ผู้เชี่ยวชาญระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวตุรกีมาจากการถล่มแบบ 'แพนเค้ก' ผู้เชี่ยวชาญระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวตุรกีมาจากการถล่มแบบ 'แพนเค้ก'
Backstories

ผู้เชี่ยวชาญระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวตุรกีมาจากการถล่มแบบ 'แพนเค้ก'

    ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นชี้ว่า การถล่มแบบ 'แพนเค้ก' ของอาคารหลายแห่งในตุรกีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในเดือนกุมภาพันธ์สูงจนน่าตกใจ ภัยพิบัติดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 50,000 คน หลายคนถูกบดทับหรือติดอยู่ภายในอันเป็นผลมาจากโครงสร้างที่ผิดพลาดซึ่งทำให้เกิดหายนะ

    คูซูโนกิ โคอิจิ ศาสตราจารย์แห่งสถาบันวิจัยแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้ใช้เวลาสำรวจอาคารในตุรกีซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวโน้มจะเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำ

    อาจารย์คูซูโนกิกล่าวว่า แรงสั่นสะเทือนขนาดหรือแมกนิจูด 7.8 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อาคารที่มีความสูงไม่มากและที่มีความสูงปานกลางจำนวนมากพังถล่มลงทันทีเมื่อเสาหลักของอาคารหัก "นี่เป็นปรากฏการณ์ที่อันตรายมากที่เรียกว่าการถล่มแบบ 'แพนเค้ก' ซึ่งอาคารทั้งหลังพังพาบลงมาเอง"

    ไม่มีเวลาที่จะหนี

    การสั่นสะเทือนที่รุนแรง ตอนแรกทำให้เสาของอาคารหลายชั้นระเบิดซึ่งทำให้แต่ละชั้นของอาคารถล่มและพังพาบลงมา

    ดูวิดีโอ 00:16: ปรากฏการณ์การถล่มแบบ 'แพนเค้ก' เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ศาสตราจารย์คูซูโนกิกล่าวว่า สาเหตุที่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงมาก เนื่องจากเมื่อเกิดการถล่มแบบ 'แพนเค้ก' ผู้คนที่อยู่ข้างในไม่มีเวลาหลบหนี

    แม้ว่ากฎสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในตุรกีจะเหมือนกับในญี่ปุ่น แต่อาคารเก่าจำนวนมากไม่ได้สร้างตามมาตรฐานดังกล่าว ศาสตราจารย์คูซูโนกิกล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูอายุของอาคารที่ถล่มลงมาและสาเหตุที่แน่ชัดของการพังทลาย

    Kusunoki Koichi
    คูซูโนกิ โคอิจิ ศาสตราจารย์แห่งสถาบันวิจัยแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยโตเกียว

    นอกจากนั้นศาสตราจารย์คูซูโนกิยังชี้ด้วยว่า อาคารที่อยู่อาศัยหลายแห่งพังถล่มลงมาในด้านเดียวกัน

    ศาสตราจารย์คูซูโนกิกล่าวว่า เป็นไปได้ที่แม้แต่อาคารที่สร้างตรงตามมาตรฐานแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นจะเกิดความเสียหายร้ายแรง

    "แม้ว่าญี่ปุ่นจะก้าวหน้าในการวิเคราะห์และเสริมแรงต้านแผ่นดินไหว แต่ก็ยังมีอาคารที่ออกแบบตามมาตรฐานเก่า สิ่งที่สำคัญมากคือต้องดำเนินการเสริมแรงต้านแผ่นดินไหวต่อไป"

    เทียบขนาดแผ่นดินไหวกับญี่ปุ่น

    ชิโอมิตสึ มาซาชิ วิศวกรแผ่นดินไหวและเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยยามางาตะ ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากเครื่องวัดระดับแผ่นดินไหวที่จุดสังเกตการณ์ประมาณ 30 แห่งในตุรกี แรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นไม่นานหลังเวลา 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 6 กุมภาพันธ์

    ชิโอมิตสึตั้งข้อสังเกตว่า แผ่นดินไหวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนรุนแรงเทียบเท่ากับความรุนแรงระดับ 7 ตามมาตรวัดของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มตั้งแต่ 0-7 ในเมืองฮัสสะ ภูมิภาคฮาตัย ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร

    Shiomitsu Masafumi
    ชิโอมิตสึ มาซาชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยยามางาตะ

    ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหว 3 ครั้งในญี่ปุ่นที่มีความรุนแรงระดับเดียวกันได้แก่ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิน-อาวาจิในปี 2538 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นในปี 2554 และแผ่นดินไหวคูมาโมโตะในปี 2559 แผ่นดินไหวทั้ง 3 ครั้งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

    ชิโอมิตสึยังรายงานด้วยว่า ในช่วงแผ่นดินไหวที่ตุรกี แรงสั่นสะเทือนเทียบเท่ากับระดับ 6+ และ 6- ตามมาตรวัดของญี่ปุ่นในรัศมีประมาณ 160 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง

    ภาพถ่ายซากปรักหักพังจากแผ่นดินไหวในจังหวัดฮาตัยของตุรกี ถ่ายจากโดรนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์

    ชิโอมิตสึเตือนว่า แรงสั่นสะเทือนขนาดนั้นอาจสร้างความเสียหายรุนแรงต่อโครงสร้างที่ค่อนข้างใหญ่ เช่น อาคารสูงระดับกลางในญี่ปุ่น "เชื่อกันว่าแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงมากซึ่งมีความรุนแรงระดับ 6+ ถึง 7 ตามมาตรวัดความรุนแรงแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารในญี่ปุ่น เป็นสาเหตุของความเสียหายครั้งใหญ่ แต่เราต้องพิสูจน์ในเรื่องนี้"