ชุมชนแนวชายแดนไทยช่วยชาวเมียนมาร์พลัดถิ่น
Backstories

ชุมชนแนวชายแดนไทยช่วยชาวเมียนมาร์พลัดถิ่น

    NHK WORLD General Bureau for Asia
    Reporter
    โก โซ ปายที่ยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมยพรมแดนธรรมชาติซึ่งกั้นระหว่างไทยและเมียนมาร์ตะโกนว่า "ใครที่มาได้ มาเลย" เขากวักมือเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่ในเต๊นท์ชั่วคราวบนฝั่งตรงข้าม โดยประกาศว่าอาหารปันส่วนประจำวันมาถึงแล้ว ผู้คนหลายสิบคนเดินลุยแม่น้ำตื้น บ้างก็ลากแพเล็กเพื่อขนเสบียง หลายคนสูงอายุและมีเด็ก ๆ ด้วย
    ชาวเมียนมาร์พลัดถิ่นข้ามแม่น้ำเมยเข้าไทยเพื่อรับความช่วยเหลือด้านอาหาร

    ชาวเมียนมาร์กว่า 2,000 คนหลบหนีข้ามชายแดนมาไทยเมื่อเดือนธันวาคม แม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ได้กลับไปยังรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมาร์แล้ว แต่พวกเขาก็กลัวที่จะกลับไปที่หมู่บ้านซึ่งเสียหายจากการสู้รบ พวกเขาเลยตั้งค่ายพักแรมตามริมตลิ่งทั้งสองฝั่งแทนและยอมทนต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากและการขาดแคลนอาหาร

    ชาวเมียนมาร์ผู้พลัดถิ่นพักพิงในเต็นท์ชั่วคราวในแคมป์บริเวณชายแดนไทย

    ตอนนี้ความช่วยเหลือจากชุมชนในอำเภอแม่สอดจังหวัดตากเมืองชายแดนไทยเป็นเส้นเลี้ยงชีวิตหลัก โก โซ ปายเป็นผู้นำชุมชนชาวเมียนมาร์ เขาพยายามที่จะทำอาหารและแจกจ่ายอาหารรวมถึงสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ให้กับผู้พลัดถิ่นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม

    โก โซ ปายกล่าวว่า “ผมเริ่มช่วยเหลือผู้คนประมาณ 140 คน แต่ตอนนี้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4,000 คน” นอกจากนั้นเขาได้อธิบายเสริมว่าต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม “ไม่มีองค์กรใดเป็นผู้นำในความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เราพึ่งพาการบริจาคส่วนบุคคลที่ส่วนใหญ่มาจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในแม่สอด ตอนนี้มีผู้บริจาคน้อยลง และผู้พลัดถิ่นกำลังลำบาก”

    โก โซ ปาย ผู้นำชุมชนกังวลเกี่ยวกับการช่วยเหลือที่ลดน้อยลงสำหรับผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาร์

    ชีวิตในเต็นท์ชั่วคราว

    การใช้ชีวิตในสภาพที่ยากลำบากนานหลายเดือนส่งผลกระทบต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ แต่พวกเขาก็ไม่มีที่อื่นให้ไป ผู้หญิงคนหนึ่งที่อุ้มลูกของเธอข้ามแม่น้ำเพื่อมารับเสบียงกล่าวว่า “เราต้องนอนบนพื้นแข็ง แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น” เธออธิบายต่อว่า “มักมีการต่อสู้ใกล้ ๆ บ้าน ส่วนที่ยากที่สุดคือเราต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดกับเด็กเล็ก เราไม่กล้ากลับไปอีก”

    ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเล่าว่า “ฉันไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต พอฝนตก ฉันก็นอนไม่หลับทั้งคืน ได้แต่นั่งอยู่ ลูกของฉันตัวเล็กมากและป่วยบ่อย สิ่งที่ยากที่สุดคือต้องพึ่งพาการบริจาคอาหารเพียงอย่างเดียว”

    ตอนนี้ได้เข้าสู่ฤดูมรสุมที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ประชาชนกังวลว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้พวกเขาข้ามแม่น้ำเพื่อไปรับเสบียงได้ยากขึ้น

    คนที่หนีการสู้รบในเมียนมาร์อาศัยอยู่ในเต๊นท์ชั่วคราวใกล้ชายแดนไทย

    ปัญหาสุขภาพ

    สภาพความเป็นอยู่ที่แออัด สุขอนามัยที่ไม่ดี การขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ยังขาดการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยสตรีมีครรภ์เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ปะเฮ ปอ อายุ 32 ปีตั้งครรภ์ได้หกเดือนในตอนที่เธอหนีการโจมตีด้วยปืนใหญ่อย่างหนักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

    เธอเล่าว่า “ฉันต้องเดินตลอดช่วงเช้าในสภาพนี้เพื่อหนีกระสุนที่ยิงมาที่หมู่บ้านของฉันและเดินมาถึงฝั่งไทย ฉันกลัวมากว่าจะโดนยิง ฉันต้องหนีเพราะไม่มีพยาบาลผดุงครรภ์หรือหมออยู่ใกล้บ้านเพื่อช่วยทำคลอด” ปะเฮ ปอยังคงอยู่ในประเทศไทย และคาดว่าจะคลอดลูกในช่วงเดือนมิถุนายน

    ปะเฮ ปอ อายุ 32 ปีหนีออกจากหมู่บ้านระหว่างตั้งครรภ์

    Back Pack Health Worker Team (BPHWT) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์กำลังส่งทีมเคลื่อนที่ไปช่วยเหลือ โมเซ โมเซ วิน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสุขภาพแม่และเด็กของกลุ่มกล่าวว่า บางครั้งผู้หญิงอย่าง ปะเฮ ปอถูกบังคับให้คลอดบุตรโดยไม่ได้รับการดูแลฝากครรภ์หรือสูติศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้

    โมเซ โมเซ วินกล่าวว่า "พวกเขาอาศัยอยู่บนความไม่แน่นอน พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องหนีอีกเมื่อไร ถ้าคลอดตอนนี้ทั้งทารกและแม่จะตกอยู่ในอันตราย”

    โมเซ โมเซ วิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแม่และเด็กกับทีม Back Pack Health Worker

    เหยื่อจากการสู้รบ

    การสู้รบที่รุนแรงระหว่างกองทัพเมียนมาร์และกองกำลังผสมของนักสู้ติดอาวุธชาติพันธุ์และพลเรือนยังคงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน ในบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีแรงงานอายุ 48 ปีที่ให้สัมภาษณ์กับ NHK โดยไม่เปิดเผยชื่อ เขาบาดเจ็บสาหัสจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่ที่หนักหน่วงที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้สูญเสียขาขวาและนิ้วหัวแม่มือ

    เขาเล่าว่า “พวกนั้นมาที่โรงเรียนในวันนั้นและเปิดฉากยิง เด็กชายชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งบอกให้ผมวิ่งหนีซึ่งผมก็ทำ แต่พวกนั้นยิงผมจากที่สูง เนื้อที่ขาของผมเริ่มลอกออก” เขานอนด้วยความเจ็บปวดเป็นเวลาสองชั่วโมงก่อนที่ชาวบ้านจะช่วยเขาได้อย่างปลอดภัย เขาเล่าต่อว่า “ผมยังรับไม่ได้กับการเสียขา ผมเคยแข็งแรงและสุขภาพดี แต่ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต”

    ชายคนนี้สูญเสียขาระหว่างการโจมตีด้วยปืนใหญ่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยง

    คลินิกแม่ตาวที่อยู่ในอำเภอแม่สอดจังหวัดตากให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการอายุ 62 ปี ต้องการให้รัฐบาลและองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แพทย์หญิงซินเธียกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมจำเป็นต้องสามารถทำงานได้อย่างอิสระ แต่พวกเขาต้องขออนุญาตให้ช่วยเหลือข้ามพรมแดนซึ่งยังไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน เราต้องการให้มีการกำหนดเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับประชากรพลัดถิ่น"

    แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง เรียกร้องให้มีความช่วยเหลือจากนานาชาติมากขึ้น ดูวิดีโอ 03:36

    รายงานที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมโดยสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธในเมียนมาร์ทำให้พลเรือนกว่า 694,300 คนต้องพลัดถิ่นนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว การเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้งจากต่างประเทศเป็นเรื่องยากและการสนับสนุนจากชุมชนตามแนวชายแดนไทยยังคงเป็นเส้นเลี้ยงชีวิตหลักของผู้พลัดถิ่น แต่อาสาสมัครกล่าวว่าความพยายามของพวกเขาเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น