จรวด H3 ซึ่งจะเป็นจรวดรุ่นหลักของญี่ปุ่นส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ

จรวด H3 ซึ่งจะเป็นจรวดหลักรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสำรวจโลกขึ้นสู่วงโคจร ในการปล่อยจรวดครั้งที่สาม

มีการปล่อยจรวดดังกล่าวจากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะในจังหวัดคาโงชิมะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น หลังเวลาเที่ยงวันของวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม

H3 ปล่อยจรวดบูสเตอร์และเครื่องยนต์ช่วงแรก ก่อนที่จะปล่อยดาวเทียมไดจิ-4 เข้าสู่วงโคจรตามกำหนด ประมาณ 17 นาทีหลังการปล่อยจรวด

คาดว่าไดจิ-4 ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเรดาร์ จะใช้สำหรับสังเกตความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ และเพื่อการตรวจจับอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติอันเกี่ยวข้องกับการปะทุของภูเขาไฟ

จรวด H3 ได้รับการพัฒนาโดยสำนักงานสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่นหรือ JAXA และมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์

การปล่อยจรวด H3 ลำแรกเมื่อปีที่แล้วจบลงด้วยความล้มเหลว และเสียดาวเทียมสำรวจโลกไดจิ-3 ที่จรวดบรรทุกไป

หลังจากใช้มาตรการป้องกันแล้ว ความพยายามครั้งที่สองในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ก็ประสบความสำเร็จ

การปล่อยดาวเทียมครั้งที่สามนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในการส่งดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจร

คาดว่าในปีงบประมาณ 2568 จรวด H3 จะเข้ามาแทนที่จรวด H2A ซึ่งเป็นจรวดหลักในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเลิกใช้งาน H2A หลังจากการปล่อยจรวดครั้งที่ 50 ในปีงบประมาณ 2567

JAXA ตั้งเป้าที่จะปล่อยจรวด H3 จำนวน 6 ลำต่อปี