่างระหว่างโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ทางการของจังหวัดก็อาจใช้ระบบที่มีอยู่ เช่น คณะทำงานด้านการย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามสถานการณ์ของจังหวัด เพื่อทำให้ช่วงรอยต่อเป็นไปอย่างราบรื่น

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นจะขอให้ทางการจังหวัดเสนอแผนการเปลี่ยนผ่านภายในสิ้นเดือนเมษายน เพื่อทำให้มั่นใจเรื่องการขยายการเตรียมการด้านบริการทางการแพทย์ และความร่วมมืออย่างราบรื่นของโรงพยาบาลทั้งหลาย แผนดังกล่าวจะครอบคลุมช่วงที่นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ก่อนที่อากาศจะเย็นลง ซึ่งอาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หลังจากสิ้นเดือนกันยายน ทางกระทรวงมีแผนที่จะต้องทบทวนโดยอิงจากความคืบหน้าของแผนการนี้ในแต่ละจังหวัด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2566)

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถาบันทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถเข้าไปรักษาได้

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถาบันทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถเข้าไปรักษาได้

รัฐบาลมุ่งหวังจะใช้ระบบที่ผู้ซึ่งแสดงอาการของโรคโควิด-19 สามารถไปยังสถานที่ด้านการแพทย์ได้มากขึ้นกว่าเดิม กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการระบุว่าจะทำเช่นนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนภายในเดือนเมษายนปี 2567

ปัจจุบัน มีสถานที่ด้านการแพทย์ราว 42,000 แห่งทั่วญี่ปุ่นที่เปิดรับผู้ป่วยนอก หลังจากที่ลดระดับโรคโควิด-19 ลงมาเป็นประเภทที่ 5 เจ้าหน้าที่หวังว่าจะเพิ่มจำนวนสถานที่ด้านการแพทย์ในลักษณะนี้เป็น 64,000 แห่ง ทางกระทรวงมีแผนที่จะขอให้สถานที่ด้านการแพทย์เปิดรับผู้ป่วยรายใหม่ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยประจำเท่านั้น และว่าสำนักงานของจังหวัดจะเปิดเผยรายชื่อของสถาบันทางการแพทย์ที่เปิดรับผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต่อไป

สำหรับการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 นับจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ที่สถาบันทางการแพทย์ราว 3,000 แห่ง หลังจากที่มีการลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 เจ้าหน้าที่หวังจะใช้ระบบที่ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้งหมดประมาณ 8,200 แห่งทั่วญี่ปุ่น พวกเขายังมีแผนจะให้การสนับสนุนเป็นการเฉพาะต่อแผนกที่ให้บริการฟื้นฟูผู้ป่วยสูงอายุตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้สถานที่เหล่านี้สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาได้

รัฐบาลมีแผนจะให้การสนับสนุนเพื่อให้สถานที่ด้านการแพทย์สามารถทบทวนแนวทางของตนและจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อทำให้จำนวนของสถานที่ด้านการแพทย์ที่เปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566)

ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่รัฐบาลจัดหาให้

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านค่าธรรมเนียมที่ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคโควิด-19 หรือเลือกที่จะพักฟื้นที่สถานที่ซึ่งทางการท้องถิ่นจัดหาไว้ให้

ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ปัจจุบันภาครัฐดูแลให้ทั้งหมด แต่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า ผู้ป่วยจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และชำระค่าอาหารที่โรงพยาบาลหลังจากที่มีการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่

ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 อยู่ในข่ายที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่มีราคาสูงได้ แต่เพื่อเลี่ยงไม่ให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มขึ้นแบบกะทันหัน และเพื่อรับมือกับยอดติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ทางกระทรวงระบุว่าจะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มสูงสุดที่ 20,000 เยน หรือราว 5,200 บาท จนกว่าจะถึงสิ้นเดือนกันยายน

ทางกระทรวงยังช่วยประเมินค่าเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลคร่าว ๆ สำหรับผู้ที่อายุ 75 ปีขึ้นไป เมื่อบุคคลผู้จ่ายภาษีการมีถิ่นที่อยู่โดยมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 3.83 ล้านเยน หรือราว 1,000,000 บาท เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 10 วันและมีอาการปานกลาง ผู้นั้นต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล 37,600 เยน หรือราว 9,800 บาท และค่าอาหารระหว่างพักรักษาตัวอีก 13,800 เยน หรือราว 3,600 บาท

ทางกระทรวงจะยุติระบบที่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยแยกกักตัว และพักฟื้นที่โรงแรมและสถานที่พักอื่น ๆ เมื่อพวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นที่บ้านได้ หรือเนื่องจากเตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงระบุว่าทางการท้องถิ่นยังคงดำเนินการสถานที่พักลักษณะนี้ต่อไป สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ จนกว่าจะถึงสิ้นเดือนกันยายน บนพื้นฐานที่ว่าผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง

ทางกระทรวงจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับยารักษาโรคโควิด-19 และใช้มาตรการที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อรับมือกับยอดติดเชื้อที่อาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้

ทางกระทรวงระบุว่าช่วงสิ้นเดือนกันยายน จะพิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ โดยคำนึงถึงความยุติธรรมต่อผู้ป่วยโรคอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2566)

ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคโควิด-19 และค่าใช้จ่ายด้านการตรวจหาเชื้อ

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านค่าธรรมเนียมที่ผู้ป่วยจะต้องจ่ายสำหรับการรักษาผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคโควิด-19 และค่าใช้จ่ายสำหรับตรวจหาเชื้อ

ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์สำหรับการรักษาผู้ป่วยนอกที่เป็นโควิด-19 หลังจากทราบผลว่าติดเชื้อนั้น ภาครัฐแบกรับค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากที่จัดประเภทโรคโควิด-19 ใหม่เป็นประเภทที่ 5 ผู้ป่วยจะต้องแบกรับตามค่าใช้จ่ายจริง

ผู้ที่อายุไม่ถึง 70 ปีที่ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ซึ่งต้องแบกรับเองกำหนดไว้อยู่ที่ร้อยละ 30 ของยอดรวมทั้งหมด จะต้องจ่ายเงินสูงสุด 4,170 เยน หรือราว 1,000 บาท เมื่อมีการสั่งจ่ายยาลดไข้และยาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเกือบเท่ากับค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยนอกที่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่ต้องจ่ายสูงสุด 4,450 เยน หรือราว 1,100 บาท เมื่อมีการสั่งจ่ายยาลดไข้และยาทามิฟลู ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส

ส่วนผู้ที่อายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์อยู่ที่ร้อยละ 10 จะต้องจ่ายสูงสุด 1,390 เยน หรือราว 350 บาท โดยเกือบจะเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยนอกที่เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องจ่าย ซึ่งอยู่ที่ 1,480 เยน หรือราว 380 บาท

รัฐบาลจะหยุดดูแลค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยคำนึงว่าปัจจุบันมีชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองได้ และเรื่องความยุติธรรมต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2566)

ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าใด

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะลดการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ตามกฎหมายให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเรื่องภาระค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยและสถาบันทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถไปเข้ารับการรักษาได้ โดยเราจะอธิบายนโยบายของรัฐบาลและค่ายารักษา

ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนจะต้องชำระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นตัดสินใจเมื่อวันที่ 10 มีนาคม เพื่อทบทวนนโยบายของรัฐบาลและยุติการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และการรักษาผู้ป่วยนอกแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

ปัจจุบัน ผู้ป่วยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื่องจากมีการใช้เงินของรัฐในเชิงหลักการเพื่อช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคโควิด-19 การช่วยเหลือดังกล่าวจะลดลงไปเมื่อมีการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่ให้ลงมาอยู่ในประเภทที่ 5 เนื่องจากมีความเห็นว่าต้องรักษาความยุติธรรมกับโรคชนิดอื่น ๆ แต่รัฐบาลมีแผนจะใช้เงินของภาครัฐต่อไปสำหรับบางมาตรการ เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดภาระต่อผู้ป่วยแบบกะทันหัน

ภาครัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้จนกว่าจะถึงสิ้นเดือนกันยายน เพื่อชำระค่ายารักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากยอดติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ เจ้าหน้าที่มีแผนที่จะประเมินการแพร่ระบาดของโรคอื่น ๆ และการเก็บสำรองยาของรัฐบาลเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาว

ยกตัวอย่างเช่น หากภาครัฐไม่ออกค่าใช้จ่ายสำหรับยารักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้แล้ว ผู้ป่วยนอกอาจต้องจ่ายเงินสูงถึง 32,470 เยน หรือราว 8,500 บาท สำหรับยาลาเกวริโอซึ่งเป็นยาแบบรับประทาน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2566)

การลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 จะเปลี่ยนแปลงการรับมือกับโรคนี้อย่างไร

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอว่าความเคลื่อนไหวนี้จะเปลี่ยนแปลงการที่เราจะรับมือกับโรคนี้อย่างไร

เมื่อวันที่ 25 มกราคม คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นซึ่งเสนอมาตรการต้านการติดเชื้อใหม่ระบุว่า “บุคคลและกลุ่มคนควรตัดสินใจเองว่าควรดำเนินมาตรการอะไร โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและความเสี่ยง แทนที่จะปฏิบัติมาตรการแบบเดียวกันโดยอิงจากคำขอของรัฐบาล”

คณะทำงานระบุว่า “ดูเหมือนว่ามีกรณีที่มาตรการควบคุมการติดเชื้อนั้นมากเกินไปหรือยังคงส่งผลกระทบอย่างน่าแคลงใจอยู่ นี่ถือเป็นปัญหาที่มีการใช้ข้อจำกัดอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมด้านการศึกษา ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ”

นอกจากนี้ ยังชี้ว่า “การหารือเรื่องมาตรการควบคุมการติดเชื้อในสถานที่ทำงานหรือกลุ่มต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำ และควรบรรลุฉันทามติร่วมกัน ไม่ควรมีใครที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติหรือหยุดปฏิบัติมาตรการเหล่านี้ และควรให้ความเห็นอกเห็นใจที่จะเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน”

คณะทำงานระบุว่า “ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนหนาแน่น ทุกคนควรระลึกไว้ว่ามีคนที่เสี่ยงจะป่วยหนักและมีคนสุขภาพดีที่อยากเลี่ยงการติดเชื้อ ต้องใช้มาตรการคิดถึงใจผู้อื่นเพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย การป้องกันไม่ให้ไวรัสนี้เข้าสู่โรงพยาบาลและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุยังคงเป็นเรื่องสำคัญอยู่ ซึ่งการแพร่ระบาดตามสถานที่เหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายและก่อให้เกิดผลตามมาอย่างใหญ่หลวง”

คณะทำงานระบุว่าจะจัดทำมาตรการต้านการติดเชื้อแบบเฉพาะเจาะจงในเร็ว ๆ นี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566)

สถาบันทางการแพทย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับการลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอว่าสถาบันทางการแพทย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้

สถาบันทางการแพทย์แห่งหนึ่งในเมืองคาซูกาเบะ จังหวัดไซตามะ ได้จัดตั้งคลินิกไข้แบบชั่วคราวที่ด้านนอกเพื่อใช้ตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการอย่างเช่น มีไข้ ขณะเดียวกันก็ให้บริการการแพทย์ทั่วไปซึ่งรวมถึงการรักษาโรคเบาหวานและโรคหืดด้วย

ปัจจุบัน เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุขจะเป็นผู้จัดหาโรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยดังกล่าว แต่สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 แพทย์และพยาบาลต้องเตรียมการสำหรับให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเหล่านี้ พวกเขามักประสบปัญหาในการหาโรงพยาบาล เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ เช่น ขาดแคลนเตียงว่าง ในบางครั้ง พวกเขาต้องดูแลผู้ป่วย เช่น ให้การรักษาด้วยออกซิเจนและให้ยาทางหลอดเลือดเป็นเวลานาน จนกว่าจะสามารถหาโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเข้ารักษาได้

แพทย์ที่สถาบันการแพทย์ในเมืองคาซูกาเบะกล่าวว่า เมื่อมีการลดระดับโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 และเจ้าหน้าที่ของสถาบันจะต้องเตรียมการสำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พวกเขาอาจเผชิญกับงานที่ล้นมือได้

แพทย์ได้แสดงความหวังว่า ศูนย์สาธารณสุขที่คอยหาโรงพยาบาลให้ จะค่อย ๆ ทยอยหยุดไป แทนที่จะหยุดไปเลยทีเดียว

ส่วนสถาบันทางการแพทย์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งนับจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้จัดตั้งคลินิกไข้ ระบุว่าไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้โดยทันที เนื่องจากต้องใช้เวลาในการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อ และว่าหากผู้ป่วยคิดว่าสถาบันทางการแพทย์แห่งใดก็ตามจะรับตนเข้ารักษา ก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้

เจ้าหน้าที่ของสถาบันการแพทย์แห่งนี้แสดงความหวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าการจัดประเภทโรคโควิด-19 ใหม่ ไปพร้อมกับการพิจารณาอย่างระมัดระวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับสถาบันทางการแพทย์

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566)

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดประเภทใหม่ให้โรคโควิด-19 อยู่ในประเภทที่ 5

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดประเภทใหม่นี้

สมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้แสดงความกังวลว่าการลดระดับดังกล่าวอาจทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับทางการท้องถิ่นที่จะเข้ามาจัดการและป้องกันไม่ให้บริการทางการแพทย์ในท้องที่ของตนแบกรับภาระหนักเกินไป ในกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น

ปัจจุบัน ทางการท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมมือกับเมืองที่อยู่ติดกันเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถาบันทางการแพทย์ที่ตนสามารถเข้ารับการรักษาตามที่ต้องการได้

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้ออาจจะไม่สามารถเข้ารับหรืออาจงดเว้นจากการไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อหรือเข้ารับการรักษา เมื่อรัฐบาลหยุดให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายเหล่านี้ หลังการลดระดับดังกล่าว

เมื่อโรคโควิด-19 ถูกลดระดับลงมาเป็นประเภทที่ 5 กฎหมายพิเศษที่เปิดทางให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการต้านไวรัสอย่างเข้มงวดจะไม่สามารถใช้กับโรคนี้ได้อีกต่อไป คณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลเกรงว่าประชาชนอาจหยุดดำเนินมาตรการต้านไวรัสในแบบที่เคยทำมา เนื่องจากการลดระดับดังกล่าวจะทำให้ผู้ว่าการจังหวัดไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการขอให้ประชาชนดำเนินมาตรการเช่นว่านี้ ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าประชาชนอาจมองว่าการระบาดใหญ่สิ้นสุดลงแล้วอย่างแท้จริง

อีกหนึ่งความกังวลของผู้เชี่ยวชาญก็คือการรับมืออย่างรวดเร็วต่อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่สูง หรือทำให้เกิดโรคได้สูง หรือทั้งคู่ พวกเขาเกรงว่าการยุบคณะทำงานด้านโควิด-19 ของรัฐบาลและทางการท้องถิ่นเนื่องจากการลดระดับนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อการรับมือความเสี่ยงดังกล่าวให้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ พวกเขายังกังวลเกี่ยวกับอัตราการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่อาจลดลงไป ถ้ารัฐบาลตัดลดความพยายามในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566)

ความแตกต่างเรื่องการรับมือระหว่างโรคโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอเรื่องความแตกต่างระหว่างโรคโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และยาที่ใช้รักษาเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระบุว่าการรับมือกับโรคโควิด-19 เป็นเรื่องยากเนื่องจากขอบเขตและช่วงเวลาของการติดเชื้อนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะฤดูใด ไม่เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว พวกเขายังกล่าวด้วยว่าการกลายพันธุ์ก็เกิดขึ้นเร็วกว่าเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้

มีการใช้ยาแบบรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากระบวนการสำหรับใช้ยาดังกล่าวซับซ้อนมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ยาต้านไวรัส เช่น ยาทามิฟลูที่ใช้สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องระมัดระวังเมื่อใช้ยาโควิด-19 กับผู้คนที่มีอาการเรื้อรังอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถให้ยาได้แบบง่าย ๆ

ปัจจุบันมีสถาบันทางการแพทย์มากขึ้นที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หากว่าสถานที่ดังกล่าวดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อที่มากพอ แต่จำนวนของสถาบันทางการแพทย์เช่นว่านี้ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเทียบกับสถาบันทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ จนกว่าจะสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ด้วยวิธีเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ และว่าควรดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อต่อไป ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังจากที่มีการลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาเป็นประเภทที่ 5 แล้วก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566)

การลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 จะส่งผลต่อการฉีดวัคซีนอย่างไร

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการฉีดวัคซีนอย่างไร

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการฉีดวัคซีนให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าอัตราการฉีดวัคซีนอาจลดลง ถ้าประชาชนต้องจ่ายค่าฉีดวัคซีนเอง คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นกำลังหารือกันว่าใครควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้และรับผิดชอบอย่างไร

คาดว่าคณะผู้เชี่ยวชาญจะจัดทำข้อสรุปชุดหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น นับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฟรีที่มีอยู่ในปัจจุบันจะดำเนินต่อไปหรือไม่ และหากยังดำเนินต่อไป ใครจะมีสิทธิได้รับวัคซีนนี้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าจะรับประกันว่าใครก็ตามที่ต้องการเข้ารับวัคซีน จะสามารถเข้ารับวัคซีนได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566)

การลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 จะส่งผลต่อการสวมหน้ากากอนามัยอย่างไร

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการสวมหน้ากากอนามัยอย่างไร

มีคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ภายในอาคาร ในตอนที่คุณไม่สามารถเว้นระยะห่างกับผู้อื่นได้มากพอ ในกรณีที่อยู่ภายในอาคารและมีการพูดคุยกันนั้น ก็มีคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยไม่ว่าจะอยู่ห่างกันแค่ไหนก็ตาม

ที่การประชุมของคณะทำงานด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 27 มกราคม รัฐบาลได้ระบุว่าจะทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัย โดยจะให้แต่ละบุคคลตัดสินใจกันเองว่าจะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ ทั้งในตอนที่อยู่ภายในอาคารและนอกอาคาร รัฐบาลระบุว่าจะศึกษาเรื่องช่วงเวลาที่แน่ชัดในการทบทวนนโยบายนี้

สมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้แสดงความเห็นว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังจากที่ลดระดับของโรคโควิด-19 มาเป็นประเภทที่ 5 แล้ว แต่ผู้ที่อยู่ในภาวะมีความเสี่ยงสูงก็ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผู้ที่ตรวจพบว่าติดโควิด-19 หรือผู้ที่มีอาการต่าง ๆ ตลอดจนผู้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง ควรสวมหน้ากากอนามัยและงดเว้นจากการออกไปข้างนอกเพื่อพบกับผู้อื่น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรดำเนินมาตรการป้องกันอื่น ๆ ด้วยตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและสภาวะต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการทำให้มั่นใจว่ามีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ และว่าควรสวมหน้ากากอนามัยตามสถานที่ทั้งหลาย เช่น สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566)

การจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่จะส่งผลต่อสังคมอย่างไร

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราจะนำเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อสังคมอย่างไร ทั้งเรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับการไปไหนมาไหนของผู้คนหรือกฎระเบียบอื่น ๆ

การลดระดับลงมาอยู่ที่ประเภทที่ 5 จะทำให้ไม่สามารถใช้ข้อจำกัดในการไปไหนมาไหนของผู้คนได้ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวมีรัฐบาลและทางการท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดการนำไปปฏิบัติ

การประกาศภาวะฉุกเฉิน การออกคำแนะนำหรือคำสั่งให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การขอให้ผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดอยู่กับบ้าน ล้วนเป็นข้อจำกัดที่ทางการไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป หลังจากที่มีการลดระดับโรคโควิด-19 มาเป็นประเภทที่ 5

มาตรการควบคุมด้านพรมแดนที่รัฐบาลใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ผู้เดินทางชาวต่างชาติที่มาถึงญี่ปุ่น ต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มนั้น จะถูกยกเลิกไปในทางหลักการ

ที่ผ่านมาการรับตัวผู้ป่วยและการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำกัดอยู่ที่สถาบันทางการแพทย์จำนวนหนึ่งเท่านั้น เช่น สถาบันทางการแพทย์ที่ได้รับการกำหนดไว้และคลินิกไข้ ทางการมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสถาบันทางการแพทย์ที่สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ โดยจะเพิ่มอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการตรวจหาเชื้อนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หลังจากที่มีการลดระดับมาเป็นประเภทที่ 5 ในทางหลักการแล้วผู้ป่วยจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเองด้วยบางส่วน มีความกังวลว่าแนวทางเช่นนี้จะทำให้บางคนไม่อยากไปพบแพทย์ เจ้าหน้าที่จึงมีแผนที่จะทบทวนนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไปพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินไปอีกระยะหนึ่ง

ที่ผ่านมามีการขอให้สถาบันทางการแพทย์และศูนย์สาธารณสุขในท้องถิ่นต่าง ๆ รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด การลดระดับโรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 จะทำให้แบบแผนด้านการสำรวจข้อมูลตัวอย่างเชื้อเปลี่ยนไป โดยจะให้เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้นที่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566)

การจัดประเภทให้โรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการที่จะลดระดับประเภทของโรคโควิด-19 มาอยู่ระดับเดียวกันกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมเป็นต้นไป เราจะอธิบายว่าการจัดประเภทให้โรคโควิด-19 มาอยู่ในประเภทที่ 5 จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ทำไมจึงกำหนดให้การจัดประเภทใหม่ดังกล่าวเริ่มต้นในวันที่ 8 พฤษภาคม ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าตั้งเป้าไว้ประมาณปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม แหล่งข่าวภายในกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงกำหนดเป็นวันที่ 8 พฤษภาคม โดยระบุว่าดังนี้

ทางการท้องถิ่นและสถานที่ด้านสาธารณสุขทั้งหลายเรียกร้องว่าขอเวลาสำหรับการเตรียมตัว คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นทัศนะแบบเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 27 มกราคม โดยระบุว่า “การเปลี่ยนนโยบายจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ตลอดจนกลุ่มธุรกิจและสถานที่ด้านการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ ควรให้เวลาประมาณ 3 เดือนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้”

จากนั้นก็มีการหารือเกี่ยวกับว่าการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่ ควรมีขึ้นก่อนหรือหลังวันหยุดยาวช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

มีความกังวลว่าการเปลี่ยนนโยบายก่อนวันหยุดยาวอาจทำให้การไปไหนมาไหนของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และทำให้ไวรัสนี้แพร่ระบาดออกไป กลายเป็นภาระหนักต่อสถานที่ทางการแพทย์ในช่วงวันหยุดยาว รัฐบาลจึงกำหนดเป็นวันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากการหารือดังกล่าว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566)

ความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะพุ่งสูงอีกครั้งโดยมีสายพันธุ์ XBB.1.5 ระบาดเป็นหลัก

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนที่เรียกว่า XBB.1.5 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าสายพันธุ์นี้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งโดยมีสายพันธุ์ XBB.1.5 ระบาดเป็นหลัก

สายพันธุ์ XBB.1.5 จะระบาดมากขึ้นในญี่ปุ่นหรือไม่ ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตเตือนว่าเราควรระวังเนื่องจาก XBB.1.5 มีแนวโน้มว่ามีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้อย่างมาก เขากล่าวว่าขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันกำลังลดลงไป แต่ก็มีความเสี่ยงที่ XBB.1.5 จะทำให้การระบาดกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง

ขณะที่ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวซึ่งวิเคราะห์สถานการณ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศระบุว่า XBB.1.5 อาจทำให้การระบาดใหญ่ระลอกที่ 8 ในปัจจุบันยืดเยื้อออกไป หากสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดอย่างเต็มที่ หรืออาจทำให้เกิดการระบาดระลอกที่ 9 ได้

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่า หลังจากยอดติดเชื้อลดลงไป เราควรเตรียมการรับมือต่อการระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง และว่าเนื่องจากการเข้ารับวัคซีนจะคงประสิทธิผลอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราด้วยการไปเข้ารับวัคซีนที่พุ่งเป้ายังสายพันธุ์โอไมครอน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

รายงานที่เผยแพร่โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐเมื่อวันที่ 25 มกราคมระบุว่า วัคซีนที่พุ่งเป้ายังสายพันธุ์โอไมครอน มีประสิทธิผลประมาณหนึ่งในการป้องกันการเกิดอาการต่าง ๆ จากสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนที่รวมถึง XBB.1.5 ด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566)

สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 รายใหม่

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนที่เรียกว่า XBB.1.5 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าสายพันธุ์นี้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อ XBB.1.5 รายใหม่

นอกจากสหรัฐแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อ XBB.1.5 รายใหม่ไม่ได้แพร่ไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ที่ญี่ปุ่นและประเทศส่วนใหญ่นั้น ขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้มีสายพันธุ์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งระบาดอยู่เป็นหลัก

ทางการกรุงโตเกียวระบุว่าผู้ติดเชื้อ XBB.1.5 รายใหม่ในกรุงโตเกียวไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก นับจนถึงวันที่ 19 มกราคม มีรายงานผู้ติดเชื้อนี้รายใหม่จำนวน 22 คน คิดเป็นแค่ร้อยละ 0.3 ของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีรายงานในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 2 มกราคม

ขณะเดียวกัน สายพันธุ์กลายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีรายงานในช่วงเดียวกันนี้ ล้วนเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน นับตั้งแต่ประมาณกลางปี 2565 จำนวนผู้ติดโควิด-19 รายใหม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.5 ร้อยละ 50.6 ตามมาด้วยสายพันธุ์ BQ.1.1 ร้อยละ 16.2 สายพันธุ์ BF.7 ร้อยละ 14.2 และสายพันธุ์ BN.1 ร้อยละ 10.4

รองศาสตราจารย์ทาเกอูจิ ฮิโรอากิ จากมหาวิทยาลัยการแพทย์และทันตกรรมแห่งโตเกียว ซึ่งทำการวิเคราะห์พันธุกรรมของบรรดาสายพันธุ์กลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบุว่า ขณะที่สายพันธุ์ XBB.1.5 ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จะแพร่ระบาดทันที แต่เราก็ไม่อาจทราบได้ว่าสายพันธุ์กลายพันธุ์ชนิดใดที่จะระบาดหลักในช่วงการระบาดอีกระลอกหนึ่งในญี่ปุ่น และว่าสถานการณ์ที่พบไวรัสกลายพันธุ์ต่างชนิดกันในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น น่าจะยังเป็นไปแบบนี้อีกระยะหนึ่ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566)

ความสามารถของสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนที่เรียกว่า XBB.1.5 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าสายพันธุ์นี้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถของ XBB.1.5 ในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน

G2P-Japan ซึ่งเป็นคณะวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ซาโต เค จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เปิดเผยรายงานที่มุ่งเน้นเรื่องการทำงานของภูมิคุ้มกันเพื่อต้านสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 โดยเป็นการศึกษาเลือดของคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.5 หลังจากที่ได้รับวัคซีนแล้ว รายงานดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการทบทวนอย่างเป็นทางการ

จากการศึกษานี้พบว่าเมื่อเทียบกับ BA.5 แล้ว สารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสมีความสามารถเหลือแค่ 1 ใน 10 เมื่อสู้กับ XBB.1.5 สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความสามารถในการต้านทานภูมิคุ้มกันของ XBB.1.5

นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม ยังทำให้ XBB.1.5 มีความสามารถในการแพร่กระจายมากกว่าเดิม 4.3 เท่า เพราะความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ของมนุษย์ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยชนิดอื่น ๆ

XBB.1.5 ไม่เหมือนบรรดาสายพันธุ์กลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ เพราะสามารถรวมเอาความสามารถในการหลบเลี่ยงสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสกับการยึดเกาะโปรตีนของเซลล์มนุษย์ได้อย่างแข็งแรงได้

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ทราบแน่ชัดเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงหรือความสามารถที่จะทำให้เกิดอาการหนักของ XBB.1.5

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566)

การประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนที่เรียกว่า XBB.1.5 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าสายพันธุ์นี้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการประเมินความเสี่ยง

เมื่อวันที่ 11 มกราคม องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เผยแพร่การประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับ XBB.1.5 โดยระบุว่าสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการระบาดที่สูงมากในสหรัฐเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ และว่าต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมอีก

WHO ระบุว่าความสามารถในการหลบเลี่ยงสารภูมิต้านทานที่ได้รับจากการที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน หรือจากวัคซีนนั้น มีมากกว่าบรรดาสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนชนิดก่อนหน้านี้ โดยอิงจากข้อมูลการทดสอบเบื้องต้น

WHO ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลทางคลินิกใด ๆ เกี่ยวกับอัตราที่ผู้ติดเชื้อจะป่วยหนักหลังจากติดเชื้อ และเสริมว่ายังไม่ได้ยืนยันถึงการกลายพันธุ์ใด ๆ ใน XBB.1.5 ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

WHO ระบุว่า “XBB.1.5 อาจทำให้กรณีติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก” ถึงแม้ว่านับจนถึงตอนนี้จะยังมีข้อมูลอยู่อย่างจำกัดก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2566)

สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐ

สายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนที่เรียกว่า XBB.1.5 กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วสหรัฐนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าสายพันธุ์นี้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในบรรดาสายพันธุ์กลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับ XBB.1.5 โดยจะไปดูกันว่าสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้แพร่ระบาดในสหรัฐและทั่วโลกอย่างไร

สายพันธุ์ XBB.1.5 กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ XBB ซึ่งเรียกกันว่าเป็นไวรัสลูกผสมซึ่งมีข้อมูลพันธุกรรมจากสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนที่เรียกว่า BA.2 จำนวน 2 ชนิด โดย BA.2 แพร่ระบาดไปทั่วโลกนับตั้งแต่ช่วงประมาณต้นปี 2565

ที่สหรัฐนั้น สัดส่วนของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.5 ในบรรดาผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในนิวยอร์กและรัฐอื่น ๆ ทางตะวันออกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2565 ปัจจุบันสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดอยู่ส่วนใหญ่ในสหรัฐคือ XBB.1.5

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐระบุว่าสายพันธุ์นี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 49.1 ของผู้ติดโควิด-19 ในสหรัฐในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 21 มกราคม 2566

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่านับจนถึงวันที่ 11 มกราคม มี 38 ประเทศที่รายงานกรณีโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับ XBB.1.5 ซึ่งญี่ปุ่นก็มีรายงานสายพันธุ์ดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่รายงานของ WHO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มกราคมแสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์กลุ่ม XBB ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.36 ของผู้ติดโควิด-19 ที่มีรายงานทั่วโลกในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2565

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2566)

เราควรดำเนินมาตรการอะไรนับจากนี้

3 ปีผ่านมาแล้วนับตั้งแต่ที่มีการยืนยันผู้ติดโควิด-19 รายแรกในญี่ปุ่น เราจะมาทบทวนกันดูว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วงเวลานี้ ครั้งนี้เราจะฟังความเห็นของคุณโอมิ ชิเงรุ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่น เกี่ยวกับว่าเราควรรับมือกับไวรัสนี้อย่างไร

คุณโอมิกล่าวว่า “โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อที่จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษ เมื่อปี 2546 โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเรียกโรคนี้กันว่าการระบาดใหญ่ครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 21 และมองกันว่าเป็นภัยต่อระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรง แต่โรคนี้ก็สามารถควบคุมได้ในช่วงเวลา 6 เดือนเท่านั้น

ส่วนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงระบาดอยู่หลังจากปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ยังปรากฏพวกสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย แต่มีข่าวดีก็คือกลุ่มคนอายุยังน้อยไม่ค่อยมีอาการหนัก แต่บางคนก็เผชิญอาการเรื้อรังหลังหายจากโรคนี้ มีไม่กี่กรณีที่เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงที่เกิดจากไวรัสนี้โดยตรง แต่ก็มีหลักฐานปรากฏมากขึ้นว่าไวรัสนี้ส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด”

คุณโอมิกล่าวว่า “พวกเราทุกคนควรเข้าใจลักษณะของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างถ่องแท้และพิจารณาว่ามาตรการใดที่เราต้องทำโดยอิงจากองค์ความรู้ที่ได้ สิ่งสำคัญก็คือเราต้องทำให้เศรษฐกิจและสังคมดำเนินต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาระบบทางการแพทย์ด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องหารือเชิงลึกเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการทำสองสิ่งนี้ให้สำเร็จ”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม 2566)

ศูนย์สาธารณสุขแบกรับภาระงานล้นมือตั้งแต่เริ่มการระบาดใหญ่

3 ปีผ่านมาแล้วนับตั้งแต่ที่มีการยืนยันผู้ติดโควิด-19 รายแรกในญี่ปุ่น ศูนย์สาธารณสุขรับมือกันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดใหญ่เริ่มขึ้น และอยู่ภายใต้ภาวะบีบคั้นเนื่องจากปริมาณงานที่ล้นมือมาโดยตลอด

ศูนย์สาธารณสุขทั่วญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับภารกิจต่าง ๆ เช่น การนับยอดรวมของผู้ติดเชื้อ การตรวจติดตามอาการของผู้ป่วย และประสานงานเพื่อให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยเข้ารักษา

ในช่วงที่การระบาดใหญ่เริ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์สาธารณสุขแห่งหนึ่งในเขตคิตะในกรุงโตเกียว ได้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ที่มีไข้และอาการอื่น ๆ และจัดส่งตัวอย่างที่ได้จากผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อไปยังสถานที่ตรวจหาเชื้อ

เมื่อเดือนกันยายน รัฐบาลได้ทำให้ข้อกำหนดทั้งหลายง่ายขึ้นในการนับยอดผู้ติดเชื้อ ด้วยเหตุนี้ภาระงานที่ศูนย์สาธารณสุขจึงลดลงไปราวร้อยละ 70 เจ้าหน้าที่ระบุว่าสิ่งนี้ช่วยบรรเทาการแบกรับภาระลงไปได้ แต่พวกเขาก็ยังคงประสานงานเรื่องการรับผู้ป่วยเข้ารักษาตัวของโรงพยาบาลต่าง ๆ และให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หรือไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านในช่วงการระบาดระลอกที่ 8 ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจติดตามสุขภาพของผู้ป่วยจึงเพิ่มมากขึ้น และว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย

ศูนย์สาธารณสุขระบุว่าพวกตนตึงเครียดมาก โดยอาจเรียกได้ว่าระบบงานของพวกตนพังไปแล้ว เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด ท่ามกลางสถานการณ์เช่นว่านี้ ทางศูนย์ได้ทำสัญญาจ้างสถาบันของเอกชนเพื่อแบ่งเบางานไปรับผิดชอบส่วนหนึ่ง และจากนั้นก็สามารถจัดแบ่งงานให้เจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทางศูนย์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานทุกวันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่งยวด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2566)

ระบบทางการแพทย์ตกอยู่ภายใต้ภาวะตึงเครียดทุกครั้งที่เกิดการระบาดระลอกใหม่

3 ปีผ่านมาแล้วนับตั้งแต่ที่มีการยืนยันผู้ติดโควิด-19 รายแรกในญี่ปุ่น โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้ารักษาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ตกอยู่ภายใต้ภาวะตึงเครียดทุกครั้งที่เกิดการระบาดระลอกใหม่

โรงพยาบาลมินามิตามะในเมืองฮาจิโอจิของกรุงโตเกียว ได้รับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ตรวจพบการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มบนเรือสำราญลำหนึ่งที่ท่าเรือโยโกฮามะ

โรงพยาบาลนี้มีเตียงรองรับ 23 เตียง หรือร้อยละ 14 ของเตียงที่มีทั้งหมด 170 เตียง สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางและเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยนับจนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลนี้รับผู้ป่วยมาแล้วเกือบ 1,000 คน

นับตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 6 ในช่วงต้นปีของปีที่แล้วซึ่งเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน จำนวนผู้ป่วยที่เกิดอาการปอดอักเสบและป่วยหนักนั้นได้ลดลงไป แต่จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลมีมากเกินกว่าขีดจำกัดสูงสุดที่เตียงผู้ป่วยจะรองรับได้ สร้างแรงกดดันต่อระบบของโรงพยาบาลและส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยอื่น ๆ

ช่วงการระบาดระลอกที่ 8 ในปัจจุบัน เตียงทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ถูกใช้เต็มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทางโรงพยาบาลได้ปิดบางส่วนของหอผู้ป่วยอื่น ๆ เพื่อนำเตียงมาใช้สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สิ่งนี้ถือเป็นอุปสรรคสำหรับโรงพยาบาลในการรับผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19 เข้ารักษา

ตามปกติแล้ว โรงพยาบาลเปิดรับกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน แต่จำนวนดังกล่าวได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 นับตั้งแต่ต้นปีนี้

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลระบุว่าสถานการณ์ยากลำบากยังคงดำเนินอยู่ เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกของตนตกอยู่ภายใต้ภาวะบีบคั้นทุกครั้งที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ เจ้าหน้าที่กล่าวว่าโรงพยาบาลต้องดำเนินมาตรการควบคุมการติดเชื้อต่อไป แต่ก็ต้องมีการจัดทำแนวทางเพื่อเปลี่ยนมาตรการควบคุมขั้นสูงสุดเพื่อที่ว่าจะได้รับผู้ป่วยเข้ารักษาได้มากขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2566)

สายพันธุ์ย่อยและสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ ๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3 ปีผ่านมาแล้วนับตั้งแต่ที่มีการยืนยันผู้ติดโควิด-19 รายแรกในญี่ปุ่น โดยบรรดาสายพันธุ์ย่อยและสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ ๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปรากฏขึ้นซ้ำ ๆ ในช่วงดังกล่าว

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์แรกที่ได้รับการยืนยันในญี่ปุ่นคือสายพันธุ์ที่ตรวจพบในเมืองอู่ฮั่นของจีนในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ หลังจากมีสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่าง ๆ ปรากฏขึ้นในช่วงต้นปีของปี 2563 สายพันธุ์เหล่านั้นก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในยุโรป รวมถึงในญี่ปุ่นด้วย

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 สายพันธุ์โอไมครอนได้ระบาดไปทั่วในญี่ปุ่น เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้ง่าย จึงทำให้มีผู้คนมากขึ้นที่ติดเชื้อและส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

สายพันธุ์ย่อยจำนวนหนึ่งของโอไมครอนได้ปรากฏขึ้นมาและทำให้ความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของไวรัสนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสายพันธุ์ย่อย BQ.1 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากขึ้นในญี่ปุ่น ในช่วงการระบาดระลอกที่ 8 ของการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน

สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ถูกตรวจพบแล้วในญี่ปุ่นเช่นกัน โดยสายพันธุ์ย่อยนี้ ปัจจุบันกำลังแพร่ระบาดในสหรัฐ และเกรงกันว่าจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายยิ่งกว่าเดิมอีก

ศาสตราจารย์ซาโต เค ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ ๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นต่อ ๆ กันมา เพื่อเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน

เขากล่าวว่าสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสมีประสิทธิผลลดลงเมื่อสู้กับสายพันธุ์ย่อย XBB เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ และเขารู้สึกว่าการต่อสู้กับสายพันธุ์กลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เข้าสู่ระยะใหม่แล้ว และว่าตอนนี้จำเป็นที่จะต้องหารือวิธีการว่าจะปฏิบัติอย่างไรในขณะที่การระบาดใหญ่ยังดำเนินต่อไป แทนที่การคาดหวังว่ามันจะสิ้นสุดลง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 มกราคม 2566)

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

3 ปีผ่านมาแล้วนับตั้งแต่ที่มีการยืนยันผู้ติดโควิด-19 รายแรกในญี่ปุ่น เราจะนำเสนอว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วงดังกล่าว

ข้อมูลที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ในสหรัฐระบุว่า นับจนถึงวันที่ 20 มกราคม ยอดสะสมของผู้ติดโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 668 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 6.7 ล้านคน

มีรายงานผู้ติดโควิด-19 รายแรกในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 3 ปีก่อน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า นับจนถึงวันที่ 20 มกราคมปีนี้ ยอดสะสมของผู้ติดโควิด-19 ในญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 32 ล้านคน และกว่า 64,000 คนเสียชีวิต

จำนวนผู้ติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวดโดยเฉพาะในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ยอดรวมของผู้ติดโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมาคิดเป็นเกือบร้อยละ 95 ของยอดสะสมผู้ติดเชื้อในช่วงกว่า 3 ปีนี้

อัตราผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความคืบหน้าด้านการรักษาและวัคซีน โดยอัตราผู้เสียชีวิตในช่วงการระบาดระลอกแรกเมื่อเดือนมกราคมปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.34

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อเดือนมกราคมปี 2565 นั้น อัตราผู้เสียชีวิตจากการระบาดระลอกที่ 6 จนถึงการระบาดระลอกที่ 8 ที่กำลังดำเนินอยู่ได้ลดลงไปอย่างมาก มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.1

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 มกราคม 2566)

แนวโน้มของการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับโควิด-19

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะมุ่งเน้นเรื่องแนวโน้มของการหารือดังกล่าว

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า ไม่มีตารางเฉพาะเจาะจงว่าจะมีข้อสรุปจากการหารือเกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนเรื่องการจัดแบ่งประเภทใหม่นี้เมื่อใด

จากข้อมูลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ เช่น การก่อให้เกิดโรคของไวรัสนี้ คาดว่าจะมีการหารืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นซึ่งรวมถึงเรื่องการออกค่ารักษาพยาบาลด้วย ปัจจุบันโควิด-19 ถูกจัดให้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับโรคประเภทที่ 2 และภาครัฐออกค่ารักษาพยาบาลให้เต็มจำนวน

นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีการหารือว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ฟรีโดยภาครัฐออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดต่อไปหรือไม่

การจัดประเภทโรคโควิด-19 ใหม่เป็นโรคประเภทที่ 5 นั้น เรื่องนี้ต้องอ้างอิงความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นและต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้วย

แม้ว่าโรคโควิด-19 จะถูกจัดให้อยู่ในโรคประเภทที่ 5 แล้ว แต่รัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการเพื่อออกค่ารักษาพยาบาลให้ต่อไปได้

หากมีการจัดประเภทใหม่ให้โรคโควิด-19 กฎหมายควบคุมโรคติดเชื้อก็ต้องได้รับการแก้ไข และเรื่องนี้จำเป็นต้องหารือกันในรัฐสภา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2565)

ยาและการพยาบาลดูแลโรคโควิด-19 แบบใดที่มีอยู่ในญี่ปุ่นปัจจุบัน

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะนำเสนอว่าปัจจุบัน ยาและการพยาบาลดูแลแบบใดที่มีอยู่ในญี่ปุ่น ตลอดจนการแสดงความกังวลของผู้เชี่ยวชาญ

ที่ญี่ปุ่นนั้น มียาโควิด-19 สองยี่ห้อได้แก่ ลาเกวริโอและแพกซ์โลวิด ที่ใช้รักษาผู้ป่วยซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะเกิดอาการหนัก เมื่อเดือนพฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้รับรองการใช้ยาโซโควาเป็นกรณีฉุกเฉิน ยาดังกล่าวเป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน ถือเป็นยาแรกในญี่ปุ่นที่สามารถจ่ายให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วไปไม่ว่าจะมีความเสี่ยงเกิดอาการหนักหรือไม่ก็ตาม โดยชิโอโนงิ บริษัทยาของญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตยานี้

ส่วนการรักษาพยาบาลนั้น ปัจจุบัน สถาบันทางการแพทย์ในญี่ปุ่นรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษา หากสถานที่แห่งนั้นมีการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อที่มากพอ จำนวนโรงพยาบาลและคลินิกที่รับผู้ป่วยโควิด-19 นั้นเพิ่มมากขึ้นแล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งกำลังแสดงความกังวล เมื่อเดือนตุลาคม ศาสตราจารย์โอชิตานิ ฮิโตชิ จากมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต และนักวิจัยคนอื่น ๆ ได้ยื่นรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แก่คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น

พวกเขาขอให้ระมัดระวังการแพร่ระบาดแบบพุ่งพรวดอย่างทันทีทันใด เนื่องจากสายพันธุ์กลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่อัตราการเสียชีวิตหรืออัตราของผู้ป่วยอาการหนักจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หากการฉีดวัคซีนไม่คืบหน้าเหมือนที่คาดเอาไว้

คุณวากิตะ ทากาจิ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ว่า เราควรจับตาอย่างใกล้ชิดต่อความเปลี่ยนแปลงที่โควิด-19 ส่งผลทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายเรา และว่าการติดเชื้อไวรัสนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้อาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจย่ำแย่ลง แต่ปัจจุบัน แพทย์พบความซับซ้อนมากขึ้นที่เกี่ยวเนื่องกับอาการหัวใจและหลอดเลือด เขากล่าวว่านี่อาจหมายความว่าโควิด-19 อาจกลายเป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2565)

อัตราการฉีดวัคซีนในญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะนำเสนอเรื่องอัตราการฉีดวัคซีนในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในระหว่างการถกอภิปรายดังกล่าว

คุณโอมิ ชิเงรุ หัวหน้าคณะกรรมการย่อยด้านมาตรการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้แนะว่าเงื่อนไขบางประการนั้นจำเป็นสำหรับการจัดแบ่งประเภทของโรคโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขเบื้องต้นที่ควรมีการดำเนินมาตรการต้านไวรัสโดยไม่กระทบต่อมาตรการเชิงสังคมและเศรษฐกิจ

เขาได้ระบุในการให้สัมภาษณ์แก่ NHK เมื่อตอนเดือนกรกฎาคม 2565 ว่า การฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง การมียาที่ราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนมีสถานที่ด้านการแพทย์จำนวนมากขึ้นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในกลุ่มของเงื่อนไขเช่นว่านี้

ประการแรก อัตราการฉีดวัคซีน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า นับจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ร้อยละ 81.4 ของประชากรในญี่ปุ่นได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกแล้ว ร้อยละ 80.4 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว และร้อยละ 67.5 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว แต่นับจนถึงสิ้นปีนี้ มีการฉีดวัคซีนซึ่งพุ่งเป้าไปยังไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนให้แก่ผู้ประสงค์เข้ารับวัคซีนได้แค่ร้อยละ 30.6 เท่านั้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2565)

อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนทิศทางการแพร่ระบาดไปอย่างไร

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะนำเสนอว่าอัตราการเสียชีวิตได้เปลี่ยนทิศทางการแพร่ระบาดไปอย่างไร เนื่องจากสิ่งนี้มีแนวโน้มว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการหารือดังกล่าว

ในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกที่ 1 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อเดือนมกราคมปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตรวจพบไวรัสนี้ครั้งแรกในญี่ปุ่น อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 5.34 อัตราดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.93 ในช่วงฤดูร้อนของปีเดียวกันระหว่างการระบาดระลอกที่ 2 โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคืบหน้าของวิธีการรักษาผู้ป่วยอาการหนัก

ช่วงต้นปี 2564 ระหว่างการระบาดระลอกที่ 3 อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1.82 ในขณะที่สถาบันทางการแพทย์แบกรับภาระอย่างหนักจากการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสนี้ อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.88 ในช่วงการระบาดระลอกที่ 4 ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิของปี 2564 หลังการระบาดของไวรัสสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ครั้งสำคัญครั้งแรกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อัตราผู้เสียชีวิตร่วงลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.32 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาระหว่างฤดูร้อนของปี 2564 ซึ่งทำให้เกิดการระบาดระลอกที่ 5 เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย เพิ่มจำนวนมากขึ้น

อัตราผู้เสียชีวิตลดลงมาอีกในช่วงการระบาดระลอกที่ 6 แม้จะเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดได้ง่ายมากในช่วงต้นปี 2565 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตลดลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างมากในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อัตราผู้เสียชีวิตในช่วงการระบาดระลอกที่ 6 อยู่ที่ร้อยละ 0.17 อัตราดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.11 ในช่วงฤดูร้อนของการระบาดระลอกที่ 7 แม้ว่าอัตราผู้เสียชีวิตลดลงไป แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในปี 2565 อยู่ที่ 31,000 คน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่เชื้อได้โดยง่าย จำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากไวรัสนี้ในญี่ปุ่นในช่วงเกือบ 3 ปีนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2565)

สิ่งที่อาจเปลี่ยนไป หากมีการจัดประเภทใหม่ให้โรคโควิด-19 อยู่ในประเภทที่ 5 ตามกฎหมายโรคติดเชื้อ

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะนำเสนอถึงสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนไป หากการจัดประเภทในปัจจุบันได้รับการแก้ไขเป็นประเภทที่ 5

ปัจจุบัน สถาบันทางการแพทย์ที่กำหนดไว้เพื่อการรักษาโรคติดเชื้อ ได้รับอนุญาตให้รับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้ารักษาในฐานะผู้ป่วยในเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดประเภทโรคโควิด-19 เป็นประเภทที่ 5 โรงพยาบาลทั่วไปจะสามารถรับผู้ติดเชื้อดังกล่าวเข้ารักษาได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ คาดว่าจะต้องมีการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลให้สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ และผ่อนคลายภาระของระบบทางการแพทย์ของญี่ปุ่นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าโรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ตามเหตุผลเช่นว่านี้ เนื่องจากไม่มีมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งรวมถึงค่าตรวจหาเชื้อและการรักษาพยาบาล แต่หลังจากการจัดประเภทใหม่ ผู้ป่วยจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองส่วนหนึ่ง เนื่องจากประกันสุขภาพของรัฐจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดอีกต่อไป สิ่งนี้อาจทำให้บางคนเลื่อนการไปพบแพทย์ และอาจส่งผลให้การวินิจฉัยโรคล่าช้า

ยิ่งไปกว่านั้น จะไม่มีการใช้มาตรการจำกัดกิจกรรมของผู้คนอีกต่อไป สิ่งที่ทางการทั้งหมดจะสามารถทำได้ก็คือการขอให้ผู้คนปฏิบัติตัวในแนวทางที่มีความรับผิดชอบเมื่อติดเชื้อ

คามายาจิ ซาโตชิ สมาชิกของคณะกรรมการบริหารของสมาคมการแพทย์แห่งญี่ปุ่นกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแผนการที่จะตัดลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐลงอย่างมาก ในช่วงเวลาที่แนวโน้มของการแพร่ระบาดยังไม่แน่นอนเช่นนี้ เขากล่าวว่าแทนที่จะเปลี่ยนไปเป็นประเภทที่ 5 อาจจะดีกว่าหากมีการกำหนดมาตรการใหม่ ๆ เพื่อรับมือสถานการณ์เช่นนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2565)

ทำไมจึงต้องมีการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับโรคโควิด-19

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะนำเสนอถึงสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดทางสังคมและการแบกรับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์

รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายที่ครอบคลุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 และจัดให้โรคโควิด-19 เป็น “ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดใหญ่ (ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไข้หวัดใหญ่ที่กลับมาระบาดอีกครั้ง) ดูคร่าว ๆ แล้วเหมือนว่าการจัดประเภทเช่นนี้จะเทียบเท่ากับประเภทที่ 2 ภายใต้กฎหมายโรคติดเชื้อ สืบเนื่องจากความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหนักและสิ่งจำเพาะเจาะจงอื่น ๆ แต่โรคนี้ไม่เหมือนกับการระบาดของโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในประเภทที่ 2 เนื่องจากมีการเปิดทางให้รัฐบาลดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อที่เข้มงวดมากขึ้นได้ เช่น การขอให้ผู้คนอยู่กับบ้านหรือออกประกาศภาวะฉุกเฉิน

นับจากนั้นเป็นต้นมา เราได้เรียนรู้แล้วว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งระบาดในญี่ปุ่นในช่วงการระบาดระลอกที่ 6 และ 7 เมื่อก่อนหน้านี้ของปีนี้นั้น มีความเสี่ยงต่ำกว่าที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหนัก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยใช้วัคซีนใหม่ซึ่งพุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์โอไมครอน สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นลดระยะเวลากักตัวสำหรับผู้คนที่ติดเชื้อ และทำให้ระบบการรายงานยอดผู้ติดเชื้อยุ่งยากน้อยลง รวมถึงผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางเข้าญี่ปุ่นด้วย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านความเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายที่ครอบคลุมเรื่องโรคติดเชื้ออีกฉบับหนึ่ง โดยมาตราที่เพิ่มเติมเข้ามาในกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ ได้ขอให้รัฐบาลหารือเรื่องการจัดประเภทของโรคโควิด-19 ใหม่โดยเร็วภายใต้กฎหมายนี้

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ประกาศว่า จะหารือเรื่องการพิจารณาทบทวนการจัดประเภทของโรคโควิด-19 โดยชี้ว่าจะพิจารณาลดระดับของโรคโควิด-19 มาอยู่ที่ประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2565)

การหารือเรื่องการจัดประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายกำกับดูแลโรคติดเชื้อ

ที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีการถกอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการจัดแบ่งประเภทสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลโรคติดเชื้อ เราจะนำเสนอถึงสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดทางสังคมและการแบกรับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์

โรคติดเชื้อต่าง ๆ ถูกแบ่งออกเป็นประเภทตั้งแต่ประเภทที่ 1 ไปจนถึงประเภทที่ 5 ตามกฎหมายของญี่ปุ่น โดยขึ้นอยู่กับระดับของการติดเชื้อและความเสี่ยงที่โรคนั้นจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหนัก กฎหมายกำหนดเรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและทางการท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้

ประเภทที่ 1 หมายรวมถึงโรคทั้งหลาย เช่น กาฬโรคหรืออีโบลา ซึ่งเป็นโรคที่อาจทำให้เสียชีวิตและเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด

ประเภทที่ 2 หมายรวมถึงโรคทั้งหลาย เช่น วัณโรคและโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ SARS ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้สูงและทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักมาก ปัจจุบัน โควิด-19 ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 2

เมื่อผู้คนติดเชื้อของโรคที่อยู่ในประเภทที่ 2 นี้ สถาบันทางการแพทย์ต้องรายงานยอดรวมของผู้ติดเชื้อให้หน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่นได้ทราบ ทางการท้องถิ่นสามารถแนะนำผู้ติดเชื้อให้จำกัดการทำงานหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยภาครัฐจะดูแลค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ให้เต็มจำนวน

ประเภทที่ 5 หมายรวมถึงโรคทั้งหลาย เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและซิฟิลิส ทางการท้องถิ่นไม่สามารถขอให้ผู้ติดเชื้อจำกัดการทำงานหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนหนึ่ง

สถาบันทางการแพทย์ทั่วไปสามารถรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่จัดอยู่ในประเภทที่ 5 เข้ารับการรักษาได้ ไม่ใช่ว่าสถาบันทางการแพทย์ทั้งหมดจะต้องรายงานยอดผู้ป่วยรวมให้ทางการทราบ ข้อกำหนดเรื่องการรายงานยอดผู้ป่วยนั้นต่างกันไปโดยแบ่งตามโรค

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565)

การยื่นขอรับรองยาโซโควาภายใต้ระบบการรับรองฉุกเฉินแบบใหม่

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ เราจะนำเสนอเรื่องระบบการรับรองแบบใหม่นี้

ที่ญี่ปุ่นนั้น การอนุญาตให้ใช้ยาหรือวัคซีนใหม่ถือเป็นกระบวนการที่กินเวลามาก ซึ่งตามปกติแล้วต้องใช้เวลา 1 ปีสำหรับการพิจารณาทบทวนและรับรอง ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าระยะเวลาที่ยาวนานนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การรับรองวัคซีนในญี่ปุ่นนั้นตามหลังต่างประเทศ

เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ญี่ปุ่นได้แนะนำระบบการรับรองฉุกเฉินแบบใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 โดยจะนำไปใช้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ เช่น การระบาดของโรคติดเชื้อ และไม่มีวัคซีนหรือการรักษาที่เป็นทางเลือก

กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้ตัดสินใจว่า การยื่นขอรับรองของยาโซโควาควรนำมาพิจารณาโดยใช้ระบบใหม่ คณะผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณายาสำหรับรับประทานชนิดใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม มี 2 ครั้งที่คณะผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะให้การรับรองหรือไม่ โดยชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องหารือกันอย่างระมัดระวังเรื่องประสิทธิผลของยานี้ ท้ายที่สุด คณะผู้เชี่ยวชาญก็ได้รับรองยาดังกล่าวในการหารือรอบที่ 3 ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

ศาสตราจารย์โอโนะ ชุนซูเกะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับระบบการรับรองยาดังกล่าวระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเห็นพ้องกันว่าควรให้ข้อมูลเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยมากแค่ไหน ภายใต้ระบบการรับรองฉุกเฉินใหม่นี้

เขารู้สึกว่าดูเหมือนว่าการถกอภิปรายนี้สร้างความสับสนและมองว่าทัศนะของผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นแบบอนุรักษ์นิยมและวนอยู่ในเรื่องรายละเอียด เนื่องจากกระบวนการพิจารณากลายเป็นรูปแบบที่เกือบจะเหมือนกับการพิจารณาภายใต้ระบบก่อนหน้านี้ เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่าง 2 เป้าหมาย ได้แก่ “จะเร่งการรับรองได้อย่างไร” และ “จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาหรือการรักษาได้อย่างไร”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2565)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับว่าเราสามารถคาดหวังอะไรจากการรับรองยาโซโควา

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ เราจะนำเสนอทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับว่าเราสามารถคาดหวังอะไรจากการรับรองยาโซโควานี้

ศาสตราจารย์โมริชิมะ สึเนโอะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไอจิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคโควิด-19 ระบุว่า “การคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อจะมีแค่อาการเล็กน้อยหรือจะป่วยหนักนั้นเป็นเรื่องยาก บุคลากรทางการแพทย์แถวหน้าต่างรอคอยอย่างมากที่จะมียาซึ่งสามารถจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำว่าจะเกิดอาการหนัก”

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาโซโควานั้น เขากล่าวว่า “ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่ายาโซโควาสามารถลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ไอหรืออาการไข้ ได้ 1 วัน ซึ่งนั่นเทียบเท่ากับระดับประสิทธิผลของยาต้านไข้หวัดใหญ่ และเชื่อกันว่าถือว่ามีประสิทธิผลเพียงพอ โดยคาดว่ายาโซโควาจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักได้ เนื่องจากยานี้ช่วยลดปริมาณของไวรัสในร่างกาย การนำยานี้ไปใช้ในสถานพยาบาลดูแลหรือโรงพยาบาลซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่เสี่ยงสูงว่าจะป่วยหนักนั้น จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของผู้ป่วยย่ำแย่ลง ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด และช่วยให้สถานพยาบาลดูแลหรือโรงพยาบาลยังดำเนินงานต่อไปได้ปกติ”

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้นั้น เขากล่าวว่า “กล่าวกันว่ายาโซโควาจะได้ผลมากที่สุดหากรับประทานภายใน 3 วันนับจากที่เริ่มเกิดอาการ สิ่งนี้สำคัญมากสำหรับรัฐบาลและทางการท้องถิ่นที่จะกำหนดโครงสร้างเพื่อให้วินิจฉัยได้โดยเร็ว และจัดส่งยาไปยังผู้ที่จำเป็นต้องรับประทานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การตรวจติดตามหลังจากที่มีการใช้ยานี้กันอย่างกว้างขวางแล้วนั้นก็สำคัญมากเช่นกัน เพื่อดูว่าเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงเกินคาดหรือไม่ หรือว่าเกิดการที่สายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ดื้อยาหรือไม่”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2565)

การอนุญาตใช้ยาโซโควาจะทำให้มาตรการที่เราควรปฏิบัติเพื่อต้านไวรัสเปลี่ยนไปอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ ยานี้เป็นยารับประทานยาแรกที่พัฒนาโดยบริษัทยาของญี่ปุ่น สิ่งที่ทำให้ยานี้แตกต่างจากยาอื่นก็คือ สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยซึ่งมีแนวโน้มว่าอาการจะไม่กำเริบรุนแรง เราจะมาดูกันว่าการอนุญาตใช้ยานี้ทำให้มาตรการที่เราควรปฏิบัติเพื่อต้านไวรัสนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร

ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มระบาด มองกันว่าวัคซีนกับยาเป็นสองส่วนสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสนี้มาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ผู้คนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว แต่สิ่งสำคัญของวัคซีนก็คือการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการกำเริบรุนแรง ขณะที่ยาซึ่งสามารถให้ได้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการติดเชื้อ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่เกิดอาการหนักได้

การมียาโควิด-19 ซึ่งเป็นยาสำหรับรับประทานที่กล่าวกันว่าการจ่ายยานั้นง่ายกว่า ในช่วงที่เรายังต้องอยู่กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

แต่ถึงแม้ว่าเรามีทั้งวัคซีนและยาที่ใช้ได้ง่ายแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีใครที่เกิดอาการกำเริบรุนแรงเมื่อติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญขอให้พวกเราดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อพิจารณาแล้วว่าจำเป็น และเลี่ยงสถานที่ที่ฝูงชนแออัดและเป็นสถานที่ปิด ผู้เชี่ยวชาญยังย้ำถึงความสำคัญของการเข้ารับวัคซีนด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2565)

กำหนดเวลาในการกระจายยาโซโควาไปยังสถาบันทางการแพทย์ในญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องกำหนดเวลาในการกระจายยาดังกล่าวไปยังสถาบันทางการแพทย์

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ลงนามในสัญญากับชิโอโนงิ บริษัทยาของญี่ปุ่นซึ่งพัฒนายาโซโควา ในจำนวนขนาดยาที่เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย 1,000,000 คน เดิมทางกระทรวงมีแผนที่จะเริ่มการแจกจ่ายยาโซโควาเป็นวงกว้างไปยังสถาบันทางการแพทย์ในช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่ขยับให้เร็วขึ้นมาเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม ยานี้ไม่สามารถจ่ายให้แก่หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่อาจตั้งครรภ์ได้ รวมถึงผู้ป่วยบางคนที่กำลังใช้ยาเฉพาะทางอยู่ ก็อาจใช้ยานี้ไม่ได้ด้วย

ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหรือราว ๆ นั้น ทางกระทรวงมีแผนที่จะจำกัดการแจกจ่ายยาดังกล่าวให้แค่สถาบันทางการแพทย์และร้านจำหน่ายยาที่มีการสั่งจ่ายยาแพกซ์โลวิดเท่านั้น โดยถือเป็นมาตรการความปลอดภัย ยาแพกซ์โลวิดเป็นยารับประทานที่พัฒนาโดยไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ ยาดังกล่าวทำงานแบบเดียวกันกับยาโซโควา

หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ทางกระทรวงระบุว่าจะไม่มีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงในการแจกจ่ายยาโซโควา ทางกระทรวงจะจัดตั้งระบบที่กำหนดว่าสถาบันทางการแพทย์และร้านจำหน่ายยาที่ได้รับการกำหนดโดยทางการของจังหวัดต่าง ๆ ควรสั่งจ่ายยาหรือเตรียมยานี้อย่างไร ทางกระทรวงระบุว่าจะมีการเผยแพร่รายชื่อของสถานที่ที่กำหนดเหล่านี้ลงบนเว็บไซต์ของทางการท้องถิ่นและอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2565)

ยาโซโควาทำงานอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่ายาโซโควาทำงานอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไวรัสจะเจริญเติบโตด้วยการเข้าไปในเซลล์และผลิตซ้ำ RNA ของตัวเอง ยาโซโควาซึ่งเป็นยารับประทานแบบใหม่นี้จะยับยั้งกระบวนการผลิตซ้ำ ด้วยการขัดขวางการนำเอนไซม์ไปใช้ ซึ่งเอนไซม์สำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตซ้ำของไวรัส

กระบวนการนี้ทำงานแบบเดียวกันกับยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาแบบรับประทานที่ผลิตโดยไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการทดลองทางคลินิกได้รับยาโซโควาวันละครั้งในช่วง 5 วัน เมื่อถึงวันที่ 4 ปริมาณของไวรัสลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 30 ของปริมาณแรกเริ่ม และไม่แสดงให้เห็นอาการข้างเคียงร้ายแรงใด ๆ

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ายาโซโความีประสิทธิผลอย่างสูงต่อ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนที่ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ ตลอดจนสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน การทดลองกับสัตว์ได้แสดงให้เห็นว่ายาโซโควาส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะตั้งครรภ์ไม่สามารถใช้ยานี้ได้ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นขอให้ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังระมัดระวังเมื่อรับประทานยานี้ด้วย เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2565)

ประสิทธิผลของยาโซโควาในการรักษาอาการต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ ยานี้มีความโดดเด่นเพราะเป็นยาที่สามารถใช้กับผู้ป่วยซึ่งมีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดอาการหนัก นี่เป็นยาแบบรับประทานยาแรกที่ผลิตโดยบริษัทยาของญี่ปุ่น ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลของยาโซโควาในการรักษาอาการต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19

ชิโอโนงิซึ่งเป็นบริษัทยาได้ประกาศเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า ได้ยืนยันประสิทธิผลของยาโซโควาแล้วในการทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้าย ทางบริษัทระบุว่ายานี้ได้ผลในการทำให้อาการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ดีขึ้น ด้วยการลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับอาการเหล่านี้ เช่น อาการไข้

ทางบริษัทได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกในญี่ปุ่นและในประเทศอื่นอีก 2 ประเทศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนกรกฎาคมปี 2565 การทดลองดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม 1,821 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึงช่วงวัย 60 ปี โดยเป็นผู้ที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำว่าจะเกิดอาการหนักและผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

กลุ่มของผู้ป่วยที่เริ่มรับยาโซโควาภายใน 3 วันนับจากที่เริ่มปรากฏอาการครั้งแรก ซึ่งเป็นอาการเด่นทั้ง 5 ของสายพันธุ์โอไมครอน อันได้แก่ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหลและคัดจมูก อ่อนเพลีย มีไข้และไม่สบาย อาการเหล่านี้หายไปในช่วงประมาณ 7 วัน ซึ่งเท่ากับว่าระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอาการเหล่านี้ลดลงไป 24 ชั่วโมง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2565)

ทำความรู้จัก “โซโควา” ยารักษาโควิด-19 แบบเม็ดที่ผลิตในญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินเรื่องการอนุญาตใช้ยาโซโควา ซึ่งเป็นยาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดใหม่ เราจะมุ่งเน้นเรื่องลักษณะเฉพาะรวมถึงประสิทธิผลของยาโซโควา

ยาโซโควาเป็นยาโควิด-19 แบบเม็ดสำหรับรับประทาน พัฒนาโดยชิโอโนงิ บริษัทยาของญี่ปุ่น โดยสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยได้ ก่อนหน้านี้ ยาโควิด-19 จะใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยหนัก แต่ยาโซโควานั้น ถึงแม้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำก็สามารถใช้ได้

นับจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้รับรองยาโควิด-19 จำนวน 9 ชนิดซึ่งรวมถึงแบบเม็ดและแบบที่ให้ผ่านหลอดเลือด ยาบางชนิดสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางได้ แต่การใช้งานจำกัดอยู่กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงว่าอาการจะกำเริบรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ และโรคอ้วน โดยไม่ได้มีการทดลองทางคลินิกกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำว่าจะเกิดอาการหนัก และยาดังกล่าวก็มีอยู่อย่างจำกัดด้วย

ยาโซโควาอาจนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับยาทามิฟลูที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยสามารถใช้กับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำว่าจะเกิดอาการหนักด้วย

คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้รับรองการใช้งานยาโซโควาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน คณะผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินว่าคาดว่ายานี้จะได้ผล เนื่องจากข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ยาดังกล่าวใช้ได้ผลกับอาการไข้และอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ยาโซโควาถือเป็นยาโควิด-19 ซึ่งพัฒนาในญี่ปุ่นยาแรกที่ได้รับการรับรองในญี่ปุ่น โดยทางการญี่ปุ่นหวังว่าการรับรองยาโซโควาจะนำไปสู่การจัดหายาโควิด-19 ให้แก่สถาบันทางการแพทย์ได้อย่างต่อเนื่องเพียงพอ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2565)

แนวทางป้องกันการแพร่ระบาด

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการเชิงป้องกันที่เราสามารถทำได้

คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นขอให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปซึ่งได้รับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2 เข็มแรกแล้ว ไปเข้ารับวัคซีนต้านสายพันธุ์โอไมครอนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันทางการแพทย์แบกรับภาระหนัก โดยคณะผู้เชี่ยวชาญยังขอให้เด็กเล็กและเด็กประถมไปเข้ารับวัคซีนเช่นกัน

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวกล่าวว่า บางคนอาจคิดว่าการเข้ารับวัคซีนไม่ได้ผลเนื่องจากกล่าวกันว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ ๆ สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ แต่นั่นไม่ใช่ความจริง

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนนั้น น่าจะมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ XBB ซึ่งอาจแพร่ระบาดในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ เขาขอให้ผู้คนไปเข้ารับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดระลอกที่ 8 ในฤดูหนาวนี้

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ฮามาดะยังแนะนำให้ผู้คนดำเนินมาตรการเชิงป้องกันต่อไป เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเลี่ยงสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น และว่าในช่วงแห่งการเฉลิมฉลองสิ้นปีและปีใหม่ ผู้คนจำนวนมากจะเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์หรือกลับไปเยือนบ้านเกิด แต่ผู้คนเหล่านี้อาจต้องยกเลิกแผนการโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การติดเชื้อ เขากล่าวว่าการเฝ้าจับตาสถานการณ์และลงมือปฏิบัติถือเป็นสิ่งสำคัญ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2565)

การระบาดพร้อมกันของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูหนาวนี้

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการเชิงป้องกันที่เราสามารถทำได้

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งระบุว่าควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดพร้อมกันของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ ในช่วงฤดูหนาวนี้

ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดใหญ่ กล่าวกันว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อสถาบันทางการแพทย์ที่กำหนดไว้ มีรายงานค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากกว่า 1 คนต่อ 1 สัปดาห์ จำนวนดังกล่าวในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน อยู่ที่ 0.11

ในปีนี้ จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในออสเตรเลียซึ่งอยู่ซีกโลกใต้ พุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวซึ่งตรงกับเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

องค์การอนามัยโลกระบุว่าจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐและแคนาดาเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และว่าจำนวนดังกล่าวในยุโรปยังคงต่ำอยู่ แต่เป็นแนวโน้มที่ไปในทางเพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่า ขณะนี้ไข้หวัดใหญ่กำลังแพร่ระบาดอย่างเชื่องช้ามากในญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ ช่วงที่เร็วที่สุดที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะแตะยอดสูงสุดนั้น อาจเป็นตอนที่โรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้งหลังวันหยุดฤดูหนาว เขากล่าวว่าด้วยเหตุนี้ การระบาดสูงสุดของโควิด-19 ระลอกที่ 8 กับไข้หวัดใหญ่นั้น จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2565)

การระบาดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการเชิงป้องกันที่เราสามารถทำได้

ฤดูแห่งวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กำลังจะใกล้เข้ามาแล้ว คาดว่าผู้คนจะมีโอกาสมากขึ้นในการรวมตัวสังสรรค์กัน

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนแล้ว

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน การระบาดได้แพร่ออกไปไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ศาสตราจารย์ฮามาดะเตือนเรื่องยอดติดเชื้อที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในสหรัฐ ซึ่งเฉลิมฉลองเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ตลอดจนผลกระทบจากการแข่งขันฟุตบอลโลกในประเทศกาตาร์

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่า ที่ผ่านมา สหรัฐเคยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นในช่วงประมาณวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นช่วงที่ครอบครัวจำนวนมากพบปะและรับประทานอาหารร่วมกัน

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้น เขากล่าวว่าคาดว่าการแข่งขันดังกล่าวจะดึงดูดผู้คนประมาณ 1.2 ล้านคนจากทั่วโลกมายังกาตาร์ โดยฟุตบอลโลกครั้งนี้จัดแบบที่มีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ มากกว่าการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในกรุงโตเกียว รวมถึงโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเป็นอย่างมาก

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าการระบาดอาจแพร่ออกไปในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก และเขาไม่สามารถชี้ถึงความเป็นไปได้ที่แฟนฟุตบอลอาจติดเชื้อที่กาตาร์และนำเชื้อกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตน ซึ่งต่อมาอาจจะได้เห็นการระบาดในกลุ่มประชากรของประเทศนั้น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2565)

การคาดการณ์เรื่องแนวโน้มการแพร่ระบาดโดยใช้ AI

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการเชิงป้องกันที่เราสามารถทำได้

ศาสตราจารย์ฮิราตะ อากิมาซะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโงยะและคณะของเขาได้คาดการณ์เรื่องการระบาดในอนาคตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI บนสมมติฐานที่ว่า BQ.1 และสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่อื่น ๆ บางชนิด อาจแพร่ระบาดออกไป การคาดการณ์นี้อิงจากข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีน และการเดินทางไปมาของผู้คน

เมื่อมีการตั้งสมมติฐานว่า BQ.1 และสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่อื่น ๆ บางชนิดมีพลังมากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.5 ที่ร้อยละ 20 ทั้งความสามารถในการทำให้ติดเชื้อและภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่เหล่านี้ ก็พบว่าค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันในกรุงโตเกียว คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 คนในช่วงกลางเดือนธันวาคม และอยู่ที่ประมาณ 36,000 คนในช่วงกลางเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่ายอดสูงสุดของการระบาดระลอกที่ 7 ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตในกรุงโตเกียวจะอยู่ที่ 20 คนต่อวัน หรือมากกว่านั้น ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ถ้า BQ.1 และสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่อื่น ๆ บางชนิดทำให้เกิดการติดเชื้อพอ ๆ กับสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้ และภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อครั้งก่อนได้ผลกับสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่เหล่านี้ในระดับหนึ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงโตเกียวจะแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 25,000 คนในช่วงกลางเดือนมกราคม

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าเมื่อพิจารณาเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก BQ.1 และสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่อื่น ๆ พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเริ่มพุ่งสูงขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และว่าขณะนี้มีการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว และอุณหภูมิกำลังลดต่ำลง ไม่มีปัจจัยใดที่จะช่วยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้อย่างแท้จริง

เขากล่าวว่าถ้าสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ทำให้เกิดการติดเชื้อสูงขึ้นและมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ก็มีโอกาสสูงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิ้นปีนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565)

บรรดาสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการเชิงป้องกันที่เราสามารถทำได้

การระบาดที่อาจเพิ่มมากขึ้นของบรรดาสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน เช่น BQ.1 ถือเป็นความกังวลหลัก คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่ได้มาจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้และการเข้ารับวัคซีน

ที่สหรัฐนั้น สายพันธุ์ย่อยใหม่ ๆ ของโอไมครอนกำลังเริ่มเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.5

ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนโดยทางการกรุงโตเกียวแสดงให้เห็นว่า BA.5 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในเดือนพฤศจิกายน โดยคิดเป็นร้อยละ 80.1 แต่สายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ก็กำลังค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น โดย BQ.1.1 อยู่ที่ร้อยละ 6.2, BN.1 อยู่ที่ร้อยละ 4.2, BF.7, BA.2.75 และ BQ.1 อยู่ที่อย่างละร้อยละ 2, BA.2 และ XBB อย่างละประมาณร้อยละ 1 และ BQ.4.6 อยู่ที่ร้อยละ 0.3

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวกล่าวว่า ความสนใจในขณะนี้พุ่งไปที่สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนอย่าง XBB และ BQ.1 แต่ XBB ไม่ได้ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลก ในสหรัฐและประเทศในยุโรปนั้น BQ.1 กำลังเข้ามาแทนที่ BA.5

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าสหรัฐและชาติในยุโรปไม่ได้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด นับจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าจุดสูงสุดของการระบาดระลอกที่ 8 ในญี่ปุ่นนั้น อาจเป็นยอดที่สูงมากหากสายพันธุ์ย่อยใหม่ ๆ จำนวนมากเข้ามาแพร่ระบาดในญี่ปุ่น เขาเตือนว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องจับตาการแพร่ระบาดต่อไป เนื่องจากอาจเผชิญสถานการณ์เช่นว่านี้ในเดือนธันวาคม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565)

สัญญาณของการแพร่ระบาดอีกระลอกหนึ่ง

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการเชิงป้องกันที่เราสามารถทำได้

ในตอนที่แล้ว เรามุ่งเน้นที่การแพร่ระบาดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับ BA.5 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน ที่ยุโรปก็มีกรณีติดเชื้อ BA.5 ที่เพิ่มขึ้นอีกระลอกเช่นกันเมื่อเดือนตุลาคม

ข้อมูลจาก Our World in Data ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เชิงวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการโดยคณะนักวิจัยที่ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในสหราชอาณาจักรระบุว่า ที่เยอรมนีในช่วงกลางเดือนตุลาคมนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันโดยเฉลี่ยต่อประชากรหนึ่งล้านคนในช่วง 7 วัน อยู่ที่ประมาณ 1,300 คน จำนวนดังกล่าวสูงกว่ายอดสูงสุดของการระบาดเมื่อเดือนกรกฎาคม ขณะที่ในฝรั่งเศส จำนวนดังกล่าวในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมอยู่ที่ราว 840 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ศาสตราจารย์วากิตะ ทากาจิ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.5 ที่กำลังดำเนินไปอยู่นั้น อาจพุ่งขึ้นสูงสุดก่อนสิ้นปีนี้

ด้านศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเชิงคณิตศาสตร์กล่าวว่า หลังจากการระบาดแตะระดับสูงสุดแล้ว การลดลงจะมีแนวโน้มเป็นไปอย่างเชื่องช้าและค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการระบาดกำลังแพร่ไปทั่วตามพื้นที่ต่าง ๆ เหมือนเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในฮอกไกโด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565)

ทำไมผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นจึงเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้

ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่กำลังเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน จำนวนดังกล่าวสูงกว่า 100,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 2 เดือน ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้วหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลโดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตและมาตรการเชิงป้องกัน

ทำไมผู้ติดเชื้อรายใหม่จึงเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเบาะแสของคำถามนี้อาจจะอยู่ตรงความจริงที่ว่า การติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มมาจากพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ ที่ผ่านมานับจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ ยอดติดเชื้อที่พุ่งพรวดมักเริ่มจากพื้นที่มหานครโตเกียว ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และแพร่ไปทั่วประเทศผ่านผู้คนที่เดินทางออกจากโตเกียว แต่ครั้งนี้ ยอดติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นเริ่มจากสถานที่ต่าง ๆ เช่น ฮอกไกโดและภูมิภาคโทโฮกุ ซึ่งอยู่ไกลจากกรุงโตเกียว

คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มนี้ที่การประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีคนจำนวนมากติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.5 ในการระบาดระลอกที่ 7 นั้น ผู้อยู่อาศัยที่ได้ภูมิคุ้มกันแล้วมีสัดส่วนที่สูง และว่าขณะนี้การระบาดกำลังแพร่ออกไปในพื้นที่ที่มีผู้คนไม่มากนักติดเชื้อ BA.5 ซึ่งผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวที่ได้ภูมิคุ้มกันแล้วมีสัดส่วนที่ต่ำ

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้สามารถมองได้ว่าเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการระบาดระลอกที่ 7 และว่าเมืองใหญ่ต่าง ๆ ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่แนวโน้มนี้ไม่เด่นชัดเทียบเท่ากับเมืองในส่วนภูมิภาค

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่า “เปลวไฟที่ยังหลงเหลืออยู่” จากการระบาดระลอกที่ 7 กำลังปะทุขึ้นมาอีกครั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ผู้คนจำนวนน้อยกว่าเคยติดเชื้อและผู้อยู่อาศัยจำนวนมากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565)

ความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนจะส่งผลกระทบต่อการระบาดระลอกใหม่ในญี่ปุ่น

ที่ผ่านมามีรายงานไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน เช่น BQ.1.1 และ XBB ครั้งนี้เราจะนำเสนอความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการระบาดระลอกใหม่ในญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเป็นมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ

คณะนักวิจัยของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า นับจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนว่า XBB หรือ BQ.1.1 จะทำให้เกิดอาการร้ายแรงของโรคโควิด-19 และว่ามีผลวิจัยจำนวนหนึ่งที่ชี้ไปยังความสามารถของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ คณะนักวิจัยกล่าวว่าพวกตนจะเฝ้าติดตามต่อไป

ที่ญี่ปุ่นนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเฉลี่ยในช่วง 7 วัน อยู่ที่ประมาณ 26,000 คน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม และจากนั้นจำนวนดังกล่าวก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาแตะที่ประมาณ 88,000 คน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวระบุว่า กล่าวกันว่าสายพันธุ์ย่อย BQ.1 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากกว่า BA.5 และถึงแม้ว่าคุณจะเคยติดเชื้อมาแล้วหรือได้รับวัคซีนแล้ว ก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะติดเชื้อซ้ำ ด้วยเหตุนี้ หากว่า BQ.1 แพร่ระบาดในฤดูหนาวนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าขณะนี้มีวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว และเขาต้องการให้ผู้คนไปเข้ารับวัคซีน เขากล่าวว่าเนื่องด้วย BA.5, BQ.1 และ XBB ล้วนเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน การไปเข้ารับวัคซีนที่พุ่งเป้ายังโอไมครอนนั้น ก็สามารถคาดหวังได้ว่าจะได้รับการป้องกันจากสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว เขากล่าวว่านี่อาจจะช่วยลดกรณีที่เกิดอาการรุนแรงในช่วงฤดูหนาวนี้ได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565)

สถานการณ์ของสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนที่ปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจะเป็นไปอย่างไร

ที่ผ่านมามีรายงานไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน เช่น BQ.1, BQ.1.1 และ XBB สถานการณ์ของสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจะเป็นไปอย่างไร เราจะนำเสนอข้อมูลบางส่วนและทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม โดยชี้ถึงการพบเห็นปรากฏการณ์น่าสนใจในบรรดาสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่เหล่านี้ นั่นคือเรื่องที่พวกมันมีการกลายพันธุ์แบบเดียวกัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นในสถานที่และช่วงเวลาที่ต่างกันก็ตาม สิ่งนี้เรียกว่า “วิวัฒนาการเบนเข้า” ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกัน มีวิวัฒนาการแยกกัน แต่กลับจบลงแบบมีลักษณะร่วมกัน

WHO ระบุว่าการกลายพันธุ์ในสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่นี้เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าจำเป็นต่อการปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์ และว่าการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้อีก

ศาสตราจารย์ฟูรูเซะ ยูกิ จากมหาวิทยาลัยนางาซากิซึ่งเชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาระบุว่า กล่าวกันว่าตอนนี้ประชากรโลกครึ่งหนึ่งติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว พวกไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันของโอไมครอนอาจต้องมีการกลายพันธุ์แบบเดียวกัน เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก

เขากล่าวว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้กลายพันธุ์ไปมากพอแล้ว และยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามันจะปรับตัวเข้าหามนุษย์ได้หรือไม่ หรือจะยังคงกลายพันธุ์ต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

ข้อมูลเกี่ยวกับ XBB ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน

ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนกำลังเริ่มแพร่ระบาดทั่วโลก เราจะนำเสนอเกี่ยวกับ XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ดังกล่าว ที่กำลังแพร่ระบาดในสิงคโปร์และที่อื่น ๆ

จำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากสายพันธุ์ย่อย XBB กำลังเพิ่มมากขึ้นในสิงคโปร์และอินเดีย

กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ระบุว่า การติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย XBB คิดเป็นร้อยละ 54 ของกรณีติดเชื้อที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ในช่วงสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 9 ตุลาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากสัปดาห์ก่อนหน้า และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า ตรวจพบสายพันธุ์ย่อย XBB ใน 35 ประเทศนับจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยคณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ระบุว่า ถึงแม้ว่าจะมีการชี้ถึงความเสี่ยงติดเชื้อ XBB เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้โรคกำเริบรุนแรงหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนชนิดอื่น ๆ ที่แพร่ระบาดอยู่

คณะผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวด้วยว่ากรณีติดเชื้อซ้ำนั้น ส่วนมากจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่ติดเชื้อในช่วงแรกเริ่ม ก่อนการระบาดของโอไมครอน และยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่า XBB สามารถหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ของโอไมครอน

ที่สิงคโปร์นั้น จำนวนของผู้ติดเชื้อ XBB ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวระบุว่า ยังไม่มีการระบาดครั้งใหญ่ของสายพันธุ์ย่อย XBB จากสิงคโปร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และว่าที่ญี่ปุ่นก็ตรวจพบสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้เช่นกัน แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อยังคงต่ำอยู่ ด้วยเหตุนี้ระดับความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของ XBB จึงไม่สูงมากเหมือนเช่นก่อนหน้านี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565)

ข้อมูลเกี่ยวกับ BQ.1 และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน

ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอนกำลังเริ่มแพร่ระบาดทั่วโลก เราจะนำเสนอเกี่ยวกับ BQ.1 และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน ที่กำลังแพร่ระบาดในสหรัฐและพื้นที่อื่น ๆ

ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ญี่ปุ่นเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง ซึ่งหลัก ๆ เนื่องมาจากไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.5 โดย BQ.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.5 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนาม และ BQ.1.1 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมที่ส่วนหนาม ที่สหรัฐนั้น BQ.1 คิดเป็นประมาณร้อยละ 14 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ขณะที่ BQ.1.1 คิดเป็นร้อยละ 13.1 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่ามีรายงานการระบาดของ BQ.1 และบรรดาสายพันธุ์ย่อยของมันใน 65 ประเทศ นับจนถึงต้นเดือนตุลาคม

คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ระบุว่าสัดส่วนของสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่กำลังเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่การกลายพันธุ์เพิ่มเติมของพวกมันได้เสริมความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้มากกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ของโอไมครอนที่ระบาดอยู่ อย่างไรก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าครั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงของโรคหรือการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหมายถึงโอกาสที่อาจติดเชื้อหลังจากเข้ารับวัคซีน หรือความเสี่ยงมากขึ้นที่จะติดเชื้อซ้ำ แต่จำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม และว่าการคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนเพื่อต้านการติดเชื้อ ทั้งวัคซีนแบบดั้งเดิมและวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์โอไมครอนนั้น อาจลดลงไป แต่คาดว่าไม่มีผลกระทบใหญ่โตอะไรในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565)

ความเสี่ยงเกิดอาการหนักจากไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน และประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่

ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เราจะนำเสนอเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหนักจากไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ของโอไมครอน และประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ญี่ปุ่นเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 7 เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน ขณะที่ BA.5 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกในระยะเวลาหนึ่ง สัดส่วนโดยรวมของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้กลับค่อย ๆ ลดลง ขณะที่จำนวนของผู้ติดเชื้อเนื่องจากสายพันธุ์ย่อย BQ.1, BQ.1.1 และ XBB ก็กำลังค่อย ๆ แพร่ไปทั่วโลก

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระบุว่า ในขณะที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อยชนิดใดที่จะระบาดหลักในอนาคต แต่สายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ล้วนแสดงให้เห็นความสามารถเดียวกันในการยึดเกาะกับเซลล์ของมนุษย์ และยังมีความสามารถดีขึ้นในการหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของเราด้วย

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าถึงแม้ว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญก็คือการเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้สามารถหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของเราได้หรือไม่ และคอยตรวจสอบการแพร่เชื้อและการก่อให้เกิดโรคของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กเล็ก

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็ก โดยครั้งนี้เป็นทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญ 2 คนเกี่ยวกับว่าเราควรพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็กอย่างไร

ศาสตราจารย์ไซโต อากิฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยนีงาตะระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินมาตรการเชิงป้องกันสำหรับเด็กเล็ก เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ เขากล่าวว่าสำหรับเด็กกลุ่มอายุนี้ การฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่ได้ผลในการป้องกันการเกิดอาการของโรคโควิด-19 และเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะป่วยหนัก

ด้านศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะกล่าวว่า ผลข้างเคียงเป็นหนึ่งในผลกระทบเชิงลบจากการเข้ารับวัคซีน แต่เขากล่าวเสริมว่าถ้าไม่เข้ารับวัคซีน ก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่อาจถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ ตัวอย่างของอาการแทรกซ้อนนั้นรวมถึงความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่าภาวะสมองอักเสบแบบเฉียบพลันและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ศาสตราจารย์นากายามะขอให้ผู้คนชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้ และตัดสินใจโดยอิงจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

ด้านสมาคมกุมารแพทย์แห่งญี่ปุ่นยังแนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี โดยระบุว่าประโยชน์ในการป้องกันอาการต่าง ๆ ของโรคโควิด-19 นั้นมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กที่เคยติดเชื้อมาก่อนและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนหลายเข็ม

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กที่เคยติดเชื้อมาก่อนและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนหลายเข็ม

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้ว่าเด็กคนนั้นจะเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาก่อน

ศาสตราจารย์ไซโต อากิฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยนีงาตะระบุว่า แม้ว่าคุณเคยติดเชื้อมาแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะสร้างระดับภูมิคุ้มกันได้มากพอ หากว่าอาการของคุณเป็นอาการเล็กน้อย เขากล่าวว่าเป็นที่ทราบกันว่าปริมาณของสารภูมิต้านทานที่มีต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

ศาสตราจารย์ไซโตกล่าวว่าถ้าคุณเข้ารับวัคซีนหลังการติดเชื้อ นี่จะสามารถรับประกันได้ว่าร่างกายของคุณมีระดับภูมิคุ้มกันที่มากพอ ส่วนเรื่องของช่วงเวลานั้น ศาสตราจารย์ไซโตกล่าวว่าสามารถเข้ารับวัคซีนได้เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาลงไป และสุขภาพของเด็กกลับสู่ภาวะปกติแล้ว

เด็ก ๆ สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนอื่น ๆ ได้ การเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในวันเดียวกันสามารถทำได้ ส่วนวัคซีนอื่นนั้น ในทางหลักการ ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากรับวัคซีนโควิด-19

ส่วนเรื่องที่ว่าควรจัดลำดับความสำคัญอย่างไรให้แก่เด็ก ศาสตราจารย์ไซโตกล่าวว่า กำหนดเวลาของการฉีดวัคซีนนั้นถูกจัดวางไว้แล้วว่าอะไรที่กำหนดให้เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดตามปกติ เขาแนะนำให้พ่อแม่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นหลักและวางแผนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ก่อนหรือหลังวัคซีนปกติ 2 สัปดาห์

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565)

กรณีของเด็กที่ป่วยหนักหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอสถานการณ์เกี่ยวกับเด็กที่เกิดอาการหนักหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการตัดสินใจเรื่องความจำเป็นของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็ก

สมาคมกุมารแพทย์แห่งญี่ปุ่นระบุว่ากว่าร้อยละ 95 ของเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เกิดอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่จำนวนของเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหลังการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน จำนวนของเด็กที่เสียชีวิตและเด็กที่มีอาการหนักก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาวิจัยกลุ่มคนที่อายุไม่ถึง 20 ปี จำนวน 41 คน ซึ่งเสียชีวิตหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปีนี้ ซึ่งกรณีติดเชื้อส่วนใหญ่เกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอน จากจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว ทางสถาบันได้ตรวจสอบ 29 คนอย่างใกล้ชิดและพบว่าเป็นเด็กอายุ 4 ปีหรือต่ำกว่านั้นจำนวน 14 คน ในจำนวนนี้ 6 คนไม่มีโรคประจำตัว

ไม่มีข้อมูลเรื่องอาการป่วยหนักโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี แต่สมาคมเวชบำบัดวิกฤติแห่งญี่ปุ่นได้รวบรวมข้อมูลซึ่งรวมถึงเรื่องอายุและอาการต่าง ๆ จากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีเตียงสำหรับเด็กทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคมปีนี้

ทางสมาคมระบุว่ามีผู้คนทั้งหมด 220 คนที่ถูกจัดว่ามีอาการปานกลางถึงอาการหนัก ซึ่งหมายความว่าคนเหล่านี้ต้องได้รับออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ เด็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุ 6 ปีหรือต่ำกว่านั้น คิดเป็นร้อยละ 58.6 ของกรณีเช่นว่านี้ ทางสมาคมระบุว่าผู้ที่มีอาการหนักจำนวนมากมีภาวะสมองอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการที่สมองบวมและสามารถทำให้การรับรู้เสื่อมถอย ปอดอักเสบและอาการชักก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นมากเช่นกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565)

ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจากการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจากการฉีดวัคซีน

บรรดาแพทย์ได้รายงานเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในกลุ่มผู้ชายอายุยังน้อย ซึ่งส่วนมากอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและช่วงวัย 20 กว่าปี โดยระบุว่าเป็นผลข้างเคียงร้ายแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

พวกเขายังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องความเสี่ยงของอาการเกี่ยวกับหัวใจเช่นว่านี้ที่เกิดกับเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 4 ปี อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า ยังไม่มีรายงานอาการในลักษณะนี้จากเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีประมาณ 600,000 คนที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ในสหรัฐ นับจนถึงปลายเดือนสิงหาคม

ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแสดงให้เห็นว่า มีรายงานกรณีที่สงสัยว่าเป็นอาการเกี่ยวกับหัวใจ 2-3 กรณีต่อการฉีดวัคซีน 1,000,000 ครั้ง

เราได้สอบถามศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน เขาระบุว่ากลุ่มเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะเกิดอาการเกี่ยวกับหัวใจเช่นนั้นหลังการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับผู้ชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและช่วงวัย 20 กว่าปี เขากล่าวว่าแต่ถึงแม้จะเกิดอาการเช่นว่านี้ เด็กส่วนใหญ่ก็มีอาการเพียงเล็กน้อยและหายเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวว่าหากเด็ก ๆ ดูเหมือนว่ามีอาการหายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภายในไม่กี่วันหลังการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์โดยทันที

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565)

การฉีดวัคซีนทำให้เกิดผลกระทบต่อกลไกการสืบพันธุ์ของมนุษย์หรือไม่

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเรื่องที่ว่าการฉีดวัคซีนทำให้เกิดผลกระทบต่อกลไกการสืบพันธุ์ของมนุษย์หรือไม่

มีการนำวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ มาใช้สำหรับฉีดให้แก่เด็ก ๆ ในญี่ปุ่น วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนประเภทใหม่ที่เรียกว่าวัคซีน mRNA

mRNA ทำงานเป็น “พิมพ์เขียว” ซึ่งเป็นแบบสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน เมื่อได้รับวัคซีน mRNA ส่วนหนึ่งของโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะถูกผลิตขึ้นมาในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ โปรตีนนี้จะกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้ผลิตสารภูมิต้านทาน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า mRNA จะสลายไปและถูกขจัดออกจากร่างกายภายในช่วงหลายนาทีไปจนถึงหลายวัน และยังระบุด้วยว่า mRNA ในวัคซีนนั้นจะไม่เข้าไปรวมกับ DNA ของมนุษย์ที่บรรจุข้อมูลด้านพันธุกรรมเอาไว้ ร่างกายมนุษย์ผลิต mRNA จาก DNA ของตัวเอง แต่การเคลื่อนตัวของข้อมูลทางพันธุกรรมนั้นเป็นแบบทางเดียว ดังนั้น เราจึงไม่สามารถผลิต DNA จาก mRNA ได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าเมื่อได้รับวัคซีน mRNA จะไม่มีความเสี่ยงที่ข้อมูลทางพันธุกรรมของ mRNA จะตกค้างอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน และข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกส่งต่อไปยังรหัสพันธุกรรมของอสุจิหรือไข่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565)

ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผลข้างเคียงส่วนใหญ่อยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและเกิดขึ้นชั่วคราว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ทำให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยมากนัก

ไฟเซอร์ตรวจติดตามอาการข้างเคียงของเด็กที่ได้รับวัคซีนแล้วในช่วง 1 สัปดาห์ระหว่างการทดลองทางคลินิก โดยพบว่าในกลุ่มเด็ก ๆ อายุ 2 ถึง 4 ปี มีร้อยละ 5.1 ที่มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้นโดยเฉลี่ย หลังได้รับวัคซีน 3 เข็ม ร้อยละ 26.6 ระบุว่ามีอาการอ่อนเพลีย ร้อยละ 2.7 อาเจียน และร้อยละ 6.5 ท้องเสีย

ส่วนเด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ร้อยละ 7.1 มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น ร้อยละ 21.5 แสดงสัญญาณความอยากอาหารลดลง และร้อยละ 47.4 มีอาการหงุดหงิดและอารมณ์ไม่ดี

ศาสตราจารย์ไซโตะ อากิฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยนีงาตะ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านวัคซีนระบุว่า แม้ว่าการเปรียบเทียบได้อย่างถูกต้องแม่นยำจะทำได้ยาก แต่ผลข้างเคียงในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ไม่ค่อยพบบ่อยเท่ากับผู้ใหญ่ เขายังระบุด้วยว่าความถี่ของการเกิดผลข้างเคียงในกลุ่มเด็กอายุนี้น้อยกว่าหรือเท่ากัน เมื่อเทียบกับเด็กอายุระหว่าง 5 ถึง 11 ปี หรือเด็กอายุ 12 ถึง 15 ปี

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565)

ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี

ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเกี่ยวกับประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มอายุนี้

คาดว่าการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็กจะมีประสิทธิผลในการป้องกันไม่ให้อาการกำเริบรุนแรง ไฟเซอร์ซึ่งเป็นบริษัทยาได้ทำการทดลองทางคลินิกกับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี และพบว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม ระดับของสารภูมิต้านทานของเด็กกลุ่มอายุนี้เทียบเท่ากับระดับที่ได้จากการทดลองทางคลินิกกับเด็กที่อายุมากกว่าและกลุ่มผู้ใหญ่

ไฟเซอร์ยังได้ทดลองทางคลินิกกับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีกว่า 1,100 คนในสหรัฐและยุโรปซึ่งเป็นพื้นที่ที่สายพันธุ์โอไมครอนระบาดอยู่ เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนจริงหรือวัคซีนหลอกซึ่งเป็นน้ำเกลือที่ไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การติดเชื้อพบว่า ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2565 เด็ก 794 คนที่ได้รับวัคซีนจริง ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อ 13 คน ขณะที่เด็ก 351 คนที่ได้รับวัคซีนหลอก ในจำนวนนี้มี 21 คนที่ติดเชื้อ และว่าหลังจากการฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม วัคซีนมีประสิทธิผลร้อยละ 73.2 ในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ระบุว่าจำนวนเด็กติดเชื้อยังมีไม่มากพอที่จะวิเคราะห์ได้ว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิผลมากพอในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักได้เพียงใด

ศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนระบุว่า ตนคาดว่าวัคซีนจะมีประสิทธิผลเพียงพอในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนัก เนื่องจากวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้อาการกำเริบรุนแรง เขากล่าวว่าในขณะที่ข้อมูลยังต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการวิจัย แต่มีรายงานว่าวัคซีนมีประสิทธิผลร้อยละ 40-80 ในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565)

ข้อมูลของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 4 ปี

การจัดฉีดวัคซีนของภาครัฐเพื่อต้านโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีได้เริ่มขึ้นแล้วในเดือนตุลาคม เราจะนำเสนอเกี่ยวกับว่าการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็กนั้นมีประสิทธิผลหรือไม่และมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงใด ๆ หรือไม่ ครั้งนี้เราจะให้ข้อมูลของการฉีดวัคซีน

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนคือไฟเซอร์ซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐ ปริมาณของส่วนผสมที่ออกฤทธิ์ต่อขนาดยานั้นได้แก่ 1 ใน 10 ของปริมาณวัคซีนที่ฉีดให้ผู้ใหญ่ และ 1 ใน 3 ของปริมาณวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี สัดส่วนดังกล่าวอิงจากไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยวัคซีนไม่ได้มีส่วนผสมที่ได้มาจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

การฉีดวัคซีนนี้ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพราะใช้เงินทุนของภาครัฐทั้งหมด ต้องเข้ารับวัคซีน 3 ครั้งจึงจะถือว่าฉีดครบ โดยเข็มแรกกับเข็มที่ 2 เว้นห่างจากกัน 3 สัปดาห์ และเข็มที่ 3 ทิ้งห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 8 สัปดาห์

โดยหลักการแล้ว เด็ก ๆ จะได้รับบัตรฉีดวัคซีนจากท้องถิ่นของตนเองเพื่อไปเข้ารับวัคซีนที่คลินิกกุมารเวชกรรมในท้องถิ่น และอื่น ๆ หรือสถานที่จัดฉีดวัคซีนแบบเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยทางการท้องถิ่นบางแห่ง

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นยังขอให้เด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 4 ปีไปเข้ารับวัคซีน โดยให้เหตุผลเรื่องจำนวนการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นและอาการป่วยหนักในกลุ่มเด็ก ๆ ตลอดจนประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนที่ได้รับการยืนยันแล้วท่ามกลางการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

ทั้งนี้ ไม่มีข้อบังคับหรือบทลงโทษ โดยขึ้นอยู่กับเด็ก ๆ และพ่อแม่ของเด็กที่จะตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565)

จะรับมืออย่างไรหากเกิดการระบาดพร้อมกันของโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

บรรดาผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในฤดูหนาวนี้ ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการระบาดพร้อมกันดังกล่าว โดยจะไปดูกันว่าสิ่งที่เราควรระวังในการป้องกันความเป็นไปได้เช่นว่านี้คืออะไร

ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ต่างก็เป็นโรคติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเสียเป็นส่วนมาก และเส้นทางการติดเชื้อก็คล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนี้การดำเนินมาตรการเชิงป้องกันสำหรับโรคทั้งสองนี้ จึงไม่แตกต่างกันมากนัก

ประการแรก ขอแนะนำให้ฆ่าเชื้อโรคที่มือและนิ้วของคุณและสวมหน้ากากอนามัยในกรณีที่คุณอยู่ภายในอาคารและพูดคุยกับผู้อื่นในระยะใกล้ ส่วนสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหารและบาร์ ควรทำให้อากาศถ่ายเทอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ประการที่สอง ควรงดเว้นจากการไปโรงเรียนหรือไปทำงาน และพยายามเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิดกับผู้อื่น เมื่อคุณมีไข้และอาการอื่น ๆ และการพักผ่อนอย่างเพียงพอถือเป็นสิ่งสำคัญมากด้วย

ผู้เชี่ยวชาญขอให้ผู้คนดำเนินมาตรการพื้นฐานเชิงป้องกันไว้ก่อน โดยพยายามควบคุมการแพร่ระบาดในกรณีที่เกิดการระบาดพร้อมกันของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และไข้หวัดใหญ่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565)

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปกป้องตัวเองจากการระบาดพร้อมกันของโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

บรรดาผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในฤดูหนาวนี้ ครั้งนี้เราจะนำเสนอความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับว่า เราสามารถปกป้องตัวเองจากการระบาดพร้อมกันเช่นว่านี้ด้วยการเข้ารับวัคซีนได้อย่างไร

เป็นที่ทราบกันว่าทั้งวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ถึงแม้ว่าผู้ที่รับวัคซีนแล้วจะติดเชื้อ แต่วัคซีนก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้อย่างมากในการเกิดอาการหนัก

เราได้สอบถามศาสตราจารย์โอซากะ เค็น จากมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น เขากล่าวว่าไม่มีปัญหาในการเข้ารับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกัน และว่าสถาบันทางการแพทย์บางแห่งฉีดวัคซีนทั้งสองในเวลาเดียวกัน และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้ารับวัคซีนทั้งสองนี้ก่อนที่จะถึงฤดูหนาว เขาได้ขอให้ทุกคนไปเข้ารับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือ 4 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ด้านคุณวากิตะ ทากาจิ หัวหน้าคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันการฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้ายังโอไมครอนให้มีความคืบหน้า ตลอดจนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เขากล่าวว่าการทำเช่นนี้ จะช่วยลดการแพร่เชื้อลงให้เหลือน้อยที่สุดและจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่จะกลายเป็นผู้ป่วยหนักได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อมีไข้ในช่วงที่อาจเกิดการระบาดพร้อมกันระหว่างโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

บรรดาผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในฤดูหนาวนี้ ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับว่าควรทำอย่างไรเมื่อมีไข้ในช่วงที่เกิดการระบาดพร้อมกันดังกล่าว

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำชุดคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกไม่สบาย เช่น มีไข้ โดยแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดอาการหนัก ไปพบแพทย์ที่คลินิกไข้หรือแพทย์ประจำบ้านโดยทันที เช่น เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ โดยขอให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และไข้หวัดใหญ่ จากนั้นก็เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับผลการตรวจ เช่น รับใบสั่งยาสำหรับยาที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำว่าจะเกิดอาการหนัก เช่น กลุ่มคนอายุน้อยลงมา ขอแนะนำให้ใช้ชุดตรวจแอนติเจนที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล เพื่อตรวจหาเชื้อที่บ้านหรือที่อื่น ๆ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ หากผลการตรวจเป็นลบ ก็ขอให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์ หรือจากแพทย์ประจำบ้าน และรับใบสั่งยาสำหรับยาต้านไข้หวัดใหญ่หากจำเป็น

หากผลการตรวจเป็นบวก ขอแนะนำให้แจ้งไปยังศูนย์ติดตามด้านสาธารณสุขและพักรักษาตัวที่บ้าน หากอาการย่ำแย่ลงและต้องการพบแพทย์ ก็ขอแนะนำให้ไปยังคลินิกไข้หรือพบแพทย์ประจำบ้านของคุณ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เตรียมชุดตรวจหาเชื้อและยาลดไข้ไว้ให้พร้อม เพื่อที่จะได้รักษาอาการไข้ด้วยตนเองได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565)

สถานการณ์แบบใดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาดพร้อมกันระหว่างโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่

มีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในญี่ปุ่น ครั้งนี้เราจะไปดูกันว่าสถานการณ์แบบใดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาดพร้อมกันเช่นว่านี้

ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดระลอกที่ 7 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายนปีนี้ โดยระลอกนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ป่วยเกือบ 12 ล้านคนและราว 13,500 คนเสียชีวิต ขณะที่สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นประมาณว่าในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปลายปี 2561 ถึงใบไม้ผลิต้นปี 2562 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 12 ล้านคน

ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดระลอกที่ 7 สถาบันการแพทย์ที่มีสถานที่สำหรับผู้ป่วยนอกซึ่งรองรับคนที่มีไข้นั้น มีผู้ป่วยหนาแน่นมาก ทำให้เป็นการยากที่ผู้คนจะติดต่อสถาบันทางการแพทย์และศูนย์สาธารณสุข ในหลายพื้นที่ เป็นการยากที่จะได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้กระทั่งผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะป่วยหนัก ก็พบความยากลำบากที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาลฉุกเฉิน

คณะผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า หากเกิดการระบาดขึ้นพร้อมกันระหว่างโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ สถานการณ์แบบเดียวกันนี้หรืออาจจะเลวร้ายกว่านั้นอาจเกิดขึ้นได้

โควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น มีไข้สูง, ไอ, เจ็บคอ และปวดตามข้อ กล่าวกันว่าเป็นการยากที่จะจำแนกอาการได้หากไม่ตรวจผู้ป่วย คาดว่าผู้ป่วยที่มีไข้จะคลาคล่ำเต็มสถานที่สำหรับผู้ป่วยนอกเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และทำให้บริการด้านการแพทย์ต้องรับภาระหนัก

ศาสตราจารย์ทาเตดะ คาซูฮิโระจากมหาวิทยาลัยโทโฮ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า ทางการควรคาดเอาไว้ว่าจะเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดขึ้น โดยสถานที่สำหรับผู้ป่วยนอกจะมีผู้คนหนาแน่นเสียยิ่งกว่าตอนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการระบาดระลอกที่ 7

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565)

ทำไมผู้เชี่ยวชาญจึงคาดว่าฤดูหนาวนี้จะเกิดการระบาดพร้อมกันระหว่างโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่น

มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกัน ครั้งนี้เราจะอธิบายว่าทำไมถึงคิดว่าจะเกิดการระบาดพร้อมกันเช่นนี้

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะเผชิญการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี ให้เหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก สหรัฐ ยุโรป และอีกหลายประเทศได้เริ่มกลับมาเปิดประเทศแล้วและผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิต้นปีจนถึงกลางปี 2565 ด้วยเหตุนี้ การเดินทางระหว่างประเทศจึงคึกคักมากยิ่งขึ้น

ส่วนญี่ปุ่นก็ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าประเทศลงอย่างมากในเดือนตุลาคม การเดินทางเข้าญี่ปุ่นมากขึ้นอาจมีแนวโน้มที่จะเอื้อให้เกิดการระบาดทั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และไข้หวัดใหญ่

ประการที่ 2 ญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดใหญ่เลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่

เอกสารที่ออกโดยคณะผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การที่ผู้คนมีระดับสารภูมิต้านทานต่ำ อาจนำไปสู่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งรุนแรงได้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ไข้หวัดใหญ่อาจระบาดในญี่ปุ่นช่วงฤดูหนาวนี้ พร้อมด้วยการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 8 ที่อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันแบบใกล้ชิดเต็มที่เหมือนระดับก่อนการระบาดใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์อาจไม่รุนแรงเท่ากับฤดูกาลที่ผ่าน ๆ มา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2565)

ทำไมช่วง 2 ปีที่ผ่านจึงไม่เกิดการระบาดพร้อมกันของโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อกำลังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงฤดูหนาวนี้ที่ญี่ปุ่น ในช่วงฤดูหนาวของ 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น ไม่มีรายงานการระบาดพร้อมกันของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ เราจะมาวิเคราะห์กันดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ญี่ปุ่นเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกฤดูหนาว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 10-20 ล้านคนในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างมากหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 14,000 คนในช่วงฤดูหนาวปี 2563 ถึงต้นปี 2564 และราว 3,000 คนในช่วงฤดูหนาวของปีนี้ ข้อมูลนี้อิงจากรายงานของสถาบันทางการแพทย์ประมาณ 5,000 แห่งทั่วประเทศ

ปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่ระบาดในญี่ปุ่นช่วงฤดูหนาว แต่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นในเขตร้อนหรือในภูมิภาคกึ่งโซนร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศในแอฟริกานั้น การระบาดของไข้หวัดใหญ่พบเห็นได้ตลอดทั้งปี

คาดว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ ตามการเดินทางข้ามพรมแดนของผู้คน และทำให้เกิดการระบาดในญี่ปุ่นช่วงฤดูหนาวเนื่องจากสภาพอากาศตามฤดูกาลเอื้อให้ไวรัสแพร่ระบาดได้โดยง่าย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น การควบคุมเรื่องการเดินทางเข้าประเทศและการเว้นระยะห่างทางสังคม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565)

กำหนดการฉีดวัคซีนสำหรับวัคซีนที่พุ่งเป้ายังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

ในเดือนตุลาคม ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.5 ของโอไมครอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ฉีดวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของโอไมครอนด้วย เราจะนำเสนอข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนที่ใช้วัคซีน 2 แบบนี้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่กำหนดการฉีดวัคซีน

ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปทุกคนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นวัคซีนแบบเดิมมาอย่างน้อย 3 เดือนแล้ว มีสิทธิที่จะได้รับวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นประเมินว่ามีผู้คนประมาณ 100 ล้านคนที่มีสิทธิเข้ารับวัคซีนแบบใหม่ภายในปีนี้

ทางกระทรวงมีแผนที่จะแจกจ่ายวัคซีนประมาณ 99 ล้านขนาดยา อันประกอบด้วยวัคซีนไฟเซอร์สำหรับ BA.1 และ BA.5 และวัคซีนโมเดอร์นาสำหรับ BA.1 ให้แก่ทางการท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่นภายในปลายเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ จะมีการสงวนวัคซีนโมเดอร์นาสำหรับ BA.1 ไว้จำนวน 5,000,000 ขนาดยาแบบแยกต่างหาก เพื่อจัดฉีดให้ตามสถานที่ทำงาน

ส่วนการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดระลอกที่ 8 ที่อาจเกิดขึ้นช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น ทางกระทรวงระบุว่าจะทำให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนที่ต้องการเข้ารับวัคซีนจะได้รับวัคซีนโดยไม่ผิดหวัง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565)

วัคซีน 2 แบบที่พุ่งเป้ายังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน แบบไหนมีประสิทธิผลมากกว่า

ในเดือนตุลาคม ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.5 ของโอไมครอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ฉีดวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของโอไมครอนด้วย เราจะนำเสนอข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนที่ใช้วัคซีน 2 แบบนี้

วัคซีนแบบไหนที่คุณควรเข้ารับ วัคซีนที่พุ่งเป้ายัง BA.5 หรือ BA.1 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่าวัคซีนทั้งสองมีสารประกอบของโอไมครอน และว่าวัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิผลต่อไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับวัคซีนก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าบรรดาวัคซีนล่าสุดนี้จะมีประสิทธิผลต่อไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคตด้วย

ทางกระทรวงเสริมว่าเนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองนี้ ดังนั้น ประชาชนควรเข้ารับวัคซีนใดก็ได้ที่มีอยู่จากทั้ง 2 แบบดังกล่าว ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนระบุว่า “บรรดาวัคซีนล่าสุดนี้มีประสิทธิผลมากกว่า ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการต่าง ๆ ความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ย่อย BA.5 กับ BA.1 นั้น ไม่ได้มีนัยสำคัญมากเท่ากับความแตกต่างระหว่างไวรัสแบบเดิมกับไวรัสกลายพันธุ์ทั้งหลายก่อนหน้านี้ วัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.1 มีประสิทธิผลในการป้องกันไม่ให้อาการย่ำแย่ลง ถ้าคุณจองเข้ารับวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.1 แล้ว ก็ควรเดินหน้าและไปเข้ารับวัคซีน”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2565)

วัคซีน 2 แบบที่พุ่งเป้ายังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

ในเดือนตุลาคม ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.5 ของโอไมครอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ฉีดวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของโอไมครอนด้วยเช่นกัน เราจะนำเสนอข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนที่ใช้วัคซีน 2 แบบนี้

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นกำลังขอให้ทางการท้องถิ่นซึ่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ใช้วัคซีนที่ใกล้จะถึงวันหมดอายุก่อน ซึ่งหมายความว่า เมื่อวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อย BA.5 ถูกจัดส่งไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนในขณะที่สถานที่ดังกล่าวยังมีวัคซีนที่พุ่งเป้ายังสายพันธุ์ย่อย BA.1 สำรองไว้อยู่นั้น จะมีการขอให้แพทย์ผู้ฉีดวัคซีนใช้วัคซีนอย่างหลังที่ใกล้จะถึงวันหมดอายุก่อน เพื่อไม่ให้วัคซีนเสียเปล่า

คำถามก็คือ ผู้ที่ไปเข้ารับวัคซีนจะสามารถเลือกวัคซีนที่ตนจะเข้ารับได้หรือไม่

กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งต่อทางการท้องถิ่นว่า ขึ้นอยู่กับทางการท้องถิ่นว่าจะแจ้งผู้ที่จองมาเข้ารับวัคซีนว่าจะได้วัคซีนแบบไหน หรือไม่แจ้ง อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงได้เน้นย้ำว่า จากแผนการฉีดวัคซีนของตน ทางการท้องถิ่นแต่ละแห่งจะได้รับวัคซีนที่เพียงพอสำหรับฉีดให้แก่ผู้อยู่อาศัย และยอดรวมของวัคซีนดังกล่าวมาจากวัคซีนที่พุ่งเป้ายัง BA.1 กับวัคซีนที่พุ่งเป้ายัง BA.5 รวมกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2565)

จุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการรายงานผู้ติดเชื้อที่ยุ่งยากน้อยลง

ที่ญี่ปุ่นนั้น ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยุ่งยากน้อยลงมีผลในทางปฏิบัติทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 กันยายน เราจะนำเสนอว่าระบบดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องจุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นายคาโต คัตสึโนบุ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น กล่าวเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของระบบการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยุ่งยากน้อยลง โดยระบุว่า “ทางการท้องถิ่นที่ใช้ระบบนี้ก่อนที่อื่นได้รายงานว่าภาระต่อระบบดูแลสาธารณสุขของตนน้อยลงไป แต่อีกแง่หนึ่งก็คือ ระบบใหม่นี้ได้ตัดความจำเป็นในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของผู้ติดเชื้อ เมื่อไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจทำให้ใช้เวลามากขึ้นในการให้การรักษาอย่างเหมาะสมหรือการดำเนินการเพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่ออาการของผู้ป่วยย่ำแย่ลง”

นายคาโตกล่าวว่ากระทรวงของตนจะดำเนินงานร่วมกับทางการท้องถิ่นและปรับปรุงระบบนี้หากจำเป็น เพื่อทำให้การใช้มาตรการต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น

นายยามางิวะ ไดชิโร รัฐมนตรีที่รับผิดชอบมาตรการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กล่าวว่า ญี่ปุ่นอาจเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 8 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เขาเตือนว่าในช่วงดังกล่าว อาจเกิดการระบาดพร้อมกันระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เขาขอให้เตรียมการอย่างระมัดระวังเพื่อรับประกันว่าจะจัดการได้อย่างเหมาะสมหากเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นมา และว่า “จำเป็นที่จะต้องหารือกันอย่างถี่ถ้วนว่าควรทำอะไรและกำหนดแผนการที่เป็นรูปธรรม” และเสริมว่าตนจะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและพิจารณาผลกระทบต่อสังคมไปพร้อมกับการเดินหน้าเรื่องนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2565)

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการระบาดพร้อมกันระหว่างโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ในฤดูหนาวนี้

ที่ญี่ปุ่นนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่ต่อวันลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูร้อนปีนี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ข้อจำกัดเรื่องพรมแดนเพื่อต้านไวรัสนี้ได้ผ่อนคลายลงอย่างมาก โครงการอุดหนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศก็เริ่มแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อกำลังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงฤดูหนาวนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับว่าสถานการณ์ใดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและจะรับมืออย่างไร ตลอดจนมาตรการของรัฐบาลเพื่อการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว

ในช่วงฤดูหนาวของ 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น ไม่มีรายงานการระบาดพร้อมกันของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความแตกต่างระหว่างฤดูหนาวในปี 2565 กับฤดูหนาวในปีก่อน ๆ คืออะไร

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เป็นผู้นำความพยายามรับมือการระบาดใหญ่ได้ร่วมกันยื่นเอกสารเกี่ยวกับแนวโน้มของการระบาด ต่อคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น เอกสารระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะแพร่ออกไปพร้อมกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในช่วง 6 เดือนระหว่างตุลาคมถึงมีนาคมปี 2566

ด้านคณะผู้เชี่ยวชาญจึงตอบรับด้วยการชี้ว่า พวกตนจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันนี้

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม คณะที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นได้รวบรวมชุดมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดพร้อมกันของโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

มาตรการดังกล่าวอิงจากสมมติฐานที่ว่า ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายวันอาจแตะ 450,000 คน และจำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจสูงถึง 300,000 คนต่อวัน โดยมียอดรวมสูงสุดต่อวันที่ 750,000 คน


(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2565)

ความกังวลของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบการรายงานผู้ติดเชื้อให้ยุ่งยากน้อยลง

ที่ญี่ปุ่นนั้น ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยุ่งยากน้อยลงมีผลในทางปฏิบัติทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 กันยายน เราจะนำเสนอว่าระบบดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยครั้งนี้เป็นเรื่องความกังวลของผู้เชี่ยวชาญว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เป็นการยากที่จะวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อโดยละเอียด

ก่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ข้อมูลของผู้ติดเชื้อทุกคน เช่น ที่อยู่ ช่วงที่เริ่มเกิดอาการต่าง ๆ และเส้นทางการติดเชื้อที่อาจเป็นไปได้นั้น จะถูกบันทึกลงในฐานข้อมูลที่ชื่อ HER-SYS ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญใช้ข้อมูลนี้ในการวิเคราะห์รายละเอียด เช่น ยอดติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่ไหน เส้นทางการติดเชื้อโดยรวม และไวรัสนี้แพร่ระบาดเร็วแค่ไหนในแต่ละภูมิภาค รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดมาตรการด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยอิงจากการวิเคราะห์นี้

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดที่ใช้ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อที่ยุ่งยากน้อยลงก่อนที่จะเริ่มใช้กันทั่วประเทศนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อที่บันทึกเข้าฐานข้อมูลมีน้อยลงมากจากจำนวนจริงของผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ

ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เขากล่าวว่าสิ่งนี้ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที และว่าเขาจะไม่สามารถวิเคราะห์ประสิทธิผลของมาตรการต้านการติดเชื้อได้อีกต่อไป รวมถึงเรื่องที่ว่าการไปไหนมาไหนที่เปลี่ยนไปของผู้คนนั้นส่งผลต่อสถานการณ์การติดเชื้ออย่างไร

ศาสตราจารย์นิชิอูระยังชี้ด้วยว่าจะไม่มีการรายงานเรื่องบันทึกการฉีดวัคซีนของผู้ติดเชื้ออีกต่อไปภายใต้ระบบที่ยุ่งยากน้อยลงนี้ ส่งผลให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนและสัดส่วนของผู้คนที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ เขากล่าวว่านี่อาจกระทบต่อการตัดสินใจเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ศาสตราจารย์นิชิอูระกล่าวว่าจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลหลายระดับและหารือกันว่าการประเมินความเสี่ยงแบบใดที่จะเป็นไปได้จากข้อมูลดังกล่าว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565)

การรับมือต่อการระบาดใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ที่ญี่ปุ่นนั้น ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยุ่งยากน้อยลงมีผลในทางปฏิบัติทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 กันยายน เราจะนำเสนอว่าระบบดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยครั้งนี้จะไปดูกันว่าการรับมือต่อการระบาดใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตามการเปลี่ยนแปลงของไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหลักและลักษณะของไวรัสนั้น ตลอดจนความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน โดยนโยบายที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลนั้นมีทั้งการอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีอาการสามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ รวมถึงการทบทวนข้อจำกัดต่าง ๆ ในการออกไปข้างนอกของผู้คนและการทำธุรกิจทั้งหลาย ในยามที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ตอนที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในญี่ปุ่น รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะไม่บังคับใช้ข้อจำกัดใหม่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญพบว่าเมื่อเป็นสายพันธุ์นี้ กลุ่มคนอายุน้อยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดอาการหนักและการระบาดเกิดขึ้นที่บ้าน โรงเรียน และสถานที่สำหรับผู้สูงอายุเสียเป็นส่วนมาก ไม่ใช่ตามร้านอาหารและบาร์ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงเลือกที่จะพุ่งเป้าไปยังการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็ทำให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้

นับจากนั้นเป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนโดยใช้วัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังโอไมครอนและหลายประเทศทั่วโลกก็ทยอยฟื้นฟูกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจสู่ระดับก่อนการระบาดใหญ่ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับระบบการรายงานผู้ติดเชื้อเพื่อลดความยุ่งยากลง และมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์กับผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการลดระยะเวลากักตัวของผู้ป่วยและผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางเข้าญี่ปุ่นให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างชาติ

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่ามีแผนที่จะคงกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับปัจจุบันเอาไว้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้สถานที่ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศดำเนินการต่อไปได้ แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้งก็ตาม โดยจะทบทวนนโยบายต้านการติดเชื้อสำหรับยุคสมัยที่ต้องอยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต่อไป พร้อมกับพิจารณาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและสถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2565)

ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อที่ยุ่งยากน้อยลงจะช่วยบรรเทาภาระด้านสาธารณสุขได้หรือไม่

เราจะนำเสนอว่าระบบการรายงานผู้ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยครั้งนี้เราได้สอบถามหัวหน้าศูนย์สาธารณสุขแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวว่าระบบใหม่นี้จะช่วยบรรเทาภาระของสถาบันทางการแพทย์และศูนย์สาธารณสุขต่าง ๆ ได้หรือไม่

คุณมาเอดะ ฮิเดโกะ หัวหน้าศูนย์สาธารณสุขของเขตคิตะในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยระบุว่า ในการแพร่ระบาดระลอกที่ 7 มีหลายคนติดเชื้อแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถไปพบแพทย์ได้ เขากล่าวว่าหนึ่งในข้อดีของการทำให้ระบบรายงานผู้ติดเชื้อยุ่งยากน้อยลงนั้นก็คือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวจะสามารถไปคลินิกและโรงพยาบาลได้ง่ายขึ้น

ส่วนเรื่องภาระที่ศูนย์สาธารณสุขต่าง ๆ ต้องแบกรับนั้น คุณมาเอดะระบุว่าปริมาณงานทั่วไปจะลดลงไปอย่างมาก แต่เขากล่าวว่าเนื่องจากไม่ต้องกรอกรายละเอียดของผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยอีกต่อไป ทางศูนย์สาธารณสุขจึงต้องดำเนินงานที่ซับซ้อนเพื่อตรวจสอบรายละเอียด เมื่ออาการของกลุ่มคนเหล่านี้ย่ำแย่ลงและต้องการความช่วยเหลือ เขากล่าวว่าด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าปริมาณงานลดลงไปแล้วจริง ๆ

ภายใต้ระบบที่ยุ่งยากน้อยลง ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีรายงานแบบลงรายละเอียดนั้น สามารถลงทะเบียนกับ “ศูนย์ติดตามด้านสาธารณสุข” ได้ หากอาการของผู้ลงทะเบียนย่ำแย่ลงขณะพักอยู่ที่บ้าน ก็สามารถติดต่อและปรึกษากับทางศูนย์ได้และจะถูกส่งต่อไปยังสถาบันทางการแพทย์

ที่กรุงโตเกียวนั้น ผู้ที่มีอายุ 64 ปีหรือต่ำกว่านั้นซึ่งตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สามารถลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์กับระบบของทางการกรุงโตเกียวเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ แต่คุณมาเอดะระบุว่าผู้ที่พบปัญหาในการติดต่อสื่อสารทางออนไลน์ สามารถติดต่อและมายังสถาบันทางการแพทย์หรือคลินิกไข้ได้โดยไม่ต้องลังเล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2565)

การตรวจติดตามผู้ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ

ระบบที่ลดความยุ่งยากลงในการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีผลเมื่อวันที่ 26 กันยายน เราจะนำเสนอว่าระบบรายงานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยจะมุ่งเน้นยังเรื่องที่ว่าทางการมีแผนจะตรวจติดตามผู้ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการอย่างไร

ภายใต้ระบบที่ลดความซับซ้อนลง ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการซึ่งตรวจพบเชื้อด้วยตนเองจะสามารถลงทะเบียนกับ “ศูนย์ติดตามด้านสาธารณสุข” ได้ และเริ่มพักรักษาตัวที่บ้านโดยไม่ต้องเข้ารับคำปรึกษากับสถาบันทางการแพทย์

กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับความช่วยเหลือ เช่น ที่พักที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง หรือการจัดส่งอาหารให้ พวกเขาสามารถติดต่อหรือปรึกษากับศูนย์ติดตามด้านสาธารณสุข หากอาการแย่ลงขณะที่พักรักษาตัวที่บ้าน โดยจะมีการส่งตัวไปยังสถาบันทางการแพทย์โดยตรง

เนื่องจากศูนย์สาธารณสุขไม่สามารถจะเฝ้าติดตามดูแลอาการของผู้ติดเชื้อได้เหมือนเมื่อก่อน ทางการเลยเพิ่มความพยายามที่จะเชื่อมต่อผู้ป่วยกับสถาบันทางการแพทย์โดยเร็ว ถ้าอาการของผู้ป่วยย่ำแย่ลงขณะอยู่ที่บ้าน

ทางการเผชิญความท้าทายเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลการติดต่อให้แก่ศูนย์ติดตามด้านสาธารณสุขและสถานที่ที่ให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ตลอดจนเรื่องการส่งเสริมมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การขอให้ผู้คนแยกกักตัว

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นชี้ว่า การผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับการรายงานผู้ติดเชื้อแบบละเอียดนั้นจะทำให้การระบุการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มนั้นเป็นเรื่องยาก ทางกระทรวงขอให้จังหวัดต่าง ๆ ดำเนินการต่อไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ตามสถานที่พยาบาลดูแลผู้สูงอายุและสถาบันอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2565)

แผนการสำหรับติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

ระบบที่ลดความยุ่งยากลงในการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีผลเมื่อวันที่ 26 กันยายน เราจะนำเสนอว่าระบบการรายงานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยจะมุ่งเน้นยังเรื่องที่ว่าทางการมีแผนจะตรวจติดตามผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างไร

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ระบบที่ลดความซับซ้อนสำหรับรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เพื่อลดภาระของสถาบันทางการแพทย์และเพื่อมุ่งเน้นไปที่การพยาบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

สถาบันทางการแพทย์ใช้ระบบที่ดำเนินการโดยภาครัฐซึ่งรู้จักกันในชื่อ “HER-SYS” เพื่อรายงานชื่อของผู้ป่วยทั้งหมดไปที่ศูนย์สาธารณสุขรวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเมื่อใดและข้อมูลการติดต่อ

ภายใต้ระบบใหม่นั้น สถาบันทางการแพทย์จะรายงานแค่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เช่น ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ตลอดจนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ระบบ “HER-SYS” จะตรวจติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละกลุ่มอายุทั้งหมดต่อไป ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ได้จัดว่ามีความเสี่ยงสูงด้วย

ขณะเดียวกัน มีการดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อช่วยเหลือคนที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น มีการยกเลิกข้อห้ามจำหน่ายชุดตรวจแอนติเจนทางออนไลน์

ทางการจังหวัดต่าง ๆ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านสาธารณสุข และเริ่มฉีดวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ทางการหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยขจัดการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ในอนาคตได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)

ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อที่ลดความยุ่งยากลง

ภายใต้ระบบที่ลดความยุ่งยากลงในการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติเมื่อวันที่ 26 กันยายน ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้สถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศรายงานรายละเอียดเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยหนักเท่านั้น

เราจะนำเสนอว่าระบบการรายงานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยจะมุ่งเน้นยังการทำให้ระบบรายงานผู้ติดเชื้อยุ่งยากน้อยลง

เพื่อเป็นการลดภาระของสถาบันทางการแพทย์ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำกัดข้อกำหนดเรื่องการรายงานผู้ติดเชื้อ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

- ผู้ติดเชื้อมีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ติดเชื้อเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
- ผู้ติดเชื้อเป็นหญิงตั้งครรภ์หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยหนัก

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้อยู่ในข่ายข้างต้น สถาบันทางการแพทย์เพียงแค่รายงานยอดรวมและกลุ่มอายุของผู้ติดเชื้อเท่านั้น

ระบบการรายงานผู้ติดเชื้อแบบเดิมนั้นกำหนดให้สถาบันทางการแพทย์ทั้งหลายกรอกบันทึกของผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่ทางสถาบันตรวจพบเชื้อลงในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ หลายจังหวัดที่ใช้ระบบใหม่ซึ่งยุ่งยากน้อยลงระบุว่า ภาระที่สถาบันทางการแพทย์ของจังหวัดตนต้องแบกรับนั้นน้อยลงไป

อย่างไรก็ตาม แพทย์และผู้เชี่ยวชาญชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องเตรียมเครือข่ายต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อที่ผู้ป่วยซึ่งมีอาการเล็กน้อยจะได้พบแพทย์โดยเร็ว หากอาการของพวกเขาย่ำแย่ลง

รัฐบาลญี่ปุ่นขอให้หน่วยงานของจังหวัดต่าง ๆ เตรียมการเช่นนี้ไว้และขอให้ผู้ป่วยแยกกักตัวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะมีอาการเล็กน้อยก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2565)

สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้เหลือน้อยที่สุด

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดระยะเวลากักตัวของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เหลือ 7 วันจากเดิมคือ 10 วัน เมื่อวันที่ 7 กันยายน เราจะนำเสนอข้อมูลที่ใช้อ้างอิงสำหรับการตัดสินใจดังกล่าว โดยจะมุ่งเน้นถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้เหลือน้อยที่สุด

คุณวากิตะ ทากาจิ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า การเตือนประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการแพร่เชื้อที่ยังคงมีอยู่หลังจากลดระยะเวลากักตัวแล้วนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และว่าพวกเราทุกคนควรดำเนินมาตรการต้านไวรัสนี้โดยเริ่มจากตัวเราเองและลงมือปฏิบัติ เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงลง

ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เน้นย้ำว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่เชื้อได้จนถึงวันที่ 10 และเรียกร้องว่าต้องดำเนินมาตรการป้องกันการติดเชื้อเมื่อออกไปด้านนอก คณะผู้เชี่ยวชาญขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ติดต่อใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยงสูงในแต่ละวัน เช่น เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและพนักงานของสถานที่สำหรับผู้สูงอายุ และว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องทำให้มั่นใจว่ามีผลตรวจหาเชื้อที่เป็นลบก่อนกลับไปทำงาน

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นยังขอให้ทางการท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อขอไม่ให้ผู้อยู่อาศัยที่ติดเชื้อไวรัสนี้ลดระดับการป้องกันจนถึงวันที่ 10

มาตรการที่ควรทำนั้นได้แก่ การตรวจสุขภาพร่างกาย เช่น การวัดอุณหภูมิ, หลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ตลอดจนเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่สำหรับผู้สูงอายุหากไม่ใช่ธุระสำคัญจำเป็น, อยู่ให้ห่างจากสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงรวมถึงการรวมตัวกันแบบมีการรับประทานอาหารร่วมด้วย และควรสวมหน้ากากอนามัย

ระยะเวลากักตัวได้ลดลงไปแล้ว แต่ธรรมชาติของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงเป็นเช่นเดิมอยู่ ด้วยเหตุนี้เราควรต้องพึงระลึกไว้ว่าความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อยังคงมีอยู่แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 7 วันก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2565)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลดระยะเวลากักตัว

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดระยะเวลากักตัวของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยมีผลเมื่อวันที่ 7 กันยายน ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีอาการต้องกักตัว 7 วัน จากเดิมคือ 10 วัน ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยสืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวนี้ โดยจะมุ่งเน้นไปยังทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ

ที่การประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 กันยายน มีการแสดงความเห็นต่างกันออกไปเกี่ยวกับการลดระยะเวลากักตัว

ผู้ที่เห็นด้วยกับการลดระยะเวลากักตัวระบุว่าเป็นที่ทราบกันว่าไวรัสนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากที่สุดในช่วง 7 วันนับตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ และว่าการลดระยะเวลากักตัวนั้นจำเป็น เพื่อทำให้กลไกทางสังคมและการแพทย์ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยระบุว่ายังไม่มีการจัดหารือเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง และว่าการตัดสินใจยกเลิกระยะเวลากักตัวเดิมทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงติดเชื้อมีมากกว่าร้อยละ 10 นั้น เกินขอบเขตที่สามารถรับรองได้ในทางวิทยาศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งระบุว่าไม่ควรลดระยะเวลากักตัวที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลดูแลสำหรับผู้สูงอายุ

ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้แสดงความกังวลโดยระบุว่า สถานการณ์จะแตกต่างอย่างมากโดยขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างถี่ถ้วนตั้งแต่วันที่ 8 นับจากวันที่เริ่มปรากฏอาการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะนำเสนอข้อมูลเชิงตัวเลขเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์การติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าอย่างน้อย อัตราที่ผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนั้นจะเพิ่มขึ้น และว่าด้วยเหตุนี้ เมื่อการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าก่อนหน้านี้ และอาจส่งผลกระทบต่อบริการทางการแพทย์หรือทำให้การเรียกรถพยาบาลนั้นยากกว่าเดิม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2565)

ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อหลังสิ้นสุดการกักตัว 7 วัน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดระยะเวลากักตัวของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จาก 10 วันเป็น 7 วัน เมื่อวันที่ 7 กันยายน ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลที่ใช้อ้างอิงเพื่อตัดสินใจเรื่องนี้ โดยจะมุ่งเน้นที่ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อหลังจากวันที่ 8

การสำรวจที่จัดทำโดยสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นระหว่างเดือนพฤศจิกายนปี 2564 ถึงมกราคมปี 2565 นั้น เป็นการวัดดูว่าไวรัสจะถูกตรวจพบในกลุ่มผู้ป่วยที่ปรากฏอาการต่าง ๆ 59 คนได้นานแค่ไหน

เมื่อนับวันที่เริ่มปรากฏอาการเป็นวันที่ 0 เมื่อถึงวันที่ 1 ตรวจพบไวรัสร้อยละ 96.3 ของผู้ป่วยที่มีอาการ ในวันที่ 4 ตรวจพบร้อยละ 60.3 ร้อยละ 23.9 ในวันที่ 7 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือร้อยละ 16.0 ในวันที่ 8 ร้อยละ 10.2 ในวันที่ 9 ร้อยละ 6.2 ในวันที่ 10 และลดลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 3.6 ในวันที่ 11 ร้อยละ 2.0 ในวันที่ 12 ร้อยละ 1.1 ในวันที่ 13 และร้อยละ 0.6 ในวันที่ 14

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ตรวจพบไวรัสนี้กว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยในวันที่ 8 นับจากวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งวันที่ 8 ถือเป็นวันสิ้นสุดการกักตัวภายใต้กฎระเบียบใหม่

ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้นำเสนอผลการวิจัยของคณะหนึ่งซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐ ที่การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 7 กันยายน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าพบไวรัสนี้ในกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยในวันที่ 5 และร้อยละ 25 ในวันที่ 8

ศาสตราจารย์นิชิอูระเตือนว่ามีความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่ระบาดแม้ว่าหลังจากช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ผ่านไปแล้วนับตั้งแต่ที่เริ่มปรากฏอาการต่าง ๆ ก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 กันยายน 2565)

ข้อมูลที่ใช้อ้างอิงเพื่อตัดสินใจเรื่องการลดระยะเวลากักตัว

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ครั้งนี้เราจะนำเสนอข้อมูลพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์และประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย

ระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ที่มีอาการนั้นลดลงจาก 10 วัน เหลือ 7 วัน ข้อมูลประเภทใดที่ใช้อ้างอิงเพื่อตัดสินใจเรื่องนี้

มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ปรากฏอาการ 59 คน ที่การประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 กันยายน

เมื่อนับวันที่ปรากฏอาการเป็นวันที่ 0 จำนวนไวรัสตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 13 อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 6 ของปริมาณไวรัสที่นับจนถึงวันที่ 3 ข้อมูลนี้อิงจากผลการวิจัยของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นที่ดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายนปี 2564 ถึงมกราคมปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ BA.1 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนกำลังแพร่ระบาด

คณะนักวิจัยระบุว่าถึงแม้ผู้ป่วยจะยังคงขับไวรัสออกมาหลังวันที่ 7 แต่ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโรคนี้ไปยังผู้อื่น มีแนวโน้มที่จะลดลงไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2565)

กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการลดระยะเวลากักตัว

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน โดยรวมถึงระยะเวลากักตัวที่สั้นลงด้วย ปัจจุบันผู้ที่ปรากฏอาการต่าง ๆ ต้องกักตัว 7 วัน จากเดิมที่ต้องกักตัว 10 วัน

เราจะนำเสนอข้อมูลพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์และประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย ตลอดจนทัศนะของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อกฎระเบียบใหม่ดังกล่าว

นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน กฎระเบียบใหม่สำหรับการกักตัวนั้น มีดังต่อไปนี้

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอาการ การกักตัวจะสิ้นสุดลงเมื่อครบ 8 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ถ้าในช่วง 1 วันสุดท้ายอาการดีขึ้น

กลุ่มคนที่ไม่มีอาการ การกักตัวจะสิ้นสุดลงเมื่อครบ 6 วันหลังจากที่ตรวจพบเชื้อครั้งแรก ในกรณีที่ผลตรวจในวันที่ 5 เป็นลบ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดต่อสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างถี่ถ้วน โดยผู้ที่มีอาการอาจแพร่เชื้อไวรัสนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ 10 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการต่าง ๆ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ 7 วัน

ส่วนกลุ่มผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและกลุ่มผู้สูงอายุในสถานพยาบาลดูแล กฎระเบียบเรื่องการกักตัวยังคงเดิม โดยให้สิ้นสุดการกักตัวหลังครบ 11 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีอาการ ถ้าช่วง 3 วันสุดท้ายอาการดีขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2565)

ยาซึ่งเดิมพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคอื่น

เราจะนำเสนอความคืบหน้าของยาและการรักษาโรคโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของยาและการรักษาเหล่านี้ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่ยาซึ่งเดิมทีพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคอื่น

ยาเรมเดซิเวียร์ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสนั้น แรกเริ่มถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรักษาโรคอีโบลา เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2563 ยานี้กลายเป็นยาชนิดแรกที่ได้รับการรับรองให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในญี่ปุ่น

เดิมยานี้ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยซึ่งมีอาการปานกลางไปจนถึงอาการหนัก เมื่อเดือนมีนาคมปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้ขยายการใช้งานไปยังผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก

เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้ใช้ยาเดกซาเมทาโซนซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์สำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นับจนถึงขณะนั้น ยานี้ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงหรือเป็นโรคไขข้ออักเสบเสียเป็นส่วนมาก

ยาดังกล่าวจะใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางไปจนถึงอาการหนัก หลังจากที่ผู้ป่วยคนนั้นเป็นปอดอักเสบและต้องใช้การรักษาด้วยออกซิเจน

นอกจากนี้ ยาบาริซิทินิบซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ได้รับการรับรองเมื่อเดือนเมษายนปี 2564 ก็นำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรือมีอาการรุนแรงมากกว่า เดิมยานี้เป็นยารับประทานสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในญี่ปุ่นมีการจำกัดการใช้ยานี้ โดยให้ใช้ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์เท่านั้น

ยา “แอกเทมรา” ซึ่งเป็นยาต้านโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และยังเป็นที่รู้จักในชื่อโทซิลิซูแมบ ได้รับการรับรองเมื่อเดือนมกราคมปี 2565 เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะต้องใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนักซึ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2565)

การรักษาด้วยสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี

เราจะนำเสนอความคืบหน้าของยาและการรักษาโรคโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของยาและการรักษาเหล่านี้ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี

สารภูมิต้านทานที่ผลิตโดยมนุษย์ในยาสารภูมิต้านทานทั้งหลายเมื่อรวมกับโปรตีนหนามบนผิวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสนี้เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ได้

คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้รับรองยา “โรนาพรีฟ” ซึ่งเป็นแอนติบอดีค็อกเทลสำหรับรักษาโรคโควิด-19 เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2564

ยาดังกล่าวถือเป็นยาแรกที่ได้รับการรับรองในญี่ปุ่นเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีอาการเล็กน้อย โดยเกิดจากการรวมกันระหว่างคาซิริวิแมบกับอิมดีวิแมบ ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานที่ยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ โดยสามารถให้ยานี้ได้ผ่านการฉีดยาหรือให้ยาผ่านทางหลอดเลือด

เมื่อเดือนกันยายนปี 2564 คณะทำงานดังกล่าวได้อนุญาตให้ใช้ยาสารภูมิต้านทานอีกตัวหนึ่งซึ่งได้แก่ เซวูดี ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อโซโทรวิแมบ ยานี้ประกอบไปด้วยสารภูมิต้านทานชนิดหนึ่งและให้ยาผ่านทางหลอดเลือด

ยาทั้งสองนี้ใช้กับผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่รวมถึงปอดอักเสบ และมีความเสี่ยงที่อาการจะย่ำแย่ลง โดยจะได้รับยา 1 ครั้งภายใน 7 วันที่มีอาการของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ คณะทำงานดังกล่าวยังรับรองการใช้ยานี้ในเชิงป้องกันด้วย ซึ่งจะให้ยาสารภูมิต้านทานแก่ผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งมีความเสี่ยงจะป่วยหนักหากติดเชื้อ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

ผลการทดลองทางคลินิกพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาโรนาพรีฟ มีความเสี่ยงที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงเสียชีวิตลดลงราวร้อยละ 70 ส่วนผลการทดลองของผู้ที่ได้รับยาเซวูดีพบว่า ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงไปประมาณร้อยละ 85

อย่างไรก็ตาม ยาสารภูมิต้านทานเหล่านี้มีข้อเสียตรงที่มักจะมีประสิทธิผลลดลงเมื่อใช้กับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ๆ มีรายงานว่ายาสารภูมิต้านทานที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิผลลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อจำนวนมากครั้งล่าสุด

แนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นที่ปรับปรุงล่าสุด แนะนำให้แพทย์พิจารณาการใช้ยาเหล่านี้เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ญี่ปุ่นยังได้รับรอง “เอวูเชลด์” ยาใหม่ซึ่งเป็นการรักษาแบบสารภูมิต้านทาน พัฒนาขึ้นโดยแอสตราเซเนกา บริษัทผู้ผลิตยาของอังกฤษ โดยมากยานี้จะใช้กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหนักหรือป้องกันการเกิดอาการต่าง ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2565)

ยาโซโควา

เราจะนำเสนอความคืบหน้าของยาต่าง ๆ สำหรับรักษาโรคโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของยาเหล่านี้ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่ยาโซโควา

ชิโอโนงิ บริษัทยาของญี่ปุ่นได้ยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการรับรองยาโซโควาของบริษัทตน ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยสามารถรับประทานยานี้ได้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่ำที่จะป่วยหนักก็ตาม

ยานี้จะไปยับยั้งความสามารถของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่คัดลอก RNA ซึ่งเป็นเหมือนกับพิมพ์เขียวของไวรัสนี้

เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ บริษัทชิโอโนงิได้เผยแพร่ผลการทดลองทางคลินิกที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ โดยมีผู้ป่วย 428 คนซึ่งมีอายุระหว่าง 12 ปีแต่ไม่เกิน 70 ปีเข้าร่วม พวกเขามีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

ทางบริษัทระบุว่าผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับยาวันละ 1 ขนาดยา และหลังจากวันที่ 3 กลุ่มผู้ป่วยซึ่งมีอาการ 5 อาการ เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และมีไข้นั้น มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก

บริษัทชิโอโนงิยังระบุด้วยว่าสัดส่วนของผู้ป่วยที่ตรวจพบไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อได้ลดลงไปร้อยละ 90 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาโซโควา เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทระบุว่าเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบผู้ป่วยระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาจริงกับยาหลอกใน 12 อาการที่รวมถึงท้องเสียและอาเจียนนั้น ไม่พบความแตกต่างมากนัก

คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้ประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยานี้ ขณะที่สมาชิกบางคนของคณะทำงานดังกล่าวระบุว่าประสิทธิผลของยาโซโควาในการป้องกันไม่ให้ป่วยหนักนั้น สามารถอนุมานว่าเป็นเช่นนั้นได้ แต่ก็มีข้อสงสัยว่ายานี้ใช้ได้ผลกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

คณะทำงานดังกล่าวจึงเลื่อนการตัดสินใจที่จะรับรองยานี้ออกไป และเห็นพ้องว่าต้องประเมินผลกันต่อ

บริษัทชิโอโนงิระบุว่าจะเปิดเผยข้อมูลการทดลองทางคลินิกในขั้นสุดท้ายภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565)

ยาแพกซ์โลวิด

เราจะนำเสนอความคืบหน้าของยาต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองในญี่ปุ่น รวมถึงประสิทธิผลของยาเหล่านี้

นับจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับรองยาสำหรับรับประทาน 2 ยี่ห้อ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอาการเล็กน้อย ยาดังกล่าวได้แก่ ลาเกวริโอที่พัฒนาโดยเมอร์ค บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ และแพกซ์โลวิดจากบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐเช่นกัน ยาทั้งสองนี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอาการหนัก และมีประสิทธิผลในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์

ไฟเซอร์ระบุว่าผลวิเคราะห์จากการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ยาแพกซ์โลวิดช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงเสียชีวิตได้ร้อยละ 89 เมื่อให้ยานี้ภายใน 3 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการต่าง ๆ และร้อยละ 88 หากให้ยาภายใน 5 วันหลังจากปรากฏอาการ

ไฟเซอร์ยังระบุด้วยว่ามีการนำยาแพกซ์โลวิดกับยาหลอกมาเปรียบเทียบกันเพื่อดูอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อย

เอกสารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของยาระบุว่าใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางทั้งผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยหนัก และควรรับประทานวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 5 วัน

ทั้งนี้ ยาแพกซ์โลวิดไม่ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางเนื่องจากมียา 40 ชนิดซึ่งห้ามใช้ร่วมกับยานี้ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตด้วย

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า ได้จัดหายาที่เพียงพอสำหรับใช้กับผู้คน 2,000,000 คน และนับจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม มีการใช้ยานี้กับผู้คนราว 17,600 คนแล้ว เชื่อกันว่ายาแพกซ์โลวิดและยาลาเกวริโอใช้ได้ผลกับไวรัสชนิดกลายพันธุ์ โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากนัก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2565)

ข้อมูลของยาต่าง ๆ ที่ใช้รักษาโควิด-19 ซึ่งได้รับการรับรองในญี่ปุ่น

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ครั้งนี้เป็นตอนแรก โดยจะไปดูความคืบหน้าของยาต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองในญี่ปุ่น รวมถึงประสิทธิผลของยาเหล่านี้

นับจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับรองยาสำหรับรับประทาน 2 ยี่ห้อ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอาการเล็กน้อย ยาดังกล่าวได้แก่ ลาเกวริโอที่พัฒนาโดยเมอร์ค บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ และแพกซ์โลวิดจากบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐเช่นกัน ยาทั้งสองนี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอาการหนัก

ลาเกวริโอซึ่งมีชื่อสามัญว่าโมลนูพิราเวียร์ ได้รับการรับรองเป็นกรณีฉุกเฉินพิเศษจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ยาดังกล่าวป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่พันธุ์ในร่างกายของมนุษย์ด้วยการยับยั้งความสามารถของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่คัดลอก RNA ซึ่งเป็นเหมือนพิมพ์เขียวของไวรัส

จากข้อมูลที่แนบมากับบรรจุภัณฑ์ของยาและข้อมูลอื่น ๆ ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของยานี้คือผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อายุ 18 ปีขึ้นไปซึ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก โดยรวมถึงผู้สูงอายุและผู้ที่น้ำหนักเกินหรือผู้ที่เป็นเบาหวาน

มีการแนะนำให้รับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน โดยเริ่มรับประทานหลังจากมีอาการต่าง ๆ ภายใน 5 วัน แต่หญิงตั้งครรภ์หรือคาดว่าจะตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานยานี้ เนื่องจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับทารกในครรภ์

กล่าวกันว่ายาลาเกวริโอทำให้ความเสี่ยงที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงเสียชีวิตลดลงไปร้อยละ 30 เมื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง โดยพบว่าความถี่ที่จะเกิดอาการข้างเคียงระหว่างกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอกกับกลุ่มผู้ได้รับยาลาเกวริโอนั้นไม่แตกต่างกัน

นับจนถึงปัจจุบัน มีผู้คนในญี่ปุ่นกว่า 380,000 คนได้รับยาลาเกวริโอแล้ว ผู้ผลิตระบุว่าจะสามารถจัดส่งยาดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องเนื่องจากมีระบบการผลิตแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของยานี้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2565)

ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนเข็มที่ 4 ที่รวบรวมได้ในญี่ปุ่น

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยครั้งนี้จะรายงานข้อมูลที่รวบรวมได้ในญี่ปุ่นเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนเข็มที่ 4 ของบรรดาวัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน

สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของทางการกรุงโตเกียวได้ตีพิมพ์ข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม เกี่ยวกับระดับของสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสในตัวอย่างเลือดที่เก็บมาจากบุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้ซึ่งได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 แล้ว

การวิเคราะห์กลุ่มคนเหล่านี้ที่อยู่ในช่วงวัย 60 ถึง 70 ปีแสดงให้เห็นว่า ค่ากลางของระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 4 เดือน อยู่ที่ 855 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 3,942 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 4

โดยเฉลี่ยแล้ว ระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสยังคงสูงอยู่หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เมื่อเทียบกับช่วงหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แต่ระดับดังกล่าวต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 ทุกคนเห็นว่าระดับสารภูมิต้านทานของตนเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูง

ศาสตราจารย์ทาเตดะ คาซูฮิโระ จากมหาวิทยาลัยโทโฮ ซึ่งอยู่ในคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า สายพันธุ์กลายพันธุ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากโอไมครอน อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาด และว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 และผู้ที่ได้รับบัตรฉีดวัคซีนเพื่อให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 4 ควรไปเข้ารับวัคซีนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ในปัจจุบัน

เชื่อกันว่าการรับวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายเข็มนั้นมีประสิทธิผลในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ป่วยหนัก และช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิทยา และโรคติดเชื้อเห็นพ้องกันว่าผู้คนควรพิจารณาเข้ารับวัคซีนที่ตนสามารถรับได้ และไม่ควรกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับประเภทของวัคซีนที่จะเข้ารับ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2565)

ประสิทธิผลของวัคซีนเข็มที่ 4 ที่รวบรวมโดยอิสราเอลและสหรัฐ

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยครั้งนี้จะรายงานข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนเข็มที่ 4 ที่รวบรวมโดยอิสราเอลและสหรัฐ

รายงานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 มีประสิทธิผลสูงในการลดความเสี่ยงที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและความเสี่ยงเสียชีวิต

คณะนักวิจัยในอิสราเอลวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนเข็มที่ 4 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์กว่า 29,000 คน มีการนำผลที่ได้มาตีพิมพ์ลงใน JAMA Network Open ซึ่งเป็นวารสารด้านการแพทย์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

รายงานแสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์กว่า 5,300 คนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มี 368 คนที่ต่อมาติดเชื้อไวรัสนี้ แต่ในกลุ่มของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 3 เข็มจาก 24,000 กว่าคนนั้น มี 4,802 คนที่ติดเชื้อไวรัสนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ อัตราการติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 19.8 แต่ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 4 เข็ม อัตราดังกล่าวนั้นต่ำกว่า โดยอยู่ที่ร้อยละ 6.9

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือ CDC ประเมินประสิทธิผลของวัคซีน mRNA โควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อยู่ใน 10 รัฐ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนซึ่งรวมถึง BA.2

ในรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้คนอายุ 50 ปีขึ้นไป ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันไม่ให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นอยู่ที่ร้อยละ 55 ในช่วงกว่า 4 เดือนหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แต่อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ในช่วงกว่าหนึ่งสัปดาห์หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 โดย CDC ขอให้ผู้คนไปเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยไม่รอช้าตามที่มีการแนะนำ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2565)

ควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นครั้งใหม่เมื่อใด

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องระยะเวลาทิ้งห่างก่อนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นครั้งใหม่

คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นอย่างเร็วที่สุด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ 4 อาจสงสัยว่าพวกตนควรรอวัคซีนใหม่นี้หรือไม่ หรือเข้ารับวัคซีนที่มีอยู่ก่อนตอนนี้

เว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า นับจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม มีผู้คนประมาณ 81,010,000 คน หรือร้อยละ 64 ของประชากรญี่ปุ่น ได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว และว่าวัคซีนเข็มที่ 4 ซึ่งแนะนำให้กลุ่มคนเช่นผู้สูงอายุมาเข้ารับนั้น ได้จัดฉีดให้ผู้คนไปแล้ว 21,540,000 คน

คุณวากิตะ ทากาจิ ผู้อำนวยการของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นกล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมว่า ถึงแม้วัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนจะมีให้ใช้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม แต่ก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะมีเพียงพอให้ทุกคนมาเข้ารับวัคซีนได้ทันทีหรือไม่

เขากล่าวว่าวัคซีนในปัจจุบันมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยหนักหากติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงควรพิจารณาไปเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ 4 โดยเร็ว หากสามารถทำได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2565)

ประสิทธิผลของวัคซีนใหม่ที่ปรับใช้กับสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน

บริษัทไฟเซอร์รายงานว่าการทดลองทางคลินิกที่ดำเนินการกับผู้เข้าร่วมการทดลองอายุ 56 ปีขึ้นไปกว่า 1,200 คนพบว่า วัคซีนที่ปรับเพื่อใช้กับโอไมครอนโดยฉีดเป็นเข็มที่ 4 นั้น สร้างสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.1 ได้ 1.56 เท่า เมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ปัจจุบัน ไฟเซอร์ระบุว่าวัคซีนใหม่นี้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย

รายงานที่เผยแพร่โดยบริษัทโมเดอร์นาก่อนที่จะมีการประเมินนั้นระบุว่า การทดลองทางคลินิกในสหรัฐแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของตนที่ปรับเพื่อใช้กับโอไมครอนโดยฉีดเป็นเข็มที่ 4 นั้น เพิ่มสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.1 ได้ 1.75 เท่า เมื่อเทียบกับวัคซีนโมเดอร์นาปัจจุบัน

โมเดอร์นาระบุว่าผลข้างเคียงจากวัคซีนส่วนมากเป็นอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยร้อยละ 77 มีอาการเจ็บปวดที่แขนบริเวณรอบจุดที่ฉีดวัคซีน ร้อยละ 55 มีอาการเหนื่อยอ่อน และร้อยละ 44 มีอาการปวดศีรษะ

คาดว่าวัคซีนใหม่ของโมเดอร์นาจะเพิ่มสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน ที่ทำให้การติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2565)

กลไกการทำงานของวัคซีนใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะเริ่มให้วัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นอย่างเร็วที่สุด เราจะนำเสนอกลไกการทำงานของวัคซีนใหม่นี้ ตลอดจนประสิทธิผล และระยะเวลาที่ต้องเว้นห่างจากการฉีดวัคซีนครั้งก่อนหน้า โดยครั้งนี้จะพาไปดูกันว่าวัคซีนใหม่นี้ทำงานอย่างไร

วัคซีนดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา วัคซีนที่เรียกกันว่าวัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์นี้ มีส่วนผสมที่ใช้สำหรับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกับส่วนผสมที่ได้มาจาก BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นโดยไฟเซอร์และโมเดอร์นานั้น ทำให้ร่างกายผลิต “โปรตีนหนาม” จากนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานจำนวนมากเพื่อมาสู้กับโปรตีนหนามเหล่านี้ และจะเพิ่มการโจมตีเมื่อไวรัสจริงเข้ามาในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง รูปร่างของโปรตีนหนามได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและการเกิดอาการต่าง ๆ ลดลงไปเมื่อใช้กับไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

เชื่อกันว่าวัคซีนที่กำลังปรับปรุงใหม่โดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเพื่อปรับโปรตีนหนามนั้น จะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนดีขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565)

เราต้องระวังอะไรบ้างเมื่อการติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นว่าเราต้องระวังอะไรบ้างเมื่อการติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

กล่าวกันว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนมีเส้นทางการติดเชื้อเหมือนกับสายพันธุ์อื่น ๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยโอไมครอนสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านละอองฝอย ละอองลอย หรือละอองฝอยที่เล็กมาก ๆ โดยเฉพาะในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี

เราสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างถี่ถ้วน เป็นที่ทราบกันว่าโอไมครอนทำให้เกิดการติดเชื้อภายในครอบครัวได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้การดำเนินมาตรการป้องกันอย่างถี่ถ้วนที่บ้านจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

นับตั้งแต่ที่โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ ก็มีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นที่พวกเราต้องดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อต่อไป

คุณโอมิ ชิเงรุ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ NHK ว่า ภาพรวมและสถานการณ์ที่ผู้คนยังมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อนั้นยังคงไม่เปลี่ยนไป คุณโอมิได้ขอให้ผู้คนพยายามเลี่ยงสถานที่ที่มีความแออัด หรือสถานที่ที่ผู้คนมีแนวโน้มจะพูดด้วยเสียงดัง เขายังขอให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก่อนที่จะไปพบผู้สูงอายุด้วย

เขากล่าวด้วยว่าแต่ละคนควรดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยใช้ความรู้ที่ได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ระหว่างการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2565)

ควรทำอย่างไรหากคุณเคยอยู่ใกล้กับผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ติดเชื้อ

เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นว่าควรทำอย่างไรหากคุณเคยอยู่ใกล้กับผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้ใกล้ชิด”

จะเป็นอย่างไรหากสมาชิกในครอบครัวกลายเป็น “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ป่วยโควิด-19 เจ้าหน้าที่ประจำแผนกที่รับผิดชอบมาตรการโรคติดเชื้อของทางการกรุงโตเกียวระบุว่า ไม่มีกฎระเบียบเกี่ยวกับ “ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ใกล้ชิด” พวกเขากล่าวว่าทางการกรุงโตเกียวไม่ได้ใช้ข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมของสมาชิกในครอบครัว นอกเหนือไปจากผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้ใกล้ชิด”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระบุว่ากลุ่มคนเหล่านี้ควรตรวจสอบที่ทำงานหรือโรงเรียนของตน เนื่องจากบางสถานที่มีกฎระเบียบของตนเองที่เกี่ยวเนื่องกับ “ผู้ใกล้ชิด”

เจ้าหน้าที่ระบุว่าพวกตนต้องการให้สมาชิกครอบครัวของ “ผู้ใกล้ชิด” ดำเนินมาตรการป้องกันไว้ก่อน ในกรณีที่มีคนติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ โดยแนะนำให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

- เลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันและรับประทานอาหารแยกกัน พยายามให้สมาชิกครอบครัวอยู่ห่างกันเวลาพักอาศัยในบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- สวมหน้ากากอนามัยในบ้านและล้างมือให้สะอาด รวมถึงฆ่าเชื้อโรคที่มือ
- ฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตูและรีโมทคอนโทรลของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
- ระบายอากาศภายในห้องอย่างสม่ำเสมอ

เรามีแนวโน้มที่จะลดการป้องกันตัวเองลงเนื่องจากกล่าวกันว่าความเสี่ยงที่จะป่วยหนักเมื่อติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ก็ต้องระมัดระวังถ้าครอบครัวมีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2565)

จะรับมืออย่างไรกับกรณีติดเชื้อในสถานที่ทำงาน

เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นว่าจะรับมืออย่างไรกับกรณีติดเชื้อในสถานที่ทำงาน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า หากมีคนในที่ทำงานติดเชื้อไวรัสนี้ เพื่อนร่วมงานของผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านหรือสถานที่อื่น ๆ ในเชิงหลักการ แต่จะมีการขอให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การไปเยี่ยมผู้สูงอายุหรือไปยังสถานที่สำหรับผู้สูงอายุ การไปดื่มกินกับผู้คนจำนวนมาก และเข้าร่วมในงานกิจกรรมขนาดใหญ่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งร่วมรับประทานอาหารกับผู้ติดเชื้อในที่ทำงานโดยไม่ได้ดำเนินมาตรการต้านไวรัส เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ก็ควรดำเนินความพยายามในการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น กักตัว 5 วันและเข้ารับการตรวจหาเชื้อโดยสมัครใจ

ขณะเดียวกัน หากผู้ที่อยู่ร่วมกันตามสถานที่ต่าง ๆ ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะป่วยหนัก เช่น ตามสถาบันทางการแพทย์หรือสถานที่สำหรับผู้สูงอายุ ก็จะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ

ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ใกล้ชิดต้องกักตัว 5 วัน หากผลตรวจแอนติเจนเป็นลบในวันที่ 2 และ 3 ผู้ใกล้ชิดสามารถยุติการกักตัวได้ในวันที่ 3 เช่นเดียวกับกรณีของผู้ใกล้ชิดที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน

แนวทางนี้ใช้กับทุก ๆ คนไม่ใช่แค่กลุ่มพนักงานที่สำคัญจำเป็นเท่านั้น ทางกระทรวงระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์และผู้พยาบาลดูแลสามารถไปทำงานได้ แม้จะมองกันว่าเป็นผู้ใกล้ชิด หากพวกเขาตรวจหาเชื้อทุกวันและผลตรวจเป็นลบ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2565)

หลังพ้นช่วงกักตัวแล้ว ผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดโควิด-19 ควรทำอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับแนวทางเรื่องผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางการแพร่ระบาดอันยืดเยื้อ เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” โดยจะมุ่งเน้นเรื่องช่วงหลังการกักตัว

ผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้ใกล้ชิด” มีหน้าที่ต้องแยกกักตัว แต่หลังจากพ้นช่วงกักตัวไปแล้ว ก็จะได้รับอนุญาตให้ไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้

ในรายงานที่ลงวันที่ 13 มกราคม สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โอกาสที่จะเกิดอาการต่าง ๆ ภายใน 3 วันอยู่ที่ร้อยละ 53.05 ร้อยละ 82.65 ภายใน 5 วัน และร้อยละ 94.53 ภายใน 7 วัน

นี่หมายความว่าระยะเวลากักตัวในปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่ 5 วัน อาจไม่นานพอที่จะรับประกันว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะไม่ติดเชื้อ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำแนะนำว่าผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้ใกล้ชิด” ควรตรวจดูอุณหภูมิร่างกายให้ดีรวมถึงอาการอื่น ๆ ด้วย และควรดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างถี่ถ้วน เช่น เลี่ยงสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงและเลี่ยงการออกไปรับประทานอาหารข้างนอกแบบเป็นกลุ่มจนกว่าจะครบ 7 วัน และถึงแม้จะเป็นหลังพ้นช่วงกักตัวแล้ว ก็ควรดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565)

ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อควรทำหรือไม่ควรทำอะไรระหว่างที่กักตัว

เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นว่าผู้ใกล้ชิดควรทำหรือไม่ควรทำอะไรระหว่างที่กักตัว

ผู้ใกล้ชิดควรงดเว้นจากการออกไปข้างนอกที่ไม่ใช่ธุระสำคัญจำเป็นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากจำเป็นต้องออกไป ก็ควรดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ รวมถึงเลี่ยงการติดต่อสัมผัสกับผู้อื่น โดยไม่ควรไปทำงานหรือไปโรงเรียนในช่วงที่กักตัวอยู่

แนวทางของทางการกรุงโตเกียวระบุว่า
- ผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อควรงดเว้นจากการออกไปข้างนอกที่ไม่ใช่ธุระสำคัญจำเป็น รวมถึงการไปทำงานหรือไปโรงเรียน และควรอยู่กับบ้าน
- ควรตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายทุกวันในช่วงเช้าและช่วงเย็น
- หากเริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้และไอ ควรปรึกษาแพทย์ที่หาเป็นประจำหรือปรึกษาสถาบันทางการแพทย์ที่ให้บริการตรวจหาเชื้อ และมีการดูแลด้านการแพทย์สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
- ควรเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คุณซากาโมโตะ ฟูมิเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลนานาชาติเซนต์ลุกส์ในกรุงโตเกียว แนะนำให้พวกเขาเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้ โดยระบุว่าของดังกล่าวมีประโยชน์ เนื่องจากระหว่างกักตัวพวกเขาอาจไม่สามารถออกไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น

ของดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดและยาลดไข้ที่หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์, เครื่องดื่มไอโซโทนิกสำหรับการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ, อาหารที่รับประทานได้ง่าย เช่น เครื่องดื่มเยลลี, สำรองสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น, หากมีโรคประจำตัว ควรสำรองยาให้มากขึ้น

เธอยังขอให้ผู้คนทั้งหลายไปเข้ารับวัคซีนและบันทึกข้อมูลการติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่นเอาไว้ ซึ่งอาจจำเป็นต่อการขอคำปรึกษาระหว่างการกักตัว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อคนในครอบครัวติดโควิด-19 เป็นรายที่ 2

เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นว่าควรทำอย่างไรเมื่อสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งติดโรคโควิด-19 จากนั้นสมาชิกครอบครัวอีกคนหนึ่งก็เกิดติดเชื้อตามมา

แนวทางของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า หากคนในครอบครัวติดเชื้อเป็นรายที่ 2 สมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ต้องเริ่มการกักตัวใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง สมมติว่ามีเด็กติดเชื้อและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านโดยมีอาการเล็กน้อย ไปดูกันว่าแนวทางดังกล่าวระบุว่าอย่างไร

- แม้ผลตรวจจะยังไม่ออก แต่ให้นับวันที่เด็กเกิดอาการต่าง ๆ เป็นวันที่ 0 บนเงื่อนไขที่ว่ามีการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อในครอบครัวตั้งแต่วันดังกล่าว ส่วนสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ควรกักตัวจนถึงวันที่ 5
- หากไม่มีการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อจนถึงวันที่การติดเชื้อได้รับการยืนยัน ให้นับวันที่ผลตรวจออกมาว่าเป็นบวกเป็นวันที่ 0 ส่วนสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ควรกักตัว 5 วันนับจากวันดังกล่าว
- ช่วงเวลาการพักรักษาตัวที่บ้านสำหรับเด็กที่ติดเชื้อนั้นจะสิ้นสุดลงหลัง 10 วัน แม้จะไม่มีการตรวจหาเชื้อก็ตาม โดยเริ่มกักตัวจากวันที่ถัดจากวันที่ปรากฏอาการวันแรก แต่ก่อนจะสิ้นสุดการกักตัวนั้น อาการต่าง ๆ ควรหายไปแล้วอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ในกรณีที่อาการย่ำแย่ลง ก็ขอแนะนำให้พ่อแม่ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและขอคำปรึกษา
- หากเด็กที่ติดเชื้อไม่มีอาการใด ๆ ให้นับวันที่นำตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อเป็นวันที่ 0 และช่วงพักรักษาตัวให้นับไปจนถึงวันที่ 7 อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อจนถึงวันที่การติดเชื้อได้รับการยืนยัน ให้นับวันที่มีการยืนยันว่าติดเชื้อเป็นวันที่ 0 สำหรับการกักตัวของสมาชิกครอบครัวที่เหลือคนอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2565)

“ผู้ใกล้ชิด” ควรกักตัวที่บ้านนานแค่ไหน เมื่อสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อ

เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” กับคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นว่าผู้ใกล้ชิดควรกักตัวที่บ้านนานแค่ไหน เมื่อสมาชิกในครอบครัวเกิดติดเชื้อขึ้นมา

เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีผลตรวจไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นบวกและสมาชิกคนอื่น ๆ ถูกจัดว่าเป็นผู้ใกล้ชิด จะมีการขอให้พวกเขาแยกกักตัวที่บ้าน

ก่อนหน้านี้ ผู้ใกล้ชิดต้องกักตัวเองจนครบ 7 วันในทางหลักการ แต่ทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ลดระยะเวลากักตัวเหลือ 5 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคมเป็นต้นมา เพื่อให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้

เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเราจะเริ่มนับวันที่ 0 ตั้งแต่เมื่อใดนั้น ในจำนวน 3 วันดังต่อไปนี้ วันที่ช้าที่สุดให้นับเป็นวันที่ 0
- วันที่ผู้ติดเชื้อเกิดอาการต่าง ๆ
- วันที่มีการนำตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ
- วันที่ใช้มาตรการต้านการติดเชื้อหลังจากที่พบว่าผู้ติดเชื้อมีผลตรวจเป็นบวก

ผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อต้องแยกกักตัวนับจนถึงวันที่ 5 โดยสามารถยกเลิกการกักตัวได้ในวันที่ 6 แต่ถ้าผู้ใกล้ชิดมีผลตรวจหาเชื้อที่เป็นลบทั้งวันที่ 2 และ 3 โดยใช้ชุดตรวจแอนติเจนที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ก็สามารถยกเลิกการกักตัวได้ในวันที่ 3

มาตรการต้านการติดเชื้อในกรณีนี้นั้นรวมถึงการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการระบายอากาศในห้องบ่อย ๆ สมาชิกในครอบครัวไม่จำเป็นต้องตัดขาดกับผู้ติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ห้องแยกกันอย่างเด็ดขาด เป็นต้น

หากการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเล็ก ก็ควรใช้มาตรการอื่น ๆ เช่น การล้างมือให้สะอาดทั่วถึงและเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน นอกจากนี้ ยังควรใช้มาตรการต้านการติดเชื้อพื้นฐานร่วมด้วย เช่น การระบายอากาศภายในห้อง และเลี่ยงการสัมผัสให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2565)

จะตัดสินอย่างไรว่าบุคคลผู้นั้นเป็น “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ติดเชื้อ

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับแนวทางเกี่ยวกับผู้ที่เป็นบุคคลใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางการระบาดอันยืดเยื้อ เราจะอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ใกล้ชิด” โดยจะมุ่งเน้นว่าจะตัดสินอย่างไรว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ใกล้ชิด

ในยามที่กำลังเกิดการระบาด กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นอนุญาตให้ทางการท้องถิ่นตัดสินได้อย่างยืดหยุ่นว่าบุคคลคนหนึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือไม่ โดยทางกระทรวงระบุว่าการรับมือจะต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ใด

หากผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่กับครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะกำหนดว่าใครเป็นผู้ใกล้ชิดบ้างและขอให้พวกเขาจำกัดการทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะไม่สัมภาษณ์ขอข้อมูลเป็นรายบุคคล

ขณะเดียวกัน เชื่อกันว่าความเสี่ยงติดเชื้อที่สถานที่ทำงานนั้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในครัวเรือน ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะไม่ระบุผู้ใกล้ชิดทั้งหมดที่สถานที่ทำงาน หากมีใครติดเชื้อจากสถานที่ทำงานของตน บุคคลผู้อื่นก็ควรตัดสินใจเองว่าตนเป็นผู้ใกล้ชิดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากว่าเป็นสถาบันทางการแพทย์ ตลอดจนสถานที่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะกำหนดตัวผู้ใกล้ชิดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้จำนวนมากมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่าทางการท้องถิ่นและคณะกรรมการการศึกษาควรกำหนดนโยบายสำหรับสถานดูแลเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมและมัธยมต้น โดยมาตรการต่าง ๆ อาจต่างกันออกไประหว่างเด็กก่อนวัยเรียนกับเด็กนักเรียนทั่วไป เช่น การสวมหน้ากากอนามัย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2565)

การกำหนดว่าใครเป็น “ผู้ใกล้ชิด” กับผู้ติดโควิด-19

เมื่อไวรัสนี้แพร่ระบาด ใครก็ตามอาจสามารถติดเชื้อได้ไม่ว่าพวกเขาจะระมัดระวังแค่ไหน หน่วยงานด้านสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนข้อกำหนดสำหรับผู้คนที่จัดว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ เราจะอธิบายว่าใครที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ใกล้ชิดและสิ่งที่พวกเขาต้องทำคืออะไร โดยครั้งนี้เป็นเรื่องที่ว่าจะจำแนกบุคคลใกล้ชิดอย่างไร

ผู้ใกล้ชิดคือคนที่อยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือใช้เวลาบางช่วงอยู่กับผู้ติดเชื้อ คาดว่าคนเหล่านี้อาจได้รับเชื้อไวรัสมาและอาจติดเชื้อ มีเกณฑ์อยู่ไม่กี่ข้อสำหรับการตัดสินว่าคุณเป็นผู้ใกล้ชิดหรือไม่ ซึ่งได้แก่

- คุณอยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ในช่วง 2 วันก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะเกิดอาการต่าง ๆ และในช่วง 10 วันหลังจากที่อาการได้ปรากฏแล้ว แต่หากผ่านไป 7 วันหลังจากผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้วอาการยังไม่หายไป ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเพิ่มไปอีก 3 วันหลังจากที่อาการต่าง ๆ หายไป หากผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ช่วงเวลานี้จะเริ่มตั้งแต่ 2 วันก่อนที่ผู้ป่วยจะตรวจหาเชื้อและสิ้นสุด 7 วันหลังการตรวจหาเชื้อ
- คุณไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยในตอนที่สัมผัสถูกตัวผู้ป่วยหรือคุณจับสิ่งของที่มีของเหลวของผู้ป่วยติดอยู่ หรืออยู่ในระยะที่เอื้อมถึงผู้ป่วยได้เป็นเวลานานกว่า 15 นาที ก็ทำให้คุณเป็นผู้ใกล้ชิดได้ด้วยเช่นกัน
- แม้ว่าผู้ป่วยจะเป็นคนในครอบครัวหรือคุณกำลังดูแลผู้ป่วยอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นคนใกล้ชิดเสมอไป คุณสามารถเลี่ยงการถูกกำหนดให้เป็นผู้ใกล้ชิดได้ หากดำเนินมาตรการให้ถี่ถ้วนเหมือนกับมาตรการที่ใช้ในสถาบันทางการแพทย์และสถานที่พยาบาลดูแล
- แม้คุณใช้เวลาอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อนานกว่า 15 นาที แต่อาจจะไม่ถูกจัดให้เป็นผู้ใกล้ชิดเสมอไป ซึ่งการตัดสินใจเรื่องนี้พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น คุณพูดคุยในช่วงดังกล่าวหรือไม่ ห้องนั้นมีอากาศถ่ายเทดีหรือไม่ และคุณสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2565)

ทำความรู้จัก BA.5 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 6

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยชนิดอื่น ๆ ของโอไมครอนที่น่าเป็นกังวล

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม เมืองโกเบ ทางตะวันตกของญี่ปุ่นได้รายงานกรณีติดเชื้อ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน โดยเป็นการติดเชื้อภายในประเทศรายแรกที่ไม่รวมผู้ติดเชื้อที่พบจากการกักกันโรค สายพันธุ์ย่อยนี้ตรวจพบในสหราชอาณาจักร เยอรมนี และสหรัฐ หลังจากที่มีรายงานครั้งแรกที่อินเดียเมื่อเดือนมิถุนายน

มีรายงานว่าสายพันธุ์ย่อยนี้มีความสามารถในการหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ BA.5 สามารถทำได้ รายงานต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าที่อินเดียนั้น สายพันธุ์ย่อยนี้แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่า BA.5

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวระบุว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 มีความสามารถในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้มากกว่า BA.2 เขากล่าวว่าสิ่งนี้หมายความว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วจะเผชิญความเสี่ยงสูงกว่าเดิมที่จะติดเชื้อ

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่น่าเป็นกังวลซึ่งอยู่ภายใต้การเฝ้าจับตา โดยศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขในญี่ปุ่นควรเฝ้าจับตาลักษณะของสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่นี้อย่างใกล้ชิด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565)

ทำความรู้จัก BA.5 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 5

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษนั้น มีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในช่วง 1 เดือนที่นับจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ที่แสดงให้เห็นว่าประสิทธิผลของวัคซีนมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเพียงเล็กน้อยระหว่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.5 กับผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2

ขณะที่คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐหรือ FDA ได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนว่า ขอแนะนำให้บริษัทยาทั้งหลายรวมเอาการปรับแต่งโปรตีนหนามเพิ่มเติมเข้าไปในวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสู้กับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อย่างไรก็ตาม FDA ไม่ได้ขอให้เปลี่ยนแปลงวัคซีนปัจจุบัน เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพื้นฐานในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเกิดอาการหนัก

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวเตือนว่าญี่ปุ่นอาจเผชิญการติดเชื้อในระลอกที่ใหญ่ยิ่งกว่าเดิมอีกซึ่งจะเริ่มในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าการหารือเกี่ยวกับการจัดทำโครงการฉีดวัคซีนสำหรับฤดูใบไม้ร่วงและบริหารจัดการเพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2565)

ทำความรู้จัก BA.5 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 4

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยจะไปดูกันว่าสายพันธุ์ย่อยนี้ทำให้เกิดโรคได้มากกว่าหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดโรคมากกว่าหรือไม่

กลุ่ม G2P-Japan ที่นำโดยศาสตราจารย์ซาโต เค จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว รายงานข้อมูลการวิจัยในบทความก่อนการตีพิมพ์ที่เผยแพร่ทางออนไลน์

คณะนักวิจัยสร้างไวรัสปลอมชนิดหนึ่งขึ้นมาซึ่งมีลักษณะของสายพันธุ์ย่อย BA.5 และไวรัสอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะของสายพันธุ์ย่อย BA.2 จากนั้นพวกเขาก็นำไวรัสแต่ละชนิดไปทำให้เซลล์เพาะเลี้ยงติดเชื้อ เพื่อตรวจดูว่าไวรัสดังกล่าวจะเติบโตได้มากแค่ไหน

พวกเขาพบว่า 24 ชั่วโมงต่อมา ระดับของไวรัสในเซลล์ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.5 สูงกว่าระดับของไวรัสในเซลล์ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 34 เท่า

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังระบุด้วยว่าการทดลองที่ใช้แฮมสเตอร์แสดงให้เห็นว่า แฮมสเตอร์ที่ถูกฉีดไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2 เข้าไปในร่างกาย น้ำหนักตัวลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่แฮมสเตอร์ตัวอื่นที่ถูกฉีดไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.5 เข้าไปในร่างกาย น้ำหนักตัวลดลงไปราวร้อยละ 10

ทางคณะระบุว่าระดับการติดเชื้อในปอดที่สังเกตได้จากการติดเชื้อ BA.5 นั้นสูงกว่าการติดเชื้อ BA.2 อย่างมีนัยสำคัญ และว่าการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า BA.5 ทำให้เกิดโรคได้มากกว่า BA.2 และการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการที่เกิดในมนุษย์นั้นเป็นสิ่งจำเป็น

ศาสตราจารย์ซาโตระบุว่าพิษจากไวรัสจะไม่อ่อนแอลงเสมอไป และว่าไวรัสยังคงกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและจำเป็นที่จะต้องคงการระมัดระวังเอาไว้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2565)

ทำความรู้จัก BA.5 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 3

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยเป็นเรื่องที่ว่ามีโอกาสที่อาจจะป่วยหนักหรือไม่

ต่อคำถามนี้ องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานรายสัปดาห์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมว่า ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่า BA.5 เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ BA.2 อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และจำนวนของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือรักษาในห้องไอซียู ตลอดจนจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรประบุในรายงานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนว่า ในขณะที่ข้อมูลยังมีอยู่อย่างจำกัด ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า BA.5 ทำให้ผู้คนที่มีอาการหนักมีจำนวนมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน รายงานระบุด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นและมีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อในต่างประเทศระบุว่า BA.5 มีความสามารถในการติดต่อได้ง่ายกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับบรรดาสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้ และยังสามารถทำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันติดเชื้อได้ด้วย ไม่ใช่แค่ว่า BA.2 กำลังถูกแทนที่เท่านั้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นในระดับหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ด้วย เขากล่าวว่าเราควรคงการเฝ้าระวังเอาไว้เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักจะเพิ่มขึ้น หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2565)

ทำความรู้จัก BA.5 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 2

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยเป็นเรื่องลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ย่อยนี้

BA.5 มีการกลายพันธุ์แบบ L452R และการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในส่วนโปรตีนหนาม โดยโปรตีนหนามที่อยู่บนพื้นผิวของไวรัสนั้นมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์เจ้าบ้านหรือโฮสต์เซลล์

เป็นที่ทราบกันว่าการกลายพันธุ์แบบ L452R ช่วยให้ไวรัสนี้หนีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ ข้อมูลที่ปรับใหม่ขององค์การอนามัยโลกที่ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมแสดงให้เห็นว่า BA.5 ทำให้ประสิทธิผลของสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสลดลงไปกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับ BA.1

ผู้เชี่ยวชาญยังคาดว่าขีดความสามารถของภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดในช่วงไม่นานมานี้

ที่ญี่ปุ่นนั้น ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้นำเสนอข้อมูลส่วนหนึ่งต่อที่ประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนกำลังลดลง

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่านับจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ร้อยละ 44.6 ของผู้ที่อยู่ในช่วงวัย 20 ปี มีภูมิคุ้มกัน ขณะที่ผู้คนที่อยู่ในช่วงวัย 70 ปี ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 37.4

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2565)

ทำความรู้จัก BA.5 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 1

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยไวรัสกลายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดอยู่ในสหรัฐและประเทศในยุโรป รวมถึงกำลังระบาดในญี่ปุ่นด้วย

BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน และได้รับการยืนยันครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 โดยนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เกิดการระบาดหลัก ๆ ในสหรัฐและยุโรป องค์การอนามัยโลกระบุว่านับจนถึงกลางเดือนมิถุนายน BA.5 คิดเป็นราวร้อยละ 40 ของผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมดทั่วโลก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐระบุในรายงานรายสัปดาห์ว่า นับจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม BA.5 คิดเป็นร้อยละ 53.6 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วสหรัฐ เชื่อกันว่าสายพันธุ์ย่อยนี้มีส่วนที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่นานมานี้

หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า คาดกันว่า BA.5 แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ร้อยละ 35.1 โดยนับจนถึงช่วงนั้น BA.2 คือสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่มากกว่าสายพันธุ์อื่น

คณะผู้เชี่ยวชาญของทางการกรุงโตเกียวซึ่งประเมินสถานการณ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบุว่า ร้อยละ 33.4 ของผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียวในช่วงสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนั้น คาดว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.5

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 8

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับลองโควิด โดยครั้งนี้เป็นเรื่องความสำคัญของการให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง

ในขณะที่ยังมีสิ่งที่เราไม่ทราบอีกมากเกี่ยวกับลองโควิดทั้งในแง่ของขอบเขตอาการที่เกิดขึ้นตามมาและสาเหตุของอาการเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญสองท่านซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยลองโควิดก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเอาใจใส่ผู้ป่วยจากอาการเช่นว่านี้

ศาสตราจารย์โยโกยามะ อากิฮิโตะ จากมหาวิทยาลัยโคจิระบุว่า ไม่ว่าสาเหตุของอาการจะเกิดจากอะไร ก็ไม่อาจเลี่ยงความจริงที่ว่ายังคงมีผู้คนที่ประสบอาการหลังติดเชื้อไวรัสนี้ และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ด้านศาสตราจารย์ชิโมฮาตะ ทากาโยชิ จากมหาวิทยาลัยกิฟุระบุว่า ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนมีอาการอักเสบในเซลล์สมอง ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคนอื่น ๆ มีภาวะความไม่มั่นคงทางจิตใจจากการต้องรับมือกับอาการเรื้อรังของตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่อาการย่ำแย่ลง เขากล่าวว่าแพทย์ต้องช่วยผู้ป่วยอย่างเต็มที่ไม่ว่าสาเหตุของอาการเหล่านั้นคืออะไรก็ตาม

ศาสตราจารย์ชิโมฮาตะเน้นย้ำว่าเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยและให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสถานการณ์นี้นั้น รัฐบาลต้องลงทุนด้านการวิจัยและจัดตั้งศูนย์การแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการลองโควิด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 7

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่ทราบกันว่าเป็นอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 หรือ ลองโควิด โดยครั้งนี้เป็นเรื่องอาการลองโควิดหลังการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

ทางการกรุงโตเกียวได้จัดทำรายงานลักษณะอาการของลองโควิดที่มีรายงานจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนกว่า 2,000 คน ในช่วง 4 เดือนนับจนถึงเดือนเมษายน

รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 38.6 มีอาการไอ ร้อยละ 34.0 มีอาการเหนื่อยอ่อน ร้อยละ 10.6 มีปัญหาเรื่องการรับรส ร้อยละ 9.5 มีปัญหาเรื่องการรับกลิ่น

ผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ข้อมูลนี้ระบุว่าพวกเขาพบว่าอาการต่าง ๆ เช่น ปัญหาเรื่องการรับกลิ่นและรับรสรวมถึงผมร่วงนั้น น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับลองโควิดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่น ๆ

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติแห่งชาติของญี่ปุ่นยังได้เผยแพร่งานวิจัยซึ่งเปรียบเทียบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นที่ระบาดก่อนหน้านี้ โดยดูข้อมูลเรื่องอายุ เพศ และสถานะการฉีดวัคซีน

ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแสดงอาการที่เชื่อว่าเป็นลองโควิด 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่านับตั้งแต่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนมีมากกว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดจึงมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐบาลอังกฤษชี้ให้เห็นว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว ความถี่ของการได้รับแจ้งว่าผู้ที่มีอาการลองโควิดหลังติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนนั้นน้อยกว่าประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่มีอาการเช่นว่านี้หลังติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

นับจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลดังกล่าวไม่มีรายงานว่าในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน อาการหลังหายจากโควิด-19 นั้นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องนานกว่าหรือไม่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 6

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่ทราบกันว่าเป็นอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 หรือ ลองโควิด โดยครั้งนี้เป็นเรื่อง “สมองล้า”

“สมองล้า” เป็นหนึ่งในอาการทั่วไปที่พบเห็นได้มากที่สุดของลองโควิด โดยเป็นอาการที่ผู้คนรู้สึกว่าสมองของตนทำงานได้ไม่เต็มที่ราวกับถูกหมอกปกคลุม

ศาสตราจารย์ชิโมฮาตะ ทากาโยชิ จากมหาวิทยาลัยกิฟุ ซึ่งเป็นนักประสาทวิทยาด้านสมอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำคู่มือการรักษาลองโควิดของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยอาการ “สมองล้า” เพราะมักมีกรณีที่ผล MRI หรือผลตรวจเลือด ไม่แสดงความผิดปกติใด ๆ อยู่บ่อยครั้ง

เขากล่าวเสริมว่าอย่างไรก็ตาม การวิจัยถึงสาเหตุของอาการดังกล่าวมีความคืบหน้าบางประการแล้ว และว่าการทดลองในสัตว์ที่ต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า สารต่าง ๆ อย่างเช่น ออโตแอนติบอดีหรือไซโตไคน์ เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากการอักเสบทั่วทั้งร่างกายเนื่องจากติดเชื้อไวรัสนี้ ทั้งนี้ ออโตแอนติบอดีเข้าโจมตีร่างกายตัวเอง ขณะที่ไซโตไคน์ทำให้เกิดการอักเสบ

ศาสตราจารย์ชิโมฮาตะกล่าวว่าเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าสารเช่นว่านี้เข้าสู่สมองผ่านทางกระแสเลือดและทำให้เกิดการอักเสบที่สมอง เขากล่าวเสริมว่าขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาอาการนี้โดยตรง แพทย์แค่รักษาไปตามอาการเท่านั้น เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรและหาแนวทางรักษาที่ดีกว่าเดิม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 5

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่ทราบกันว่าเป็นอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 หรือ ลองโควิด โดยครั้งนี้เป็นเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดอาการที่ว่านี้

อิวาซากิ อากิโกะ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาภูมิคุ้มกันจากมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ ได้แสดงความกังวลว่าการเกิดผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมาหลังโรคโควิด-19 นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ที่ป่วยหนักจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เท่านั้น

การวิจัยที่ดำเนินการในสหรัฐแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 75 ของผู้ที่เผชิญอาการหลังโรคโควิด-19 ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในตอนที่พวกเขาติดเชื้อไวรัสนี้ คณะนักวิจัยเชื่อว่าผู้ที่ไม่มีอาการหรือแสดงอาการน้อยมาก ก็สามารถเป็นลองโควิดได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าวว่าคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับกรณีนี้ก็คือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย โดยทำให้เกิดการอักเสบซึ่งไปกระตุ้นอาการต่าง ๆ ในอวัยวะอื่น

เธอกล่าวว่ามีกรณีของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ แต่เริ่มแสดงให้เห็นอาการต่าง ๆ ที่ดูคล้ายลองโควิด 2 หรือ 3 เดือนหลังการติดเชื้อ มีรายงานที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วและมีอาการลองโควิดนั้นมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า แต่สัดส่วนดังกล่าวก็ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับรายงาน

ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าวว่าเราไม่สามารถรู้สึกได้ว่าปลอดภัยเพียงเพราะได้รับวัคซีนแล้ว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 4

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่ทราบกันว่าเป็นอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 หรือ ลองโควิด โดยครั้งนี้เป็นเรื่อง “อาการหลังหายจากโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างไร”

อาการหลังหายจากโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างไร อิวาซากิ อากิโกะ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาภูมิคุ้มกันจากมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ นำเสนอสมมติฐาน 4 ข้อดังต่อไปนี้

1. เศษของไวรัสที่แตกตัวออกมาทำให้เกิดการอักเสบเป็นเวลานาน แม้เป็นช่วงหลังจากที่อาการแรกเริ่ม เช่น ไอหรือมีไข้สูง ได้หายไปแล้วก็ตาม
2. ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งควรจะต้องปกป้องร่างกายของเรากลับเข้าโจมตี
3. อวัยวะซึ่งเสียหายจากการติดเชื้อฟื้นตัวช้า
4. ไวรัสต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดอาการของโรคโควิด-19 เช่น ไวรัสโรคเริม ถูกกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้ง

ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ว่าอาการหลากหลายของลองโควิดเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้รวมกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 3

เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลกระทบทั้งระยะกลางและระยะยาวที่ทราบกันว่าเป็นอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 หรือ ลองโควิด โดยครั้งนี้เป็นเรื่อง “จะจำแนกอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 ได้อย่างไร”

องค์การอนามัยโลกจำแนกอาการหลังโรคโควิด-19 ว่าเป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้คนที่มีประวัติว่าอาจติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่เริ่มป่วยด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งอาการและผลกระทบต่าง ๆ จะกินเวลาอย่างน้อย 2 เดือน

องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าอาการและผลกระทบหลังโรคโควิด-19 ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยแยกโรค

อย่างไรก็ตาม มีอาการหลายประเภทที่องค์การอนามัยโลกได้ให้คำอธิบายไว้และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งกำลังตั้งคำถามว่าอาการทั้งหมดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จริงหรือไม่

ศาสตราจารย์โยโกยามะ อากิฮิโตะ จากมหาวิทยาลัยโคจิ ซึ่งเป็นผู้นำคณะนักวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า “การสำรวจของเราพบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะตัดสินใจว่าอาการต่าง ๆ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนที่ไม่มีประวัติการติดเชื้อแต่ระบุว่ามีอาการเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอาการผลกระทบหลังการติดเชื้อ หากภาพปอดของพวกเขาแสดงให้เห็นความผิดปกติและมีปัญหาเรื่องการหายใจลำบาก

อย่างไรก็ตาม อาการอย่างเช่นความผิดปกติในการนอนหลับและปัญหาสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่บอกได้ยากว่าเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ เป็นไปได้ว่าอาการเช่นว่านี้เกิดขึ้นจากเหตุผลอื่น ๆ และผู้ป่วยอาจเผชิญปัญหาหากไม่สามารถเข้ารับการวินิจฉัยได้อย่างเหมาะสม อาการบางอย่างที่จัดว่าเป็นอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 จริง ๆ แล้วอาจเกิดจากโรคอื่นที่สามารถรักษาได้ โดยเชื่อว่าในอนาคตการทำความเข้าใจลองโควิดอย่างถูกต้องจะกลายเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยการเปรียบเทียบอาการของผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับผู้ที่มีสุขภาพดี หรือผู้ที่เคยเป็นปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 2

เราจะมุ่งเน้นเรื่องอาการต่าง ๆ ที่ถูกจัดว่าเป็นลองโควิด โดยจะนำเสนอการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นกันต่อ

คณะนักวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ฟูกูนางะ โคอิจิ จากมหาวิทยาลัยเคโอ ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยกว่า 1,000 คนที่มีอาการปานกลางไปจนถึงอาการหนักจากโรคโควิด-19 ในช่วง 1 ปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ

คณะนักวิจัยพบว่า 1 ปีหลังการติดเชื้อ ร้อยละ 12.8 ยังคงรู้สึกเหนื่อยอ่อน ร้อยละ 8.6 หายใจลำบาก ร้อยละ 7.5 ระบุว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงไป ร้อยละ 7.2 ความทรงจำเลอะเลือน ร้อยละ 7 เกิดความผิดปกติด้านการนอนหลับ ร้อยละ 6.4 ปวดตามข้อ ร้อยละ 5.5 ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 5.4 ระบุว่ามีปัญหาเรื่องการรับกลิ่น ร้อยละ 5.2 มีเสมหะ ร้อยละ 5.1 ผมร่วง ร้อยละ 5.0 ปวดศีรษะ ร้อยละ 4.7 มีปัญหาเรื่องการรับรส ร้อยละ 4.6 มีอาการไอ ร้อยละ 3.9 แขนขาชา ร้อยละ 3.6 มีปัญหาเรื่องดวงตา ส่วนผู้ที่ระบุว่ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 33 ของทั้งหมด

การสำรวจนี้เหมือนกับที่เราได้รายงานไปเมื่อครั้งก่อน โดยคณะนักวิจัยไม่ได้ดำเนินการสำรวจเชิงเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสนี้ คณะนักวิจัยระบุว่าด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าแต่ละอาการเป็นผลกระทบระยะยาวของโรคโควิด-19

ที่ผ่านมา มีความพยายามใช้วิธีรักษาอาการเหล่านี้มากมาย แต่วิธีทั้งหมดไม่ใช่การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565)

ลองโควิด ตอนที่ 1

นับจนถึงปลายเดือนมิถุนายนปี 2565 มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 9,300,000 คนในญี่ปุ่น ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเผชิญปัญหาอาการย่ำแย่แม้ว่าจะเป็นช่วงหลังจากหายป่วยแล้วก็ตาม มองกันว่าอาการเหล่านั้นคือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ ลองโควิด

ครั้งนี้เราจะนำเสนอรายละเอียดของสิ่งที่เราทราบจนถึงตอนนี้ว่าอาการใดที่ถูกจัดว่าเป็นลองโควิด และอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

คณะนักวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์โยโกยามะ อากิฮิโตะ จากมหาวิทยาลัยโคจิ ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยกว่า 1,000 คนทั่วญี่ปุ่นที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการปานกลางหรืออาการหนัก ในช่วง 1 ปีที่นับจนถึงเดือนกันยายนปี 2564

คณะนักวิจัยตรวจสอบอาการของพวกเขาทุก ๆ 3 เดือน โดยอิงจากบันทึกการสอบถามอาการโดยแพทย์และการตอบคำถามของผู้ป่วย หลังการติดเชื้อ 3 เดือน ราวร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่เข้าร่วมการสำรวจ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร้อยละ 30 ระบุว่าพวกตนหายใจลำบาก ร้อยละ 25 มีอาการเหนื่อยอ่อน กว่าร้อยละ 20 มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และราวร้อยละ 18 ระบุว่าพวกตนไม่ค่อยมีสมาธิ ปวดกล้ามเนื้อ และไอ ในจำนวนนี้ของผู้ป่วย มีบางคนที่พบหลายอาการ

จำนวนของผู้ที่ระบุว่ามีอาการเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดย 1 ปีหลังการติดเชื้อ ร้อยละ 10.1 ระบุว่ามีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ร้อยละ 9.3 กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร้อยละ 6.0 หายใจลำบาก ร้อยละ 5.3 ไม่ค่อยมีสมาธิ ร้อยละ 5.0 มีอาการไอ ร้อยละ 4.9 เหนื่อยอ่อน และร้อยละ 4.6 ปวดกล้ามเนื้อ

ส่วนผู้ที่ระบุว่ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 13.6 จากผู้ป่วยทั้งหมด

คณะนักวิจัยระบุว่าผู้ที่มีอาการหนักด้านระบบทางเดินหายใจ มีแนวโน้มที่จะเป็นลองโควิดรุนแรงกว่า

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565)

การสวมหน้ากากอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเลี่ยงโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตอนที่ 3

เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิธีสวมหน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเลี่ยงโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยจะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าควรจะต้องพิจารณาอะไรบ้างเมื่อต้องตัดสินใจว่าควรสวมหน้ากากหรือไม่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

เราสอบถามศาสตราจารย์ฮิราตะ อากิมาซะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโงยะและเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะศึกษาความเสี่ยงเรื่องโรคลมแดดขององค์การอนามัยโลก

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าเราต้องหมั่นระวังโรคลมแดดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูที่ทั้งอุณหภูมิและความชื้นสูง เขาเตือนว่าผู้คนมีแนวโน้มไม่ค่อยรู้สึกกระหายน้ำเมื่อสวมหน้ากากอยู่ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำน้อยลง

ศาสตราจารย์ฮิราตะอธิบายว่ากล่าวกันว่าโรคลมแดดเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดน้ำและอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เขาแนะนำให้พยายามตระหนักอยู่เสมอว่าร่างกายต้องการน้ำเนื่องจากความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดดเพิ่มมากขึ้นเมื่อไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ และเกือบที่จะเกิดอาการขาดน้ำ

ส่วนวิธีที่จัดการกับการสวมหน้ากากนั้น ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าสามารถถอดหน้ากากออกได้หากเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ควรสวมหน้ากากในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อ เขากล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับสถานที่และสถานการณ์

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2565)

การสวมหน้ากากอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเลี่ยงโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตอนที่ 2

การสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สามารถทำให้เกิดข้อเสียบางประการในช่วงที่อากาศร้อน เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิธีสวมหน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเลี่ยงโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยจะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าการสวมหน้ากากทำให้ความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่

เราสอบถามศาสตราจารย์ฮิราตะ อากิมาซะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโงยะและเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะศึกษาความเสี่ยงเรื่องโรคลมแดดขององค์การอนามัยโลก

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าการศึกษาที่ผ่าน ๆ มาแสดงให้เห็นว่าการสวมหน้ากากส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกายน้อยกว่าส่วนที่สวมหน้ากากกับบริเวณรอบ ๆ เขากล่าวว่าอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ที่สวมหน้ากากเพิ่มขึ้น 0.06 ถึง 0.08 ซึ่งต่ำกว่า 1 องศาเซลเซียส โดยระดับ 1 องศาเซลเซียสคือตัวชี้วัดคร่าว ๆ ของความเสี่ยงเกิดโรคลมแดด

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการสวมหน้ากากไม่น่าจะนำไปสู่ความเสี่ยงโรคลมแดดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดอาจเพิ่มมากขึ้น หากมีการสวมหน้ากากและออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง

เขากล่าวด้วยว่ามีข้อมูลไม่มากนักเกี่ยวกับเด็กเล็กและเด็กวัยหัดเดินในเรื่องการสวมหน้ากากกับความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด เขาขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวังโรคลมแดดโดยปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565)

การสวมหน้ากากอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเลี่ยงโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตอนที่ 1

การสวมหน้ากากเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่อากาศที่อุ่นขึ้น การสวมหน้ากากจึงทำให้ร้อนและหายใจไม่สะดวก เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสวมหน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเลี่ยงโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปลี่ยนนโยบายพื้นฐานในการรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยระบุว่าการสวมหน้ากากยังคงเป็นหนึ่งในมาตรการต้านไวรัสที่สำคัญมาก แต่ก็ยอมรับได้หากจะถอดหน้ากากออกภายใต้เงื่อนไขบางประการ ได้แก่

เมื่ออยู่นอกอาคาร สามารถถอดหน้ากากออกได้หากคงระยะห่างไว้ที่ 2 เมตรหรือมากกว่านั้น ถึงแม้จะมีผู้คนอยู่ใกล้ ๆ การสวมหน้ากากก็ไม่จำเป็นถ้าไม่ได้ไปสนทนากับบุคคลผู้นั้น รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้ถอดหน้ากากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันโรคลมแดด

เมื่ออยู่ในอาคาร สามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อเว้นระยะห่าง 2 เมตรหรือมากกว่านั้น หรือในตอนที่แทบจะไม่ได้สนทนากับใคร

เมื่ออยู่ในโรงเรียน สามารถถอดหน้ากากออกได้ในชั้นเรียนพลศึกษา แนวทางนี้ใช้กับกิจกรรมชมรมหลังเลิกเรียนด้วย สำหรับการแข่งขันกีฬาที่มีการสัมผัสกัน ควรปฏิบัติตามแนวทางที่จัดเตรียมไว้โดยสมาคมกีฬาต่าง ๆ

ไม่แนะนำให้เด็กที่มีอายุไม่ถึง 2 ขวบสวมหน้ากาก สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 2 ขวบขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียน ไม่ว่าจะมีการเว้นระยะห่างหรือไม่ก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 9

เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะไปดูทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการที่เด็กเข้ารับวัคซีน

ศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะ ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีนได้แสดงทัศนะโดยระบุว่า เขาแนะนำให้เด็ก ๆ ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหืดรุนแรง ไปเข้ารับวัคซีน ขณะเดียวกัน เขาก็ขอแนะนำให้ครอบครัวของเด็กที่ไม่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ตัดสินใจโดยอิงจากการใช้ชีวิตของเด็กและสถานการณ์ภายในครัวเรือน

ศาสตราจารย์นากายามะแนะนำให้เด็กที่มักจะไปยังสถานที่ที่มีผู้คนมารวมตัวกันซึ่งรวมถึงการทำกิจกรรมนอกโรงเรียน กิจกรรมชมรม หรือเด็กที่เล่นกีฬา ไปเข้ารับวัคซีน เขายังแนะนำให้เด็กที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายไปเข้ารับวัคซีนด้วย เพื่อปกป้องชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก

ศาสตราจารย์นากายามะระบุว่าโดยทั่วไปแล้ว วัคซีนช่วยให้พวกเราใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีได้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของโรคหัดเยอรมัน มีแค่ 1 ใน 1,000 คนเท่านั้นที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วมีอาการหนักซึ่งรวมถึงสมองอักเสบด้วย แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ผู้คนก็ยังคงไปเข้ารับวัคซีนและแทบจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้

เขากล่าวว่าเราควรมองว่าวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็เหมือนกับวัคซีนอื่น ๆ และเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ผู้คนจะหาความรู้ให้แก่ตัวเองเกี่ยวกับวัคซีนและโรคติดเชื้อต่าง ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 8

เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะไปดูกันว่าเราควรเป็นกังวลเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือไม่

วัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใช้เทคโนโลยี messenger RNA เป็นครั้งแรกของโลก มีการศึกษาเทคโนโลยีนี้มากว่า 30 ปีเพื่อดูความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ โดย messenger RNA เป็นสารที่สลายได้อย่างง่ายดาย มันจะแยกตัวและหายไปภายในไม่กี่วันหลังจากการฉีดวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่าสารดังกล่าวจะไม่ตกค้างอยู่ในร่างกายและไม่ส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ และว่าวัคซีนนี้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยที่เกิดขึ้นหลังเข้ารับวัคซีนไปแล้วหลายปี

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 7

เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการเข้ารับวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า เป็นที่ทราบกันว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งกระทบต่อการทำงานของหัวใจนั้นเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่บ่อยครั้งนักหลังจากเข้ารับวัคซีน นับจนถึงวันที่ 1 เมษายน ญี่ปุ่นได้ฉีดวัคซีน 534,000 เข็มให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี มีเด็กเพียง 1 คนเท่านั้นที่เกิดอาการเช่นว่านี้

สหรัฐเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กก่อนญี่ปุ่น และที่ผ่านมาก็มีการทำวิจัยมากกว่าเกี่ยวกับผลข้างเคียง ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐระบุว่า หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,000,000 เข็มให้แก่เด็กผู้ชาย พบว่าไม่มีกรณีใดเลยที่เกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ และหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 นั้น กรณีดังกล่าวอยู่ที่ 4.3 กรณี

สำหรับเด็กผู้หญิง ข้อมูลที่ได้หลังจากการเข้ารับวัคซีนเข็มแรกยังมีอยู่น้อยมาก และหลังจากเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 มีผลข้างเคียงเช่นว่านี้เกิดขึ้น 2 กรณีในการฉีดวัคซีนทุก ๆ 1,000,000 เข็ม โดยทุกกรณีที่เกิดขึ้นเป็นอาการเพียงเล็กน้อย และเด็ก ๆ ก็หายจากอาการดังกล่าวแล้ว

รายงานของสหรัฐระบุว่ามีเด็ก 2 คนเสียชีวิตหลังจากเข้ารับวัคซีน อย่างไรก็ตาม เด็กทั้ง 2 คนนี้มีอาการป่วยเรื้อรังและสุขภาพไม่ดีอยู่ก่อนที่จะเข้ารับวัคซีน และไม่มีข้อมูลว่าการเสียชีวิตนี้เกี่ยวข้องกับวัคซีน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 6

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้ารับวัคซีน

การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ หลังจากเข้ารับวัคซีนแล้ว ผู้คนอาจมีอาการไข้หรือรู้สึกปวดตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน สิ่งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันของเราสนองตอบต่อวัคซีน หรือในขณะที่ระบบภูมิคุ้มกัน “เรียนรู้” ที่จะระบุตัวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรามาดูกันว่าลักษณะอาการแบบเฉพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง

งานวิจัยของไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ ที่เก็บข้อมูลจากเด็กที่เข้ารับวัคซีนนั้นระบุว่า ร้อยละ 74 ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกมีอาการปวดรอบ ๆ จุดที่ฉีดวัคซีน และร้อยละ 71 ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีอาการดังกล่าว ร้อยละ 34 มีอาการเหนื่อยอ่อนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 39 มีอาการนี้หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ขณะที่ร้อยละ 3 มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้นหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 7 มีอาการที่ว่านี้หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะเกิดอาการข้างเคียงจากการเข้ารับวัคซีนเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ เด็กส่วนมากมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดกล้ามเนื้อหรือขยับแขนลำบาก แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 1 หรือ 2 วัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 5

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเด็ก ๆ

เมื่อปี 2564 ไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกวัคซีนของตนกับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี ไฟเซอร์ระบุว่าผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิผลร้อยละ 90.7 ในการป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ในเด็กหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว 7 วันหรือนานกว่านั้น

แต่เป็นที่ทราบกันว่า วัคซีนมีประสิทธิผลน้อยลงในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดในญี่ปุ่นและพื้นที่อื่น ๆ ของโลกในปัจจุบัน

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีนี้ คณะนักวิจัยของสหรัฐระบุว่าผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนไปได้ร้อยละ 31 ในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี

ในการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม คณะนักวิจัยของสหรัฐระบุว่าประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี ในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนระบาดนั้น อยู่ที่ร้อยละ 68 งานวิจัยระบุว่าเด็กเกือบทั้งหมดที่มีอาการหนักเป็นเด็กที่ไม่ได้เข้ารับวัคซีน

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีประสิทธิผลในการป้องกันไม่ให้เด็กเกิดอาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 4

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็ก

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายใหม่ 314,370 คนทั่วญี่ปุ่น ในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 19 เมษายน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี 47,659 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.2 ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดากลุ่มอายุทั้งหมด

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดใหญ่ มีเด็กอายุไม่ถึง 10 ปีจำนวน 959,662 คนที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 คน

ในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 19 เมษายน มีเด็ก 4 คนที่อาการหนัก

เด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย แม้ในบางครั้งจะมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้สูง อาเจียน และหายใจติดขัดเนื่องจากเกิดอาการบวมในลำคอ

สมาคมกุมารแพทย์แห่งญี่ปุ่นระบุว่าเด็กที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจและปอดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการหนัก และถึงแม้เด็กที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการแต่ก็อาจเกิดผลกระทบตามมาได้ เช่น ไอและหายใจลำบาก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 3

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะพิจารณากันเรื่องคำถามที่ว่า “ควรให้เด็กเข้ารับวัคซีนหรือไม่”

แต่ละครอบครัวต่างก็เผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป และก็มีแนวคิดเป็นของตนเอง ดังนั้นอะไรคือสิ่งที่ควรพิจารณาในตอนที่ต้องตัดสินใจว่าจะให้เด็กเข้ารับวัคซีนหรือไม่

สิ่งสำคัญก็คือการชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเข้ารับวัคซีน

ประโยชน์ที่ว่านี้รวมถึงการป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ติดเชื้อและเกิดอาการป่วยหนัก การป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังผู้อื่น และความรู้สึกสบายใจยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ที่โรงเรียนและสถานที่อื่น ๆ

ส่วนความเสี่ยงนั้นรวมถึงภัยที่เกิดจากผลข้างเคียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ต่อวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าประเด็นอื่น ๆ ที่ควรพิจารณาก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ไปเป็นวงกว้างในกลุ่มเด็กและกรณีของเด็กที่ติดเชื้อแล้วเกิดอาการหนักนั้น ไม่ค่อยพบเห็นในญี่ปุ่น พวกเขากล่าวว่าอีกประเด็นหนึ่งสำหรับการพิจารณาก็คือวัคซีนมีประสิทธิผลน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในญี่ปุ่นและทั่วโลก

การเข้ารับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี ไม่มีค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับกลุ่มอายุอื่น ๆ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวไม่เหมือนกับการฉีดวัคซีนโรคหัดเยอรมัน, โรคอีสุกอีใส และโรคไข้สมองอักเสบเจอี เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ปกครองต้องพยายามนำบุตรหลานของตนไปเข้ารับวัคซีน

การที่ครอบครัวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบร่วมกับบุตรหลานของตนว่าควรทำอย่างไรนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ในตอนต่อไป เราจะนำเสนอข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจเรื่องนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 2

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ โดยครั้งนี้เราจะมาดูการทำงานของวัคซีน

วัคซีนช่วยป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยการกระตุ้นการตอบสนองของ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ในร่างกายของเรา ซึ่งจะไปโจมตีผู้บุกรุกจากภายนอก เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย

เชื้อไวรัสโคโรนามี “โปรตีนหนาม” ยื่นออกมาจากพื้นผิวของมัน วัคซีนไวรัสโคโรนามีส่วนผสมของ “messenger RNA” ซึ่งเป็นสารที่มีชุดคำสั่งว่าจะผลิต “โปรตีนหนาม” อย่างไร เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไป จะมีการสร้าง “โปรตีนหนาม” ในร่างกายของเราโดยอิงจากชุดคำสั่งเหล่านี้

“โปรตีนหนาม” เป็นส่วนหนึ่งของไวรัสโคโรนาและ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ของเราก็จดจำได้ว่าโปรตีนหนามดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในร่างกาย จากนั้นก็จะสร้างสารที่เรียกว่า “ภูมิต้านทาน” ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาวุธโจมตีไวรัส ด้วยวิธีที่ว่านี้ ร่างกายของเราจะเรียนรู้วิธีต่อสู้กับการติดเชื้อเมื่อไวรัสจริงเข้ามาในร่างกาย

เมื่อคุณติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน “ระบบภูมิคุ้มกัน” ของคุณจะพยายามสู้กับไวรัสด้วยการสร้าง “สารภูมิต้านทาน” ซึ่งตรงกับรูปร่างของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาในร่างกาย แต่ร่างกายของเราอาจไม่สามารถผลิต “สารภูมิต้านทาน” ได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ หรือไวรัสอาจทรงพลังเกินไปจนไม่อาจสู้ได้ ซึ่งจะทำให้เรามีอาการต่าง ๆ เช่น ไอหรือเหนื่อยอ่อนเป็นอย่างมาก และบางครั้งก็อาจป่วยหนัก

การเข้ารับวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายของเราผลิต “สารภูมิต้านทาน” ไว้ล่วงหน้าเพื่อสู้กับไวรัส การเตรียมพร้อมร่างกายก่อนที่ไวรัสจะโจมตีในอนาคตนั้น จะช่วยให้เราสามารถป้องกันการติดเชื้อ การเกิดอาการต่าง ๆ ตลอดจนการเกิดอาการป่วยหนักจากไวรัสนี้ได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในญี่ปุ่น ตอนที่ 1

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีไปเมื่อกว่า 2 เดือนก่อน ร้อยละ 9 ของเด็กในกลุ่มอายุนี้ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว ตามปกติแล้วเด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะไม่เกิดอาการหนักเมื่อติดเชื้อ แต่ก็มีความกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กนั้นไม่ได้ลดลงไป ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงในกลุ่มเด็กเช่นกันหรือไม่ เราจะนำเสนอข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเริ่มขึ้นแล้วในญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 โดยใช้วัคซีนซึ่งพัฒนาโดยไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ โดยวัคซีนเข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ขนาดยาที่ใช้อยู่ที่ 1 ใน 3 ของขนาดยาที่ฉีดให้แก่ผู้ใหญ่

นับจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 มีเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีกว่า 998,000 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็มเป็นอย่างน้อย ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 13.5 ของเด็กกลุ่มอายุนี้จำนวน 7,410,000 คนในญี่ปุ่น โดยมีเด็กเกือบ 660,000 คนหรือร้อยละ 8.9 ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม

บางประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กก่อนญี่ปุ่น ในสหรัฐ มีเด็กร้อยละ 28.3 ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็มนับจนถึงวันที่ 20 เมษายน ส่วนที่แคนาดา สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 40.7 นับจนถึงวันที่ 10 เมษายน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2565)

มาตรการต้านการติดเชื้อในชีวิตประจำวัน

เราจะนำเสนอเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดที่มีการกลายพันธุ์ใหม่รวมถึงมาตรการที่ควรดำเนินการ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่มาตรการต้านการติดเชื้อในชีวิตประจำวัน

นอกเหนือจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ และไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่เราได้กล่าวถึงไปในตอนก่อนหน้านี้แล้ว ก็ยังมี “BA.4” และ “BA.5” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนซึ่งพบในแอฟริกาใต้และที่อื่น ๆ ด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้สรุปว่าสายพันธุ์ดังกล่าวทำให้การติดเชื้อเป็นอย่างไรและมีอันตรายแค่ไหน

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เตือนว่าเรายังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ใหม่ ๆ อันเกิดจากการผสมกันของชนิดกลายพันธุ์ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ของ WHO กล่าวว่าเนื่องด้วยเหตุนี้ เราควรวิเคราะห์พันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และแบ่งปันข้อมูลดังกล่าว

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวระบุว่า “BA.4” และ “BA.5” คือสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน เหมือนกับ “BA.2” เขากล่าวว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อโอไมครอนกลายพันธุ์ในกระบวนการของการติดเชื้อและการเพิ่มจำนวน

เขากล่าวว่าการเฝ้าติดตามแต่ละสายพันธุ์ที่ปรากฏขึ้นมาใหม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้เป็นช่วงก่อนที่เราจะทราบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวจะมีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามใหญ่โตหรือไม่ก็ตาม เขากล่าวว่าในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ คาดว่าสายพันธุ์ “XE” น่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าในบรรดาของสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์ แต่เราก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าสายพันธุ์ “XE” นั้นจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหญ่อีกครั้งหนึ่งหรือไม่

ศาสตราจารย์ฮามาดะกล่าวว่าเราควรระวังเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราจึงต้องดำเนินการระบบสอดส่องต่อไปและวิเคราะห์พันธุกรรมของไวรัสอย่างต่อเนื่อง

ด้านศาสตราจารย์วาดะ โคจิจากมหาวิทยาลัยนานาชาติด้านสุขภาพและสวัสดิการกล่าวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ที่เราพบนับจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีการกลายพันธุ์ไปไกลกว่าที่เราคาดเอาไว้ เขากล่าวว่าเขาจะจับตาดูความเป็นไปต่อจากนี้ และคาดว่ามาตรการรับมือการติดเชื้ออาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก

เขากล่าวว่าขณะนี้ “BA.2” คือสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่และอาจเปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์ “XE” อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสายพันธุ์ต่าง ๆ จะไม่ทำให้มาตรการต้านการติดเชื้อซึ่งเราควรปฏิบัติในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ลดลงไปด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2565)

ไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ

เราจะนำเสนอเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดที่มีการกลายพันธุ์ใหม่รวมถึงมาตรการที่ควรดำเนินการ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปยังไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ

ในตอนที่แล้ว เราได้มุ่งเน้นที่ไวรัสสายพันธุ์ XE ที่เกิดจากการผสมกันของสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนระหว่าง BA.1 กับ BA.2 แต่ไม่ได้มีแค่ไวรัสสายพันธุ์ XE สายพันธุ์เดียวที่เกิดจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ

ไวรัสสายพันธุ์ XD และ XF เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในระลอกที่ 5 ในญี่ปุ่นเมื่อช่วงฤดูร้อนปี 2564 กับ BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

สายพันธุ์ XD มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เหมือนสายพันธุ์เดลตา แต่มีโปรตีนหนามของ BA.1

เอกสารของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่า สายพันธุ์ XD ตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมปี 2564 เอกสารระบุว่านับจนถึงวันที่ 1 เมษายนปี 2565 มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XD ในฝรั่งเศส 66 คน ในเดนมาร์ก 8 คน และในเบลเยียม 1 คน

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้จัดให้สายพันธุ์ XD เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง หรือ VUM โดย VUM นั้นหมายถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ที่ผลกระทบ เช่น การทำให้เกิดอาการรุนแรงและเรื่องที่ว่าวัคซีนที่มีอยู่ใช้ได้ผลกับไวรัสดังกล่าวหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด โดย WHO ระบุว่าการระบาดของสายพันธุ์ XD อยู่ในวงจำกัด

ขณะที่สายพันธุ์ XF นั้นเหมือนกับ BA.1 เสียเป็นส่วนมากซึ่งรวมถึงส่วนโปรตีนหนามด้วย และส่วนประกอบบางส่วนเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XF ในอังกฤษนับตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมปีนี้ แต่หลังจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 เมษายน 2565)

ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนชนิด XE

เราจะนำเสนอเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดที่มีการกลายพันธุ์ใหม่รวมถึงมาตรการที่ควรดำเนินการ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปยังไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนชนิด XE

มีการรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XE ในอังกฤษและประเทศอื่น ๆ โดยสายพันธุ์ดังกล่าวเกิดจากการผสมกันของไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XE คนแรกที่ด่านกักกันโรคของสนามบิน

ไวรัสต่าง ๆ จะได้ลักษณะเฉพาะแบบใหม่เมื่อเกิดการกลายพันธุ์เล็กน้อยซ้ำ ๆ แต่เมื่อบุคคลคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ต่างชนิดกันและสารพันธุกรรมของไวรัสกลายพันธุ์เหล่านั้นรวมตัวกัน การรวมตัวกันใหม่นี้ก็จะทำให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์ขึ้นมา

สายพันธุ์ XE เกิดจากการผสมกันระหว่างโอไมครอนสายพันธุ์ BA.1 กับสายพันธุ์ BA.2 ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของ XE ที่รวมถึงโปรตีนหนามบนพื้นผิวของไวรัสซึ่งมีบทบาทสำคัญเมื่อเกิดการติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์นั้น คล้ายคลึงกับ BA.2 ขณะที่ส่วนประกอบที่เหลือคล้ายคลึงกับ BA.1

องค์การอนามัยโลกระบุว่า XE คือชนิดหนึ่งของโอไมครอน ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอังกฤษระบุว่ามีรายงานว่านับตั้งแต่ตรวจพบกรณีแรกของสายพันธุ์ XE เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 จากนั้นก็มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในอังกฤษ 1,179 คน นับจนถึงวันที่ 5 เมษายน

ที่ผ่านมามีการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มขนาดเล็กด้วย แต่สายพันธุ์ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของผู้ติดเชื้อที่มีการนำเชื้อไปวิเคราะห์ภายในประเทศ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอังกฤษได้วิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่อิงจากข้อมูลนับจนถึงวันที่ 30 มีนาคม และได้ประมาณว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ XE เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.2 ที่ร้อยละ 12.6

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2565)

การแพร่ระบาดของ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในอนาคต

เราจะนำเสนอเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดที่มีการกลายพันธุ์ใหม่รวมถึงมาตรการจำเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด โดยจะมุ่งเน้นไปที่การแพร่ระบาดของ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในอนาคต

คุณซูซูกิ โมโตอิ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการเฝ้าระวัง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และระบาดวิทยาของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นกล่าวว่า คาดว่า BA.2 จะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหลักในการระบาดระลอกที่ 7

เขากล่าวว่าเชื่อว่า BA.2 มีความสามารถในการติดต่อได้ง่ายกว่า BA.1 เล็กน้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการเตรียมพร้อมเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบบดูแลทางการแพทย์ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ว่าการระบาดระลอกที่ 7 อาจเป็นคลื่นระลอกที่สูงกว่าระลอกที่ 6

เมื่อตอนที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน BA.1 เริ่มแพร่ระบาดในระลอกที่ 6 ดูเหมือนว่าผู้คนระมัดระวังกันน้อยลง เนื่องจากกล่าวกันว่าโอไมครอนทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะมีอาการหนักเมื่อเทียบกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกที่ 6 สูงกว่าระลอกที่ 5 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นตามไปด้วย มีความกังวลว่า BA.2 อาจทำให้เกิดสิ่งเดียวกันนี้

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวกล่าวว่า เชื่อกันว่า BA.2 ได้เข้ามาแทนที่ไวรัสกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ในฐานะของสายพันธุ์หลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก เขาชี้ว่าในบางประเทศของยุโรปนั้น ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของการติดเชื้อ

เขาระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ญี่ปุ่นจะต้องดำเนินมาตรการต้านไวรัสที่เข้มงวดมากกว่าเดิมเล็กน้อย โดยลดการติดต่อพบปะกันของผู้คนลง ตลอดจนส่งเสริมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เขากล่าวเสริมว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้คนในช่วงวัย 20 ปี โดยมาตรการที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนอายุนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2565)

ลักษณะของ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

เราจะนำเสนอเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดที่มีการกลายพันธุ์ใหม่รวมถึงมาตรการจำเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด โดยจะมุ่งเน้นไปที่ลักษณะของ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ติดต่อกันได้ง่ายกว่าเดิม และประสิทธิผลของวัคซีนต่าง ๆ

องค์การอนามัยโลกระบุว่า BA.2 ติดต่อกันได้ง่ายกว่า BA.1 ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ทั่วโลกในช่วงการระบาดระลอกที่ 6 การวิเคราะห์ข้อมูลจากเดนมาร์กแสดงให้เห็นว่า BA.2 ใช้เวลาในการแพร่ระบาดน้อยกว่า BA.1 ร้อยละ 15 และพบว่าความสามารถในการเพิ่มจำนวนซึ่งหมายถึงจำนวนเฉลี่ยของผู้คนที่ติดเชื้อมาจากผู้แพร่เชื้อเพียง 1 คน มีแนวโน้มสูงกว่า BA.1 ร้อยละ 26 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการป่วยหนักจากการติดเชื้อนั้นดูเหมือนจะอยู่ในระดับต่ำ

องค์การอนามัยโลกระบุถึงผลการวิเคราะห์จากอังกฤษที่แสดงให้เห็นว่าอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 กับ BA.2 นั้นไม่แตกต่างกัน และเสริมว่าผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 ยังสามารถติดเชื้อ BA.2 ได้อีก

การวิจัยในอังกฤษพบว่าผู้ที่ติดเชื้อ BA.1 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ร้อยละ 71.3 ของผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 72.2 ประสิทธิผลของวัคซีนลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 45.5 สำหรับ BA.1 และอยู่ที่ร้อยละ 48.4 สำหรับ BA.2 ในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 15 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2565)

การกลายพันธุ์ใหม่ต่าง ๆ และมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด

BA.2 คือสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนซึ่งติดต่อกันได้ง่ายมากขึ้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน ญี่ปุ่นได้ยืนยันกรณีติดเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ XE รายแรกของญี่ปุ่นในผู้หญิงคนหนึ่งที่มาถึงญี่ปุ่นจากสหรัฐ สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งของโอไมครอน ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ใหม่ต่าง ๆ และมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีการกลายพันธุ์หลายต่อหลายครั้งในขณะที่มันแพร่ระบาดไปทั่วโลก ปัจจุบัน สายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ทั่วโลกได้แก่ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน ซึ่งกลายพันธุ์มาจาก BA.1

การกลายพันธุ์ดังกล่าวพบได้ในสารพันธุกรรมของโปรตีนหนามบนผิวของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โปรตีนหนามมีบทบาทสำคัญเมื่อไวรัสทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์

สัดส่วนของผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 กำลังเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 คิดเป็นร้อยละ 93.9 ของผู้ที่ติดเชื้อในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 27 มีนาคม ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐประมาณการว่าการติดเชื้อ BA.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.2 ของการติดเชื้อในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 2 เมษายน

จากการประมาณการโดยสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นซึ่งอิงจากข้อมูลที่ได้จากบริษัทตรวจหาเชื้อของภาคเอกชนระบุว่า การติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นนับจนถึงกลางเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันเชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ BA.2 จะพุ่งเป็นร้อยละ 93 ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม และเกือบร้อยละ 100 ภายในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน

การติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 ภายในชุมชนนั้นได้รับการยืนยันครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2564 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นับจนถึงกลางเดือนมกราคมปีนี้ สายพันธุ์ดังกล่าวได้เข้ามาแทนที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาในฐานะสายพันธุ์หลักที่มีการแพร่ระบาด

การติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ภายในชุมชนนั้นได้รับการยืนยันครั้งแรกในกรุงโตเกียวช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยจังหวะที่สายพันธุ์ย่อยนี้จะเข้ามาแทนที่ BA.1 นั้นไม่รวดเร็วเท่ากับตอนที่ BA.1 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา แต่ก็คืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน 2565)

ผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 5

ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการรักษาผู้ป่วยในอนาคต

เจ้าหน้าที่ในจังหวัดไซตามะและสมาคมการแพทย์แห่งไซตามะได้วิเคราะห์ผู้ป่วยที่มีอาการระยะยาวหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เหล่านี้ติดเชื้อก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนจะเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนผลการวิเคราะห์นี้เป็นแนวทางสำหรับการวินิจฉัยและรักษา โดยมีแผนที่จะศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่มีอาการระยะยาวด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่จังหวัดไซตามะมีแผนที่จะเพิ่มสถาบันทางการแพทย์ภายในจังหวัดที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการระยะยาวให้มีจำนวนมากกว่า 140 แห่ง พวกเขาต้องการให้สถาบันทางการแพทย์ที่ว่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งจังหวัด

มารูกิ ยูอิจิ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสมาคมการแพทย์แห่งไซตามะ คาดว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการระยะยาวในการระบาดระลอกถัดไปนั้นจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าหรือมากกว่านั้นจากระดับที่พบในช่วงการระบาดระลอกที่ 5

เขากล่าวว่าจะมีการเพิ่มข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ที่ได้จากผู้ป่วยกลุ่มนี้ลงไปในแนวทางดังกล่าว เขาหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเข้าใจอาการของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2565)

ผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 4

ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งอาการของเธอดีขึ้นเนื่องจากความพยายามอย่างต่อเนื่อง

ผู้ป่วยคนนี้เป็นเด็กนักเรียนหญิงวัย 16 ปีในจังหวัดไซตามะ เธอติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นานหลังจากเธอเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย เธอมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก และมีไข้สูงเกือบ 39 องศาเซลเซียส เธอพักรักษาตัวอยู่ในโรงแรมสำหรับกักตัวซึ่งมีการจัดหาไว้ให้ และกลับไปโรงเรียน แต่เพียงไม่นานเธอก็เริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เหนื่อยอ่อนอย่างมาก และการรับรสและรับกลิ่นเปลี่ยนไป

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกันนั้น เธอก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้เนื่องจากอาการเวียนศีรษะจนทำให้ทรงตัวลำบาก เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียงนอน เธอไปพบแพทย์ที่สถาบันการแพทย์ 4 แห่งแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น

จากนั้น เธอไปยังคลินิกด้านหู จมูกและลำคอที่มีแผนกเชี่ยวชาญเรื่องอาการที่เกิดหลังหายจากโรคโควิด-19 แพทย์ที่นั่นเสนอให้เธอเข้ารับการฝึกฝนเพื่อลดอาการวิงเวียนและฟื้นฟูการรับกลิ่น

แพทย์ขอให้ผู้ป่วยคนนี้จ้องไปยังจุดบนกำแพงและมองขึ้น-ลง และซ้าย-ขวา ตามคำสั่งโดยไม่ขยับศีรษะหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การฝึกดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูการทรงตัว ในอีกการฝึกหนึ่งที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูการรับกลิ่นของเธอนั้น เธอต้องดมน้ำมันบำรุงที่มีกลิ่นคล้ายลาเวนเดอร์หรือเลมอนไปพร้อมกับการจ้องภาพของพืชเหล่านี้ สิ่งนี้ทำเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นกับความทรงจำของเธอ เธอฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ที่บ้านทุกวันและอาการก็ค่อย ๆ ดีขึ้น

นายแพทย์ซากาตะ ฮิเดอากิ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคลินิกที่ผู้ป่วยคนนี้ไปรักษาบอกกับเราว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เร็วและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าผู้ป่วยบางคนที่รอ 3 ถึง 6 เดือนก่อนมาเข้ารับการรักษานั้น พบว่าอาการของพวกเขาดีขึ้นเล็กน้อย เขากล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่อาจมองในแง่บวกได้ เนื่องจากเขาคาดว่าจะมีผู้ป่วยที่มีอาการหลังหายจากโรคโควิด-19 มากขึ้น จากการระบาดระลอกที่ 6

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2565)

ผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 3

ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งยังคงมีอาการระยะยาวหลังหายจากโรคโควิดมากว่า 6 เดือนแล้ว

ผู้ป่วยคนนี้เป็นชายวัย 60 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดไซตามะ เขาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2564 เขามีอาการเหนื่อยอ่อน ปอดอักเสบ และมีไข้สูงเกือบ 39 องศาเซลเซียส เขาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยเขาเสียการรับรู้กลิ่นและรสไปและไม่สามารถรับประทานอาหารได้มากนัก น้ำหนักตัวของเขาลดลงไปกว่า 10 กิโลกรัม

หลังจากที่ฟื้นจากอาการป่วยแล้ว เขากลับไปทำงานที่บริเวณก่อสร้าง แต่เขายังมีอาการเหนื่อยอ่อนและนอนไม่ค่อยหลับ เขาออกจากงานเมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 เพราะไม่สามารถทำงานต่อได้

ผู้ชายคนนี้กล่าวว่าเมื่อเขาเข้านอน เขานอนหลับไปอาจจะ 1 ชั่วโมงและก็ไม่สามารถนอนหลับต่อได้จนถึงเช้า เขาบอกว่าเวลาอยู่ที่ทำงาน ดูเหมือนเขาจะไม่มีความอดทน และเขารู้ว่าเขาต้องทำงานแต่ใจก็เริ่มกังวลและแขนขาก็หยุดเคลื่อนไหว เขาบอกว่าเขารู้ว่าไม่สามารถไปทำงานได้ในสภาพเช่นนี้

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการที่เกิดหลังหายจากโรคโควิด-19 บอกกับผู้ชายคนนี้ว่า เขามีอาการที่เรียกว่าสมองล้า ซึ่งรวมถึงอาการเลอะเลือนและเกิดความผิดปกติเรื่องความจำและการเพ่งสมาธิ

ปัจจุบัน เขาเข้ารับการรักษาและได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันจากแพทย์ แต่อาการของเขายังไม่ดีขึ้นแม้ผ่านมา 7 เดือนแล้ว เขายังคงมีอาการเหนื่อยอ่อนและเลอะเลือน ผู้ชายคนนี้กล่าวว่าเขาไม่คิดว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นนานขนาดนี้ และเขารู้สึกกังวลอนาคตของตัวเอง

นายแพทย์โคไดระ มาโกโตะ ซึ่งเป็นแพทย์ของเขาบอกกับเราว่า อาการเหนื่อยอ่อนและสมองล้าเป็น 2 อาการหลักหลังหายจากโรคโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นอาการเรื้อรัง ในบางครั้งอาจกินเวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้น เขากล่าวว่าผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2565)

ผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 2

ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเป็นเรื่องแนวทางสำหรับการวินิจฉัยและรักษาซึ่งจัดทำโดยแพทย์ที่อยู่แนวหน้า

จังหวัดไซตามะและสมาคมการแพทย์แห่งไซตามะได้เผยแพร่การวิจัยที่ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคมปี 2564 ถึงเดือนมกราคมปี 2565 โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่เผชิญผลกระทบระยะยาวจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 422 คน คณะแพทย์ที่จัดทำการวิจัยนี้ได้ระบุอาการหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นหลังป่วยด้วยโรคโควิด-19 รวมถึงเรื่องที่ว่าผู้เชี่ยวชาญสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

ก่อนอื่นเราไปดูแนวทางต่าง ๆ ที่แพทย์ด้านอายุรศาสตร์ได้รวบรวมไว้กัน
1. ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเผชิญอาการมากมาย เช่น เหนื่อยอ่อนและสมองล้า, อาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะเลอะเลือน, อาการหลง ๆ ลืม ๆ และไม่มีสมาธิ
2. อาจต้องใช้เวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้นเพื่อให้อาการดีขึ้น บ่อยครั้งอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
3. แพทย์ควรแนะนำให้ผู้ป่วยที่กำลังฟื้นตัวรักษาสมดุลระหว่างการพักผ่อนกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
4. แพทย์ควรช่วยให้ผู้ป่วยจัดการตนเองและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอาการเหล่านี้ได้

ส่วนแพทย์ด้านหู จมูก และลำคอให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
1. อาการที่เกิดขึ้นหลังป่วยเป็นโรคโควิด-19 มีแนวโน้มว่าเป็นเรื่องปกติในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า
2. ผู้ป่วยที่คุณภาพการใช้ชีวิตลดลงเนื่องจากการรับรสหรือรับกลิ่นเปลี่ยนไป การได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนด้านจิตใจจากแพทย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นจากอาการดังกล่าว
3. แพทย์ระบุว่าการฝึกดมกลิ่น ซึ่งเป็นวิธีที่มุ่งให้การรับกลิ่นดีขึ้นด้วยการดมกลิ่นที่หลากหลายนั้น เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 เมษายน 2565)

ผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 1

จังหวัดไซตามะและสมาคมการแพทย์แห่งไซตามะได้เผยแพร่การวิจัยที่ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคมปี 2564 ถึงเดือนมกราคมปี 2565 โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่เผชิญผลกระทบระยะยาวจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการตรวจสอบอาการของผู้ป่วยนอก 422 คน ที่ไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ 7 แห่งในจังหวัดไซตามะ

การวิจัยพบว่าร้อยละ 25.6 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องการรับกลิ่น ร้อยละ 16.6 มีปัญหาเรื่องการหายใจซึ่งรวมถึงการหายใจติดขัด ร้อยละ 15.6 มีอาการเหนื่อยอ่อน และร้อยละ 14.7 มีอาการไอและมีเสมหะ

ร้อยละ 9.7 ประสบปัญหาผมร่วง ร้อยละ 9.0 มีไข้ ปวดศีรษะ หรือรู้สึกขัดบริเวณท้ายทอย และร้อยละ 7.1 การรับรสผิดปกติไป

การวิจัยนี้ยังพบด้วยว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เผชิญอาการต่อเนื่องระยะยาวประมาณ 1 ปีหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ในตอนต่อไป เราจะนำเสนอคำแนะนำทางการแพทย์ที่สรุปไว้ในรายงานกรณีศึกษานี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2565)

เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

ที่ญี่ปุ่นนั้น การระบาดระลอกที่ 6 ได้ผ่านพ้นช่วงสูงสุดมาแล้ว แต่จังหวะการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อถึงไม่ลดลงมากนัก โดยตอนนี้จะไปดูกันว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

คุณโอมิ ชิเงรุ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุเมื่อวันที่ 17 มีนาคมว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นหลังจากยกเลิกมาตรการเข้มงวดแบบมุ่งเน้นเฉพาะภาคส่วน เขากล่าวว่าสิ่งสำคัญก็คือการคงจำนวนของผู้ป่วยอาการหนักให้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้ และการหลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบดูแลทางการแพทย์แบกรับภาระท่วมท้น

เขากล่าวว่าการเข้ารับวัคซีนก็จำเป็นแต่แค่นั้นยังไม่พอ และว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นเหมือนกับบางประเทศในยุโรป แม้ว่าเราจะยึดตามมาตรการต้านการติดเชื้อก็ตาม เขาได้ขอให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยต่อไปเพื่อปกป้องตนเองและผู้อื่น เนื่องจากกรณีติดเชื้อจากละอองฝอยขนาดเล็กและละอองลอยนั้นกำลังเพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์วาดะ โคจิจากมหาวิทยาลัยนานาชาติด้านสุขภาพและสวัสดิการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อปกป้องตนเองและครอบครัวรวมถึงเพื่อนฝูง เขาขอให้ทุกคนซึ่งรวมถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวเข้ารับวัคซีนให้ครบ เพราะคนเหล่านี้เผชิญความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ

เขากล่าวด้วยว่ารัฐบาลควรดำเนินการให้ชัดเจนว่าจะขอให้ประชาชนและภาคธุรกิจทำอะไร หลังจากที่ได้ยกเลิกมาตรการเข้มงวดแบบมุ่งเน้นเฉพาะภาคส่วนไปแล้ว

ขณะที่คุณทากายามะ โยชิฮิโระจากโรงพยาบาลโอกินาวา ชูบุกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นการระบาดระลอกที่ 7 เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นหลังจากโรงเรียนหยุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้วและปี 2563 เขากล่าวว่าเราเตรียมพร้อมรับมือได้ดีกว่าเดิม

เขาหวังว่าเราจะสามารถผ่านพ้นการระบาดระลอกที่ 7 ไปได้โดยที่ไม่ต้องใช้มาตรการเข้มงวดต่อสังคม และเพื่อที่จะทำเช่นนั้นได้ เขาได้ระบุถึง 2 ประเด็นได้แก่ ข้อแรกคือดำเนินมาตรการทันทีเมื่อพบผู้ติดเชื้อในสถานที่สำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และอีกข้อหนึ่งคือการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2565)

สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนจะมาแทนที่โอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่

ที่ญี่ปุ่นนั้น การระบาดระลอกที่ 6 ได้ผ่านพ้นช่วงสูงสุดมาแล้ว แต่จังหวะการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อถึงไม่ลดลงมากนักและจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ โดยตอนนี้จะไปดูกันว่า BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะมาแทนที่โอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่

BA.2 สายพันธุ์ย่อยของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนเป็นปัจจัยที่น่ากังวลในการระบาดรอบล่าสุดในญี่ปุ่น คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคมและนำเสนอการคาดการณ์ว่า BA.2 จะแพร่ระบาดอย่างไรในญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์นิชิอูระ ฮิโรชิจากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้วิเคราะห์ข้อมูลการตรวจหาเชื้อในกรุงโตเกียวและประมาณการว่า BA.2 จะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82 ของการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมด และในกรุงโตเกียวนั้น BA.2 จะแทนที่โอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมภายในวันที่ 1 เมษายน

คุณซูซูกิ โมโตอิ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการเฝ้าระวัง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และระบาดวิทยาของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์ตัวอย่างของผลการตรวจหาเชื้อจากสถาบันตรวจหาเชื้อของภาคเอกชน 2 แห่ง และคาดการณ์สัดส่วนการติดเชื้อ BA.2 ทั่วญี่ปุ่น เขาประมาณการว่า BA.2 จะกินสัดส่วนร้อยละ 70 ของการติดเชื้อทั้งหมดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน และร้อยละ 97 ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม

มองกันว่า BA.2 มีความสามารถในการติดต่อได้ง่ายกว่า BA.1 ราวร้อยละ 20 ซึ่งปัจจุบัน BA.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่แพร่ระบาดอยู่ หาก BA.2 เริ่มเข้ามาแทนที่ BA.1 มาตรการในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565)

จำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีวี่แววว่าจะลดจำนวนลงไป

ที่ญี่ปุ่นนั้น การระบาดระลอกที่ 6 ได้ผ่านพ้นช่วงสูงสุดมาแล้ว แต่จังหวะการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อถึงไม่ลดลงอย่างรวดเร็วและจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ โดยตอนนี้จะพูดถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีวี่แววว่าจะลดจำนวนลงไป

คณะนักวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ฮิราตะ อากิมาซะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโงยะได้ทำแบบจำลองสถานการณ์ในอนาคตของกรุงโตเกียวด้วยการป้อนข้อมูลมากมายไปยังระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ข้อมูลดังกล่าวรวมถึงการเคลื่อนตัวของผู้คน แนวโน้มการติดเชื้อที่ผ่านมา และผลจากการฉีดวัคซีน

แบบจำลองหนึ่งคือหลังจากสิ้นสุดมาตรการเข้มงวดแบบมุ่งเน้นเฉพาะภาคส่วนแล้ว การเคลื่อนตัวของผู้คนจะกลับมาสู่ระดับเท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว ในกรณีเช่นนี้ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันในกรุงโตเกียวจะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 5,400 คนในช่วงต้นเดือนเมษายน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและคงที่ โดยอยู่ที่กว่า 5,600 คนในช่วงปลายเดือนเมษายน

ส่วนอีกแบบจำลองหนึ่งระบุว่าการเคลื่อนตัวของผู้คนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีที่แล้ว และคาดว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันจะค่อย ๆ มากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนและจะเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 7,000 คนในช่วงกลางเดือนเมษายน

นอกจากนี้ แบบจำลองยังดำเนินการภายใต้ข้อสันนิษฐานที่ว่าการเคลื่อนตัวของผู้คนจะเพิ่มขึ้นและการรวมตัวกันของผู้คนเพื่อดื่มกินนั้นจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเดียวกันกับช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ยอดติดเชื้อรายใหม่ต่อวันจะเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมและจะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 13,000 คนในช่วงกลางเดือนเมษายน

คณะนักวิจัยระบุว่าเมื่อพิจารณาจากผลของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จำนวนผู้ป่วยอาการหนักก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก แต่พวกเขากล่าวว่าการจำกัดจำนวนผู้คนที่นั่งดื่มกินด้วยกันเพื่อควบคุมไม่ให้การติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง อาจเป็นสิ่งจำเป็น

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าการเคลื่อนตัวของผู้คนและการนั่งดื่มกินเป็นกลุ่มใหญ่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ของปี ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565)

การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก ๆ คือหนึ่งในเหตุผลที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดลงไปอย่างเชื่องช้า

ที่ญี่ปุ่นนั้น การระบาดระลอกที่ 6 ได้ผ่านพ้นช่วงสูงสุดมาแล้ว แต่จังหวะการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และหวั่นเกรงกันว่าสถานการณ์การติดเชื้อเช่นนี้อาจนำไปสู่การระบาดระลอกที่ 7 ได้

เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นไปยังเรื่องที่ว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อถึงไม่ลดลงอย่างรวดเร็วรวมถึงว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ครั้งนี้เป็นเรื่องการติดเชื้อในกลุ่มเด็ก ๆ

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่าเด็กกว่า 65,000 คนที่มีอายุไม่ถึง 10 ปี ติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 15 มีนาคม แม้ว่าการระบาดระลอกที่ 6 ได้ผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม จำนวนดังกล่าวสูงมากเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อเด็กรายใหม่จำนวน 10,380 คนในสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงการระบาดระลอกที่ 5

สัดส่วนของเด็กในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดยังคงเพิ่มขึ้นด้วย โดยอยู่ที่ราวร้อยละ 5 ในช่วงต้นเดือนมกราคม แต่เพิ่มเป็นร้อยละ 21 ในช่วงสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 15 มีนาคม แซงหน้ากลุ่มอายุอื่น ๆ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้เริ่มลดลงในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

จำนวนการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มตามสถานที่ด้านสวัสดิการเด็ก เช่น สถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียน เพิ่มขึ้นเป็น 229 กรณีในช่วงสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 14 มีนาคมซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านั้น 56 กรณี การติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มตามโรงเรียนต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้น 59 กรณีเป็น 318 กรณีในช่วงเวลาเดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาในกลุ่มเด็ก ๆ ตามสถานที่ที่พวกเด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เช่น โรงเรียนและโรงเรียนอนุบาล นอกจากนี้ยังชี้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนั้นต่ำกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2565)

เหตุผลที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงการระบาดระลอกที่ 6 ลดลงไปอย่างเชื่องช้า

ที่ญี่ปุ่นนั้น การระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งเป็นการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนได้ผ่านพ้นช่วงสูงสุดมาแล้ว แต่จังหวะการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้าและผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนสูงอยู่ มีการแสดงความเห็นที่หวั่นเกรงว่าสถานการณ์การติดเชื้อเช่นนี้อาจนำไปสู่การระบาดระลอกที่ 7 ได้

ครั้งนี้เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นไปยังเรื่องที่ว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อถึงไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว และความเป็นไปของสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคต

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ถึงเหตุผลสำคัญของการติดเชื้อที่ลดจำนวนลงอย่างเชื่องช้านี้ โดยเหตุผลข้อแรกคือความล่าช้าในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ส่งผลให้การติดเชื้อดำเนินต่อไปในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ นั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในกลุ่มเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เมื่อพิจารณาจากการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุในระลอกที่ 5 ของการระบาด กว่าร้อยละ 70 ของผู้คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วนับจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่การติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

ในช่วงเวลาดังกล่าว ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในกลุ่มคนหนุ่มสาว แต่กลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้ติดเชื้อ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่านี่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว

แต่อีกด้านหนึ่ง นับจนถึงต้นเดือนมกราคมปี 2565 ท่ามกลางการระบาดระลอกที่ 6 การป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้จากวัคซีนลดน้อยลงไปเนื่องจากช่วงที่ทิ้งห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงนั้น ผู้คนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีไม่ถึงร้อยละ 1 ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว

อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 15 เท่านั้นนับจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่มียอดติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนว่าการติดเชื้อได้แพร่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุหลังจากที่ได้แพร่ระบาดในกลุ่มคนหนุ่มสาวไปแล้ว

ปัจจุบัน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงแพร่ระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการระบุว่าระหว่างสัปดาห์ที่นับจนถึงวันที่ 14 มีนาคม มีการยืนยันการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่ม 341 กรณีตามสถานที่ดูแลผู้สูงอายุทั่วญี่ปุ่น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565)

ความสำคัญในการพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เมื่อสงสัยว่าเกิดอาการแพ้ละอองเกสร

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องความสำคัญในการพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เมื่อสงสัยว่าเกิดอาการแพ้ละอองเกสร

หากจู่ ๆ คุณมีอาการที่อาจเป็นการแพ้ละอองเกสร แต่ปีที่แล้วไม่ได้มีอาการนี้ ก็ควรระมัดระวังและเลี่ยงที่จะสันนิษฐานว่าเป็นอาการแพ้ละอองเกสร

เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการแพ้ละอองเกสรของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นระบุว่า ละอองเกสรต้นซีดาร์ได้เริ่มกระจายไปทั่วญี่ปุ่นแล้ว

สมาคมสภาพอากาศแห่งญี่ปุ่นพยากรณ์เรื่องละอองเกสรสำหรับฤดูกาลนี้ว่า การแพร่กระจายของละอองเกสรนั้นมากกว่าฤดูกาลเดียวกันของปีก่อนในระดับเล็กน้อยหรือมากในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น

หากคุณจามบ่อย ๆ หรือมีน้ำมูกไหลเมื่อออกไปข้างนอก ผู้คนรอบตัวคุณอาจเป็นกังวลเพราะพวกเขาบอกไม่ได้ว่านี่เป็นอาการแพ้ละอองเกสรหรืออาการของโรคโควิด-19

คุณควรเข้ารับการรักษาอาการแพ้ละอองเกสรโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากมีอาการเหล่านี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565)

ความยากลำบากในการตัดสินว่าอาการที่เป็นนั้นคืออาการจากโควิด-19 หรืออาการแพ้ละอองเกสร

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะนำเสนอว่าควรทำอย่างไรเมื่อคุณประสบความยากลำบากในการตัดสินว่าอาการที่คุณเป็นอยู่นั้นคืออาการที่เกิดจากโรคโควิด-19 หรืออาการแพ้ละอองเกสร

แพทย์หญิงคิมูระ ยูริกะซึ่งเป็นผู้นำคณะทำงานด้านมาตรการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของสมาคมศัลยกรรมศีรษะและลำคอโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่นระบุว่า หากคุณมีอาการแพ้ละอองเกสรแบบเดิมตามปกติโดยไม่มีอาการอื่นที่โดดเด่นขึ้นมา เช่น ไข้สูง และถ้าคนรอบข้างของคุณไม่มีใครติดโควิด-19 ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้ละอองเกสรตามปกติ

เธอกล่าวว่าถ้าคุณมักมีอาการจามและน้ำมูกไหล แต่ในปีนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้สูง เจ็บคอ หรือปวดศีรษะ ก็ควรแจ้งข้อมูลนี้ให้คลินิกได้รับทราบก่อนจะไปพบแพทย์

เธอกล่าวว่าเธอต้องการให้ผู้คนที่มีอาการแพ้ละอองเกสรไปเข้ารับการรักษาเร็วกว่าปกติในช่วงฤดูกาลนี้ เพื่อป้องกันตัวเองและผู้คนที่อยู่ใกล้ชิด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อจามหรือมีน้ำมูกไหลในฤดูกาลที่ผู้คนแพ้ละอองเกสรท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะนำเสนอว่าควรทำอย่างไรเมื่อเริ่มจามหรือมีน้ำมูกไหล

สมาคมศัลยกรรมศีรษะและลำคอโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่นขอให้ผู้คนที่มีอาการแพ้ละอองเกสรไปพบแพทย์ให้เร็วกว่าปกติ

คณะแพทย์กล่าวว่าการรักษาแต่เนิ่น ๆ สามารถลดอาการแพ้ละอองเกสรได้ พวกเขาบอกว่าการศึกษาพบว่าเมื่อเริ่มรักษาก่อนที่จะมีอาการหรือในขณะที่มีอาการเพียงเล็กน้อยนั้น สามารถบรรเทาอาการที่จะเกิดหลังจากนั้นได้

มียามากมายที่ใช้รักษาอาการแพ้ละอองเกสร ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าหากไปพบแพทย์ด้านหู จมูก คอ ก็จะช่วยให้ผู้ที่มีอาการแพ้ละอองเกสรได้รับการรักษาที่ถูกต้องสำหรับอาการต่าง ๆ และสภาพร่างกาย

หากคุณมีอาการ เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ หรืออ่อนเพลียอย่างมาก แม้ว่าอาการแพ้ละอองเกสรจะบรรเทาแล้วจากการรักษา ก็อาจสงสัยได้ว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ หากสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นอาการแพ้ไม่ดีขึ้นหลังจากเข้ารับการรักษาอาการแพ้ละอองเกสร ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2565)

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่กระจายของไวรัสเนื่องจากผู้คนไม่ได้ระวังว่าตนเองติดเชื้อ

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่กระจายของไวรัสเนื่องจากผู้คนไม่ได้ระวังว่าตนเองติดเชื้อ

ในคำแนะนำที่ออกโดยสมาคมศัลยกรรมศีรษะและลำคอโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่นได้ระบุถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนในช่วงฤดูกาลที่มีการแพ้ละอองเกสร

หนึ่งในปัญหาดังกล่าวก็คือความเสี่ยงที่ผู้คนจะแพร่เชื้อไวรัสนี้เพราะเชื่อว่าอาการของตนนั้นเป็นอาการแพ้ละอองเกสร ไม่ใช่การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้ดำเนินมาตรการป้องกันที่จำเป็น

ผู้ที่มีทั้งอาการแพ้ละอองเกสรและติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเวลาจาม ทางสมาคมระบุว่าการจามทำให้เกิดละอองฝอยมากกว่าการไอ 10 เท่า

ทางสมาคมยังเตือนด้วยว่าหากไม่รักษาอาการแพ้ละอองเกสร ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็จะมีมากขึ้น เนื่องจากผู้คนอาจใช้มือขยี้ตาหรือจมูกเพื่อบรรเทาอาการคันอันเป็นผลจากการแพ้ละอองเกสร โดยที่มือนั้นมีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาผ่านทางเยื่อเมือก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565)

ความกังวลจากการที่ไม่สามารถแยกได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการแพ้ละอองเกสรหรือโรคโควิด-19

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องความกังวลที่มาจากการที่ไม่สามารถแยกได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการแพ้ละอองเกสรหรือเป็นอาการของโรคโควิด-19

ในคำแนะนำที่ออกโดยสมาคมศัลยกรรมศีรษะและลำคอด้านโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่น ได้ระบุถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้คนเผชิญในช่วงฤดูกาลที่เกิดการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

ประการแรก ทางสมาคมอ้างอิงถึงความรู้สึกเป็นกังวลที่ผู้คนไม่สามารถบอกได้ว่าพวกตนมีอาการแพ้หรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเมื่อคุณมีอาการแพ้ละอองเกสร ก็จะถือเป็นเรื่องยากที่จะทราบได้ว่าคุณติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ แม้กระทั่งแพทย์เองก็ถือเป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะบอกได้ว่าอาการของผู้ป่วยนั้นมาจากการแพ้ละอองเกสรหรือมาจากการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอาการนี้เกิดจากอะไร

เมื่อคุณมีน้ำมูกไหล คุณสามารถไปโรงเรียนหรือไปทำงานได้หากนี่เกิดจากอาการแพ้ละอองเกสร แต่ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ก็ควรอยู่บ้านและไปพบแพทย์ การที่ไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นกังวล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2565)

คำแนะนำจากกลุ่มแพทย์ด้านหู จมูก ลำคอเกี่ยวกับการแพ้ละอองเกสรกับอาการของโรคโควิด-19

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะนำเสนอคำแนะนำจากกลุ่มแพทย์ด้านหู จมูก ลำคอ

การสำรวจระดับชาติที่ดำเนินการในปี 2562 โดยคณะที่รวมถึงสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคภูมิแพ้ในโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่นพบว่า ร้อยละ 42.5 ของผู้ตอบระบุว่าพวกเขาแพ้ละอองเกสรบางประเภท ร้อยละ 38.8 ระบุว่าพวกเขาแพ้ละอองเกสรต้นซีดาร์ ผลที่ได้ชี้เป็นนัยว่าผู้คนมากกว่า 1 ใน 3 ในญี่ปุ่นมีอาการแพ้ละอองเกสร แต่ถือเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้คนจำนวนมากไปตรวจหาโรคโควิด-19 เมื่อพวกเขาเกิดอาการต่าง ๆ เช่น จามและมีน้ำมูกไหล

เมื่อคาดว่าจะเกิดความสับสนขึ้น สมาคมศัลยกรรมศีรษะและลำคอด้านโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่นได้เผยแพร่คำแนะนำบนเว็บไซต์ของตนเมื่อวันที่ 25 มกราคม ก่อนที่ฤดูกาลแห่งการแพ้ละอองเกสรจะเริ่มขึ้น

คำแนะนำดังกล่าวระบุว่าอาการที่ผู้แพ้ละอองเกสรเป็น เช่น น้ำมูกไหล จาม คัดจมูก สูญเสียการรับกลิ่น และอ่อนเพลียนั้น เป็นอาการเหมือนกับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

ทางสมาคมระบุว่านี่เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ดังกล่าวที่จะตัดสินได้ว่าพวกเขาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ในตอนต่อไป เราจะนำเสนอคำแนะนำเพิ่มเติมของทางสมาคม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565)

แพทย์ประสบความยากลำบากในการแยกระหว่างอาการแพ้ละอองเกสรกับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสร ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครั้งนี้เราจะสอบถามแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยซึ่งมีอาการต่าง ๆ

แพทย์หญิงคิมูระ ยูริกะ ซึ่งเป็นผู้นำคณะทำงานด้านมาตรการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของสมาคมศัลยกรรมศีรษะและลำคอด้านโสตศอนาสิกวิทยาแห่งญี่ปุ่นระบุว่า แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ก็ประสบความยากลำบากในการแยกระหว่างอาการแพ้ละอองเกสรตามฤดูกาลกับอาการของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

แพทย์หญิงคิมูระเล่าถึงกรณีหนึ่งที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรับยาสำหรับอาการแพ้ละอองเกสรตามปกติเพื่อรักษาอาการจามและน้ำมูกไหล อย่างไรก็ตาม สองวันต่อมา ผู้ป่วยคนนี้กลับมาพร้อมกับอาการเจ็บคอและได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

แพทย์หญิงคิมูระกล่าวว่ากรณีดังกล่าวทำให้เธอทราบถึงความยากลำบากในการจำแนกอาการที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในระยะแรกเริ่มของโรคนี้ เธอกล่าวว่าในขณะที่อาการแพ้ละอองเกสรนั้นกล่าวกันว่าในทางเทคนิคแล้วจะแสดงสัญญาณแบบเดียวกันนั่นคือเยื่อเมือกในจมูกจะกลายเป็นสีขาว มีหลายกรณีที่อาการเหล่านี้ไม่กำเริบในช่วงแรก ๆ ของการแพ้

แพทย์หญิงคิมูระกล่าวเสริมว่าแม้กระทั่งกับแพทย์เองก็ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ที่จะแยกระหว่างอาการแพ้ละอองเกสรกับโรคโควิด-19 หากผู้ป่วยไม่มาเข้ารับการตรวจ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565)

อาการที่คล้ายคลึงกันของการแพ้ละอองเกสรกับการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่ผู้คนมีอาการแพ้ละอองเกสรของต้นซีดาร์และต้นสนฮิโนกิ ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เมื่อคุณจามหรือมีน้ำมูกไหล คุณอาจสงสัยว่าคุณแพ้ละอองเกสรหรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับว่าควรทำอย่างไรเมื่อคุณไม่ทราบสาเหตุของอาการต่าง ๆ รวมถึงสิ่งที่ควรระวังและควรเตรียมพร้อม

แพทย์ด้านหู จมูก และคอระบุว่าอาการดังต่อไปนี้เป็นอาการหลักของการแพ้ละอองเกสร ได้แก่ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา อ่อนเพลีย การรับกลิ่นผิดปกติ มีไข้ เจ็บคอ ระคายคอ ไอ ปวดศีรษะเล็กน้อย และคันหู

สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนมีอาการดังต่อไปนี้ ร้อยละ 66.6 ของผู้ป่วยมีไข้ ร้อยละ 41.6 ไอ ร้อยละ 22.5 อ่อนเพลีย ร้อยละ 21.1 ปวดศีรษะ ทางสถาบันระบุด้วยว่าร้อยละ 12.9 มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจนอกเหนือจากอาการไอ ร้อยละ 2.7 คลื่นไส้หรืออาเจียน ร้อยละ 2.3 ท้องเสีย และร้อยละ 0.8 การรับกลิ่นหรือรับรสผิดปกติไป

อีกการสำรวจหนึ่งโดยสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 45.1 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนมีอาการไอ ร้อยละ 32.8 มีไข้ ร้อยละ 32.8 เจ็บคอ ร้อยละ 20.5 มีน้ำมูกไหล ร้อยละ 1.6 การรับกลิ่นผิดปกติ และร้อยละ 0.8 การรับรสผิดปกติ

ส่วนอีกการสำรวจหนึ่งโดยคณะนักวิจัยในสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้ป่วยที่มีอาการจากการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนนั้น ร้อยละ 60 มีอาการจาม

อาการต่าง ๆ นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ผู้ที่แพ้ละอองเกสรกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนนั้น มีแนวโน้มที่จะปรากฏอาการคล้ายคลึงกันซึ่งรวมถึงน้ำมูกไหลและจาม ในตอนต่อไปเราจะสอบถามแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยซึ่งมีอาการที่ว่านี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565)

ทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็ก ในตอนที่ 10 นี้เราจะสอบถามทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญ

ศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะ ซึ่งเป็นกุมารแพทย์และเชี่ยวชาญด้านการฉีดวัคซีนระบุว่า เราควรเข้าใจข้อดีของการฉีดวัคซีนตลอดจนข้อเสีย เช่น ผลข้างเคียง หรือเรื่องที่ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเด็กติดเชื้อ

ศาสตราจารย์นากายามะอ้างอิงถึงปัจจัยหลายข้อที่ควรนำมาพิจารณา เขากล่าวว่าถ้าเด็ก ๆ ติดเชื้อ พวกเขาอาจต้องอยู่ที่บ้านนานออกไปอีกระยะหนึ่งถึงแม้ว่าจะมีอาการเล็กน้อย และอาจทำให้ต้องเผชิญช่วงเวลาอันยากลำบากทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้อาการไม่รุนแรง เขากล่าวว่าวัคซีนอาจช่วยป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ นำเชื้อไวรัสกลับมายังที่บ้านและนำมาติดพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวว่าควรแนะนำอย่างแข็งขันให้เด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพเรื้อรังซึ่งอาจป่วยหนักได้ ไปเข้ารับวัคซีน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับว่าควรแนะนำให้ทุกคนเข้ารับวัคซีนหรือไม่

ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวว่ามีบางคนที่อาจคิดว่าต่อให้การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก ๆ กำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่มีเด็กจำนวนไม่มากที่ป่วยหนัก ด้วยเหตุนี้เด็ก ๆ จึงไม่ต้องเข้ารับวัคซีน แต่เขาระบุว่าเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าใครจะป่วยหนัก

เขากล่าวว่าไม่ควรบังคับผู้คนให้เข้ารับวัคซีน และว่าการที่ผู้คนจะทำความเข้าใจและตัดสินใจด้วยตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เขาต้องการให้ผู้คนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรวมถึงทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินใจด้วยตนเอง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565)

พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็ก และในตอนที่ 9 นี้จะนำเสนอว่าพ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก

เขตโคโตของกรุงโตเกียวได้จัดทำการสำรวจผู้อยู่อาศัยซึ่งมีลูกอายุ 5 ถึง 11 ปี และพวกเขาลงทะเบียนกับแอปพลิเคชัน LINE การสำรวจดังกล่าวดำเนินการระหว่างวันที่ 10 ถึง 13 กุมภาพันธ์ โดยมีผู้ตอบการสำรวจนี้กว่า 2,000 คน

ต่อคำถามที่ว่าพวกเขาต้องการให้ลูก ๆ เข้ารับวัคซีนหรือไม่ ร้อยละ 31.3 ของผู้ตอบระบุว่า “ต้องการ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และร้อยละ 48.7 ระบุว่า “ต้องการ แต่หลังจากรอสักระยะหนึ่งและถ้าไม่มีปัญหาอะไร” ขณะที่ร้อยละ 20 ระบุว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ลูก ๆ เข้ารับวัคซีน

ต่อคำถามที่ว่าพวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการให้ลูก ๆ เข้ารับวัคซีนหรือไม่ ร้อยละ 39.6 ตอบว่า “กังวลมาก” และร้อยละ 49.7 ตอบว่า “กังวลเล็กน้อย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนจำนวนมากรู้สึกกังวลในการพิจารณาให้ลูก ๆ ของตนเข้ารับวัคซีน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565)

ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กและวัยรุ่นอายุ 5 ถึง 17 ปี

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็ก และในตอนที่ 8 นี้จะนำเสนอประสิทธิผลของการฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือ CDC ได้เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคเมื่อใช้กับเด็กและวัยรุ่น อายุ 5 ถึง 17 ปี

การวิจัยดังกล่าวดำเนินการระหว่างต้นเดือนเมษายนปีที่แล้วถึงปลายเดือนมกราคมปีนี้ โดยเก็บข้อมูลจากผู้คนซึ่งรวมถึงเด็กและวัยรุ่นราว 40,000 คนที่เคยติดโควิด-19 และเข้ารับการดูแลอย่างเร่งด่วนหรือเข้ารักษาตัวตามสถาบันด้านการแพทย์ทั่วสหรัฐ

ผลการวิจัยระบุว่าประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นอยู่ที่ร้อยละ 74 สำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนวัยรุ่นอายุ 12 ถึง 17 ปี วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่ร้อยละ 73 ถึง 94 โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เข้ารับวัคซีน

CDC แนะนำให้เด็กและวัยรุ่นในกลุ่มอายุนี้เข้ารับวัคซีนโดยระบุว่าประสิทธิผลของวัคซีนมีแนวโน้มจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ยังคงมีประสิทธิผลสูงอยู่ในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565)

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็กนั้นมีความสำคัญแค่ไหน

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็ก และในตอนที่ 7 นี้จะนำเสนอว่าการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเล็กนั้นมีความสำคัญแค่ไหน

หน่วยงานด้านสาธารณสุขในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐเปิดเผยผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี ลดลงไปอย่างมากในช่วงที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่

ศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะซึ่งเป็นกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการฉีดวัคซีนระบุว่า ขนาดยาที่ฉีดให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีอยู่ที่ 1 ใน 3 ของขนาดยาที่ฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เขาชี้ว่าโดยปกติแล้ว ขนาดร่างกายของเด็กอายุ 11 ปีกับ 12 ปีนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก และว่าขนาดยาที่น้อยลง ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนน้อยลงตามไปด้วย เขากล่าวว่าด้วยเหตุนี้จึงอนุมานได้โดยง่ายว่าวัคซีนจะคงประสิทธิผลในระยะที่สั้นกว่าสำหรับกลุ่มเด็กอายุน้อย

ศาสตราจารย์นากายามะระบุว่าวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการฉีดวัคซีนนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนัก เขากล่าวว่าหากพิจารณาวัตถุประสงค์นี้ แน่นอนว่าวัคซีนของไฟเซอร์ใช้ได้ผลอยู่บ้าง เนื่องจากประสิทธิผลของวัคซีนที่ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นอยู่ที่อย่างน้อยประมาณร้อยละ 50 เขากล่าวว่าการได้ภูมิคุ้มกันผ่านการฉีดวัคซีนนั้นดีกว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโดยที่ไม่มีการป้องกันใด ๆ

ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวเสริมว่าการตัดสินใจเรื่องขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ๆ ถือเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรลดขนาดยาจากของผู้ใหญ่เท่าไหร่และควรใช้อะไรเป็นพื้นฐานในการลด เขากล่าวว่าไม่ใช่แค่เรื่องอายุเท่านั้นแต่ยังรวมถึงขนาดร่างกายของเด็กที่อาจต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย และยังระบุด้วยว่าการลดเกณฑ์อายุของเด็กเพื่อเข้ารับวัคซีนที่มีขนาดยาน้อยลง อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565)

การป้องกันการติดเชื้อที่ได้จากวัคซีนในกลุ่มเด็กเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างเมื่อเวลาผ่านไป

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็ก และในตอนที่ 6 นี้จะนำเสนอว่าเมื่อเวลาผ่านไป การป้องกันการติดเชื้อเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หน่วยงานด้านสาธารณสุขในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐเปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันการติดเชื้อและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 17 ปี

รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการป้องกันของวัคซีนไม่ให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มเด็กอายุ 12 ถึง 17 ปีลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 51 ในช่วงปลายเดือนมกราคม จากร้อยละ 66 ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ แต่ประสิทธิผลดังกล่าวในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 68 มาอยู่ที่ร้อยละ 12

คณะนักวิจัยระบุว่าประสิทธิผลดังกล่าวที่ลดลงในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีนั้นอาจเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กกลุ่มอายุนี้ได้รับวัคซีนแค่ 1 ใน 3 ของขนาดยาที่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้รับ

นับจนถึงช่วงปลายเดือนมกราคม ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์ที่ช่วยให้ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นอยู่ที่ร้อยละ 73 ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ถึง 17 ปี และร้อยละ 48 ในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี

คณะนักวิจัยระบุว่าพวกตนไม่มีข้อมูลมากพอที่จะให้ผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำได้เนื่องจากมีเด็กจำนวนไม่มากนักที่เกิดอาการหนัก

แม้ว่าผลที่ได้ดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์จากฝ่ายที่ 3 แต่คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าพวกตนได้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่อาจจะต้องศึกษาขนาดยาที่เป็นทางเลือกสำหรับเด็ก ๆ ตลอดจนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2565)

การประเมินการฉีดวัคซีนให้เด็กโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐ

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็ก และในตอนที่ 5 นี้จะนำเสนอเรื่องการประเมินการฉีดวัคซีนให้เด็กโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐ

หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐแนะนำการฉีดวัคซีนเมื่อประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง เช่น อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือ CDC แนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีโดยระบุว่าปลอดภัย มีประสิทธิผล และมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขในแคนาดาและฝรั่งเศสก็มีความเห็นแบบเดียวกัน

ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขในสหราชอาณาจักรและเยอรมนีระบุว่า เด็กที่มีความเสี่ยงสูงและเด็กที่อาศัยกับสมาชิกครอบครัวที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเท่านั้น ที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านแนวทางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของ CDC ได้อ้างอิงถึงข้อดีหลายประการของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก โดยระบุว่าการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อหรือเกิดอาการหนักเมื่อติดเชื้อ และเป็นการหยุดยั้งไม่ให้เชื้อแพร่กระจายผ่านเด็ก รวมถึงทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในการไปโรงเรียน ส่วนข้อเสียนั้น ทางคณะกรรมการอ้างอิงถึงผลข้างเคียงระยะสั้นตลอดจนผลข้างเคียงรุนแรงที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565)

รายงานของสหรัฐเกี่ยวกับผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็กและในตอนที่ 4 นี้จะนำเสนอรายงานของสหรัฐเกี่ยวกับผลข้างเคียง

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีในสหรัฐนั้นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือ CDC ได้เผยแพร่ผลวิเคราะห์รายงาน 4,249 กรณีที่เกิดผลข้างเคียงในกลุ่มเด็กที่ได้รับวัคซีนนับจนถึงวันที่ 19 ธันวาคมปี 2564 ในช่วงเวลานั้น มีการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มอายุนี้ไปราว 8,700,000 เข็ม

ในสหรัฐนั้น ใครก็ตามที่เกิดปัญหาหลังจากเข้ารับวัคซีน สามารถรายงานได้ว่าอาจเป็นผลข้างเคียง

ผลการวิเคราะห์ของ CDC ระบุว่ารายงาน 4,149 กรณีหรือร้อยละ 97.6 นั้นเป็นอาการไม่รุนแรง โดยมีลักษณะอาการที่เฉพาะเจาะจงดังต่อไปนี้

รายงาน 316 กรณีหรือร้อยละ 7.6 จากทั้งหมดระบุถึงอาการอาเจียน, 291 กรณีหรือร้อยละ 7 มีอาการไข้, 255 กรณีหรือร้อยละ 6.2 ปวดศีรษะ และหลายกรณีเป็นลม มี 244 กรณีหรือร้อยละ 5.9 เกิดอาการวิงเวียน, 201 กรณีหรือร้อยละ 4.8 อ่อนเพลีย

ในบรรดา 100 กรณีที่ CDC จัดว่าเป็นอาการรุนแรง มี 29 กรณีหรือร้อยละ 29 ที่เกี่ยวข้องกับอาการไข้, 21 กรณีหรือร้อยละ 21 อาเจียน และ 12 กรณีหรือร้อยละ 12 มีอาการชัก

เด็กที่ได้รับวัคซีนแล้ว 11 คนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่มีรายงานว่าทุกคนหายแล้ว ผลการวิเคราะห์ระบุว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกลุ่มอายุนี้นั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป

มีเด็ก 2 คนเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน แต่ CDC ระบุว่าพวกเขามีประวัติทางการแพทย์อันซับซ้อนและสุขภาพไม่แข็งแรงก่อนเข้ารับวัคซีน ผลการวิเคราะห์ระบุว่าไม่มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นความเกี่ยวพันระหว่างการเสียชีวิตดังกล่าวกับการฉีดวัคซีน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565)

ความปลอดภัยในการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้ว เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็กและในตอนที่ 3 นี้จะนำเสนอเรื่องความปลอดภัยในการทดลองทางคลินิก

บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกในกลุ่มเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีกว่า 2,200 คนในสหรัฐ สเปน และพื้นที่อื่น ๆ โดยมีรายงานอาการข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีนและอ่อนเพลีย แต่อาการข้างเคียงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และดีขึ้นใน 1 ถึง 2 วัน

เรามาดูลักษณะอาการแบบเฉพาะเจาะจงกัน

มีรายงานเรื่องอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีนร้อยละ 74 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 71 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

มีรายงานอาการอ่อนเพลียร้อยละ 34 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 39 หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

ร้อยละ 22 มีอาการปวดศีรษะหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 28 ปวดศีรษะหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

ร้อยละ 15 มีรอยแดงตรงจุดที่ฉีดวัคซีนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 19 มีอาการนี้หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

ร้อยละ 10 เกิดอาการบวมตรงจุดที่ฉีดวัคซีนหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 15 มีอาการนี้หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

มีรายงานอาการปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 9 หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 12 หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

มีรายงานอาการหนาวสั่นร้อยละ 5 หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 10 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

ร้อยละ 3 มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 7 มีอาการนี้หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

ร้อยละ 14 ใช้ยาลดไข้หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และร้อยละ 20 ใช้ยาลดไข้หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2565)

ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีแล้วเมื่อช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ในตอนที่ 2 ของการฉีดวัคซีนให้เด็กนั้น เราจะนำเสนอเรื่องประสิทธิผลของการฉีดวัคซีน

ไฟเซอร์ได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกโดยมีเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีกว่า 2,200 คนในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐและสเปนเข้าร่วม ไฟเซอร์ระบุว่าผลที่ได้นั้นยืนยันประสิทธิผลของวัคซีนตนที่ร้อยละ 90.7 ในการป้องกันการเกิดอาการจากการติดเชื้อ

นอกจากนี้ ไฟเซอร์ยังระบุด้วยว่าวัคซีนมีความปลอดภัยเนื่องจากอาการที่ปรากฏในเด็กกลุ่มนี้หลังจากเข้ารับวัคซีนนั้น โดยมากเป็นอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

ในการทดลองทางคลินิกดังกล่าว เด็กกว่า 1,500 คนได้รับวัคซีน 10 ไมโครกรัมต่อขนาดยา หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ฉีดให้แก่ผู้ใหญ่ เด็ก ๆ จะได้รับวัคซีน 2 เข็มโดยเข็มที่ 2 จะเว้นห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ มีเด็ก 750 คนที่ได้รับวัคซีนหลอก

คณะนักวิจัยยืนยันว่าระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสในเด็กที่ได้รับวัคซีนจริงนั้น สูงเท่ากับผู้คนอายุ 16-25 ปีที่ได้รับวัคซีนตามขนาดยาปกติ

มีเด็ก 3 คนในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงเกิดอาการจากโรคโควิด-19 หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว 7 วันหรือนานกว่านั้น ในขณะที่กลุ่มซึ่งได้รับวัคซีนหลอก จำนวนดังกล่าวอยู่ที่ 16 คน คณะนักวิจัยสรุปว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลร้อยละ 90.7 ในการป้องกันการเกิดอาการจากโรคโควิด-19

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565)

นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีเมื่อช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เราจะมุ่งเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนของเด็กและอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงว่าการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กนั้นดำเนินการอย่างไร โดยตอนแรกเราจะนำเสนอนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ขนาดยาที่ใช้สำหรับกลุ่มอายุนี้คือ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เด็กกลุ่มอายุนี้จะได้รับวัคซีน 2 เข็มโดยเข็มที่ 2 จะเว้นห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ รัฐบาลไม่แนะนำการจัดฉีดวัคซีนแก่ผู้คนจำนวนมากตามโรงเรียน โดยให้เด็ก ๆ ไปรับวัคซีนตามสถานที่ฉีดวัคซีนในเทศบาลของตนหรือคลินิกเด็กเป็นรายบุคคลไป

ปัจจุบัน ไม่มีข้อกำหนดให้เด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีพยายามไปเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะพิสูจน์ประสิทธิผลที่มีต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน เมื่อเด็กกลุ่มอายุนี้เข้ารับวัคซีน จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพูดคุยอย่างละเอียดกับเด็กเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก่อนเข้ารับวัคซีน โดยอิงจากข้อมูลเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ที่ไปพบเป็นประจำก่อนตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่ ทางกระทรวงขอให้เด็ก ๆ ที่มีปัญหาเรื่องระบบหายใจและอาการเรื้อรังอื่น ๆ เข้ารับวัคซีน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันเป็นเข็มกระตุ้น

คณะนักวิจัยของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลการวิจัยเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันเป็นเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่เคยได้รับไปแล้ว 2 เข็ม

เราจะรายงานเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต่างยี่ห้อกันแทนที่จะเป็นวัคซีนเดิมเหมือนที่เคยได้รับไปก่อนหน้านี้ โดยในตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะนำเสนอทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ

ศาสตราจารย์อิโต ซูมิโนบุ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจุนเท็นโด ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยดังกล่าวระบุว่า เมื่อเทียบกับวัคซีน 3 เข็มของไฟเซอร์แล้ว ระดับของสารภูมิต้านทานจากการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันโดยวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นของโมเดอร์นานั้นสูงกว่า แม้มีรายงานอาการข้างเคียงมากกว่า แต่จำนวนของผู้คนที่ลาหยุดงานก็ไม่ต่างกันมากนัก เขากล่าวว่าเมื่อจะเลือกวัคซีนนั้น ควรพิจารณาทั้งประสิทธิผลและอาการข้างเคียง

ศาสตราจารย์ฮามาดะ อัตสึโอะ จากโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระบุว่า สหรัฐและหลายประเทศในยุโรปเปลี่ยนกลับมาใช้ชีวิตและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจสังคมได้อย่างรวดเร็วเหมือนช่วงก่อนการระบาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อไม่นานมานี้ และมีประชากรแค่กว่าร้อยละ 10 เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว

เขากล่าวว่าการฟื้นสภาพเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากนักสามารถทำได้ แต่สำหรับพื้นที่เช่นกรุงโตเกียวและโอซากาซึ่งยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากอย่างต่อเนื่องนั้น ทางการควรพิจารณาสถานการณ์ด้านการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ก่อนตัดสินใจยกเลิกมาตรการเข้มงวดแบบมุ่งเน้นเฉพาะภาคส่วน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันเป็นเข็มกระตุ้น

คณะนักวิจัยของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลการวิจัยเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันเป็นเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่เคยได้รับไปแล้ว 2 เข็ม

เราจะรายงานเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต่างยี่ห้อกันแทนที่จะเป็นวัคซีนเดิมเหมือนที่เคยได้รับไปก่อนหน้านี้ โดยในตอนที่ 2 เราจะมุ่งเน้นไปยังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

รายงานของคณะนักวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น นำเสนอข้อมูลเรื่องอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้คนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ 3 เข็ม ร้อยละ 21.4 มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น ร้อยละ 69.1 มีอาการอ่อนเพลีย และร้อยละ 55 ปวดศีรษะ

ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์แล้ว 2 เข็มและได้รับวัคซีนของโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นนั้น ร้อยละ 49.2 มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น ร้อยละ 78 มีอาการอ่อนเพลีย และร้อยละ 69.6 ปวดศีรษะ อาการข้างเคียงทั้งหมดนี้ จะหนักที่สุดในวันหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และอาการจะหายไปภายใน 2 หรือ 3 วัน

มี 2 กรณีที่สงสัยว่าเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ 3 เข็ม แต่มีรายงานว่าอาการของพวกเขาไม่รุนแรง ทั้งนี้ ไม่ปรากฏอาการข้างเคียงรุนแรงใด ๆ ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์แล้ว 2 เข็มและวัคซีนเข็มกระตุ้นของโมเดอร์นา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565)

ประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันเป็นเข็มกระตุ้น

คณะนักวิจัยของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลการวิจัยเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกันเป็นเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่เคยได้รับไปแล้ว 2 เข็ม

เราจะรายงานเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต่างยี่ห้อกันแทนที่จะเป็นวัคซีนเดิมเหมือนที่เคยได้รับไปก่อนหน้านี้ โดยในตอนแรกจะมุ่งเน้นไปยังประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนในลักษณะเช่นนี้

คณะนักวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ข้อมูลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ในญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทั้งหมดเคยได้รับวัคซีนของไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็ม สำหรับเข็มที่ 3 นั้น มี 2,826 คนที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ ขณะที่ 773 คนได้รับวัคซีนของโมเดอร์นา นับจนถึงวันที่ 28 มกราคม

คณะนักวิจัยได้วัดระดับสารภูมิต้านทานในกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีต่อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและตรวจสอบผลข้างเคียง โดยอธิบายเกี่ยวกับผลที่ได้ในที่ประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์

คณะนักวิจัยได้ศึกษาระดับของสารภูมิต้านทานในกลุ่มคนเหล่านี้ 1 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ทั้งนี้ พวกเขาไม่เคยมีสารภูมิต้านทานที่ได้จากการติดเชื้อไวรัสนี้ ระดับสารภูมิต้านทานของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของไฟเซอร์นั้น เพิ่มขึ้นจากระดับก่อนหน้าที่จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเฉลี่ย 54.1 เท่า ขณะที่ระดับดังกล่าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 67.9 เท่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของโมเดอร์นา

คณะนักวิจัยระบุว่าเมื่อนำผลการวิจัยในต่างประเทศมาพิจารณาด้วยนั้น ดูเหมือนว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นของโมเดอร์นามีประสิทธิผลต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนมากกว่าด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565)

สิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 4

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เราจะรายงานสิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เช่น ความสามารถในการติดต่อ ความเสี่ยงของการเกิดอาการหนัก ครั้งนี้เราจะนำเสนอว่าวัคซีนมีประสิทธิผลเพียงใดต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วก็สามารถติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ องค์การอนามัยโลกเตือนในรายงานรายสัปดาห์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มกราคมว่า มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้การป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการแสดงอาการของโรคที่ได้จากวัคซีนนั้นลดลงไป ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักก็อาจลดลงด้วย

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรระบุในรายงานสรุปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปี 2564 ว่า วัคซีน mRNA 2 เข็ม เช่นวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และโมเดอร์นานั้น มีประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 65 ถึง 70 ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแบบแสดงอาการ นี่คือหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 2 ถึง 4 สัปดาห์ แต่ประสิทธิผลจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 หลังจากผ่านไป 20 สัปดาห์

ข้อมูลยังแสดงให้เห็นด้วยว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นของไฟเซอร์หรือของโมเดอร์นาที่ใช้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็มนั้น มีประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 65 ถึง 75 ในการป้องกันการแสดงอาการของโรคหลังจากผ่านไป 2 ถึง 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไป 5 ถึง 9 สัปดาห์ ประสิทธิผลลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 55 ถึง 70 และหลังจากผ่านไป 10 สัปดาห์ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 40 ถึง 50

ข้อมูลระบุว่าการฉีดวัคซีนมีประสิทธิผลมากกว่าในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหนักและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือแอสตราเซเนกาแล้ว 2 เข็ม ประสิทธิผลของการป้องกันไม่ให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ 72 ระหว่าง 2 ถึง 24 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน และหลังจากผ่านไป 52 สัปดาห์ ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 52

ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น ประสิทธิผลในการป้องกันให้ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ 88 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 2 สัปดาห์

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2565)

สิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 3

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เราจะรายงานสิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เช่น ความสามารถในการติดต่อ ความเสี่ยงของการเกิดอาการหนัก ครั้งนี้เราจะนำเสนอว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดอาการหนักหรือไม่

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในสหราชอาณาจักรระบุในรายงานสรุปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปี 2564 ว่า ความเสี่ยงที่จะเข้าโรงพยาบาลของผู้ที่ติดไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ติดไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 14 วันหรือนานกว่านั้น มีความเสี่ยงที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มาแล้วนานกว่า 14 วัน มีความเสี่ยงที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงร้อยละ 81

อย่างไรก็ตาม เราควรระมัดระวังในการตีความข้อมูลนี้ เจ้าหน้าที่ของสหราชอาณาจักรระบุว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นมีประสิทธิผลในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเกิดอาการหนัก และในสหราชอาณาจักรนั้น ประชากรร้อยละ 62.3 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วนับจนถึงวันที่ 10 มกราคม

ขณะที่ในญี่ปุ่น มีประชากรแค่ร้อยละ 1.1 ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนับจนถึงวันที่ 17 มกราคม องค์การอนามัยโลกชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนกำลังทำให้ระบบดูแลทางการแพทย์ของแต่ละประเทศแบกรับภาระมากขึ้น แม้ความเสี่ยงของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะลดลงก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้จำนวนของผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2565)

สิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 2

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เราจะรายงานสิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เช่น ความสามารถในการติดต่อ ความเสี่ยงของการเกิดอาการหนัก และภาระต่อระบบด้านการแพทย์ที่อาจมีขึ้น ครั้งนี้เป็นตอนที่ 2 โดยจะนำเสนอว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดอาการหนักหรือไม่

มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดอาการที่ร้ายแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุในรายงานรายสัปดาห์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า ในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดนั้น ดูเหมือนว่าอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะต่ำกว่าและมีผู้ป่วยอาการหนักในจำนวนน้อยกว่า

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ของ WHO ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งรวมถึงจมูกและคอมากกว่า เมื่อเทียบกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น และมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะไปถึงปอดและก่อให้เกิดอาการหนัก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เตือนว่าจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ความเห็นเหล่านี้

ที่ญี่ปุ่นนั้น ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมในจังหวัดโอกินาวาแสดงให้เห็นเกี่ยวกับความรุนแรงของอาการป่วยที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดโอกินาวาในตอนที่จำนวนผู้ติดเชื้อแตะที่ 650 คนในช่วงหนึ่งของการระบาดใหญ่ โดยพบว่าร้อยละ 84.8 ของบรรดาผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ และร้อยละ 0.6 มีอาการหนัก นับจนถึงวันที่ 1 เมษายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นสายพันธุ์หลักอยู่

นับจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคมปี 2564 ในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด ร้อยละ 72.8 ของผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ขณะที่ร้อยละ 0.9 มีอาการหนัก

เมื่อวันที่ 4 มกราคมปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ร้อยละ 92.3 ของผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักไม่มีเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในจังหวัดโอกินาวาเป็นคนหนุ่มสาว และจำนวนผู้ป่วยอาการหนักอาจเพิ่มขึ้นหากการติดเชื้อแพร่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2565)

สิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 1

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รายงานอย่างต่อเนื่องจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนติดต่อกันได้ง่ายมาก การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนในญี่ปุ่นก็กำลังพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน โดยเคยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมากกว่า 20,000 คน อะไรคือความเสี่ยงของการแพร่เชื้อและการเกิดอาการหนัก และสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อบริการด้านการแพทย์อย่างไร

เราจะรายงานสิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ครั้งนี้เป็นตอนแรก โดยจะนำเสนอความสามารถในการติดต่อของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ระบุในรายงานรายสัปดาห์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 เรื่อง “ความสามารถในการติดต่อที่เพิ่มมากขึ้น” ของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

รายงานดังกล่าวระบุถึงผลการวิจัยที่ดำเนินการในเดนมาร์กเมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 ซึ่งพบว่าอัตราการติดต่อขั้นที่ 2 ภายในครัวเรือนนั้นอยู่ที่ร้อยละ 31 สำหรับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ร้อยละ 21

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐระบุว่าทางศูนย์พบว่าความสามารถในการติดต่อของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นสูงสุด 3 เท่าเมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้เข้ามาแทนที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่

ที่อังกฤษนั้น นับจนถึงวันที่ 30 ธันวาคมปี 2564 ราวร้อยละ 95 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีรายงานทั่วภูมิภาคส่วนใหญ่ในอังกฤษคือการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐระบุว่าในสหรัฐนั้น นับจนถึงวันที่ 8 มกราคมปี 2565 ราวร้อยละ 98.3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักและมาแทนที่ไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ เกือบทั้งหมดแล้ว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2565)

จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 4

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนท่ามกลางฤดูที่เอื้อต่อการเป็นไข้หวัดธรรมดาอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรเมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัดและต้องการทราบว่าเราป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ครั้งนี้เราจะมาดูกันว่าจะใช้ชุดตรวจแอนติเจนอย่างไรเมื่อมีอาการต่าง ๆ

คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าชุดตรวจแอนติเจนเพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจช่วยได้เมื่อเรามีอาการต่าง ๆ ในช่วงกลางคืนหรือเมื่อยากที่จะตัดสินใจว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ชุดตรวจแอนติเจนเมื่อไม่มีอาการใด ๆ เนื่องจากกล่าวกันว่าในกรณีเช่นนี้ มีความถูกต้องแม่นยำน้อยกว่า

ถ้ามีอาการต่าง ๆ กล่าวกันว่าชุดตรวจแอนติเจนให้ผลที่น่าเชื่อถือหากใช้ภายใน 9 วันของการเกิดอาการเหล่านั้น แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องมั่นใจว่าใช้ชุดตรวจที่มีข้อความระบุว่า “in vitro diagnostics” หรือ IVD ผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนให้ผู้คนมีชุดตรวจนี้ไว้เผื่อต้องใช้

อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจแอนติเจนอาจให้ผลเป็นลบปลอม เราต้องไปพบแพทย์หากยังมีอาการอยู่แม้ว่าหลังจากมีผลตรวจเป็นลบก็ตาม

คุณโอตสึกะ โยชิฮิโตะ จากศูนย์การแพทย์คาเมดะระบุว่า ชุดตรวจแอนติเจนที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลญี่ปุ่นวางจำหน่ายในราคาไม่ถึง 2,000 เยนต่อชุด และก็มีพร้อมให้ใช้งาน เขากล่าวว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่จะมีชุดตรวจดังกล่าวติดบ้านไว้ แต่เขาเตือนว่าชุดตรวจนี้อาจให้ผลเป็นลบปลอมเมื่อเชื้อไวรัสมีไม่ถึงระดับที่กำหนด คุณโอตสึกะขอให้ไปพบแพทย์เมื่ออาการยังไม่หายไปและรู้สึกเป็นกังวล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2565)

จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 3

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนท่ามกลางฤดูที่เอื้อต่อการเป็นไข้หวัดธรรมดาอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรเมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัดและต้องการทราบว่าเราป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ครั้งนี้เราจะมาดูกันว่าควรทำอย่างไรเมื่อมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย

รัฐบาลญี่ปุ่นได้แจ้งไปยังทางการท้องถิ่นในพื้นที่ที่ “ต้องใช้มาตรการต้านการติดเชื้อเป็นพิเศษ” เพื่อให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในกรณีที่บุคคลผู้นั้นไม่มีอาการใด ๆ ทั้งนี้ ทางการท้องถิ่นได้ดำเนินการแยกต่างหากเพื่อให้บริการตรวจหาเชื้อแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับวัคซีนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อเหล่านี้ดำเนินการสำหรับผู้คนที่ไม่ปรากฏอาการของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

แล้วในกรณีของผู้ที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย ควรทำอย่างไร

คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นกำลังขอให้ผู้คนไปยังสถานที่ด้านการแพทย์หากมีอาการไข้อ่อน ๆ เหนื่อยอ่อน หรือรู้สึกไม่สบาย

คุณโอตสึกะ โยชิฮิโตะ จากศูนย์การแพทย์คาเมดะซึ่งเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ร่างแนวทางสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบุว่า ผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้ ปวดศีรษะ หรืออ่อนเพลีย ควรไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2565)

จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 2

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนท่ามกลางฤดูที่เอื้อต่อการเป็นไข้หวัดธรรมดาอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรเมื่อมีอาการไข้หวัดอ่อน ๆ และต้องการทราบว่าเราป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ครั้งนี้เราจะมาดูกันว่าอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ประชุมและรับฟังรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วย 50 คนจากจังหวัดโอกินาวา ซึ่งเป็นผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนับจนถึงวันที่ 1 มกราคม

รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 72 ของผู้ป่วยดังกล่าวมีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ขณะที่ร้อยละ 58 มีอาการไอ และร้อยละ 50 รู้สึกอ่อนแรง นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าร้อยละ 44 เจ็บคอ ร้อยละ 36 คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ร้อยละ 32 ปวดศีรษะ และร้อยละ 24 ปวดตามข้อ ร้อยละ 8 คลื่นไส้หรืออาเจียน ร้อยละ 6 หายใจลำบาก และร้อยละ 2 เกิดความผิดปกติในการรับรสหรือกลิ่น จากรายงานนี้ มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ไม่แสดงอาการ

คุณวากิตะ ทากาจิ ประธานคณะผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวและผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า ในขณะที่กล่าวกันว่าผู้ป่วยโควิด-19 มักจะมีอาการเกี่ยวกับการย่อยอาหารหรือสูญเสียการรับรสหรือรับกลิ่น แต่รายงานจากโอกินาวาชี้ว่าไม่มีอาการลักษณะนี้ในผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เขากล่าวว่าอาการที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดธรรมดามากกว่า

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2565)

จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่ 1

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ฤดูหนาวเป็นฤดูที่เอื้อต่อการเป็นไข้หวัดธรรมดาอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีอาการไข้อ่อน ๆ ผู้คนอาจรู้สึกกังวลว่าตนเองป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ เราจะทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นว่านี้

อาการของโรคโควิด-19 แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่าอาการดังต่อไปนี้ถือเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยผู้ติดเชื้อจะมีไข้ ไอแห้ง ๆ เหนื่อยอ่อน และสูญเสียการรับรสหรือกลิ่น ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับผู้ป่วยบางคนได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ผิวหนังเป็นผื่นหรือนิ้วมือและนิ้วเท้าเปลี่ยนสี รวมถึงตาแดง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐยังระบุถึงอาการต่าง ๆ ของโรคโควิด-19 เช่น หายใจติดขัดหรือหายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามร่างกาย น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก คลื่นไส้หรืออาเจียน และหนาวสั่น

คำถามก็คืออาการเหล่านี้เหมือนกับกรณีติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

เจ้าหน้าที่ของ WHO ระบุเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ว่า การศึกษาวิจัยมากยิ่งขึ้นชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อ ซึ่งต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อปอดและทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง เขาชี้ว่าการอักเสบที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นส่วนมากจะอยู่ในจมูกและคอ นี่ชี้เป็นนัยว่าอาการที่ปรากฏนั้นอาจต่างไปจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2565)

การระบาดของกรณีติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนภายในชุมชนในกรุงโตเกียว

กรุงโตเกียวได้รายงานกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยกรณีที่เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่เป็นการติดเชื้อภายในชุมชนก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ครั้งนี้เราจะไปติดตามการระบาดของกรณีติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนภายในชุมชน

กรุงโตเกียวได้ยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปี 2564 ในช่วง 2 สัปดาห์นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม ยอดรวมของผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ที่ 13 คน แต่วันที่ 30 ธันวาคมแค่วันเดียว ยอดดังกล่าวอยู่ที่ 9 คน และในวันที่ 3 มกราคม 2565 วันเดียวอยู่ที่ 25 คน

ขณะที่กรณีที่ดูเหมือนเป็นการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนภายในชุมชนนั้นมีเพียงคนเดียวนับจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม แต่จำนวนดังกล่าวเพิ่มเป็นถึง 12 คนสำหรับยอดของวันที่ 30 ธันวาคมรวมกับวันที่ 3 มกราคม

เจ้าหน้าที่ของทางการกรุงโตเกียวระบุว่ากรณีติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังวันคริสต์มาสและมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสสายพันธุ์นี้จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงสิ้นปีจนถึงปีใหม่

ในประเด็นเรื่องระบบด้านการแพทย์นั้น เตียงในโรงพยาบาลสูงสุดจำนวน 6,919 เตียงถูกใช้สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 3.5 นับจนถึงวันที่ 3 มกราคม

ผู้เชี่ยวชาญของทางการกรุงโตเกียวระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันทางการแพทย์สามารถสร้างสมดุลระหว่างการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับการรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาเตือนว่าอาจเผชิญกับภาวะเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ โดยขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2565)

ยอดติดเชื้อในกรุงโตเกียวที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

กรุงโตเกียวได้รายงานกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยกรณีที่เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่เป็นการติดเชื้อภายในชุมชนก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เราจะไปติดตามความเป็นไปของจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2565

กรุงโตเกียวได้ยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 76 คนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถือเป็นการทำลายสถิติที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 50 คนติดต่อกันมา 73 วัน

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 64 คน และวันที่ 31 ธันวาคมอยู่ที่ 78 คน ถือเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับเดือนธันวาคม จำนวนดังกล่าวของวันที่กล่าวมาทั้งหมดอยู่ที่เกือบ 2 เท่าของวันเดียวกันของเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้นไปอีกในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ โดยผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 อยู่ที่ 79 คน และวันที่ 2 มกราคมอยู่ที่ 84 คน ในวันที่ 3 มกราคม ยอดรายวันเพิ่มมาอยู่ที่ 103 คน เกิน 100 คนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 และในวันที่ 5 มกราคม จำนวนดังกล่าวอยู่ที่ 390 คน

เจ้าหน้าที่ของทางการกรุงโตเกียวระบุว่าความเร็วของการเพิ่มขึ้นนี้กำลังเร่งจังหวะมากขึ้น และว่าทางการกรุงโตเกียวเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติ

ในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นการติดจากสมาชิกครอบครัวด้วยกันเองนั้นปรากฏชัดเป็นอย่างยิ่ง จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 484 คนในช่วง 6 วันนับจนถึงวันที่ 3 มกราคมนั้น มี 175 คนที่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 36.2 ในจำนวนนั้นมี 101 คนที่เป็นการติดเชื้อจากภายในครอบครัวซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 57.7 ถัดมาคือร้อยละ 12.0 ที่เป็นการติดเชื้อจากที่ทำงาน ร้อยละ 9.1 เป็นการติดเชื้อจากการออกไปรับประทานอาหารข้างนอก และร้อยละ 7.4 เป็นการติดเชื้อมาจากสถานที่ต่าง ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม 2565)

เราทราบอะไรเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนบ้าง ตอนที่ 2

เราจะนำเสนอว่านับจนถึงปัจจุบัน เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นไวรัสชนิดกลายพันธุ์ล่าสุดที่น่าเป็นกังวล ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่ความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

มีความเห็นที่ระบุว่าหากผู้คนติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ก็อาจมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่องค์การอนามัยโลกได้เตือนว่าเรายังคงต้องระวังเกี่ยวกับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

รายงานจากยุโรป สหรัฐ และเกาหลีใต้ระบุว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐระบุว่า “ข้อมูลเบื้องต้นชี้เป็นนัยว่าการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนอาจรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับความรุนแรงในการทดลองทางคลินิกนั้นยังคงมีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าสัดส่วนของการติดเชื้อที่เกิดอาการหนักจะต่ำกว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนการติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น จำนวนจริงของผู้คนที่มีอาการหนักก็อาจมีมากตามไปด้วย”

ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังมีเรื่องของเวลาที่เหลื่อมกันของช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น กับช่วงที่จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นด้วย

องค์การอนามัยโลกระบุในการตีพิมพ์ข้อมูลรายสัปดาห์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมปี 2564 ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนจากการทดลองทางคลินิกนั้นยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และว่า “การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ระบบสาธารณสุขอาจแบกรับภาระท่วมท้น”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2564)

เราทราบอะไรเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนบ้าง ตอนที่ 1

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนถือเป็นชนิดกลายพันธุ์ล่าสุดที่น่าเป็นกังวล ในสหรัฐและชาติยุโรปซึ่งกำลังมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในชุมชนนั้น โอไมครอนได้เข้ามาแทนที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาได้อย่างรวดเร็วในฐานะสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนภายในชุมชนก็ได้รับการยืนยันในญี่ปุ่นเช่นกัน ครั้งนี้เราจะนำเสนอว่านับจนถึงปัจจุบัน เราทราบอะไรเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนบ้าง

รายงานจากทั่วโลกชี้เป็นนัยว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนติดต่อได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับไวรัสกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โอไมครอนขึ้นแท่นอย่างรวดเร็วกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้กรณีติดเชื้อเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา

องค์การอนามัยโลกระบุว่าในบรรดาประเทศที่มีการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนในชุมชนนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 1 วันครึ่งถึง 3 วันซึ่งเร็วขึ้น ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมปี 2564 นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ตอนนี้มีหลักฐานเห็นได้ชัดว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนกำลังแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตาอย่างมาก และยังกล่าวด้วยว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ผู้คนซึ่งได้รับวัคซีนแล้ว หรือหายจากโรคโควิด-19 แล้ว อาจสามารถติดเชื้อหรือติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 7

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องนี้กันต่อ

โมเดอร์นา ผู้ผลิตยาของสหรัฐระบุว่าวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มกระตุ้นของตนดูเหมือนว่ามีประสิทธิผลสูงต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนในการทดลองในห้องปฏิบัติการ

การค้นพบเบื้องต้นนี้ที่เผยแพร่ออกมาโดยบริษัทโมเดอร์นาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมปี 2564 นั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมีระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสต่ำลงต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

วัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีขนาดยา 50 ไมโครกรัมซึ่งได้รับอนุญาตให้ฉีดทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐนั้น ได้เพิ่มระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนขึ้นมาราว 37 เท่าจากระดับก่อนการฉีดกระตุ้น

เมื่อฉีดเข็มกระตุ้นที่มีขนาดยา 100 ไมโครกรัม ระดับสารภูมิต้านทานดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นมาราว 83 เท่าจากระดับก่อนการฉีดกระตุ้น ทั้งนี้ขนาดยา 100 ไมโครกรัมเทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในวัคซีนแต่ละเข็มของ 2 เข็มแรก

โมเดอร์นาระบุว่าการป้องกันด่านหน้าต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะเป็นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทางบริษัทระบุว่าในช่วงระหว่างนี้ วัคซีนที่ใช้กับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเป็นการเฉพาะนั้นยังไม่จำเป็น แต่ทางบริษัทจะพัฒนาวัคซีนดังกล่าวต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 6

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่ความเคลื่อนไหวในสหรัฐ

คุณแอนโทนี เฟาซี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐระบุเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปี 2564 ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ผลเพียงพอต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

เขากล่าวว่าการได้รับวัคซีนครบโดยใช้วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคหรือโมเดอร์นานั้น ได้ผลอันเป็นที่น่าพอใจมากกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ทั้งในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อและการเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่าการวิจัยล่าสุดจำนวนหนึ่งชี้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสขึ้นอย่างมาก และยังเพิ่มการป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ด้วย

เขากล่าวว่า ณ ตอนนี้เขาคิดว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ใช้สำหรับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะนั้นไม่จำเป็น ก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้ประกาศว่าพวกตนกำลังพัฒนาวัคซีนใหม่ที่มุ่งเป้าไปยังไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเป็นการเฉพาะ

คุณเฟาซีได้เรียกร้องอีกครั้งให้ประชาชนในสหรัฐไปเข้ารับวัคซีนให้ครบ และรับวัคซีนเข็มกระตุ้นของวัคซีนที่มีอยู่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 5

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่ผลการวิจัยจากประเทศแอฟริกาใต้

การวิจัยในห้องปฏิบัติการซึ่งนำโดยศาสตราจารย์อเล็กซ์ ซีกัล จากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งแอฟริกาชี้เป็นนัยอย่างชัดเจนว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนลดภูมิคุ้มกันและสารภูมิต้านทานที่เกิดจากการกระตุ้นโดยวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคลงอย่างมาก การวิจัยดังกล่าวซึ่งใช้พลาสมาจากเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 12 คน พบว่าความสามารถของสารภูมิต้านทานจากวัคซีนเพื่อลบล้างฤทธิ์ของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นลดลงไป 40 เท่า

ประมาณการของทางสถาบันเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนอาจใช้ได้ผลแค่ร้อยละ 22.5 ต่อการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนในแบบที่แสดงอาการ

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าในบรรดาตัวอย่างเลือดจากผู้คน 6 คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนและได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วนั้น มี 5 คนที่มีสารภูมิต้านซึ่งสามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสในระดับค่อนข้างสูง โฆษกของสถาบันดังกล่าวระบุว่าการที่ผู้คนสามารถกระตุ้นระดับของสารภูมิต้านทานด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 นั้นถือเป็นโอกาสอันดีและช่วยเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการหนักได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 4

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องนี้กันต่อ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมปี 2564 ไฟเซอร์ บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐและไบออนเทค หุ้นส่วนจากเยอรมนี ได้เผยแพร่ผลการวิจัยขั้นต้นเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์ที่มีต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ได้เพิ่มสารภูมิต้านทานขึ้น 25 เท่าเมื่อเทียบกับวัคซีน 2 เข็ม โดยให้การป้องกันระดับเดียวกันกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม

ในการวิจัยดังกล่าว ทางบริษัทได้ทดสอบตัวอย่างเลือดที่ได้จากผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วหนึ่งเดือน เพื่อดูระดับสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยพบว่าระดับสารภูมิต้านทานดังกล่าวสามารถเทียบเคียงได้กับระดับสารภูมิต้านทานที่พบในผู้คนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้ว 3 สัปดาห์เพื่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และคาดว่าวัคซีนเข็มที่ 3 จะให้การป้องกันในระดับสูงต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

ไฟเซอร์และไบออนเทคกล่าวด้วยว่าร้อยละ 80 ของส่วนหนึ่งของโปรตีนหนามที่เซลล์ภูมิคุ้มกันจดจำได้ว่าเป็นเป้าหมายนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเท่ากับว่าวัคซีน 2 เข็มอาจจะยังสามารถกระตุ้นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักได้ และว่าเชื่อว่าวัคซีนเข็มที่ 3 จะเพิ่มระดับของเซลล์ภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 3

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่การทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน

ศาสตราจารย์นากายามะ เท็ตสึโอะ จากมหาวิทยาลัยคิตาซาโตะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและการฉีดวัคซีนได้ชี้ว่า แม้ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนจะมีการกลายพันธุ์ 30 จุดที่โปรตีนหนามซึ่งใช้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ แต่การกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแค่ร้อยละ 3 ของโปรตีนหนามทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้เหตุผลว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่วัคซีนจะใช้ไม่ได้ผลเลยต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

เขากล่าวว่าประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อนั้นอาจลดลงในระดับหนึ่ง แต่ความสามารถในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักนั้น จะไม่ลดลงไปมากนัก

ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถเพิ่มระดับของสารภูมิต้านทานได้และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเซลล์ภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่โจมตีไวรัสที่เข้ามาในร่างกาย เขากล่าวว่าแม้การกลายพันธุ์อาจช่วยให้ไวรัสฝ่าสารภูมิต้านทานไปได้ แต่การป้องกันที่ได้จากเซลล์ภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถตอบสนองต่อการกลายพันธุ์อันหลากหลายได้นั้น จะยังคงอยู่ในระดับสูงจากการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะทำให้กรณีผู้ป่วยอาการหนักนั้นลดลงไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 2

ในขณะที่หลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเนื่องจากเกิดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 น่าจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน โดยจะนำเสนอเรื่องนี้กันต่อ

คุณทานิงูจิ คิโยซุ หัวหน้าการวิจัยทางคลินิกของโรงพยาบาลมิเอะซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐและเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จะไม่เพียงเพิ่มปริมาณของสารภูมิต้านทานเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความจำของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วย

เมื่อมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกซึ่งหมายถึงวัคซีนเข็มเบื้องต้นหรือ “prime” นั้น ร่างกายจะจดจำว่าไวรัสเป็นศัตรูเป้าหมายเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในตัวเองเข้าโจมตี จากนั้นเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างความจำของศัตรูเป้าหมาย วัคซีนเข็มที่ 3 จะหมายถึงการกระตุ้นหรือ “boost” ที่มุ่งเสริมความเข้มแข็งและทำให้ความจำดังกล่าวคงอยู่ได้นานขึ้น ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ “prime and boost” จึงมีเป้าหมายที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “ศัตรู” และเสริมสร้างความจำดังกล่าว

คุณทานิงูจิกล่าวว่าเนื่องจากยุทธศาสตร์ที่ต้องใช้ภูมิคุ้มกันให้มากพอผ่านการฉีดวัคซีนนี้ มุ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนัก ยุทธศาสตร์นี้จึงสมควรใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ใด ๆ ก็ตามที่กำลังปรากฏขึ้น ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอไมครอนด้วย เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการจัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้รุดหน้าต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิผลแค่ไหนกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ตอนที่ 1

มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิผลน้อยลงต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน กรณีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้คนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว วัคซีนที่นำมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นนั้นคือชนิดเดียวกันกับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ซึ่งผลิตมาสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดเมื่อช่วงก่อนหน้านี้

เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าทำไมเรายังคงต้องเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นี้น่าจะมีประสิทธิผลแค่ไหนต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ครั้งนี้นำเสนอเป็นตอนแรก

ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามหลายจุด โปรตีนหนามมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ที่ไวรัสเข้าไปฝังตัว การกลายพันธุ์จึงเท่ากับว่าการที่สารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสจะไปยึดโปรตีนหนามดังกล่าวและป้องกันการติดเชื้อนั้น อาจเป็นเรื่องยากมากขึ้น

คุณทานิงูจิ คิโยซุ หัวหน้าการวิจัยทางคลินิกของโรงพยาบาลมิเอะซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐและเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีความหมาย แม้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนที่มีต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนจะน้อยลงก็ตาม

คุณทานิงูจิกล่าวโดยยกตัวอย่างว่า แม้การกลายพันธุ์ในไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ประสิทธิผลของสารภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ลบล้างไวรัสอยู่ที่ 1 ใน 4 แต่เรายังมีการป้องกันในระดับเท่าเดิมได้ ถ้าปริมาณของสารภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 4 เท่าหลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งช่วยเสริมความเข้มแข็งของระบบภูมิคุ้มกันให้แก่เรา

คุณทานิงูจิกำลังหมายความว่าการเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 และการเพิ่มปริมาณรวมทั้งหมดของสารภูมิต้านดังกล่าว จะทำให้เราสามารถมีสารภูมิต้านทานที่ไปยึดไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้มากขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564)

ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ตอนที่ 4

มีการยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนรายใหม่ทั่วโลก ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดนี้หรือไม่ เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาหลายชนิด ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องนี้กันต่อ

ยาเดกซาเมทาโซนและยาบาริซิทินิบจะไปกดไม่ให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองมากเกินไปต่อไวรัสที่ได้เพิ่มจำนวนแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่ายาดังกล่าวใช้ได้ผลกับโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะมีการกลายพันธุ์หรือไม่

ศาสตราจารย์โมริชิมะ สึเนโอะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไอจิระบุว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ยาสร้างสารภูมิต้านทานจะไม่ได้ผลอะไรเลยกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ทั้งหลาย แต่เขากล่าวว่าเราไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าประสิทธิผลของยาดังกล่าวที่มีต่อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์นั้นจะลดลงไประดับใด จนกว่าเราจะยืนยันเรื่องนี้กับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้

ส่วนยาสำหรับรับประทานที่อยู่ระหว่างการพัฒนานั้น ศาสตราจารย์โมริชิมะกล่าวว่าคาดว่ายาดังกล่าวจะได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเหมือนที่ใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เนื่องจากยาดังกล่าวช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสในเซลล์มนุษย์เพิ่มจำนวนขึ้น

ศาสตราจารย์โมริชิมะกล่าวว่ายุทธศาสตร์ในขณะนี้ก็คือการเรียกร้องให้จ่ายยาสำหรับรับประทานหากยาดังกล่าวได้รับการรับรองและจ่ายยาสร้างสารภูมิต้านทานตั้งแต่เนิ่น ๆ เขากล่าวว่ายุทธศาสตร์นี้จะไม่เปลี่ยนไปแม้ประสิทธิผลของยาดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงในกรณีที่เป็นสายพันธุ์โอไมครอนก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2564)

ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ตอนที่ 3

มีการยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนรายใหม่ทั่วโลก ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดนี้หรือไม่ เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาหลายชนิด ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องนี้กันต่อ

ในบรรดายาที่พัฒนาขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น มียาบางชนิดมุ่งที่จะป้องกันการสร้างเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของไวรัสนี้ภายในเซลล์ ยาเรมเดซิเวียร์ซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในยาเช่นว่านี้โดยเป็นยาที่ให้ผ่านทางหลอดเลือด เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางไปจนถึงอาการหนัก

ขณะนี้กำลังมีการพัฒนายาสำหรับรับประทานซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ยาดังกล่าวรวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ที่พัฒนาโดยเมอร์ค บริษัทยาของสหรัฐ ทางบริษัทได้ยื่นเรื่องเพื่อขอให้กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นรับรองการใช้ยาดังกล่าว ยาแพกซ์โลวิดที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐ ทางบริษัทได้ยื่นเรื่องให้ผู้กำกับดูแลของสหรัฐรับรองให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน และยาสำหรับรับประทานที่คล้ายคลึงกันอีกชนิดหนึ่งนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยชิโอโนงิ บริษัทยาของญี่ปุ่น

คุณโมริชิมะ สึเนโอะจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไอจิระบุว่า การรักษาเหล่านี้มุ่งเป้าไปยังไวรัสที่ได้เข้ามาในเซลล์ของมนุษย์แล้ว ยาดังกล่าวจึงควรได้รับการพิจารณาว่าใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2564)

ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ตอนที่ 2

มีการยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนรายใหม่ทั่วโลก ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดนี้หรือไม่ เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาหลายชนิด ครั้งนี้เราจะนำเสนอเรื่องนี้กันต่อ

ในบรรดายาที่ได้รับการรับรองในญี่ปุ่น ยาค็อกเทลแอนติบอดีและยาโซโทรวิแมบถูกจัดอยู่ในประเภทการรักษาแบบแอนติบอดี ยานี้ป้องกันไม่ให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้ามาในเซลล์ของมนุษย์ได้ด้วยการพุ่งเป้าไปยังโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากผิวของไวรัสซึ่งมันใช้เป็นที่ยึดเกาะเพื่อเข้ามายังเซลล์ของมนุษย์

ยาดังกล่าวจะให้ผ่านทางหลอดเลือดโดยใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาป่วยหนัก ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามราว 30 จุด และว่านี่อาจลดประสิทธิผลของการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์

คุณโมริชิมะ สึเนโอะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไอจิระบุว่า การรักษาแบบแอนติบอดีพุ่งเป้าไปยังโปรตีนหนามโดยตรง เขาเชื่อว่าการกลายพันธุ์ล่าสุดจะมีผลสำคัญต่อประสิทธิผลของการรักษา เขากล่าวว่าในขณะเดียวกันประสิทธิผลของการรักษาอาจยังคงอยู่ หากส่วนที่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้ซ้อนทับกับโปรตีนหนามที่เป็นเป้าหมาย

เชื่อกันว่ายาโซโทรวิแมบใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากแกล็กโซสมิธไคลน์ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของอังกฤษที่เป็นผู้พัฒนายานี้ ได้นำยาไปทดสอบกับไวรัสต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์โอไมครอนและพบว่ามันใช้ได้ผล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2564)

ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ตอนที่ 1

มีการยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนรายใหม่ทั่วโลก ยาจะใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดนี้หรือไม่ เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาหลายชนิด ทั้งยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและยาที่อยู่ระหว่างพัฒนา เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยครั้งนี้จะนำเสนอเป็นตอนแรก

มียา 3 ประเภทที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยาดังกล่าวได้แก่ยาที่ป้องกันไม่ให้ไวรัสนี้เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ ยาที่ป้องกันไวรัสที่ได้เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์แล้วไม่ให้เพิ่มจำนวน และยาที่ป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองมากเกินไปต่อไวรัสที่ได้เพิ่มจำนวนแล้ว

คุณโมริชิมะ สึเนโอะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไอจิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบุว่า ประสิทธิผลของการให้ยาผ่านทางหลอดเลือดซึ่งพุ่งเป้าไปที่ “โปรตีนหนาม” บนผิวของไวรัสนั้น อาจผันแปรไปโดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโปรตีนหนาม แต่ยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยซึ่งเป็นยาป้องกันไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนนั้น มีแนวโน้มที่จะใช้ได้ผลอยู่ เราจะนำเสนอประเด็นนี้อย่างละเอียดมากขึ้นในตอนต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2564)

การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ตอนที่ 3

การฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรด้านการแพทย์ทั่วญี่ปุ่น ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ครั้งนี้เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยจะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าเทศบาลท้องถิ่นทั้งหลายเตรียมพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้อย่างไร

เมืองใหญ่เล็กและหมู่บ้านทั่วญี่ปุ่นมีหน้าที่จัดฉีดวัคซีนให้แก่ผู้อยู่อาศัย เมืองเหล่านี้ประสบปัญหาต่าง ๆ ในตอนที่ประชาชนพบความยากลำบากในการจองวัคซีนเข็มแรก เนื่องจากสายโทรศัพท์ไม่ว่างและไม่สามารถเข้าเว็บไซต์รับจองได้เนื่องจากมีผู้เข้าใช้งานจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 NHK ได้สอบถาม 23 เขตในกรุงโตเกียวว่ามีแผนการรับมือประเด็นเหล่านี้อย่างไรสำหรับการจัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

19 เขตตอบว่าพวกตนกำลังดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันความวุ่นวายในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ โดย 6 ใน 19 เขตระบุว่าพวกตนจะกำหนดวัน เวลา และสถานที่สำหรับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และแจ้งไปยังประชาชน ส่วน 8 เขตระบุว่าพวกตนจะเพิ่มจำนวนสายโทรศัพท์สำหรับรับจองและสถานที่ที่ผู้คนสามารถไปเพื่อขอความช่วยเหลือในการจองวัคซีนได้

เขตเอโดงาวะของกรุงโตเกียวมีแผนที่จะให้ผู้สูงอายุซึ่งได้รับวัคซีนที่สถานที่ฉีดวัคซีนสำหรับคนจำนวนมากของเขต มาเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากผ่านไป 8 เดือนแล้วตามวันและเวลาเดิมกับวัคซีนเข็มที่ 2 นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ที่สถานที่เดิมหรือสถานที่ใกล้เคียงได้ด้วย

ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนวันหรือสถานที่สามารถทำได้ด้วยการโทรศัพท์หรือเข้าไปยังเว็บไซต์ของเขต เจ้าหน้าที่ของเขตระบุว่าพวกตนจะพิจารณาการใช้มาตรการคล้ายคลึงกันนี้สำหรับผู้คนกลุ่มอายุอื่น ๆ ถ้าความพยายามที่ดำเนินการกับผู้สูงอายุนั้นเป็นไปด้วยดี

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2564)

การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ตอนที่ 2

การฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรด้านการแพทย์ทั่วญี่ปุ่น ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ครั้งนี้เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการใช้วัคซีนที่ต่างไปจากวัคซีนที่เคยได้รับมาแต่เดิม

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจอนุญาตให้ใช้วัคซีนที่ต่างไปจากวัคซีน 2 เข็มที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้ได้ โดยทางการได้ตัดสินใจเรื่องนี้เนื่องจากไม่แน่ใจว่าวัคซีนของไฟเซอร์นั้นจะมีจำนวนเพียงพอให้ใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ไปแล้ว 2 เข็มหรือไม่

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่าได้จัดหาวัคซีนของไฟเซอร์ให้ผู้คนราว 4,000,000 คนที่มีสิทธิเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ในเดือนธันวาคมและมกราคมได้แล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะสามารถเตรียมวัคซีนของไฟเซอร์ให้ผู้คนได้แค่ 20 ล้านคน ในขณะที่มีผู้คนราว 34 ล้านคนที่มีสิทธิจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้ใช้วัคซีนของโมเดอร์นาได้ หากมีการยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน และเมื่อวัคซีนได้รับการรับรองให้ใช้เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ได้แล้ว

ทางกระทรวงระบุว่ายังไม่แน่นอนว่าวัคซีนของไฟเซอร์จะมีเพียงพอสำหรับทุกคนที่ต้องการเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับเข็มที่ 2 ไปแล้ว 8 เดือนหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ทางกระทรวงระบุว่าควรนำเรื่องการใช้วัคซีนของโมเดอร์นามาพิจารณา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2564)

การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ตอนที่ 1

การฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรด้านการแพทย์ทั่วญี่ปุ่น ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ผู้คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีสิทธิเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ในเดือนมกราคมปี 2565 ครั้งนี้เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นไปที่การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

เดิมกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ระบุว่า ตามหลักการแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มที่ 2 เมื่อ 8 เดือนก่อนเป็นอย่างน้อย คือผู้มีสิทธิได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่ามีเป้าหมายที่จะลดระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 กับเข็มที่ 3

ช่วงเวลาที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้คนแต่ละกลุ่มนั้นจะตัดสินใจโดยอิงจากเรื่องที่ว่าเทศบาลทั้งหลายพร้อมที่จะจัดฉีดวัคซีนหรือไม่และมีวัคซีนให้ฉีดมากเท่าใด โดยเทศบาลเหล่านั้นจะส่งบัตรฉีดวัคซีนไปให้ประชาชนที่มีกำหนดเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า ในเดือนธันวาคมปี 2564 มีบุคลากรทางการแพทย์ 1,040,000 คนที่มีสิทธิได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้คนจำนวนหนึ่งที่อายุไม่ถึง 65 ปีซึ่งได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มเร็วกว่าผู้อื่น จะมีสิทธิเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 และในเดือนมีนาคม จะเริ่มการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามสถานที่ทำงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ทางกระทรวงระบุว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2565 เป็นอย่างน้อย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2564)

สถานการณ์การติดเชื้อในฮอกไกโดอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 6 ในญี่ปุ่น ตอนที่ 4

ปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปีนี้ แต่เมื่ออุณหภูมิต่ำลง การติดเชื้อมีแนวโน้มที่จะระบาดในจังหวัดฮอกไกโดซึ่งอยู่เหนือสุดของญี่ปุ่นก่อนพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรจับตาแนวโน้มดังกล่าวในจังหวัดฮอกไกโดอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ฮอกไกโดกันต่อ

ศาสตราจารย์ทาเตดะ คาซูฮิโระจากมหาวิทยาลัยโทโฮ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปี 2563 ฮอกไกโดเป็นหนึ่งในจังหวัดแรก ๆ ของญี่ปุ่นที่พบเห็นแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม

เขากล่าวว่าเมื่ออากาศเริ่มเย็น ไวรัสที่ผู้คนปล่อยออกมาจะลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น และยังกล่าวด้วยว่าเยื่อบุทางเดินหายใจจะได้รับผลกระทบง่ายขึ้นเมื่ออากาศแห้ง ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัส ยิ่งไปกว่านั้น เขากล่าวว่าผู้คนมีแนวโน้มจะอยู่ภายในสถานที่ปิดกันนานขึ้นเมื่ออากาศเย็น สิ่งนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อได้

ศาสตราจารย์ทาเตดะกล่าวว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงอยู่ในทุกพื้นที่ รวมถึงอาจเพิ่มจำนวนขึ้นและแพร่ระบาดในตอนที่เราคาดไม่ถึง เขากล่าวว่าฤดูหนาวเป็นฤดูที่เอื้อต่อการติดเชื้อและเราต้องปฏิบัติมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างถี่ถ้วน เช่น การสวมหน้ากาก การระบายอากาศภายในห้องอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงสภาวะ 3 ประการได้แก่ สถานที่ปิด สถานที่ที่มีผู้คนแออัด และการพบปะกันอย่างใกล้ชิด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2564)

สถานการณ์การติดเชื้อในฮอกไกโดอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 6 ในญี่ปุ่น ตอนที่ 3

ปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปีนี้ แต่เมื่ออุณหภูมิต่ำลง การติดเชื้อในจังหวัดฮอกไกโดซึ่งอยู่เหนือสุดของญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดก่อนพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรจับตาแนวโน้มดังกล่าวในจังหวัดฮอกไกโดอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ฮอกไกโดกันต่อ

คณะทำงานด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของฮอกไกโดระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่ม และว่าไม่มีการติดเชื้อในชุมชน โดยนับจนถึงขณะนี้ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการติดเชื้อจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

คณะทำงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนมากเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

เจ้าหน้าที่จากศูนย์สาธารณสุขของฮอกไกโดกำลังดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่ม ด้วยการซักถามผู้ป่วยและผู้ที่ผู้ป่วยได้ไปพบปะใกล้ชิดมา พวกเขากำลังพยายามหาที่มาของการแพร่เชื้อเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น และกำลังขอให้ผู้คนดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อพื้นฐาน

คณะทำงานด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของฮอกไกโดระบุว่าถ้าผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกที่ 6 ด้วยเหตุนี้พวกตนจะจับตาดูสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564)

สถานการณ์การติดเชื้อในฮอกไกโดอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 6 ในญี่ปุ่น ตอนที่ 2

ปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปีนี้ แต่เมื่ออุณหภูมิต่ำลง การติดเชื้อในจังหวัดฮอกไกโดซึ่งอยู่เหนือสุดของญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดก่อนพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรจับตาแนวโน้มดังกล่าวในจังหวัดฮอกไกโดอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้เราจะนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ฮอกไกโดกันต่อ

เป็นที่ทราบกันดีว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดง่ายขึ้นในพื้นที่ปิดซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนั้นอาจเพิ่มสูงขึ้นในฤดูหนาวเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงและมีโอกาสน้อยลงในการระบายอากาศ

เป็นที่ทราบกันครั้งแรกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้นในพื้นที่ปิด หลังจากที่มีผู้คนติดเชื้อไวรัสนี้ที่พื้นที่พักผ่อนภายในอาคารของงานเทศกาลหิมะซัปโปโรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 และก็เกิดกรณีอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้ด้วย

การวิเคราะห์ของคณะผู้เชี่ยวชาญแสดงให้เห็นว่าละอองฝอยที่เล็กมากซึ่งมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ ลอยอยู่ในอากาศในระยะเวลาหนึ่งในพื้นที่ปิด และผู้คนสามารถติดเชื้อได้ด้วยการสูดละอองฝอยนี้เข้าไป เมื่ออิงจากข้อมูลดังกล่าว จึงมีการแนะนำให้ล้างมือ ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการพูดคุยโดยไม่สวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงสภาวะ 3 ประการได้แก่ พื้นที่ปิด ผู้คนหนาแน่น และการพบปะกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่ทราบกันว่าการระบายอากาศช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงในฤดูหนาว ผู้คนมักมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายในอาคารมากกว่า และโอกาสที่ผู้คนจะพบปะกันในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีและปีใหม่นั้นก็มีมากขึ้น คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่าความเสี่ยงติดเชื้ออาจเพิ่มมากขึ้น และกำลังขอให้ประชาชนดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้ออย่างถี่ถ้วน เช่น การระบายอากาศ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2564)

สถานการณ์การติดเชื้อในฮอกไกโดอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 6 ในญี่ปุ่น ตอนที่ 1

ปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปีนี้ แต่ในจังหวัดฮอกไกโดซึ่งอยู่เหนือสุดของญี่ปุ่น จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันได้เพิ่มขึ้นในช่วงหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดในฮอกไกโดก่อนที่จะแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของญี่ปุ่นเมื่ออุณหภูมิต่ำลง

คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเราควรจับตาแนวโน้มนี้ในจังหวัดฮอกไกโดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนี่อาจเป็นสัญญาณการเริ่มระบาดระลอกที่ 6 ในญี่ปุ่น

ฮอกไกโดกลายเป็นสถานที่แห่งแรกในญี่ปุ่นที่เผชิญการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นในกรุงโตเกียวช่วงกลางเดือนมีนาคมปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ก็ยังมีแนวโน้มที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 ในฤดูหนาวปี 2563 โดยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แพร่ระบาดในฮอกไกโด 2 สัปดาห์ก่อนที่จะแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงกรุงโตเกียว

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ฮอกไกโดเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนที่กรุงโตเกียว จำนวนดังกล่าวเริ่มเพิ่มขึ้นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนที่แนวโน้มนี้จะเห็นได้ชัดราว 1 เดือนต่อมา

นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จำนวนเฉลี่ยดังกล่าวเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั่วญี่ปุ่น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ที่ต่ำกว่า 1,000 คนนับจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน แต่กลับเพิ่มไปถึง 2,000 คนในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และแตะ 4,000 คนตอนสิ้นเดือนธันวาคม เมื่อวันที่ 8 มกราคมปี 2564 จำนวนดังกล่าวอยู่ที่เกือบ 8,000 คน

คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าดูเหมือนว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะถูกควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่งในฤดูหนาวปีนี้ เนื่องมาจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน แต่ก็เตือนว่าการอยู่ในสถานที่ปิดภายในอาคารเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้ และว่าเราควรจับตาดูสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในฮอกไกโดอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจหาสัญญาณใดก็ตามของการระบาดระลอกที่ 6 ที่อาจเกิดขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 9

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ในการให้สัมภาษณ์นั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดเตือนว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกล่าวว่าการพบปะกันโดยตรงที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักในการพยากรณ์ว่าการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งหรือไม่และเมื่อไหร่

คุณโอมิ ชิเงรุ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านมาตรการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่น และคุณวากิตะ ทากาจิ ประธานคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ต่างก็เตือนให้ผู้คนดำเนินมาตรการป้องกันไว้ก่อนในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีนี้และปีใหม่ ซึ่งกิจกรรมทางสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พวกเขาขอให้ทุกคนดำเนินมาตรการต้านการติดเชื้อพื้นฐานต่อไป เช่น การสวมหน้ากากและการขจัดภาวะแวดล้อมที่เป็นสถานที่ปิด มีผู้คนหนาแน่น และการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด

ศาสตราจารย์วาดะ โคจิ จากมหาวิทยาลัยนานาชาติด้านสุขภาพและสวัสดิการกล่าวว่า การพยากรณ์ว่าการติดเชื้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหรือไม่นั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลถึงกันในแนวทางที่ซับซ้อน เขากล่าวว่าวัคซีนและการพัฒนาการรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นปัจจัยที่ช่วยให้เราเห็นแสงแห่งความหวัง

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงฤดูหนาวปีนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่มีมาจนถึงการระบาดระลอกที่ 5 รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการต้านการติดเชื้อทั้งหลายต่อไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 8

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะไปฟังทัศนะของคุณชิบะ อาซาโกะ นักวิจัยหลังปริญญาเอกประจำสมาคมวิจัยนโยบายแห่งโตเกียวกันต่อ

คุณชิบะกล่าวว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะเกิดขึ้นเมื่อประสิทธิผลของวัคซีนลดลงประกอบกับจำนวนผู้คนที่ออกไปข้างนอกเพิ่มมากขึ้น เราได้สอบถามเธอว่าควรทำอย่างไรเพื่อรับมือการระบาดระลอกถัดไป

คุณชิบะกล่าวว่ากุญแจสำคัญคือการใช้ประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกว่า “ชุดมาตรการวัคซีนและตรวจ PCR” รัฐบาลมุ่งที่จะใช้ประวัติการฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รวมกับการยืนยันผลตรวจหาเชื้อที่เป็นลบเพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดทางสังคม

คุณชิบะได้ทำแบบจำลอง “มินิ โตเกียว” เธอพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น่าจะลดลงแม้ว่าจำนวนของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือผู้ที่มีผลตรวจหาเชื้อเป็นลบซึ่งออกไปข้างนอก กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนการระบาดใหญ่ก็ตาม แต่จะเป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมยอดรวมของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้ตรวจหาเชื้อและออกไปข้างนอก ให้อยู่ที่ครึ่งหนึ่งของระดับก่อนการระบาดใหญ่ได้

คุณชิบะกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะควบคุมการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้คนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่าเมื่อเป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับมาตรการต้านการติดเชื้อ วิธีหนึ่งที่ได้ผลก็คือการจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อ เช่น ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เธอกล่าวว่ารัฐบาลควรหารือให้มากขึ้นอีกว่าจะนำ “ชุดมาตรการวัคซีนและตรวจ PCR” มาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 7

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะไปฟังทัศนะของคุณชิบะ อาซาโกะ นักวิจัยหลังปริญญาเอกประจำสมาคมวิจัยนโยบายแห่งโตเกียว

คุณชิบะกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวปีนี้ เธอเชื่อว่าการระบาดระลอกที่ 6 จะมีสาเหตุมาจากประสิทธิผลของวัคซีนที่ลดลงไปบวกกับการเคลื่อนที่ของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น คุณชิบะกำลังพยายามหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้การระบาดระลอกที่ 6 นี้ถูกควบคุมให้อยู่ในจำนวนน้อยเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการจำลองตัวแบบออกมาเป็น “มินิ โตเกียว”

เธอได้จัดทำแบบจำลองว่าการติดเชื้อจะแพร่ระบาดในเมืองสมมติที่มีประชากรราว 70,000 กว่าคนได้อย่างไร เมืองนี้เป็นรูปแบบย่อของกรุงโตเกียวซึ่งอิงจากสำมะโนประชากรและข้อมูลอื่น ๆ โดยโครงสร้างอายุ อาชีพ และลักษณะครอบครัวของผู้อยู่อาศัยคล้ายคลึงกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงในกรุงโตเกียว

ในแบบจำลองของเธอนั้น เธอกำหนดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือนตุลาคมปี 2564 หรือหลังจากนั้นให้อยู่ที่ 4 คน ซึ่งเท่ากับผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 800 คนในกรุงโตเกียวจริง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หากการเคลื่อนที่ของผู้คนสามารถรักษาให้ต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดใหญ่ร้อยละ 30 การคำนวณแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงต่ำอยู่แม้ประสิทธิผลของวัคซีนจะลดลงก็ตาม ยิ่งมีผู้คนเข้ารับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มที่ 3 มากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะเริ่มลดลงภายใต้สถานการณ์นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเคลื่อนที่ของผู้คนอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดใหญ่แค่ร้อยละ 20 จำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มต่อเนื่องแม้จะมีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ก็ตาม

คุณชิบะกล่าวว่าการจำลองนี้แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ของผู้คนแม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้สถานการณ์การติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมาก เธอกล่าวว่าถ้าบรรยากาศโดยรวมในสังคมโน้มเอียงไปยังการรวมตัวกันตอนสิ้นปี ก็มีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่าเมื่อคำนึงในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว การจะรักษาระดับการเคลื่อนที่ของผู้คนให้ลดลงอยู่เช่นนี้ต่อไปนั้นคงจะเป็นเรื่องยาก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 6

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะไปฟังทัศนะของคุณทากายามะ โยชิฮิโระ จากโรงพยาบาลโอกินาวา ชูบุกันต่อ

คุณทากายามะเตือนว่าการกลับมาระบาดอีกครั้งอาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูวันหยุดยาวสิ้นปีและปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เขากล่าวว่าไม่ว่าเราจะใช้มาตรการต้านการติดเชื้อแบบใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเชื้อไวรัสนี้ที่ถูกนำมายังพื้นที่ท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่งในช่วงฤดูกาลวันหยุดยาวดังกล่าว

ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยกำลังตั้งตารอที่จะใช้เวลาช่วงปีใหม่กับลูกหลานของพวกตน หลังจากที่ไม่สามารถพบเจอกันได้มานานแล้ว การยืนยันว่าทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานได้เข้ารับวัคซีนแล้วและดำเนินมาตรการป้องกันไว้ก่อนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้เวลาร่วมกันได้อย่างไม่ต้องกังวล

คุณทากายามะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมเรื่องการเตรียมการสำหรับการระบาดระลอกที่ 6 ที่อาจเกิดขึ้นได้

เขากล่าวว่าเมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันในสหรัฐและยุโรป เราควรยกระดับการเตรียมการบนสมมติฐานที่ว่าอาจเกิดการระบาดระลอกที่ใหญ่กว่าเดิม

เขากล่าวว่าการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ในช่วงที่จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้เหตุผลว่าการเพิ่มจำนวนสถานที่ที่ผู้ป่วยสามารถพักรักษาตัวหลังออกจากโรงพยาบาลแล้วเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อที่จะได้ลดระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หากเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสามารถลดลงไปได้ครึ่งหนึ่ง ก็จะมีผลเท่ากับการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาล 2 เท่า

คุณทากายามะขอให้ทางการท้องถิ่นและโรงพยาบาลทั้งหลายปรึกษาหารือกันเพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นนี้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 5

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะไปฟังทัศนะของคุณทากายามะ โยชิฮิโระ จากโรงพยาบาลโอกินาวา ชูบุ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น

คุณทากายามะระบุถึงความแตกต่างของการที่ไวรัสนี้ระบาดในตัวเมืองกับในพื้นที่ชนบท โดยกล่าวว่าเขาคิดว่าพื้นที่ในเมืองกับชนบทนั้นควรใช้วิธีต่างกันต่อการระบาดของไวรัสนี้

ในพื้นที่เมืองนั้น มีจุดศูนย์กลางบางแห่งที่การติดเชื้อดำเนินไปอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้คนเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบ่อยขึ้นในสถานที่เช่นว่านี้ การระบาดก็จะปะทุขึ้นเหมือนจุดชนวนระเบิด

ส่วนพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงจังหวัดโอกินาวานั้น พบว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อส่วนใหญ่ได้แล้วโดยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในบางพื้นที่ ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวควรเฝ้าระวังการเข้ามาในพื้นที่ของผู้ติดเชื้อจากตัวเมือง

กุญแจสำคัญก็คือมีการดำเนิน “ชุดมาตรการวัคซีนและตรวจ PCR” สำหรับผู้ที่มาจากนอกพื้นที่หรือไม่ และทางการท้องถิ่นสามารถขอร้องไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัดเมื่อเกิดการระบาดขึ้นได้หรือไม่ ผู้คนในเขตจังหวัดต่าง ๆ มีความกังวลมากกว่าเกี่ยวกับการติดเชื้อและกระตือรือร้นต่อการขอให้ระวังไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าการสื่อสารเหล่านี้ไปไม่ถึงผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เมือง ก็ไม่มีประโยชน์อันใด

ปัจจุบันกรณีติดเชื้อยังคงค่อนข้างต่ำอยู่ มีผู้คนจำนวนน้อยที่ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เมืองที่จะคอยเตือนผู้คนว่าควรเฝ้าระวังตื่นตัวเอาไว้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 4

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะไปฟังทัศนะจากศาสตราจารย์วาดะ โคจิ จากมหาวิทยาลัยนานาชาติด้านสุขภาพและสวัสดิการ และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เช่น โรคติดเชื้อ เขาเป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์วาดะเตือนเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ว่าต้องระมัดระวังช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น

เขาชี้ว่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านฤดูกาล เช่น อากาศเย็นและความชื้น บวกกับการเดินทางของผู้คน ไวรัสนี้น่าจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงสิ้นปีนี้และปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเฉลิมฉลองกันอย่างคึกคัก นี่เป็นสถานการณ์เดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ

ศาสตราจารย์วาดะกล่าวว่าแม้คณะผู้เชี่ยวชาญจะระบุว่าเป็นการยากที่จะคาดการณ์เกี่ยวกับการระบาดระลอกที่ 6 ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน การผ่อนคลายข้อจำกัดด้านกิจกรรมทางสังคม และเรื่องที่ว่าเวลาจะส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีนอย่างไร นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายประการที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์วาดะเชื่อว่าเนื่องจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นไม่เหมือนกับการระบาดระลอกก่อน จึงทำให้แนวโน้มของความเสี่ยงที่ผู้คนจะป่วยหนักนั้นลดลง

เขากล่าวว่าการศึกษากรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศพบว่า เป็นที่น่าสงสัยไม่น้อยเลยว่าการแพร่ระบาดของไวรัสนี้และผู้ที่ป่วยหนักเพราะโควิด-19 นั้น น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นหลัก ในกรุงโตเกียว มี 1 ใน 5 คนที่อยู่ในช่วงวัย 40 ปีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เขากล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อที่ทั้งตัวบุคคลเองและเพื่อกรุงโตเกียวทั้งหมดจะได้รู้สึกปลอดภัย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 3

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะไปฟังเกี่ยวกับความพยายามพยากรณ์การติดเชื้อในอนาคตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

ศาสตราจารย์ฮิราตะ อากิมาซะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโงยะได้จำลองสถานการณ์ในอนาคตของกรุงโตเกียวด้วยการป้อนข้อมูลการติดเชื้อในอดีตไปยังระบบ AI มีการใช้ข้อมูลมากมายเป็นวงกว้างซึ่งรวมถึงความเป็นไปของจำนวนผู้ติดเชื้อ อุณหภูมิ ความชื้น การเคลื่อนที่ของผู้คน และเรื่องที่ว่ามีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่

สมมติฐานก็คือการเคลื่อนที่ของผู้คนจะค่อย ๆ กลับมา ระบบ AI ได้จำลองออกมา 27 รูปแบบภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน เช่น สัดส่วนของผู้คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็มและการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ทุกรูปแบบดังกล่าวได้ผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นว่าการระบาดระลอกที่ 6 อาจจะเกิดขึ้นประมาณต้นเดือนมกราคม

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าการคาดการณ์ของ AI ระบุว่าจุดสูงสุดของการระบาดระลอกที่ 6 จะเกิดขึ้นต้นเดือนมกราคมในทุกสถานการณ์ เมื่อนำเรื่องระยะฟักตัวของไวรัสมาพิจารณาด้วยนั้นพบว่า การออกไปข้างนอกของผู้คนช่วงวันหยุดยาวระหว่างวันคริสต์มาสถึงปีใหม่ และจำนวนของการรวมตัวกันกับครอบครัวและญาติพี่น้อง จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

ขณะเดียวกัน การคาดการณ์ของ AI แสดงให้เห็นว่าถ้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จำนวนของผู้ติดเชื้ออาจเริ่มลดลงในระยะเวลาค่อนข้างเร็ว และยังระบุด้วยว่าจะสามารถควบคุมจำนวนของผู้ป่วยที่กลายเป็นผู้ป่วยอาการหนักได้

ศาสตราจารย์ฮิราตะกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 และเพื่อให้ประชากรทั้งหมดยังคงรักษาประสิทธิผลของวัคซีนให้อยู่ในระดับสูงได้ การฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเท่ากับว่ามีความเป็นไปได้ที่ประสิทธิผลของวัคซีนจะลดลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่าถ้าไม่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเร็ว ๆ นี้ ก็อาจเป็นเรื่องยากที่ญี่ปุ่นจะคงประสิทธิผลนี้ไว้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 2

เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยครั้งนี้เราจะฟังทัศนะของคุณฟูรูเซะ ยูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อกันต่อ

คุณฟูรูเซะกล่าวว่าเราสามารถทำให้การเริ่มระบาดระลอกที่ 6 ล่าช้าออกไปได้ ถ้าเราลดการพบปะกันซึ่งหน้า อย่างไรก็ตาม การจำลองสถานการณ์ของเขาแสดงให้เห็นว่าแม้เราจะควบคุมการมีปฏิสัมพันธ์เช่นว่านี้ได้ร้อยละ 40 หรือร้อยละ 60 ของระดับก่อนการระบาดใหญ่ แต่การระบาดระลอกใหม่ก็น่าจะมาถึงในอีกประมาณ 5 เดือน

ทั้งนี้ การจำลองสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รวมผลที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เขากล่าวว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจช่วยลดผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 6 ได้

การจะสรุปได้ว่าปฏิสัมพันธ์แบบพบปะกันซึ่งหน้านั้นลดลงไปมากแค่ไหนถือเป็นเรื่องที่ยากมาก คุณฟูรูเซะบอกกับเราว่ากุญแจสำคัญคือการเพิ่มความตระหนักก่อนที่จะถึงฤดูกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

คุณฟูรูเซะกล่าวว่าฤดูหนาวเป็นฤดูที่เอื้ออย่างยิ่งต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และว่านี่คือฤดูกาลแห่งงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วย และหากผู้คนมารวมตัวกัน ดื่มกินหรือท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมากเหมือนที่เคยทำตอนก่อนการระบาดใหญ่ ก็อาจทำให้การติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้

เขากล่าวว่าในขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งกังวลว่าผู้คนจะค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการต้านการติดเชื้อ แต่คนจำนวนมากก็ยังคงสวมหน้ากาก มีงานเลี้ยงดื่มกินน้อยลง และจัดประชุมทางออนไลน์แทนการพบปะกันซึ่งหน้า เขากล่าวว่าการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเราตอนนี้เป็นรูปแบบ “new normal” ภายใต้การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยลดการมีปฏิสัมพันธ์ลง

เขากล่าวว่าถ้าเราทำแบบนี้ต่อไป ก็อาจช่วยลดผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ให้เหลือน้อยที่สุดได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมดก็ตาม และยังเป็นการช่วยไม่ให้เกิดแรงกดดันต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขมากจนเกินไปด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564)

ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ตอนที่ 1

จำนวนผู้ติดโควิด-19 ในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในปีนี้ แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เผยแพร่แผนการเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ เราจะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าการระบาดระลอกที่ 6 น่าจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ผู้เชี่ยวชาญคนแรกของเราคือคุณฟูรูเซะ ยูกิ เขาเชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อและด้านการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คุณฟูรูเซะซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานด้านการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า การระบาดระลอกที่ 6 น่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวปีนี้

คุณฟูรูเซะรับผิดชอบเรื่องการจำลองสถานการณ์การติดเชื้อสำหรับคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เขาดำเนินการด้วยการหาจำนวนปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสและใส่ข้อมูลพวกนี้ลงไปในสูตรทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้การคาดคะเน

ข้อมูลต่อจากนี้คือสมมติฐานที่เขาใช้สำหรับการจำลองสถานการณ์
1. อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 90 ในกลุ่มผู้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 80 ในกลุ่มผู้คนที่อยู่ในช่วงวัย 40 ปีและช่วงวัย 50 ปี ร้อยละ 75 ในกลุ่มผู้คนที่อยู่ในช่วงวัย 20 ปีและช่วงวัย 30 ปี
2. ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ถือว่ามีประสิทธิผลร้อยละ 70 ในการป้องกันการติดเชื้อ
3. การพบปะกันซึ่งหน้าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ของระดับก่อนการระบาดใหญ่ กล่าวคือลดลงมาร้อยละ 20

การจำลองสถานการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เริ่มต่ำลงเป็นครั้งแรกนี้ จะเริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังจาก 1 เดือนและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้นหลังจาก 2 เดือน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564)

ค่าชดเชยสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19 ตอนที่ 2

จำนวนของผู้คนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในที่ทำงานซึ่งกำลังขอรับค่าชดเชยนั้นมีมากขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีกรณีของผู้ที่ได้รับผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19 ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มได้รับค่าชดเชยด้วย วันนี้เราจะนำเสนอเรื่อง “ค่าชดเชยสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19”

ชาวต่างชาติที่ทำงานเป็นพนักงานในญี่ปุ่นก็อยู่ในกลุ่มที่ประกันค่าชดเชยสำหรับพนักงานครอบคลุม ไม่ว่าจะสัญชาติใดก็ตาม โดยไม่ใช่แค่ผู้ที่มีสถานะเป็นผู้อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่เป็นพนักงานพาร์ทไทม์ด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าผู้คนมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับพนักงานเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขณะทำงานหรือมีอาการป่วยจากผลกระทบตกค้างของโรคโควิด-19 จนไม่สามารถทำงานได้

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นกำลังขอให้ผู้คนปรึกษากับสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานในท้องถิ่น เมื่อติดเชื้อไวรัสนี้หรือป่วยจากอาการตกค้างยืดเยื้อของโรคโควิด-19

ทางกระทรวงพบว่านับจนถึงสิ้นเดือนกันยายนปี 2564 มีผู้คน 14,567 คนที่ถูกจัดให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับพนักงานหลังจากติดเชื้อไวรัสนี้จากที่ทำงาน ในจำนวนดังกล่าว มี 11,214 คนที่เป็นบุคลากรด้านการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิการ ซึ่งรวมถึงแพทย์ พยาบาล และพนักงานพยาบาลดูแลที่ขึ้นทะเบียน

ผู้คนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนทั้งหมด นอกจากนี้ก็ยังมีพนักงานที่ทำงานด้านคมนาคมขนส่งหรือไปรษณีย์ 376 คน ด้านการผลิต 315 คน และภาคบริการ 245 คนซึ่งรวมถึงโรงแรมและร้านอาหาร โดยพนักงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นวงกว้างก็อยู่ในกลุ่มของผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนี้

องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งมีฐานปฏิบัติงานในจังหวัดเฮียวโงะกำลังให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และกำลังดำเนินงานเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานให้ดีขึ้น คุณนิชิยามะ คาซูฮิโระ เลขาธิการขององค์กรดังกล่าวระบุว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาการตกค้างต่าง ๆ หลังติดโควิด-19 ขณะทำงานนั้น มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับพนักงานอีกครั้ง เขากล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรดำเนินการให้มากกว่านี้เพื่อทำให้ผู้คนทราบเรื่องนี้มากขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564)

ค่าชดเชยสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19 ตอนที่ 1

จำนวนของผู้คนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในที่ทำงานซึ่งกำลังขอรับค่าชดเชยนั้นมีมากขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีกรณีของผู้ที่ได้รับผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19 ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มได้รับค่าชดเชยด้วย วันนี้เราจะนำเสนอเรื่องค่าชดเชยสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19

ชายคนหนึ่งในช่วงวัย 40 ปี ซึ่งทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดในบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุในจังหวัดเฮียวโงะ ได้รับการยืนยันให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับพนักงานเนื่องจากผลกระทบตกค้างของโรคโควิด-19 ชายผู้นี้ติดโควิด-19 หลังจากใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยในสถานพยาบาลดูแลแห่งหนึ่งที่ติดโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว หลังเข้ารับการตรวจ PCR เมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 ก็พบว่าเขาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และถูกจัดให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ชายผู้นี้กลับไปทำงานหลังจากรักษาตัวราว 2 เดือน แต่ก็ต้องหยุดงานอีกครั้งนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2564 เนื่องจากอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง หายใจติดขัด และปัญหาเกี่ยวกับการรับรส แพทย์ของเขาวินิจฉัยว่านี่คือผลกระทบตกค้างจากโรคโควิด-19

เขาสมัครขอรับค่าชดเชยอีกครั้ง และในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านมาตรฐานแรงงานก็ระบุว่าการติดเชื้อจากที่ทำงานคือสาเหตุของอาการป่วยทั้งหลายของเขา ชายผู้นี้ยังคงไม่สามารถทำงานได้ในขณะนี้ และกำลังพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านโดยได้รับความช่วยเหลือจากภรรยาและลูกสาววัย 5 ขวบ

เขากล่าวว่าเขารู้สึกโล่งใจหลังจากที่มีการระบุว่าเขามีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากผลข้างเคียงระยะยาวของโรคโควิด-19 และว่าเขารู้สึกแย่นับตั้งแต่ที่เขาไม่แข็งแรงพอที่จะลุกขึ้นมาและเล่นกับลูกสาวได้ เขาต้องการทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อกลับไปทำงานอีกครั้งโดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้

เนื่องจากผลกระทบตกค้างของโรคโควิด-19 อยู่ในข่ายที่สามารถขอรับค่าชดเชยสำหรับพนักงานได้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงขอให้ผู้คนที่ประสบอาการคล้ายคลึงกันนี้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ด้านแรงงาน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564)

วัคซีนเข็มกระตุ้น ตอนที่ 9

เราจะนำเสนอเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “เข็มกระตุ้น” โดยจะพิจารณาบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากการระบาดระลอกที่ 5

ศาสตราจารย์โอกะ ฮิเดอากิ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไซตามะระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ในช่วงการระบาดระลอกที่ 5 คือผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าผู้ป่วยคนหนึ่งในช่วงวัย 80 ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิดอาการทรุดหนักและเสียชีวิตในช่วงกลางเดือนสิงหาคม แม้จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมก็ตาม ผู้ป่วยคนนี้ประสบภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเนื่องจากรักษาโรคมะเร็ง

ศาสตราจารย์โอกะกล่าวว่าผู้ป่วยคนนี้โชคไม่ดีที่เกิดอาการหนักแม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว การวิจัยในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจะไม่ได้รับผลจากการเข้ารับวัคซีน 2 เข็ม งานวิจัยชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนนั้นลดลงไปในผู้คนก