ถาม-ตอบเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

วิธีปกป้องชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำ

สถิติทั่วญี่ปุ่น

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดในน้ำหรือรอบ ๆ บริเวณที่มีน้ำ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องสถิติทั่วประเทศ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่าเมื่อปี 2565 มีผู้คน 727 คนที่เสียชีวิตหรือสูญหายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ในจำนวนดังกล่าวมี 228 คนประสบอุบัติเหตุในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม คิดเป็นร้อยละ 30 ของอุบัติเหตุเหล่านี้ โดยเพิ่มขึ้น 16 คนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

ราวร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นในทะเล และร้อยละ 40 เกิดขึ้นในแม่น้ำ ในช่วงหน้าร้อน อัตราการเกิดอุบัติเหตุในแม่น้ำต่อปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปี 10 จุด

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากภาวะแวดล้อมของอุบัติเหตุเหล่านี้แล้วพบว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นมากที่สุดตอนที่ผู้คนเล่นอยู่ในน้ำ รองลงมาคือขณะที่ตกปลาหรือจับปลา และว่ายน้ำ

ตำรวจขอให้ประชาชนอยู่ให้ห่างจากทะเลหรือแม่น้ำเมื่อกระแสน้ำแรง และเลี่ยงบริเวณที่น้ำลึก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2566)

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากแม่น้ำ

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดในน้ำหรือรอบ ๆ บริเวณที่มีน้ำ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากแม่น้ำ

อุบัติเหตุขณะเล่นน้ำในแม่น้ำเกิดขึ้นอีกครั้งในฤดูร้อนปีนี้ทั่วญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม เด็กนักเรียนประถมสามคนในจังหวัดฟูกูโอกะจมน้ำในแม่น้ำ เพียงไม่นานหลังจากที่วันหยุดฤดูร้อนของพวกเขาเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เด็กนักเรียนประถมอีกคนหนึ่งจมน้ำในแม่น้ำที่จังหวัดคานางาวะ

ผู้คนควรระมัดระวังจุดที่ลึกฉับพลันในแม่น้ำ แม้ดูเหมือนว่าน้ำในแม่น้ำจะไหลอย่างช้า ๆ และดูไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจกลายเป็นจุดที่ลึกได้แบบฉับพลัน และควรระวังไว้ถึงแม้ว่าน้ำจะดูใสและสามารถมองเห็นก้นแม่น้ำได้ แต่การหักเหของแสงอาจทำให้ดูเหมือนว่าน้ำตื้นกว่าความเป็นจริง หากไม่ระมัดระวังก็อาจทำให้ติดอยู่ในน้ำลึกและจมน้ำได้

เมื่อก้นแม่น้ำเป็นกรวดละเอียด อาจทำให้ลื่นและเดินกลับไปยังจุดน้ำตื้นได้ยาก ไม่ควรทึกทักเอาเองเรื่องความปลอดภัย หรือลดระดับการป้องกันตัวระหว่างที่อยู่ในแม่น้ำ และพึงระลึกไว้เสมอว่าอาจเกิดอันตรายได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2566)

วิธีป้องกันไม่ให้จมน้ำ

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดในน้ำหรือรอบ ๆ บริเวณที่มีน้ำ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องวิธีป้องกันไม่ให้จมน้ำ

ศาสตราจารย์ไซโต ฮิเดโตชิ จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนางาโอกะ และประธานสมาคมวิจัยการรอดชีวิตและการกู้ภัยทางน้ำ ระบุว่าอุบัติเหตุในแม่น้ำมักเกิดขึ้นบ่อยและโดยทันทีหลังจากที่ผู้คนมาถึงและก่อนที่พวกเขาจะขึ้นจากแม่น้ำ โดยเฉพาะเด็ก ๆ มักตื่นเต้นเมื่อมาถึงและรีบลงไปยังแม่น้ำด้วยตัวเองอยู่บ่อย ๆ จากนั้นก็จะตกลงไปในน้ำลึกและเริ่มจมน้ำ นอกจากนี้ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ในตอนที่ผู้คนพร้อมจะกลับบ้านด้วย

ในบางกรณี พ่อแม่กำลังยุ่งอยู่กับการเก็บของและไม่ได้สังเกตว่าลูกกำลังอยู่ในอันตราย เนื่องจากการจมน้ำอาจเกิดขึ้นได้ในไม่กี่วินาที ศาสตราจารย์ไซโตเตือนว่าการเฝ้าจับตาดูลูก ๆ ไม่เพียงพอ เขาแนะให้พ่อแม่ลงไปในน้ำและเล่นกับลูก ๆ ด้วย เมื่อพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ ก็จะสามารถช่วยเหลือลูกได้แม้ในยามที่ลูกเริ่มจะจมน้ำ เพื่อรับประกันความปลอดภัย ศาสตราจารย์ไซโตยังระบุด้วยว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “การเล่นในน้ำตื้นแค่หัวเข่า” และ “สวมเสื้อชูชีพเผื่อเอาไว้”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2566)

อันตรายบริเวณชายหาด

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดในน้ำหรือรอบ ๆ บริเวณที่มีน้ำ ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องอันตรายของกระแสน้ำย้อนกลับในทะเล

มีอันตรายมากมายที่เราต้องระวังเมื่ออยู่ในทะเล อันตรายเหล่านั้นรวมถึงการที่จู่ ๆ น้ำก็ลึกลงไปและจู่ ๆ ก็เกิดคลื่นสูงพัดเข้าฝั่ง สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือกระแสน้ำย้อนกลับซึ่งเป็นกระแสน้ำแรงที่เคลื่อนไปทางขอบทะเล เป็นเรื่องยากมากที่จะว่ายน้ำทวนกระแสน้ำเช่นนี้ ซึ่งเป็นกระแสที่เคลื่อนไปกว่าสองเมตรต่อวินาที กระแสน้ำย้อนกลับมักเกิดขึ้นที่ชายหาด บริเวณดังกล่าวเป็นจุดดึงดูดครอบครัวเพราะเป็นน้ำตื้นที่มีระยะห่างประมาณหนึ่งจากชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม น้ำตื้นก็เป็นอันตรายได้เนื่องจากตรวจดูด้วยสายตาได้ยาก

ศาสตราจารย์ไซโต ฮิเดโตชิ ประธานสมาคมวิจัยการรอดชีวิตและการกู้ภัยทางน้ำระบุว่า “เราหวังว่าเมื่อลงไปว่ายน้ำในทะเล ผู้คนจะสอบถามเจ้าหน้าที่ชายฝั่งที่คอยช่วยชีวิตคนตกน้ำว่าบริเวณใดที่เป็นอันตรายต่อการว่ายน้ำ และควรว่ายน้ำในบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ชายฝั่งดังกล่าวประจำอยู่”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2566)

การป้องกันอุบัติเหตุในทะเล

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดในน้ำหรือรอบ ๆ บริเวณที่มีน้ำ ครั้งนี้เป็นเรื่องแนวทางความปลอดภัยที่สำนักงานรักษาความปลอดภัยทางทะเลแห่งญี่ปุ่นจัดทำไว้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามชายหาดและในทะเล

สำนักงานรักษาความปลอดภัยทางทะเลแห่งญี่ปุ่นได้รวบรวมแนวทางความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไปเที่ยวชายหาด โดยเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

เมื่อออกจากบ้าน ให้บอกครอบครัวของคุณถึงจุดหมายปลายทางที่จะไป และบอกว่าจะกลับเมื่อใด ห้ามไปชายหาดตามลำพัง

เมื่อเดินทางไปชายหาด ต้องรักษาช่องทางติดต่อสื่อสารเอาไว้ เช่น พกโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋ากันน้ำ และเลือกไปชายหาดที่มีการกำหนดบริเวณว่ายน้ำเอาไว้และมีเจ้าหน้าที่ชายฝั่งที่คอยช่วยชีวิตคนตกน้ำคอยตรวจตราดูแล

เมื่อลงว่ายน้ำในทะเล ไม่ควรว่ายน้ำคนเดียว สวมรองเท้าว่ายน้ำ เสื้อชูชีพ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้ลอย ทำให้มั่นใจว่าสภาพร่างกายของคุณแข็งแรงดี และขึ้นมาพักผ่อนบ้างเป็นช่วง ๆ

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น อย่าว่ายน้ำตอนที่ตื่นตระหนก ขอความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้าง จับอุปกรณ์ที่ลอยอยู่รอบตัวคุณ ลอยตัวด้วยท่าทางที่รู้สึกสบายและรอความช่วยเหลือ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2566)

อย่าพยายามเก็บของที่ถูกน้ำพัดไปแล้ว

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และเราสามารถป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในน้ำหรือรอบ ๆ บริเวณที่มีน้ำได้อย่างไร ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องอันตรายจากการตามเก็บรองเท้าแตะหรือของอื่น ๆ ที่ถูกน้ำพัดไปแล้ว

ที่ญี่ปุ่นนั้น มีหลายกรณีที่ผู้คนไล่ตามสิ่งของในแม่น้ำหรือในทะเลและเกิดอุบัติเหตุขึ้น และดูเหมือนว่ากรณีเหล่านี้จะไม่มีวันสิ้นสุด

สมาคมแม่น้ำได้วิเคราะห์อุบัติเหตุเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นในแม่น้ำช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวมักเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กนักเรียนชั้นประถม ซึ่งรวมถึงการจมน้ำหลังจากพยายามไปตามเก็บลูกบอลหรือรองเท้าแตะ

โทยามะ อัตสึชิ ผู้อำนวยการใหญ่ของหน่วยกู้ภัยทางทะเลแห่งญี่ปุ่นซึ่งมีส่วนในปฏิบัติการกู้ภัยของสำนักงานรักษาความปลอดภัยทางทะเลแห่งญี่ปุ่นมานานหลายปีกล่าวว่า เป็นเรื่องอันตรายมากที่ผู้คนไล่ตามสิ่งของ เช่น รองเท้าแตะ เนื่องจากพวกเขาจะสนใจแต่สิ่งของจนทำให้ความสนใจภาวะแวดล้อมรอบตัวน้อยลง เช่น ความลึกของน้ำและกระแสน้ำ

เขากล่าวว่าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเช่นนี้ การที่ผู้คนสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าว่ายน้ำที่ไม่ลื่นหลุดออกมาได้ง่าย ๆ นั้นสำคัญอย่างยิ่ง และยังกล่าวด้วยว่าผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ควรไปอยู่ทางด้านปลายน้ำของเด็ก หรืออยู่ห่างจากชายฝั่งหากว่าอยู่ในทะเล

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2566)

รีบโทรศัพท์ฉุกเฉินโดยทันที

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน มักเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำตามทะเลและในแม่น้ำ เราจะนำเสนอว่าทำไมอุบัติเหตุเช่นนี้จึงเกิดขึ้น และมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ ครั้งนี้เราได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าควรทำอย่างไรเมื่อมีคนจมน้ำ

ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ผู้คนลงไปในน้ำเนื่องจากพยายามช่วยชีวิตคนที่กำลังจมน้ำ ศาสตราจารย์ไซโต ฮิเดโตชิ จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนางาโอกะและประธานสมาคมวิจัยการรอดชีวิตและการกู้ภัยทางน้ำกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่ใครคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีการฝึกฝนเป็นพิเศษเพื่อช่วยชีวิตคนอื่น จะอยู่บนผิวน้ำได้แบบที่ไม่ได้เตรียมพร้อม

ถ้าพบเห็นคนกำลังจมน้ำ อันดับแรกควรโทรศัพท์ไปที่หมายเลขฉุกเฉิน เช่น 118 ซึ่งเป็นหมายเลขของสำนักงานรักษาความปลอดภัยทางทะเลแห่งญี่ปุ่น หรือหมายเลข 119 เพื่อติดต่อหน่วยดับเพลิง

ผู้คนควรปฏิบัติในแนวทางนี้เพื่อให้คนที่กำลังจมน้ำมีสมาธิอยู่กับการหายใจและไม่ตื่นตกใจ การถามคนกำลังจมน้ำด้วยคำถามที่ไม่ต้องมีคำตอบ อาจไปขัดขวางการหายใจของเขาได้ การพูดถ้อยคำสั้น ๆ ได้ผลดีกว่า เช่น ลอยตัวเอาไว้และรอ หรือบอกว่าพวกเขาไม่เป็นไรเพราะคนให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินกำลังมา

เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรระวังอันตรายเอาไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ควรมีสติ ไม่ตื่นตระหนก และดำเนินการอย่างเหมาะสม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2566)