ถาม-ตอบเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

การดำเนินขั้นตอนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น

การจองเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ชาวต่างชาติอาจไม่ค่อยเข้าใจขั้นตอนและบริการที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐ โดยเริ่มจากการจองเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ ข้อมูลนี้อิงจากเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงในญี่ปุ่นคลอดบุตรที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ต่าง ๆ คุณต้องค้นหาโรงพยาบาลและจองไว้ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์ เนื่องจากโรงพยาบาลเหล่านี้ถูกจองเต็มอย่างรวดเร็ว หากคุณไม่ทราบว่าจะไปที่โรงพยาบาลใด สามารถขอข้อมูลจากสำนักงานทางการท้องถิ่นที่คุณอาศัยอยู่ได้ โดยทางสำนักงานให้บริการคำปรึกษาด้วย

โรงพยาบาลบางแห่งมีบริการแปลภาษา ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลทามะแห่งเมืองคาวาซากิในจังหวัดคานางาวะ มีล่ามการแพทย์ที่รองรับได้ 12 ภาษาประจำการอยู่ โดยให้บริการแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย หญิงตั้งครรภ์ชาวต่างชาติอาจขอรับบริการการอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ และเข้าพบแพทย์พร้อมกับล่ามหากประสงค์จะทำเช่นนั้น

โรงพยาบาลทามะเผยแพร่แผ่นพับที่มีรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ในเว็บไซต์ มีทั้งภาษาอังกฤษ จีน และเวียดนาม โดยอธิบายขั้นตอนทั้งหลายที่จำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดบุตร

บางจังหวัดมีโรงพยาบาลที่ให้บริการความช่วยเหลือเช่นว่านี้แก่ชาวต่างชาติ ดังนั้น จึงควรตรวจสอบกับสำนักงานทางการท้องถิ่นของคุณ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

คู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็ก

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องคู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็กเล็ก รวมถึงเรื่องที่ว่าจะรับคู่มือนี้ได้อย่างไร รายงานนี้อิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

ที่ญี่ปุ่นนั้น เมื่อมีการยืนยันว่าตั้งครรภ์ ผู้หญิงต้องแจ้งให้ทางการท้องถิ่นได้รับทราบ หญิงต่างชาติที่ตั้งครรภ์และแจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว จะได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกับหญิงชาวญี่ปุ่น หนึ่งในรูปแบบความช่วยเหลือจะดำเนินการผ่านการออกคู่มือสุขภาพที่เรียกว่า “โบชิ-เทโจ” สำหรับแม่และเด็กเล็ก

โดยทั่วไปแล้ว คู่มือนี้ใช้ตั้งแต่ช่วงที่ตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงที่เด็กอายุ 7 ขวบ เพื่อบันทึกผลการตรวจทางการแพทย์และข้อมูลอื่น ๆ สำหรับแม่และเด็ก คู่มือนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มองแค่ครู่เดียวก็ทราบได้ว่าการตั้งครรภ์อยู่ในช่วงใดแล้ว หากหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาลอื่นแบบกะทันหัน พวกเธอจะได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง

คู่มือดังกล่าวแปลเป็นหลายภาษาที่รวมถึงอังกฤษ เวียดนาม และโปรตุเกส มีตัวอย่างของหญิงชาวอินเดียคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองอูรากาวะ จังหวัดฮอกไกโด ทางการท้องถิ่นออกคู่มือนี้เป็นภาษาฮินดีให้แก่เธอ เมื่อมีการออกคู่มือให้ กรุณาสอบถามว่าคู่มือดังกล่าวรองรับภาษาที่คุณต้องการหรือไม่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566)

เนื้อหาในคู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็ก

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าข้อมูลประเภทใดที่บันทึกไว้ในคู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็กเล็ก รายงานนี้อิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

คู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็กเล็ก หรือ “โบชิ-เทโจ” มีจุดประสงค์ในการบันทึกข้อมูลหลัก ๆ สามประเภท

ประเภทแรกคือบันทึกในช่วงตั้งครรภ์ หรือผลการตรวจสุขภาพที่หญิงตั้งครรภ์ต้องเข้ารับบริการ ที่ญี่ปุ่นนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหลายครั้งจนกว่าจะคลอดบุตร

ประเภทที่สองคือบันทึกพัฒนาการของเด็ก ซึ่งรวมถึงผลการตรวจสุขภาพของเด็กหลังลืมตาดูโลก

ประเภทที่สามคือบันทึกการเข้ารับวัคซีนของเด็ก โดยเด็กจะเริ่มรับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุได้สองเดือนหรือมากกว่านั้น คู่มือสุขภาพควรจะต้องมีบันทึกการเข้ารับวัคซีนทั้งหมด จะมีการขอให้พ่อแม่ยื่นบันทึกข้อมูลวัคซีนที่เด็กได้รับในตอนที่นำเด็กไปฝากยังสถานที่ดูแลเด็กเล็ก และตอนที่เข้าโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถม พ่อแม่ควรเก็บคู่มือนี้ไว้ให้ดีอย่าให้หาย เพื่อที่จะได้ดูข้อมูลต่าง ๆ ได้

หญิงตั้งครรภ์จะได้รับคูปองต่าง ๆ พร้อมกับคู่มือนี้ เพื่อนำไปใช้ในตอนตรวจสุขภาพ เมื่อยื่นคูปองนี้ให้แก่สถาบันทางการแพทย์ จะสามารถใช้เป็นส่วนลดได้ส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายจริง คูปองหนึ่งใบใช้ได้กับการตรวจสุขภาพหนึ่งครั้ง แต่จะมีการมอบคูปองให้ทั้งหมดล่วงหน้าในคราวเดียว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

การตรวจสุขภาพก่อนคลอด

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการตรวจสุขภาพก่อนคลอด โดยอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

ผู้หญิงในญี่ปุ่นจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนคลอดที่โรงพยาบาลหรือคลินิกในช่วงที่ตั้งครรภ์และตอนที่คลอดบุตร เจ้าหน้าที่การแพทย์จะตรวจว่าที่คุณแม่เพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือไม่ และทารกในครรภ์เติบโตราบรื่นดีหรือไม่ รวมถึงแม่และทารกในครรภ์มีโรคหรือความผิดปกติใดหรือไม่

เจ้าหน้าที่การแพทย์จะบันทึกข้อมูลการตรวจไว้ในคู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็ก หรือ “โบชิ-เทโจ” เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการทำให้มั่นใจว่าจะคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย บันทึกดังกล่าวรวมถึงน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของแม่ ความดันเลือด ผลการตรวจเลือด และภาพอัลตราซาวด์

ในบางครั้ง แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์จะให้คำแนะนำแก่ว่าที่คุณแม่เรื่องสารอาหารหรือการควบคุมน้ำหนัก ว่าที่คุณแม่สามารถถามคำถามต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ได้

การไม่ไปตรวจสุขภาพก่อนคลอดอาจเกิดความเสี่ยงใหญ่หลวงได้ เพราะเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่ทำคลอดจะไม่สามารถทราบได้ว่าการตั้งครรภ์นี้เป็นอย่างไร บางโรงพยาบาลไม่รับว่าที่คุณแม่ที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพ

มีการตรวจสุขภาพประมาณ 14 ครั้งก่อนคลอด รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพ กรุณาทำให้มั่นใจว่าคุณนำคูปองเงินอุดหนุนและโบชิ-เทโจที่คุณได้รับมาจากทางการท้องถิ่นที่คุณอาศัยอยู่มาด้วยทุกครั้งที่คุณเข้ารับการตรวจสุขภาพ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566)

เงินก้อนที่จะได้รับจากการคลอดบุตร

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องเงินก้อนที่จะได้รับจากการคลอดบุตร โดยอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

การคลอดบุตรในญี่ปุ่นนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 เยน หรือราว 120,000 บาท ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีประกันสุขภาพคุ้มครองอยู่ เธอจะได้รับเงินก้อนสำหรับการคลอดบุตร

หลังจากดำเนินกระบวนการที่จำเป็นก่อนการคลอดแล้ว กลุ่มการประกันภัยที่หญิงตั้งครรภ์ผู้นั้นสังกัดอยู่ จะจ่ายเงินให้แก่ทางโรงพยาบาลในนามของหญิงตั้งครรภ์โดยตรง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่ไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร ว่าที่คุณแม่รับผิดชอบแค่ค่าส่วนต่างเท่านั้น หากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ไม่ถึง 500,000 เยน ก็สามารถยื่นเคลมเงินค่าส่วนต่างได้ กรุณาปรึกษาโรงพยาบาลสำหรับรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการที่จำเป็น

ส่วนกรณีที่ไม่ใช้ระบบข้างต้นและคุณแม่ควักกระเป๋าจ่ายเงินเป็นค่าคลอดบุตรเอง ก็มีวิธีขอรับเงินก้อนนี้ได้ด้วย

นอกจากนี้ หลังจากแจ้งเรื่องการตั้งครรภ์และแจ้งเกิดให้ทางการท้องถิ่นได้รับทราบแล้ว คุณแม่จะได้รับเงินอุดหนุนเป็นคูปองมูลค่า 50,000 เยน หรือราว 12,000 บาท กรุณาติดต่อทางการท้องถิ่นเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566)

ชั้นเรียนสำหรับเตรียมพร้อมสู่การเป็นแม่

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องชั้นเรียนสำหรับเตรียมพร้อมสู่การเป็นแม่ โดยอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

ชั้นเรียนสำหรับการเตรียมพร้อมสู่การเป็นแม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยทางการท้องถิ่นและโรงพยาบาลต่าง ๆ จะสอนหญิงตั้งครรภ์เกี่ยวกับการคลอดบุตรและการเลี้ยงดูบุตร นอกจากนี้ ชั้นเรียนดังกล่าวยังเป็นสถานที่ให้ว่าที่คุณแม่ได้พบปะพูดคุยกับคุณแม่คนอื่น ๆ ทางการท้องถิ่นและโรงพยาบาลบางแห่งยังจัดชั้นเรียนที่ทั้งว่าที่คุณพ่อและคุณแม่สามารถเข้าร่วมพร้อมกันได้

ชั้นเรียนดังกล่าวยังสอนคุณแม่เรื่องวิธีจัดการกับสุขภาพและสารอาหารต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงวิธีการเปลี่ยนผ้าอ้อมและการอาบน้ำลูก นอกจากนี้ ก็ยังให้ข้อมูลเรื่องสถานที่รับดูแลเด็กในท้องถิ่นอีกด้วย สำหรับคุณแม่ที่ต้องการล่ามที่ช่วยแปลภาษาต่างประเทศ กรุณาปรึกษาองค์กรที่สนับสนุนการจัดชั้นเรียนนี้

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรบางองค์กรยังจัดชั้นเรียนสำหรับการเตรียมพร้อมสู่การเป็นแม่ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ชั้นเรียนดังกล่าวซึ่งเป็นแบบออนไลน์จัดขึ้นโดย Mother’s Tree Japan รองรับภาษาต่าง ๆ 7 ภาษา ได้แก่ อินโดนีเซีย เนปาล เวียดนาม เมียนมา ไทย อังกฤษ และจีน กรุณายืนยันรายละเอียดเหล่านี้ที่เว็บไซต์ของ Mother’s Tree Japan

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566)

การเข้าโรงพยาบาลและคลอดบุตร

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นและการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในญี่ปุ่น ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการเข้าโรงพยาบาลและคลอดบุตร โดยอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศแห่งคานางาวะ

การคลอดบุตรที่ญี่ปุ่นนั้น ผู้หญิงจะอยู่โรงพยาบาลนานประมาณ 5 วัน ตามปกติแล้ว โรงพยาบาลจะแจ้งให้ว่าที่คุณแม่ทราบเรื่องสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมมาด้วยตอนเข้าโรงพยาบาลเพื่อคลอดบุตร ดังนั้น กรุณาทำให้มั่นใจว่าคุณเตรียมของเหล่านั้นไว้พร้อมล่วงหน้าแล้ว

ของสำคัญ ๆ นั้นรวมถึงคู่มือสุขภาพสำหรับแม่และเด็ก หรือ โบชิ-เทโจ, บัตรประกันสุขภาพ และบัตรลงทะเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่คุณจะไปคลอดบุตร การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแปลภาษาเอาไว้ด้วย อาจเป็นความคิดที่ดี

การเตรียมของเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้ไม่ตื่นตระหนกในตอนที่กำลังจะคลอด นอกจากนี้ คุณควรวางแผนวิธีเดินทางไปโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้าด้วย ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในญี่ปุ่นจะอนุญาตให้สามีหรือสมาชิกครอบครัวเข้าห้องคลอดได้ ดังนั้นต้องตรวจสอบไว้ล่วงหน้า

เมื่อคลอดแล้ว โรงพยาบาลจะตรวจสุขภาพเด็กแรกเกิด หากต้องการให้ตรวจการได้ยินของเด็กแรกเกิด กรุณาแจ้งความประสงค์ไว้ล่วงหน้า

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)