ถาม-ตอบเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

วิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

เสริมการต้านทานแผ่นดินไหว

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วันที่ 1 กันยายนเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 คน เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นั้น อาจเกิดขึ้นที่แนวร่องนังไกตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น หรืออาจเกิดใต้แผ่นดินกรุงโตเกียวโดยตรง ครั้งนี้ เราจะนำเสนอวิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว ในประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานการต้านแผ่นดินไหวสำหรับบ้านเรือน

ญี่ปุ่นได้ปรับแก้มาตรฐานระดับชาติในการต้านแผ่นดินไหวหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้ง

เมื่อปี 2524 มาตรฐานต้านแผ่นดินไหวได้รับการแก้ไข เพื่อกำหนดให้โครงสร้างต่าง ๆ สามารถทนแผ่นดินไหวระดับ 6 หรือสูงกว่านั้น ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0-7

ในปี 2538 เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวฮันชิน-อาวาจิที่จังหวัดเฮียวโงะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่พังถล่มนั้นสร้างขึ้นมาโดยอิงจากมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวแบบเก่าก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น สาเหตุการเสียชีวิตที่คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกิดจากถูกอาคารบ้านเรือนที่พังถล่มทับ หรือถูกเฟอร์นิเจอร์ล้มใส่

เมื่อปี 2543 มีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งเพื่อให้วิธีการตั้งเสามีความแข็งแรงมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ในปี 2559 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่สองครั้งที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7 ที่จังหวัดคูมาโมโตะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น หลังเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว มีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นมาเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่อาคารบ้านเรือนถูกทำลายเสียหาย โดยพบว่าโครงสร้างที่สร้างขึ้นโดยอิงจากมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวล่าสุดพังถล่มลงมาแค่ร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่โครงสร้างซึ่งสร้างขึ้นก่อนปี 2524 มากถึงร้อยละ 30 ที่พังถล่มลงมา นี่แสดงให้เห็นว่าการเสริมการต้านทานแผ่นดินไหวให้แข็งแรงมากขึ้น ส่งผลให้บ้านเรือนปลอดภัย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 กันยายน 2566)

ประเมินการต้านทานแผ่นดินไหวของบ้านคุณ

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วันที่ 1 กันยายนเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 คน ครั้งนี้ เราจะนำเสนอวิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว ในประเด็นเกี่ยวกับการประเมินการต้านทานแผ่นดินไหวของบ้านคุณ

คุณสามารถทราบได้ว่าบ้านของคุณมีความเสี่ยงหรือไม่ด้วยการตรวจสอบ ธุรกิจที่รับหน้าที่ประเมินซึ่งเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเช่นว่านี้ จะดำเนินการตรวจสอบด้วยสายตาและเสียง ผู้ตรวจสอบจะเคาะกำแพงบ้านคุณเพื่อดูว่ากำแพงแน่นหรือไม่ และดูว่ามีรอยแตกร้าวใด ๆ ที่อาจกระทบต่อการต้านทานแผ่นดินไหวหรือไม่ นอกจากนี้ ก็จะตรวจประเมินเสาและพื้นว่ามีการลาดเอียงหรือไม่ และตรวจดูความเสียหายจากปลวกรวมถึงการผุพังในส่วนโครงสร้างฐานที่อยู่ใต้พื้นบ้าน

นอกจากนี้ ก็ยังมีเว็บไซต์ออนไลน์ที่สามารถขอคำแนะนำเกี่ยวกับว่า คุณควรดำเนินมาตรการต้านแผ่นดินไหวหรือไม่ ด้วยการตอบคำถามสิบคำถาม สมาคมป้องกันภัยพิบัติด้านอาคารแห่งญี่ปุ่นทำแบบทดสอบการประเมินเป็นภาษาอังกฤษที่บนเว็บไซต์ด้วย

หากคุณตัดสินใจที่จะเสริมความแข็งแรงให้บ้านของคุณ กล่าวกันว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อบ้านหนึ่งหลังอาจอยู่ที่ประมาณ 1,000,000 เยน หรือ 1,500,000 เยน ส่วนอาคารที่เป็นอะพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียม เจ้าของห้องแต่ละห้องจะต้องทำข้อตกลงกันก่อนเพื่อดำเนินการเสริมความแข็งแรง โดยอิงตามหน่วยงานที่บริหารจัดการ ทางการท้องถิ่นบางแห่งใช้ระบบให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน ดังนั้น กรุณาตรวจสอบกับทางการท้องถิ่นของคุณ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2566)

การป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ล้มคว่ำ

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วันที่ 1 กันยายนเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 คน ครั้งนี้ เราจะนำเสนอวิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว ในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ล้มคว่ำ

มีความเสี่ยงมากมายล้อมรอบตัวคุณแม้ว่าคุณอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่ต้านทานแผ่นดินไหวได้ก็ตาม หนึ่งในความเสี่ยงนั้นก็คือเฟอร์นิเจอร์อาจล้มใส่คุณได้ ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ของกรุงโตเกียวโดยตรง คาดว่ามีผู้คนกว่า 200 คนที่อาจเสียชีวิตเพราะเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของอื่น ๆ ล้มทับ

มาตรการป้องกันไว้ก่อนที่ได้ผลก็คือการใช้แท่งโลหะรูปตัว L ยึดเฟอร์นิเจอร์ติดกับผนัง ที่ญี่ปุ่นนั้น มีการใช้แท่งโลหะยืดหดได้เพื่อยึดตรึงกันอย่างกว้างขวาง แท่งโลหะนี้สามารถปรับให้เข้ากับขนาดของพื้นที่ได้ด้วยการยืดหรือหด และติดตั้งเพื่อยึดเฟอร์นิเจอร์กับเพดาน แท่งโลหะที่ยืดได้นี้ช่วยป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ล้มลงมา

มีข้อสังเกตบางประการเพื่อให้ใช้แท่งโลหะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในตอนที่คุณติดตั้ง ต้องทำให้มั่นใจว่ายึดติดไว้ใกล้กับผนังเพื่อให้แท่งโลหะไม่หลุดออกมาเพราะแรงสั่นสะเทือน และควรยึดแท่งโลหะกับเพดานไว้ให้แน่น สิ่งนี้สามารถยึดตรึงเฟอร์นิเจอร์ไว้ได้โดยที่ไม่ต้องเจาะผนัง โดยสามารถหาซื้อได้ที่ศูนย์ปรับปรุงบ้านและร้านค้าอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2566)

การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วันที่ 1 กันยายนเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 คน ครั้งนี้ เราจะนำเสนอวิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยจะมุ่งเน้นว่าควรวางเฟอร์นิเจอร์ไว้ที่ไหนและวางอย่างไรเพื่อเลี่ยงการบาดเจ็บ

การวางเฟอร์นิเจอร์อย่างมั่นคงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เฟอร์นิเจอร์ควรจัดวางอย่างมั่นคงในที่ที่ปลอดภัยแม้ว่าจะเกิดการล้มคว่ำลงมาก็ตาม

แต่การวางเฟอร์นิเจอร์อย่างมั่นคงนั้นไม่เพียงพอในยามที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และมีแผ่นดินไหวระลอกหลังหรืออาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น หากวางยึดเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งไว้ใกล้ประตู ก็อาจไม่สามารถเปิดประตูได้หลังจากที่เฟอร์นิเจอร์ล้มลงมา คุณควรรอสักระยะจนกว่าจะสามารถย้ายเฟอร์นิเจอร์กลับไปที่เดิมได้ เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์อาจล้มลงมาอีกถ้าเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่ง

คุณควรระวังกระจกด้วย ควรปิดม่านก่อนเข้านอน เนื่องจากม่านจะช่วยป้องกันไม่ให้กระจกที่แตกนั้นกระจายไปทั่วห้อง

การเดินเท้าเปล่าก็เป็นอันตรายเช่นกันในยามที่มีสิ่งของกระจัดกระจายทั่วห้อง ควรวางรองเท้าผ้าใบไว้ใกล้เตียงนอนเพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2566)

มาตรการที่ควรทำในห้องครัว

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วันที่ 1 กันยายนเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 คน ครั้งนี้ เราจะนำเสนอวิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยจะมุ่งเน้นว่าสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ห้องครัวปลอดภัยยามเกิดแผ่นดินไหว

คุณคูนิซากิ โนบูเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในบ้านเรือนชี้ว่า ห้องครัวเป็นสถานที่ที่อันตรายมากที่สุดในบ้านยามเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เธอกล่าวโดยยกตัวอย่างว่า ไมโครเวฟเครื่องหนึ่งอาจหนักได้เกือบ 20 กิโลกรัม โดยแนะนำให้วางไมโครเวฟไว้บนแผ่นกันลื่นเพื่อป้องกันไม่ให้ไมโครเวฟล้มคว่ำ

เธอยังกล่าวด้วยว่าการป้องกันไม่ให้หน้าบานของตู้ครัวและลิ้นชักเปิดออกและของภายในกระเด็นออกมานั้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า เมื่อลิ้นชักตู้เปิดออก ก็อาจไปขวางเส้นทางการหนีได้

คุณคูนิซากิใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วของเด็กเข้าไปติด ทำให้สามารถเปิดลิ้นชักได้ด้วยการกดลงไปบนจุดที่กำหนด อุปกรณ์นี้ช่วยป้องกันไม่ให้ลิ้นชักเลื่อนหลุดตอนแผ่นดินไหว ส่วนประตูตู้เย็นนั้น เธอใช้ตัวล็อกพลาสติก โดยกล่าวว่าสามารถซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้ในราคาไม่ถึง 1,000 เยน หรือไม่ถึง 300 บาท

คุณคูนิซากิแนะนำให้กันเงินไว้ในแต่ละเดือน เช่น ประมาณ 3,000 เยน หรือเกือบ 800 บาท เพื่อใช้สำหรับเสริมการต้านทานภัยพิบัติให้กับบ้าน เธอแนะให้ตัดสินใจในหัวข้อที่ต่างกันไปในแต่ละเดือน เช่น เดือนนี้ป้องกันไม่ให้กระจกแตกกระจาย ส่วนเดือนหน้าก็ทำเรื่องยึดตรึงเฟอร์นิเจอร์ให้มั่นคง

เธอกล่าวว่าการใช้มาตรการต้านแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ โดยเริ่มจากสิ่งที่คุณสามารถทำได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2566)

รู้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นดินที่บ้านของคุณตั้งอยู่

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วันที่ 1 กันยายนเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 คน ครั้งนี้ เราจะนำเสนอวิธีเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยจะมุ่งเน้นเรื่องพื้นดินที่บ้านของคุณตั้งอยู่ซึ่งอาจส่งผลให้แรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้นได้

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจากใต้แผ่นดินของกรุงโตเกียวโดยตรง คาดว่าอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนสูงสุดที่ระดับ 7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น แรงสั่นสะเทือนรุนแรงอาจเพิ่มมากขึ้นหากบ้านของคุณตั้งอยู่บนพื้นดินที่อ่อนนุ่ม

คุณเซ็นนะ ชิเงกิ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์โลกและการป้องกันภัยพิบัติ ได้ตรวจดูความสัมพันธ์ระหว่างความเสียหายที่มากขึ้นกับลักษณะของพื้นดิน จากเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 เขาสังเกตได้ว่าในขณะที่บ้านหลายหลังพังถล่มลงมา แต่ก็มีพื้นที่ที่บ้านส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับผลกระทบ เขาได้ตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างและพบว่าพื้นดินอ่อนนุ่มใกล้กับหน้าดินทำให้แรงสั่นสะเทือนเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้ความเสียหายรุนแรงกว่าเดิม

คุณเซ็นนะและทีมงานของเขายังพบว่ามีหลายสถานที่ในภูมิภาคคันโตที่พื้นดินอ่อนนุ่ม ทั้งในและรอบ ๆ กรุงโตเกียว ทางทีมมีแผนที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย

ทางการท้องถิ่นบางแห่งได้เผยแพร่แผนที่ที่แสดงให้เห็นพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อแรงสั่นสะเทือน ขอแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลแผนที่เช่นว่านี้เพื่อเสริมมาตรการต้านแผ่นดินไหวที่บ้านของคุณ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2566)