ทำไมคู่สามีภรรยาถึงไม่มีลูก
Backstories

ทำไมคู่สามีภรรยาถึงไม่มีลูก

    NHK World
    Correspondent
    อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมในญี่ปุ่นลดลง 8 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นสถิติที่มีผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตของประเทศ ชิมาดะ ยูกิโกะจาก NHK World พูดคุยกับพ่อแม่มือใหม่และผู้ที่จะเป็นพ่อแม่เกี่ยวถึงสิ่งที่ทำให้พวกเขาลังเลที่จะมีลูก

    ในปี 2566 จำนวนลูกที่คาดว่าผู้หญิง 1 คนจะมีตลอดช่วงชีวิตลดลงเหลือ 1.20 ขณะที่กรุงโตเกียว ตัวเลขยิ่งต่ำลงไปอีกที่ 0.99

    ร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามจากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก หลาย ๆ คนประสบปัญหาในการเลี้ยงลูกและจัดการกับวัฒนธรรมการทำงานหนักของชาวญี่ปุ่น

    ผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 30 ปีคนนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่กังวลเกี่ยวกับการมีลูก

    การเงินภาคครัวเรือนเป็นอุปสรรค

    ผู้หญิงในโตเกียววัย 30 ปีที่ไม่เปิดเผยชื่อคนนี้ทำงานจากที่บ้าน เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีแล้วที่เธอเปลี่ยนงานจากข้าราชการที่อยากทำมาเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นงานที่ทำให้เธอต้องทำงานดึกทุกคืน

    เธอเพิ่งแต่งงานและฝันที่จะมีลูกสองคนมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มี สาเหตุหลักคือการเงินในครัวเรือน ผู้หญิงคนนี้ทำบัญชีอย่างละเอียดและคอยดูค่าใช้จ่ายที่เธอและสามีใช้ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด ทั้งคู่อยู่ระหว่างจ่ายคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถานะการเงินกำลังฟื้นจากค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงาน

    เธอรู้สึกว่ายังมีเงินไม่มากพอสำหรับการมีลูก เธออธิบายว่า “ฉันคิดถึงค่าทำคลอดและค่าใช้จ่ายหลังจากนั้น และฉันก็อยากส่งพวกเขาไปโรงเรียนกวดวิชาด้วย ฉันมักจะกังวลเกี่ยวกับอนาคต”

    เธอยังทำงานบ้านเกือบทั้งหมดด้วย สามีของเธอซึ่งเป็นครูต้องทำงานหลายชั่วโมง เขากลับบ้านดึก จากนั้นก็เรียนเพื่อสอบที่อาจทำให้เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น พวกเขามีเวลาน้อยมากที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว

    เธอกล่าวว่า “ฉันและสามีต่างก็อยากมีลูกกันมากตอนนี้ แต่ฉันกังวลเรื่องการเงินของเรา และสามีกับฉันจะแบ่งทำงานบ้านกันอย่างไร ฉันหวังว่าจะคลายความกังวลเหล่านั้นได้”

    ผู้หญิงคนนี้บอกว่าเธอมีเวลาน้อยมากจนไม่สามารถพูดคุยเรื่องการมีลูกกับสามีของเธอ

    การจัดสรรเวลาให้งานและครอบครัว

    แม้แต่ครอบครัวที่มีฐานะการเงินมั่นคง การจัดสรรเวลาตามวัฒนธรรมการทำงานไปพร้อม ๆ กับการทำหน้าที่พ่อแม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

    มัตสึนางะ ยูกิอายุ 40 ปี ซึ่งมีลูกชายอายุ 1 ขวบกล่าวว่า “ฉันเพิ่งประชุมกับลูกค้าเสร็จ ตอนนี้ฉันกำลังจะไปรับลูก” เธอเป็นรองหัวหน้าฝ่ายขายของบริษัทประกันชีวิตและมีความเป็นเลิศในการทำงาน

    มัตสึนางะ ยูกิเป็นแม่และรองหัวหน้าฝ่ายขายของบริษัทประกันชีวิต

    ความสำเร็จในที่ทำงานนั้นทำให้เธอรู้สึกภาคภูมิใจ เธอเล่าว่า “ฉันเคยคิดถึงงานของตัวเองตลอด 24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีลูก ฉันอยากทำงานต่อไปตลอดชีวิต”

    มัตสึนางะมียอดขายสูงสุด

    การจัดการภาวะเร่งรีบต้องใช้การบริหารจัดการเวลาที่แม่นยำ เธอทำงานจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. ทุกคืนรวมถึงวันเสาร์เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานของเธอ สามีของเธอซึ่งเป็นเจ้าของกิจการก็อยู่บ้านน้อยกว่าด้วยซ้ำ

    การรับลูกชายจากสถานรับเลี้ยงเด็ก ปล่อยให้เขาอยู่กับพี่เลี้ยงเด็ก และกลับไปทำงานขึ้นอยู่กับมัตสึนางะ เธอมีเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในวันทำงานเพื่อใช้เวลากับลูกชายของเธอ และทำให้แน่ใจว่าใช้เวลาอันมีค่าร่วมกัน

    ในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดวันเดียวของเธอ มัตสึนางะจะเตรียมอาหารสำหรับเด็กประมาณ 20 ถึง 30 มื้อในสัปดาห์ถัดไป นี่เป็นวิธีหนึ่งที่เธอเชื่อมโยงกับลูกชายของเธอ

    ทุกวันอาทิตย์ มัตสึนางะจะปรุงอาหารสำหรับเด็กในสัปดาห์ถัดไป

    มัตสึนางะกล่าวว่า มีหลายอย่างที่เธอคิด: "ถึงแม้ทั้งพ่อและแม่ทำงาน แต่ฉันรู้สึกว่าแม่มีงานมากกว่า... แม่ชาวญี่ปุ่น รวมถึงตัวฉันเอง ให้ความสำคัญกับบทบาทของเราอย่างจริงจัง และนั่นคือเหตุผลที่เราทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่"

    “เราต้องการทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ และนั่นทำให้เรากดดันอย่างมาก ฉันมักจะมองหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวของฉันเสมอ”

    มัตสึนางะพยายามหาเวลาให้ลูกชายอยู่เสมอ

    ค่าใช้จ่ายและเวลา

    แม้ว่าการมีลูกจะเป็นทางเลือกส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน ผู้ที่ต้องการมีลูกกำลังประสบปัญหา ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เป็นอุปสรรค แต่ยังไม่มีเวลาอีกด้วย คาดว่าคนทำงานชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องทำงานหนักหลายชั่วโมง

    การสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นได้สอบถามคู่สามีภรรยาที่มีลูกได้ไม่มากเท่าที่ต้องการ ผู้ตอบแบบสอบถามบางคนอ้างถึงการเงิน และคนอื่น ๆ กล่าวว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับการมีลูกเมื่ออายุมากขึ้น

    หลายคนยังกล่าวอีกว่า พวกเขาไม่สามารถรับมือกับภาระทางจิตใจและร่างกายในการดูแลเด็กนอกเหนือจากชีวิตของตัวเองที่มีอยู่ได้

    นโยบายใหม่ในการดูแลเด็กของรัฐบาล

    รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามออกมาตรการมูลค่ากว่า 23,000 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 846,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนมีลูกมากขึ้น

    เงินช่วยเหลือครอบครัวจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 ดอลลาร์หรือกว่า 7,300 บาทต่อเดือนต่อเด็กหนึ่งคนจนถึงอายุ 18 ปี โดยไม่คำนึงถึงรายได้ของครัวเรือน มีเงินมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรและค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร

    ในบางพื้นที่ ปัจจุบันสถานรับเลี้ยงเด็กเปิดให้บริการสำหรับทุกคน แทนที่จะจำกัดเฉพาะครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานอยู่

    ผู้เชี่ยวชาญ: พ่อต้องมีบทบาทมากขึ้น

    ศาสตราจารย์ยามางูจิ ชินทาโรแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานและครอบครัวได้กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลจะเป็นหนึ่งในโครงการชั้นนำของโลกในการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก แต่ก็ยังสงสัยว่าจะนำไปสู่การเพิ่มของอัตราการเกิดหรือไม่

    ศาสตราจารย์ยามางูจิ ชินทาโรแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว

    อาจารย์ยามางูจิกล่าวว่า “หลายประเทศพยายามให้โบนัสสำหรับการเกิดแต่ละครั้ง อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เงินทำให้ง่ายต่อการมีลูก แต่ถ้าเป้าหมายคือการเพิ่มอัตราการเกิด ผมไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้”

    อาจารย์ยามางูจิชี้ให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของพ่อในการดูแลเด็กอาจเป็นกุญแจสำคัญ

    "อัตราการเจริญพันธุ์กำลังลดลงในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าญี่ปุ่นยังมีพื้นที่อีกมากมายที่ต้องปรับปรุงเมื่อพูดถึงช่องว่างทางเพศที่บ้าน ผู้หญิงใช้เวลาทำงานบ้านและดูแลลูกมากกว่าผู้ชาย — มากกว่าถึง 5 เท่า ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ มาก หากผู้ชายมีบทบาทในการดูแลลูกมากขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศตะวันตก เราก็เข้าใกล้วิธีแก้ปัญหามากขึ้น"

    ประชากรของญี่ปุ่นอาจลดลงอีกในปีต่อ ๆ ไป

    อาจารย์ยามางูจิเสริมว่า วัฒนธรรมองค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยนนอกเหนือจากการจัดการกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ตัวเลขของรัฐบาลระบุว่า พ่อมือใหม่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยเฉลี่ย 46 วัน เป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ เว้นแต่ผู้บริหารระดับสูงจะเข้ามามีส่วนร่วม

    เวลาในการจัดการกับอัตราการเกิดที่ลดลงของญี่ปุ่นกำลังจะหมดลง นักวิจัยประเมินการสูญเสียประชากรร้อยละ 30 ภายในปี 2613 อุปสรรคที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถมีลูกได้จะต้องถูกกำจัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวในการเป็นสังคมที่ยั่งยืน

    ชมวิดีโอ 4:10