ถาม-ตอบเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

ขอให้ระวังตัวต่อ

ถูกต่อต่อยอาจทำให้เสียชีวิตได้

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปี ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากพิษของตัวต่อ โดยช่วงฤดูร้อนและใบไม้ร่วง ตัวต่อจะมีพลังและคุกคามมากขึ้น เราจะนำเสนอนิเวศวิทยาของตัวต่อและสิ่งที่พึงระวังไว้เพื่อปกป้องตัวเอง

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากการถูกตัวต่อต่อยในญี่ปุ่น 20 คน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการขจัดรังต่อในเมืองทาเตยามะในจังหวัดชิบะ เสียชีวิตหลังจากถูกตัวต่อต่อยที่หูและหลัง เจ้าหน้าที่คนนี้สวมชุดป้องกันที่ออกแบบมาสำหรับงานนี้ แต่ตัวต่อสามารถต่อยผ่านชุดดังกล่าวและทำให้เขาเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นักวิ่ง 42 คนที่เข้าร่วมการแข่งขันในเส้นทางวิ่งบนภูเขาของเมืองทากายามะในจังหวัดกิฟุ ถูกตัวต่อต่อย โดยมี 3 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะที่สวนแอปเปิลที่เปิดให้เก็บแอปเปิลได้เองในจังหวัดอาโอโมริ ก็จำต้องระงับการให้บริการ หลังจากฝูงต่อเข้ามากินและทำลายแอปเปิลเสียหาย

ตัวต่ออาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับที่พักอาศัยของเรา ขอแนะนำให้ระมัดระวังตัวต่อเพราะหากถูกต่อยก็อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2566)

วัฏจักรของรังต่อ

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะนำเสนอการระมัดระวังไว้ก่อนเพื่อรับมือตัวต่อ ซึ่งมีแนวโน้มคุกคามที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่วัฏจักรของรังต่อ

ต่อราชินีที่มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นจะเริ่มทำรังเมื่อตื่นจากการจำศีลในช่วงฤดูใบไม้ผลิ รังจะใหญ่ขึ้นด้วยการสร้างเป็นชั้น ๆ จากนั้นต่อราชินีจะวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ตัวอ่อนจะเติบโตกลายเป็นต่องานและเริ่มขยายรัง พวกมันจะออกไปข้างนอกเพื่อหาอาหาร ทำให้ต่อราชินีทำหน้าที่ในการวางไข่ได้มากขึ้น วิธีนี้ช่วยให้รังต่อขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว

ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม จำนวนตัวต่อในรังหนึ่งรัง โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 300 หรือ 400 ตัว แต่จำนวนดังกล่าวเพิ่มเป็น 600 หรือ 700 ตัวในเดือนกันยายน และแตะ 1,000 ตัวในเดือนตุลาคม หลังจากนั้น บรรดาต่อราชินีตัวใหม่ทั้งหลายจะโตเต็มที่และออกจากรังไปเพื่อจำศีล พวกต่องานจะตายทั้งหมดในเวลาต่อมา ทำให้รังว่างเปล่า ด้วยเหตุนี้ ตัวต่อจึงมีพลังมากที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วง ทำให้เราต้องระมัดระวังตัวต่อมากเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ของปี

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2566)

ตัวต่อทำรังที่ไหน

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะนำเสนอการระมัดระวังไว้ก่อนเพื่อรับมือตัวต่อ ซึ่งมีแนวโน้มคุกคามที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าตัวต่อทำรังที่ไหน

ตัวต่อไม่ได้ทำรังแค่ในป่าบนภูเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแถวพื้นที่อยู่อาศัยของคนด้วย พวกมันมักเลือกจุดที่อยู่ใต้ชายคาและพื้น ตลอดจนพื้นที่ภายในบานปิดประตูหน้าต่างของตัวบ้าน นอกจากนี้ ตัวต่อยังชอบที่แคบ ๆ ที่ผู้คนยากจะตรวจเห็น ซึ่งรวมถึงภายในท่อระบายน้ำและแผงกระจายไฟฟ้า

เราควรต้องระวังเมื่อเข้าใกล้กระถางต้นไม้ที่วางไว้ในสวนและที่อื่น ๆ แบบไม่มีใครสนใจ ตัวต่อจะเข้าไปในกระถางเช่นว่านี้ที่วางคว่ำไว้ผ่านทางรูกระถางและสร้างรัง เนื่องจากกระถางมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับพวกมัน

บางครั้ง ตัวต่อสร้างรังใต้ผ้าคลุมจักรยานหากไม่ได้ใช้จักรยานมาระยะหนึ่ง ถ้าเราเปิดผ้าคลุมออกโดยไม่รู้ว่ามีรังต่อ ต่อก็อาจออกมาและต่อยเราได้

กรุณาดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การจัดเก็บกระถางต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีพื้นที่ที่ต่อชอบมาสร้างรัง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2566)

จะจัดการกับรังต่ออย่างไร

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะนำเสนอการระมัดระวังไว้ก่อนเพื่อรับมือตัวต่อ ซึ่งมีแนวโน้มคุกคามที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ครั้งนี้จะมุ่งเน้นว่าควรทำอย่างไรเมื่อเจอตัวต่อหรือเข้าใกล้รังต่อ

ตัวต่ออาจตื่นกลัวและบินอยู่รอบ ๆ คนที่เข้าใกล้รังของพวกมัน ถ้าคุณเห็นตัวต่อทำแบบนั้นขณะที่ทำงานอยู่ในสวน ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีรังต่ออยู่ใกล้ ๆ

ตัวต่อยังพยายามขู่ผู้บุกรุกด้วยการทำเสียงดังกริ๊ก ๆ ด้วยขากรรไกรของมัน หากตัวต่อเข้ามาใกล้ ไม่ควรขยับร่างกายแบบทันทีทันใด เช่น การใช้มือปัดตัวต่อออกไป หากมือของคุณไปโดนตัวต่อ มันอาจมองว่านี่เป็นการจู่โจมและสู้กลับ

นอกจากนี้ ตัวต่อยังมีนิสัยจู่โจมสิ่งต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหว ด้วยเหตุนี้ จึงควรเลี่ยงการวิ่งหรือขยับร่างกายแบบทันทีทันใด ให้พยายามหนีออกไปด้วยการถอยหลังแบบเงียบ ๆ

หากคุณพบเห็นรังต่อ ไม่ควรเข้าใกล้มันเด็ดขาด และเลี่ยงการทำให้ตัวต่อตื่นกลัว ปัจจุบัน มีผู้ที่ทำงานกำจัดรังต่อแบบมืออาชีพ แต่คุณควรติดต่อทางการท้องถิ่นของคุณหรือศูนย์สาธารณสุขก่อน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2566)

วิธีป้องกันตัวต่อต่อย

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เราจะนำเสนอการระมัดระวังไว้ก่อนเพื่อรับมือตัวต่อ ซึ่งมีแนวโน้มคุกคามที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ครั้งนี้จะมุ่งเน้นวิธีการป้องกันไม่ให้ถูกตัวต่อต่อย

ตัวต่อแทบจะไม่เข้าทำร้ายมนุษย์ก่อน เว้นเสียแต่ว่าพวกมันถูกกระตุ้นให้โกรธ ด้วยเหตุนี้คุณต้องระมัดระวังโดยไม่ทำเสียงดังใกล้กับรังต่อ หรือทำให้รังต่อเคลื่อนหรือสั่นสะเทือน

กล่าวกันว่าตัวต่อจะแสดงอาการคุกคามต่อสีดำ ดังนั้นเมื่อไปยังสถานที่ที่อาจมีตัวต่ออยู่รอบ ๆ ก็ควรเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีดำและสวมสีอ่อน ๆ แทนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกต่อต่อย นอกจากนี้ ก็ควรสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเพื่อปกปิดผิวหนังของคุณด้วย

การใช้กลิ่นสังเคราะห์จะดึงดูดตัวต่อเข้ามา จึงควรเลี่ยงการใส่น้ำหอมหรือสเปรย์ฉีดผมตลอดจนเครื่องสำอางที่มีกลิ่นหอม ตัวต่อยังชอบเข้าหากลิ่นหอมหวานอีกด้วย ดังนั้นจึงควรระวังเมื่อดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มหวาน ๆ ชนิดอื่นกลางแจ้ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 ตุลาคม 2566)

ควรทำอย่างไรเมื่อถูกตัวต่อต่อย

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากการถูกตัวต่อต่อยเป็นจำนวนมาก ตัวต่อมีแนวโน้มคุกคามที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เราจะนำเสนอนิเวศวิทยาของตัวต่อและสิ่งที่พึงระวังไว้เพื่อปกป้องตัวเอง ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าควรทำอย่างไรเมื่อถูกตัวต่อต่อย

ถ้าคุณถูกตัวต่อต่อย ให้รีบออกจากบริเวณดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้ถูกต่อตัวอื่น ๆ ต่อยเพิ่มอีก

จากนั้นให้ใช้นิ้วมือบีบจุดที่ถูกต่อยเพื่อขับเอาพิษออก และใช้น้ำสะอาดล้างบริเวณที่ถูกต่อย หลีกเลี่ยงการใช้ปากดูดพิษออก เพราะหากคุณมีแผลร้อนในหรือแผลเปิดในปาก พิษอาจเข้าสู่ร่างกายจากบริเวณนั้นได้ หากคุณมีอุปกรณ์ดูดพิษออกได้ก็ควรใช้ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวมีจำหน่ายในร้านกีฬากลางแจ้ง

เมื่อถูกต่อย ให้สังเกตสัญญาณอันตรายที่รวมถึงอาการโรคลมพิษและปัญหาด้านการหายใจ เรียกรถพยาบาลโดยทันทีหากปรากฏสัญญาณเช่นนี้ขึ้น ผู้ที่เคยถูกพวกผึ้งต่อยมาก่อนจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ อาการแพ้อย่างรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้และในกรณีเลวร้ายที่สุด ก็อาจทำให้เสียชีวิตจากการหายใจไม่ออก

คุณอาจไปเข้ารับการตรวจหาอาการแพ้พิษตัวต่อกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ แพทย์โรคผิวหนัง และอื่น ๆ ซึ่งหากจำเป็น ก็อาจขอใบสั่งยาอิพิเนฟรินได้ ยาดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการแพ้อย่างรุนแรง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2566)

จะรับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากการถูกตัวต่อต่อยเป็นจำนวนมาก ตัวต่อมีแนวโน้มคุกคามที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เราจะนำเสนอนิเวศวิทยาของตัวต่อและสิ่งที่พึงระวังไว้เพื่อปกป้องตัวเอง ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าจะเข้ารับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

ผู้ที่เคยถูกพวกผึ้งต่อยในอดีตอาจกังวลเกี่ยวกับการเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังเข้ารับวัคซีน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นระบุว่า ผู้ที่มีอาการแพ้พวกผึ้งต่อย สามารถเข้ารับวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงขอให้บุคคลผู้นั้นอยู่ที่สถานที่ฉีดวัคซีนนานขึ้น อย่างน้อย 30 นาที เพื่อตรวจดูอาการแพ้รุนแรงใด ๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นหลังเข้ารับวัคซีน

ทางกระทรวงย้ำว่าอาการแพ้รุนแรงไม่ได้ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต หากมีการให้ยาอิพิเนฟรินโดยทันทีเพื่อบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ การแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดในช่วงกระบวนการวินิจฉัยตั้งแต่แรกเกี่ยวกับอาการแพ้ของผู้ป่วยนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2566)