การปล่อยจรวด H3 ซึ่งเป็นรุ่นสำคัญของญี่ปุ่นล้มเหลว

การปล่อยจรวด H3 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรุ่นสำคัญรุ่นใหม่ ไม่ประสบความสำเร็จหลังจากเครื่องยนต์ขั้นที่ 2 จุดไม่ติด ต่อมาภารกิจก็ถูกยกเลิก

จรวด H3 ทะยานขึ้นจากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นเมื่อเวลา 10.37 น. วันอังคารที่ 7 มีนาคม ซึ่งเดิมมีกำหนดจะเป็นการบินครั้งแรกของจรวดนี้ จรวดที่ว่านี้มีกำหนดการนำพาดาวเทียมสำรวจโลกเข้าสู่วงโคจรประมาณ 17 นาทีต่อมา ที่ความสูงประมาณ 675 กิโลเมตร

สำนักงานสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่นหรือจักซาเผยว่า เมื่อผ่านไปราว 8 นาทีหลังจากปล่อยจรวดขึ้น ก็มีประกาศออกมาว่าการจุดติดของเครื่องยนต์ขั้นที่ 2 ไม่ได้รับการยืนยัน และเมื่อเวลาประมาณ 10.52 น. มีประกาศว่าจรวดถูกสั่งให้ทำลายตัวเอง จักซากำลังสำรวจสาเหตุของปัญหาอยู่

ทั้งนี้ การปล่อยจรวดล้มเหลวครั้งที่แล้วเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ครั้งนั้นคือจรวดอิปซีลอน-6

จรวด H3 เป็นจรวดต่อจาก H2A และจรวดรุ่นสำคัญรุ่นใหม่นี้เป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีความสูงมากที่สุด 63 เมตร เป็นจรวดขนาดใหญ่รุ่นแรกที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นในช่วงประมาณ 30 ปี เป้าหมายคือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรับน้ำหนักบรรทุกมากขึ้น 1.3 เท่าของจรวด H2A โดยตัดลดต้นทุนในปัจจุบันของการปล่อยจรวดลงประมาณครึ่งหนึ่ง

สององค์กรผู้ผลิตร่วม ได้แก่ จักซา และมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ ใช้เงินทุนกว่า 200,000 ล้านเยน หรือราว 50,000 ล้านบาทในการพัฒนาจรวดนี้ นับตั้งแต่เริ่มทำโครงการเมื่อ 9 ปีก่อน

ในเบื้องต้นจรวด H3 ลูกแรกมีกำหนดปล่อยในปีงบประมาณ 2563 แต่ถูกเลื่อนออกมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากลำบากในการพัฒนาเครื่องยนต์หลักชนิดใหม่

จรวดมีกำหนดปล่อยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ แต่การปล่อยตามกำหนดการนั้นถูกยกเลิกไปสืบเนื่องจากการตรวจสอบพบความผิดปกติในระบบขั้นที่ 1 ทางด้านจักซาเผยว่าดำเนินมาตรการต่าง ๆ แล้วเพื่อจัดการปัญหาเหล่านั้น

ความล้มเหลวของการปล่อยจรวดในวันอังคารที่ 7 มีนาคมนี้มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องเป็นที่มองกันว่าจรวด H3 เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาอวกาศในอนาคตของญี่ปุ่น