ข้อมูล

การเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่น

ศัพท์บัญญัติ

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่นอย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องของแรงลม 

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นใช้คำต่าง ๆ เช่น “ความเร็วลม” และ “ความเร็วลมกระโชก” โดยคำว่า “ความเร็วลม” หมายถึงความเร็วเฉลี่ยของลมในช่วง 10 นาที ขณะที่คำว่า “ความเร็วลมกระโชก” หมายถึงความเร็วเฉลี่ยของลมในช่วง 3 วินาที 

ทางสำนักงานแบ่งแรงลมออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับที่รุนแรงที่สุดคือ “ลมพายุรุนแรง” ตามมาด้วย “ลมพายุ” รองลงมาคือ “ลมแรง” และ “ลมแรงปานกลาง” 

“ลมพายุรุนแรง” ใช้สำหรับลมที่มีความเร็วอยู่ที่ 30 เมตรต่อวินาทีหรือมากกว่านั้น เมื่อลมพัดที่ความเร็วระดับนี้ รถบรรทุกอาจถูกพัดจนพลิกคว่ำและการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง 

“ลมพายุ” ใช้สำหรับลมที่พัดด้วยความเร็ว 20 เมตรต่อวินาทีหรือมากกว่านั้น เป็นเรื่องยากที่จะยืนอยู่ท่ามกลางลมพายุโดยที่ไม่จับอะไรไว้ และยานพาหนะไม่สามารถเคลื่อนไปได้ด้วยความเร็วปกติ

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มหลายครั้ง โดยความเร็วสูงสุดของลมกระโชกอยู่ที่ 50 เมตรต่อวินาทีหรือมากกว่านั้น เมื่อไต้ฝุ่นกำลังเคลื่อนเข้าใกล้และลมทวีกำลังแรง ขอแนะนำให้งดเว้นจากการออกไปทำกิจกรรมข้างนอกและกลับเข้าบ้าน หรืออพยพให้เร็วเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อรับประกันความปลอดภัยของตนเอง 

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2566)



ความเสียหายต่อบ้านเรือนที่สร้างขึ้นโดยใช้หลังคาแบบเก่า

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่นอย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องของความเสียหายต่อบ้านเรือนที่สร้างขึ้นโดยใช้หลังคาแบบเก่า

เมื่อไต้ฝุ่นพัดถล่ม หลังคาของบ้านเรือนมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเสียหาย ไต้ฝุ่นฟ้าใสซึ่งพัดถล่มเมื่อเดือนกันยายนปี 2562 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั่วจังหวัดชิบะ

คณะวิจัยซึ่งรวมถึงรองศาสตราจารย์นิชิจิมะ คาซูโยชิ จากสถาบันวิจัยเพื่อป้องกันภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ศึกษาความเสียหายของบ้านเรือน 2,000 หลังที่ทางใต้ของจังหวัดชิบะ การตรวจสอบดังกล่าวรวมถึงเมืองทาเตยามะ ซึ่งบันทึกความเร็วสูงสุดของลมกระโชกได้ที่ 176 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คณะวิจัยพบว่าในบรรดาบ้านเรือนที่สร้างขึ้นหลังจากปี 2543 มีหลังคาร้อยละ 33 ที่เสียหาย ขณะที่บ้านเรือนซึ่งสร้างขึ้นก่อนปี 2502 หลังคาร้อยละ 65 เสียหาย

ความเสียหายพบเห็นได้บ่อยในหลังคาที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคนิคแบบเก่ามากซึ่งรวมถึงการใช้กระเบื้องหลังคาดินเผา ซึ่งวางไว้อย่างง่าย ๆ ที่ส่วนบนสุดของหลังคา และไม่ได้ยึดติดกับโครงสร้าง ส่วนกรณีหลังคาเสียหายในแบบอื่น ๆ นั้นรวมถึงหลังคาที่ทำจากแผ่นเหล็กเคลือบสังกะสี ซึ่งตอกยึดเข้ากับโครงสร้างไว้อย่างง่าย ๆ

รองศาสตราจารย์นิชิจิมะกล่าวว่าบ้านเก่าเผชิญความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากผู้อยู่อาศัยไม่เคยพบเจอไต้ฝุ่นลูกใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 กันยายน 2566)



ผลกระทบแบบโดมิโนของความเสียหาย

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่นอย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องสิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นผลกระทบแบบโดมิโนของความเสียหาย

ในเขตที่พักอาศัย ไม่ได้มีแต่อาคารบ้านเรือนเก่าเท่านั้นที่สามารถเสียหายได้ แต่โครงสร้างใหม่ ๆ ก็เช่นกัน เหตุผลหนึ่งก็คือความเสียหายสามารถแผ่ลามจากบ้านหลังหนึ่งไปสู่อีกหลังหนึ่งได้ ในตอนแรก หลังคาและหน้าต่างของบ้านเก่าเกิดความเสียหายบางส่วน และจากนั้น เศษซากถูกลมแรงพัดไป ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านที่อยู่รอบ ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเกิดลมพัดแรงที่พัดเข้ามาในบ้านซึ่งบานกระจกหน้าต่างแตกและทางเข้าบ้านถูกทำลายเสียหาย หลังคาอาจหลุดออกและถูกลมพัดไปโดนบ้านหลังอื่น ในพื้นที่ตัวเมืองซึ่งมีอาคารเรียงกันเป็นแถว ๆ มีหลายกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากวัตถุที่ถูกพัดปลิวมา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 กันยายน 2566)



ลมที่ทวีกำลังแรงในเขตเมือง

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่นอย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องอันตรายของลมที่ทวีกำลังแรงในเขตเมือง

ศาสตราจารย์ทาเกมิ เท็ตสึยะ ผู้ศึกษากลไกของภัยพิบัติทางธรรมชาติจากสถาบันวิจัยเพื่อป้องกันภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต เตือนเรื่องความเสี่ยงของภูมิทัศน์ในเขตเมืองที่ทำให้ลมมีความเร็วมากขึ้น

เขาได้วิเคราะห์ไต้ฝุ่นลูกหนึ่งซึ่งพัดถล่มย่านการค้าในเมืองโอซากาเมื่อเดือนกันยายนปี 2561 เพื่อจำลองระดับความเร็วลมที่แท้จริง ณ ช่วงเวลานั้น ผลที่ได้ปรากฏว่าลมพายุรุนแรงที่มีความเร็วลมกระโชกพุ่งไปที่อย่างน้อย 50 เมตรต่อวินาที และในบางพื้นที่ ความเร็วลมกระโชกมากกว่า 60 เมตรต่อวินาที อาจพัดเข้าใส่พื้นที่หลายแห่งรอบ ๆ สถานีรถไฟซึ่งมีอาคารสูงมากมายตั้งอยู่

ศาสตราจารย์ทาเกมิอธิบายว่าลมได้พัดปะทะอาคารสูง และเคลื่อนลงมายังพื้นพร้อมกับทวีกำลังแรงเนื่องจากมีลมที่พัดผ่านถนนสายหลักมาเสริมกำลัง เขากล่าวว่าที่ผ่านมาคิดกันว่าลมจะอ่อนกำลังลงในตัวเมืองเพราะมีอาคารบ้านเรือน แต่ความจริงอาจตรงกันข้าม และว่าผู้คนควรระวังความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมากจากลมที่พัดแรงในตัวเมือง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2566)



การป้องกันไว้ก่อนอย่างง่าย

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่นอย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องการระมัดระวังไว้ก่อนอย่างง่ายที่คุณสามารถดำเนินการได้เพื่อกันความเสียหายจากลม

แนวทางหลัก ๆ ได้แก่
1. ปิดบานกันฝนและบานกันพายุที่ประตู
2. เสริมความแข็งแกร่งที่หน้าต่างโดยใช้ฟิล์มกันกระจกแตกหรือกระดาษแข็ง
3. นำกระถางต้นไม้และสิ่งของอื่น ๆ ที่อยู่บนระเบียงหรือในสวนมาเก็บไว้ในบ้าน ของเหล่านี้อาจปลิวไปได้เมื่อเกิดลมแรง
4. เตรียมวิทยุมือหมุนและสำรองไฟเอาไว้สำหรับเหตุไฟฟ้าดับ

รองศาสตราจารย์นิชิจิมะ คาซูโยชิ จากสถาบันวิจัยเพื่อป้องกันภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตระบุว่า การใช้กระดาษแข็งเสริมความแข็งแรงอาจไม่สามารถป้องกันไม่ให้กระจกหน้าต่างแตกได้ แต่วิธีนี้ใช้ได้ผลในการป้องกันไม่ให้กระจกที่แตกกระจัดกระจายออกไปในห้อง เขายังระบุด้วยว่าสิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรกก็คือการตรวจสอบพยากรณ์อากาศโดยจับตาความเร็วลมอย่างใกล้ชิด เพื่อที่คุณจะสามารถคาดเดาได้ว่าลมจะแรงขนาดไหน และอาจเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่ของคุณ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2566)



ทำบ้านให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง เราจะนำเสนอโดยมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรงที่เกิดจากไต้ฝุ่นอย่างไร ครั้งนี้เราจะไปดูมาตรการเพื่อทำให้หลังคากระเบื้องแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นแข็งแรงยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นมีแนวปฏิบัติเรื่องการมุงหลังคาบ้านด้วยกระเบื้องที่ทำกันมาช้านาน แต่หลังคาแบบนี้เสียหายได้ง่ายเนื่องจากไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว เพื่อลดความเสียหายดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจัดทำข้อกำหนดเมื่อปีที่แล้วเพื่อให้ติดตั้งหลังคากระเบื้องของบ้านหลังใหม่ ๆ โดยใช้ตะปูและเครื่องมืออื่น ๆ

เมื่อปี 2564 รัฐบาลได้เริ่มทำงานร่วมกับทางการท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการมอบเงินอุดหนุนด้านการประเมินกระเบื้องหลังคาที่สามารถทนแรงลมได้ ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบว่ากระเบื้องหลังคาเสียหายหรือเคลื่อนออกไปจากจุดเดิมหรือไม่

ส่วนอีกโครงการหนึ่ง สถาปนิกจะตรวจสอบสภาพของหลังคาและบ้านทั้งหลังอีกด้วย

ศาสตราจารย์นิชิจิมะ คาซูโยชิ จากสถาบันวิจัยเพื่อป้องกันภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตรวจสอบจุดอ่อนของบ้านคุณอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2566)