ข้อมูล

ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น

ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่นี้คืออะไร

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ครั้งนี้เป็นเรื่องการเริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ระบบดังกล่าวเริ่มใช้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เราจะนำเสนอว่าระบบเตือนภัยดังกล่าวคืออะไร

ภายใต้ระบบใหม่นี้ จะมีการออกคำเตือนภัยเมื่อมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากอาจเกิดขึ้นตามแนวร่องลึกชิชิมะ หรือบริเวณทางเหนือของร่องลึกญี่ปุ่น ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทางภาคเหนือของประเทศ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7 หรือมากกว่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาอาจมีขนาดหรือแมกนิจูด 9

บันทึกข้อมูลแสดงให้เห็นว่าหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แผ่นดินไหวที่อาจรุนแรงมากกว่าอาจเกิดขึ้นตามมาได้ในบริเวณเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นมีแผนที่จะออกคำเตือนภัยราว 2 ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7 ตามแนวร่องลึกชิชิมะและร่องลึกญี่ปุ่น หรือบริเวณข้างเคียง และขอให้เฝ้าระวังภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

คำเตือนภัยจะพุ่งเป้าไปยังเมืองต่าง ๆ รวม 182 แห่ง โดยมากตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของจังหวัดฮอกไกโด, อาโอโมริ, อิวาเตะ, มิยางิ, ฟูกูชิมะ, อิบารากิ และชิบะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการพยากรณ์ว่าอาจเกิดสึนามิที่สูง 3 เมตรหรือสูงกว่านั้น และอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนระดับ 6- หรือมากกว่านั้น ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7

รัฐบาลระบุว่ามีแนวโน้มที่จะออกคำเตือนภัยเช่นว่านี้ทุก ๆ 2 ปีครั้ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2565)



ประชาชนควรตอบสนองโดยอิงจากแนวทางใหม่ของทางการอย่างไร

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ครั้งนี้เป็นเรื่องการเริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เราจะนำเสนอว่าประชาชนควรตอบสนองโดยอิงจากแนวทางใหม่ของทางการได้อย่างไร

เมื่อสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นออกคำเตือนภัยเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากตามมา โดยทั่วไปประชาชนที่อาศัยอยู่ตามภูมิภาคที่อยู่ใต้ระบบใหม่นี้ ไม่จำเป็นต้องอพยพก่อน แต่ขอให้เตรียมตนเองให้พร้อมเอาไว้ประมาณ 7 วัน สำหรับการอพยพหลบภัยโดยทันทีในกรณีที่เกิดสึนามิหรือภัยพิบัติอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ

ในช่วงระหว่างนี้ มีการขอให้ผู้คนนอนรวมกับลูก ๆ ของตัวเองและผู้สูงอายุ และแต่งกายในชุดที่สามารถอพยพหลบภัยได้ทันที นอกจากนี้ ก็ควรวางกระเป๋าฉุกเฉิน รองเท้า และเสื้อผ้ากันหนาวเอาไว้ข้างเตียงด้วย

ส่วนภูมิภาคที่มีพยากรณ์ว่ามีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับ 6- หรือสูงกว่านั้น ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7 แนวทางนี้ขอให้ผู้คนอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่เสี่ยงสูงว่าจะเกิดดินถล่ม และขอให้ผู้ที่เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่อาจเผชิญกับน้ำท่วมเนื่องจากสึนามิ ให้เตรียมตนเองให้พร้อมสำหรับการอพยพหลบภัยได้ทุกเวลา

นอกจากนี้ ก็ยังขอให้ผู้คนเตรียมพร้อมอย่างดีไว้ล่วงหน้า ด้วยการตรวจดูแผนที่ภัยพิบัติสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยในท้องถิ่นของตน ยืนยันเส้นทางอพยพหลบภัย และตัดสินใจร่วมกับครอบครัวว่าจะติดต่อสื่อสารกันอย่างไรและจะนัดพบกันที่ไหน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2565)



ภาคธุรกิจและชุมชนทั้งหลายควรตอบสนองอย่างไร เมื่อมีการออกคำเตือนภัยที่อิงจากแนวทางใหม่ของญี่ปุ่น

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เราจะนำเสนอว่าภาคธุรกิจและชุมชนทั้งหลายควรตอบสนองอย่างไร เมื่อมีการออกคำเตือนภัยที่อิงจากแนวทางใหม่ของญี่ปุ่นนี้

แนวทางใหม่สำหรับภาคธุรกิจมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ยืนยันเส้นทางอพยพหลบภัยสำหรับผู้ใช้บริการและลูกจ้าง และตรวจสอบกระบวนการสำหรับช่วยผู้คนอพยพหลบภัย
- โรงพยาบาลและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุต้องช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและผู้สูงอายุไปยังสถานที่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการย้ายพวกเขาไปยังพื้นที่ที่สูงกว่าเดิม
- งดเว้นการทำงานในพื้นที่หรือขับรถบนท้องถนนที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดสึนามิหรือดินถล่ม
- เปลี่ยนเป็นการทำงานทางออนไลน์หากสถานที่ทำงานมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากภัยพิบัติ
- ยืนยันมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องจักรและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ร่วงหล่นลงมา
- เก็บสำรองข้อมูลสำคัญและควรกระจายข้อมูลไปบันทึกไว้ในพื้นที่ที่ต่างกัน
- ยืนยันเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินและสำรองเชื้อเพลิงเอาไว้
- ยืนยันเงื่อนไขความร่วมมือสำหรับภัยพิบัติกับหน่วยงานท้องถิ่น

แนวทางสำหรับชุมชนมีดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่เป็นผู้สูงอายุและยืนยันวิธีการติดต่อกับพวกเขาอีกครั้ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2565)



ระบบใหม่นี้ต่างจากระบบเตือนภัยปัจจุบันอย่างไร

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เราจะนำเสนอว่าระบบใหม่นี้ต่างจากระบบเตือนภัยปัจจุบันอย่างไร

ตามปกติแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะแถลงข่าวหรือดำเนินการคล้ายคลึงกันนี้ประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับ 5+ หรือสูงกว่านั้น ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7 หรือเมื่อมีการออกคำเตือนเฝ้าระวังภัยหรือเตือนภัยสึนามิ

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นใช้โอกาสนี้ในการขอให้ดำเนินมาตรการเชิงป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ร่วงหล่น และเตรียมการสำหรับไฟฟ้าดับ พร้อมระบุถึงความเสี่ยงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในระดับและความรุนแรงเดียวกันในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์

ในทางตรงกันข้าม ภายใต้ระบบใหม่ที่กำหนดใช้เฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นนั้น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นและสำนักคณะรัฐมนตรีจะจัดการแถลงข่าวร่วมกัน เพื่อเตือนว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากตามมาได้ โดยทั้งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นและสำนักคณะรัฐมนตรีจะขอให้เตรียมความพร้อมและดำเนินมาตรการต้านภัยพิบัติสำหรับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่ไม่ใช่แค่เท่ากับ แต่อาจรุนแรงกว่าแผ่นดินไหวครั้งก่อนหน้า

รัฐบาลระบุว่าจะไม่ขอให้มีการอพยพหลบภัยล่วงหน้า เนื่องจากยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะประกาศว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวอย่างแน่นอน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2565)



ร่องลึกต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากในอดีต

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เราจะนำเสนอเรื่องร่องลึกต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากในอดีต

คณะกรรมการวิจัยแผ่นดินไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า แผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 8 เกิดขึ้นซ้ำหลายครั้งตามแนวร่องลึกชิชิมะและทำให้เกิดสึนามิ ร่องลึกนี้อยู่ทางตะวันออกและทางเหนือของฮอกไกโด

คาดว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากในพื้นที่ดังกล่าวตามแนวร่องลึกนี้ในศตวรรษที่ 17 ทำให้แผ่นดินเคลื่อนไปทั่วบริเวณและเกิดสึนามิขนาดใหญ่เหมือนเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554

แผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูดประมาณ 7 เกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ตามแนวร่องลึกญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก นอกชายฝั่งทางเหนือไปจนถึงตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่จังหวัดอาโอโมริไปจนถึงจังหวัดชิบะ เมื่อปี 2554 แผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 9.0 ทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่

เชื่อกันว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากเกิดขึ้นที่บริเวณนั้นในช่วงประมาณ 300-400 ปี คณะกรรมการวิจัยแผ่นดินไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงเรื่องความเสี่ยงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากและมีสึนามิขนาดใหญ่ตามมา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครทราบถึงธรรมชาติที่แท้จริงของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงสันนิษฐานว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับสูงสุด เมื่อพิจารณาจากระดับของภัยพิบัติเมื่อปี 2554 และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565)



การประมาณความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากตามแนวร่องลึกชิชิมะหรือร่องลึกญี่ปุ่น

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เมื่อปี 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยแพร่การประมาณความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากตามแนวร่องลึกชิชิมะหรือร่องลึกญี่ปุ่น เราจะนำเสนอรายละเอียดบางประการของการคาดการณ์นี้

หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 9.3 ตามแนวร่องลึกชิชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าจะเกิดสึนามิสูงกว่า 20 เมตรซัดพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของฮอกไกโด โดยคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 100,000 คน และอาคารบ้านเรือนราว 84,000 หลังจะถูกทำลายทั้งหมด

หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 9.1 ตามแนวร่องลึกญี่ปุ่น คาดว่าจะเกิดสึนามิสูงกว่า 10 เมตรซัดตามแนวชายฝั่งภูมิภาคโทโฮกุและฮอกไกโด อาจมีผู้เสียชีวิตประมาณ 199,000 คน และอาคารบ้านเรือน 220,000 หลังพังทลายทั้งหมด

พื้นที่ที่มีการคาดการณ์ความเสียหายและผู้เสียชีวิตนั้นล้วนเป็นพื้นที่ที่หนาวเย็นมากในฤดูหนาว ด้วยเหตุนี้ หากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในช่วงฤดูนั้น รัฐบาลคาดว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวตามแนวร่องลึกชิชิมะ ชีวิตของผู้คน 22,000 คนอาจเสี่ยงภัยถ้าพวกเขาถูกสึนามิซัดไป หรืออยู่ด้านนอกอาคารเป็นเวลานาน และถ้าเกิดแผ่นดินไหวตามแนวร่องลึกญี่ปุ่นในฤดูหนาว อาจทำให้ชีวิตของผู้คน 42,000 คนตกอยู่ในอันตราย

รัฐบาลคาดว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากสึนามิ และยอดเสียชีวิตอาจลดลงไปราวร้อยละ 80 ถ้าผู้คนอพยพหลบภัยอย่างรวดเร็วหรือถ้ามีการจัดเตรียมสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2566)



ความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามมาหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เราจะนำเสนอว่ามีความเป็นไปได้แบบใดบ้างเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวเพียงไม่นานหลังเกิดแผ่นดินไหวก่อนหน้า โดยอิงจากข้อมูลในอดีตของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมา

สถิติจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยง 1 ใน 100 ที่แผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 8 จะเกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7 ความเสี่ยงนี้จะต่ำลงเมื่อเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 9 ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าจะมีการออกคำเตือนภัย แต่มีความเป็นไปได้แค่ร้อยละ 1 ที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้น

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าเมื่ออิงจากบันทึกแผ่นดินไหวในอดีต ก็อาจจะออกคำเตือนภัยลักษณะนี้ประมาณทุก ๆ 2 ปีครั้ง

รัฐบาลระบุว่าการออกคำเตือนภัยดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อีกครั้งในพื้นที่นั้น ๆ เสมอไป คณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลยังรายงานด้วยว่า มีโอกาสที่จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแม้ว่าจะมีการออกคำเตือนภัยดังกล่าวก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนเรื่องความเป็นไปได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิขึ้นแบบทันทีทันใด หรืออาจเกิดสิ่งนี้ขึ้นเมื่อผ่านเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรกไปแล้วกว่า 1 สัปดาห์ พวกเขากล่าวว่าการเตรียมพร้อมทุกวันถือเป็นสิ่งสำคัญ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2566)



ควรพิจารณาระบบเตือนภัยใหม่นี้อย่างไร

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ครั้งนี้เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าควรพิจารณาระบบเตือนภัยใหม่นี้อย่างไร

ศาสตราจารย์คาตาดะ โทชิตากะ จากบัณฑิตวิทยาลัยแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งเป็นประธานคณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลญี่ปุ่นที่หารือเรื่องระบบเตือนภัยใหม่นี้กล่าวว่า ประการแรก เขาต้องการให้ผู้คนเข้าใจว่าโดยพื้นฐานแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะพยากรณ์หรือทำนายการเกิดแผ่นดินไหว และระบบเตือนภัยใหม่นี้จะทำให้ผู้คนทราบว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7 ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ตามมา ตลอดจนอาจเกิดสึนามิไม่นานหลังจากนั้น

ศาสตราจารย์คาตาดะกล่าวว่าประชาชนสามารถลดหรือเลี่ยงความเสียหายได้ด้วยการให้ความสนใจระบบเตือนภัยนี้และเปลี่ยนแนวทางการลงมือปฏิบัติ

ศาสตราจารย์คาตาดะระบุถึงตัวอย่างของแผ่นดินไหวและภัยพิบัติสึนามิปี 2554 เป็นการเฉพาะ ซึ่งครั้งนั้นเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7.3 สองวันก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในวันที่ 11 มีนาคม เขากล่าวว่าเราสามารถลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้ด้วยการนำกระเป๋าฉุกเฉินและรองเท้าวางไว้ข้างตัวเมื่อเข้านอน ตรวจสอบเส้นทางอพยพหลบภัย และเตรียมตัวให้พร้อมไปใช้ชีวิตในสถานที่อพยพหลบภัย

เขากล่าวเสริมว่าระบบเตือนภัยใหม่นี้จะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยของแต่ละภูมิภาค หากประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้และคิดริเริ่มปกป้องชีวิตของตนเอง ตลอดจนชีวิตของคนในครอบครัว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2566)



ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่ต่างจากระบบข้อมูลพิเศษเรื่องแผ่นดินไหวแนวร่องลึกนันไกอย่างไร

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลยังได้ดำเนินการระบบคล้ายคลึงกันนี้เพื่อเตือนแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นตามมาตามแนวร่องลึกนันไกด้วย เราจะนำเสนอความแตกต่างระหว่างระบบทั้งสองนี้

มีการออกประกาศข้อมูลพิเศษเรื่องแผ่นดินไหวแนวร่องลึกนันไกเพื่อเตือนเรื่องแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากในแผ่นเปลือกโลกรอยต่อที่ต่อมาจากอ่าวซูรูงะ จังหวัดชิซูโอกะไปยังนอกชายฝั่งของจังหวัดมิยาซากิ คำเตือนจะออกเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 6.8 หรือสูงกว่านั้น หรือตรวจพบการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกที่ผิดปกติด้วยเครื่องมือตรวจวัดแรงตึงเครียด หรือสเตรนเกจ ในบริเวณจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวหรือบริเวณโดยรอบ

เมื่อมีการออกประกาศข้อมูลดังกล่าว จะมีคำว่า “อยู่ระหว่างการวิเคราะห์” ปรากฏอยู่ร่วมกับข้อมูลนี้ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าคณะผู้เชี่ยวชาญเริ่มตรวจสอบแล้วว่าปรากฏการณ์นี้เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากหรือไม่

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเหล่านี้แตกต่างกันออกไปในพื้นที่ตามแนวร่องลึกชิชิมะหรือทางตอนเหนือของแนวร่องลึกญี่ปุ่น นอกชายฝั่งทางเหนือของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบเตือนภัยแบบใหม่ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลสังเกตการณ์หรือองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณนี้ นอกจากนี้ ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากซึ่งเกิดขึ้นที่นั่นในอดีต คณะผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เหล่านี้

นอกจากนี้ ระบบทั้งสองนี้ยังแตกต่างกันเรื่องการเรียกร้องให้อพยพหลบภัยแบบเชิงรุก ภายใต้ระบบเตือนภัยแนวร่องลึกนันไก จะมีการออกข้อมูลฉุกเฉินที่มีข้อความว่า “เตือนภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก” เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 8 หรือสูงกว่านั้น ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีพยากรณ์ว่าสึนามิจะไปถึงก่อนที่จะสามารถอพยพหลบภัยได้นั้น จะมีการเรียกร้องให้อยู่ในสถานที่อพยพหลบภัยประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ไม่มีประกาศคำเรียกร้องเช่นว่านี้ภายใต้ระบบใหม่ดังกล่าว เนื่องจากมีข้อมูลที่จำกัดมากเกี่ยวกับแนวร่องลึกชิชิมะและร่องลึกญี่ปุ่น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2566)



ประเด็นในอนาคต

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบใหม่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ครั้งนี้เราจะนำเสนอประเด็นในอนาคต

รัฐบาลได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้แนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ แต่ก็อาจมีโอกาสมากที่จะไม่เกิดแผ่นดินไหวตามมา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ประชาชนและภาคธุรกิจจะใช้กรอบงานใหม่นี้เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะที่ว่านี้ เพื่อจัดทำมาตรการรับมือของตัวเอง

ขณะเดียวกัน การใช้มาตรการออกคำเตือนภัยสำหรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามแนวร่องลึกนันไกของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเกิดความยากลำบากในการเผยแพร่และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเตือนภัยที่ว่านี้

ผลสำรวจของ NHK พบว่าในบรรดาเมืองใหญ่เล็กและหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้ระบบเตือนภัยดังกล่าว เกือบร้อยละ 80 ตอบว่าความเข้าใจเรื่องระบบนี้ยังไม่แพร่หลายในชุมชนของพวกตน

เพื่อให้กฎระเบียบใหม่นี้เป็นที่แพร่หลาย ทั้งรัฐบาลและทางการท้องถิ่นต้องร่วมมือกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และมาตรการที่ลงรายละเอียดให้บ่อยครั้ง เกี่ยวกับว่าประชาชนควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการออกคำเตือนภัยดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ควรให้ประชาชนดำเนินมาตรการเพื่อให้ตัวเองเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม 2566)