ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

การทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติจากแผนที่ภัยพิบัติ

แผนที่ภัยพิบัติคืออะไร

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม โคลนถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ และภูเขาไฟปะทุ ขั้นแรกในการปกป้องชีวิตของคุณในประเทศที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่อยู่บ่อยครั้งก็คือ การทราบถึงอันตรายในพื้นที่ท้องถิ่นของคุณผ่านแผนที่ภัยพิบัติ ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องแผนที่ภัยพิบัติ

แผนที่ภัยพิบัติเป็นแผนที่แสดงสัญลักษณ์โดยใช้สี โดยจะเน้นบริเวณที่เสี่ยงอันตรายจากภัยพิบัติธรรมชาติ และมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรง ส่วนใหญ่แล้วทางการท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดทำแผนที่ภัยพิบัติ

แผนที่ภัยพิบัติที่เกี่ยวกับอุทกภัย เช่น น้ำท่วม สึนามิ คลื่นพายุซัดฝั่ง ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยทางการท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงเช่นว่านี้อยู่ นอกจากนี้ ก็ยังมีแผนที่ภัยพิบัติสำหรับแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละท้องถิ่น

มาบิในเมืองคูราชิกิของจังหวัดโอกายามะ เผชิญความเสียหายอย่างหนักจากฝนตกหนักทางตะวันตกของญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2561 คันกั้นน้ำตามแนวแม่น้ำในหลายพื้นที่พังถล่ม ทำให้พื้นที่เกือบร้อยละ 30 ของเมืองถูกน้ำท่วมและมีผู้เสียชีวิต 51 คน

จากนั้น สำนักงานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ประเมินขอบเขตของน้ำที่ท่วมเมืองนี้ พื้นที่ที่เชื่อว่าถูกน้ำท่วมนั้นใกล้เคียงอย่างมากกับพื้นที่ความเสี่ยงสูงในแผนที่ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เมืองคูราชิกิได้เผยแพร่เอาไว้ก่อนภัยพิบัติ

ท่ามกลางเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ เรามักได้ยินว่าความเสียหายมากกว่าที่คาดเอาไว้ แต่จริง ๆ แล้ว ความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ภายในขอบเขตที่คาดไว้อยู่บ่อยครั้ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2567)

การหาข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่ภัยพิบัติ

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในท้องถิ่นจากแผนที่ภัยพิบัติ โดยจะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่าจะหาข้อมูลแผนที่ดังกล่าวได้อย่างไร

คุณจะสามารถหาแผนที่ภัยพิบัติได้โดยใช้การค้นหาทางออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยการพิมพ์ชื่อท้องถิ่นที่คุณต้องการค้นหาและต่อด้วยคำว่า “hazard map” ขณะเดียวกัน ทางการท้องถิ่นบางแห่งไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลแผนที่ภัยพิบัติโดยขึ้นอยู่กับประเภทความเสี่ยงภัยพิบัติ ในกรณีเช่นว่านี้ กรุณาติดต่อทางการท้องถิ่นของคุณโดยตรง

หากครอบครัวหรือญาติของคุณอาศัยอยู่ไกลออกไป หรือคุณเผชิญความยากลำบากในการค้นหาข้อมูลเนื่องจากกำแพงภาษา ผู้ที่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ควรถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูล

หากคุณทราบประเภทของความเสี่ยงภัยพิบัติที่มีอยู่ในท้องถิ่นของคุณ ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างได้อย่างมาก การตรวจสอบแผนที่ภัยพิบัติไว้ล่วงหน้าและพิจารณาว่าจะอพยพอย่างไรในช่วงเกิดภัยพิบัตินั้น จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมในการดำเนินการที่เหมาะสมได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567)

เว็บไซต์ที่ไปยังแผนที่ภัยพิบัติของกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในท้องถิ่นจากแผนที่ภัยพิบัติ โดยเป็นเรื่องเว็บไซต์ที่ไปยังแผนที่ภัยพิบัติของกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เว็บไซต์ดังกล่าวให้ข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยเป็นแผนที่ภัยพิบัติ 2 ประเภท

“Wagamachi Hazard Map” หรือ แผนที่ภัยพิบัติของเมืองฉัน มีลิงก์ไปสู่เว็บไซต์ซึ่งบรรจุแผนที่ภัยพิบัติที่จัดทำโดยทางการท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อคุณคลิกเลือกทางการท้องถิ่นเหล่านี้ ก็จะถูกนำไปยังเว็บไซต์ที่มีแผนที่ภัยพิบัติหลายประเภทซึ่งเผยแพร่โดยทางการท้องถิ่นเหล่านั้น

ภัยพิบัติดังกล่าวได้แก่ น้ำท่วมทั่วไปและน้ำท่วมที่เกิดจากปริมาณน้ำมีมากเกินกว่าที่ระบบระบายน้ำของพื้นที่นั้นจะรองรับได้, เขื่อนแตก, คลื่นพายุซัดฝั่ง, สึนามิ, ดินถล่ม, ภูเขาไฟปะทุ และแผ่นดินไหว คุณสามารถรู้ได้ด้วยว่าระดับและประเภทของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยนั้นเป็นอย่างไร ด้วยการตรวจสอบแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว บางแผนที่จะแสดงให้เห็นระดับความเสี่ยงของพื้นที่แต่ละแห่งรวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินเหลว ตลอดจนความเสียหายอื่น ๆ บนพื้นดินและเพลิงไหม้

“Kasaneru Hazard Map” หรือแผนที่แบบซ้อน ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์สำหรับลดผลกระทบจากภัยพิบัติและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อคุณพิมพ์ที่อยู่ของคุณลงไป แผนที่ของพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยจะปรากฏขึ้นมาในหน้าเว็บไซต์ เมื่อคุณเลือกประเภทภัยพิบัติ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติเหล่านั้นจะแสดงขึ้นมาในสีที่ต่างกันออกไป ภัยพิบัติดังกล่าวมีทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม คลื่นพายุซัดฝั่ง และสึนามิ

ส่วนของถนนที่อาจจมอยู่ใต้น้ำก็จะปรากฏให้เห็นเป็นสีต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เมื่อคุณเลือกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจมน้ำ ระดับน้ำท่วมที่คาดการณ์ไว้ก็จะปรากฏขึ้นมา

“Wagamachi Hazard Map”
https://disaportal.gsi.go.jp/hazardmapportal/hazardmap/index.html
(คุณจะออกจากเว็บไซต์ NHK WORLD-JAPAN)

“Kasaneru Hazard Map”
https://disaportal.gsi.go.jp/maps/?|=35.371135,138.735352&z=5&base=pale&vs=c1j0l0u0t0h0zo
(คุณจะออกจากเว็บไซต์ NHK WORLD-JAPAN)

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2567)

ประเด็นสำคัญในการจำแนกความเสี่ยงบนแผนที่ภัยพิบัติ

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในท้องถิ่นจากแผนที่ภัยพิบัติ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องประเด็นสำคัญในการจำแนกความเสี่ยงบนแผนที่ภัยพิบัติ

เมื่อคุณกำลังเตรียมพร้อมสำหรับน้ำท่วมจากน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และเหตุทางธรรมชาติอื่น ๆ คุณควรให้ความสำคัญต่อสีที่ปรากฏบนแผนที่ภัยพิบัติของท้องถิ่น แต่ละสีจะชี้ให้เห็นว่าน้ำจะท่วมลึกเพียงใด ด้วยเหตุนี้ เส้นทางการอพยพของคุณจะต่างออกไปโดยขึ้นอยู่กับสีบนแผนที่ภัยพิบัติ

การระวังไว้ก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมสูงถึง 5 เมตร หรือมากกว่านั้น (ระดับนี้เท่ากับว่าอาคารสองชั้นจะจมอยู่ใต้น้ำ) ในพื้นที่เช่นว่านี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดังนั้น การอพยพแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่สถานการณ์จะแย่ลงถือเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ คุณควรตรวจสอบเส้นทางการอพยพที่ควรใช้ ตลอดจนดูว่าบ้านของคุณและสถานที่หลบภัยตั้งอยู่ตรงไหนของแผนที่ คุณควรเลี่ยงพื้นที่ที่เสี่ยงว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือดินถล่มในขณะอพยพ

ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสีปรากฏก็ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่นั้นปลอดภัย มีบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่รอบ ๆ แม่น้ำขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่เคยเผชิญภัยพิบัติหลายครั้งในอดีต แต่ไม่ได้ทำสัญลักษณ์ไว้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงบนแผนที่ภัยพิบัติ ด้วยเหตุนี้ คุณควรตระหนักว่าพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าคันกั้นน้ำหรือต่ำกว่าสะพาน หรือพื้นที่ที่ใกล้กับหน้าผาหรือเนินลาด มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ และพยายามอพยพแต่เนิ่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567)

การทราบถึงความแตกต่างระหว่าง “ศูนย์อพยพหลบภัย” กับ “สถานที่อพยพหลบภัย” บนแผนที่ภัยพิบัติ

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในท้องถิ่นจากแผนที่ภัยพิบัติ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการทราบถึงความแตกต่างระหว่าง “ศูนย์อพยพหลบภัย” กับ “สถานที่อพยพหลบภัย” บนแผนที่ภัยพิบัติ

แผนที่ภัยพิบัติแสดงให้เห็นสถานที่ต่าง ๆ สำหรับการอพยพของผู้คนในตอนที่พิจารณาแล้วว่าสถานการณ์เป็นอันตราย การทราบว่าจะต้องไปที่ไหนในยามฉุกเฉินถือเป็นสิ่งสำคัญ และประเด็นหนึ่งที่ควรทราบไว้ก็คือเรื่องความแตกต่างระหว่าง “ฮินันโจ” หรือ “ศูนย์อพยพหลบภัย” และ “ฮินัน บาโชะ” หรือ “สถานที่อพยพหลบภัย”

“ศูนย์อพยพหลบภัย” เป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถพักอาศัยได้ สถานที่สาธารณะ เช่น โรงยิมของโรงเรียน มักถูกกำหนดให้เป็นสถานที่หลบภัย

ขณะที่ “สถานที่อพยพหลบภัย” เป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถมาหลบภัยได้ในยามฉุกเฉิน นอกจากสถานที่อย่างเช่นโรงยิมแล้ว สถานที่โล่งกว้าง เช่น สวนสาธารณะ ก็อาจกำหนดให้เป็น “สถานที่อพยพหลบภัย” ด้วย

“ศูนย์อพยพหลบภัย” อาจถูกน้ำท่วมหรือจมอยู่ใต้น้ำเมื่อเกิดสึนามิหรือเหตุน้ำท่วม กฎพื้นฐานก็คือให้ไปยัง “สถานที่” อพยพหลบภัย แทนที่จะไปยัง “ศูนย์” อพยพหลบภัย เมื่อภัยอันตรายจวนจะเกิดขึ้น

“สถานที่อพยพหลบภัย” จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของภัยพิบัติ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ริมชายฝั่งเผชิญความเสี่ยงสูงเรื่องสึนามิ และพื้นที่ใกล้ภูเขามีความเสี่ยงสูงเรื่องดินถล่ม คุณควรยืนยันเรื่องเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า

รัฐบาลญี่ปุ่นทำให้ความต่างระหว่าง “ศูนย์อพยพหลบภัย” และ “สถานที่อพยพหลบภัย” ชัดเจนมากขึ้นโดยอิงจากบทเรียนที่ได้รับเมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2554 ในตอนนั้น ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากเพราะพวกเขาอพยพไปยัง “ศูนย์” อพยพหลบภัยที่เป็นอันตราย

คุณควรยืนยันไว้ล่วงหน้าว่าจะอพยพไปที่ไหนเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2567)

NHK นำเสนอข้อมูลประเภทใด ตอนที่ 1

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในท้องถิ่นจากแผนที่ภัยพิบัติ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า NHK นำเสนอข้อมูลประเภทใด

คุณสามารถดูแผนที่ภัยพิบัติได้บน “Your Weather and Bosai” ที่บนเว็บไซต์ของ NHK และแอปพลิเคชัน “News/Bosai” ของ NHK ข้อมูลดังกล่าวมีแต่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น

เมื่อคุณคลิกที่ “Hazard Map” ที่อยู่ตรงมุมขวามือด้านบน คุณจะถูกนำไปยังเว็บไซต์ที่สามารถค้นหาแผนที่ภัยพิบัติได้ทั่วประเทศ ด้วยการกรอกชื่อของท้องถิ่นนั้น ๆ หรือรหัสไปรษณีย์

“Your Weather and Bosai” ก็เสนอข้อมูลหลากหลาย เช่น พยากรณ์อากาศของแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลเรื่องอุณหภูมิ ฝนตก ทิศทางลม และความเร็วลมที่บันทึกไว้ที่จุดสังเกตการณ์สภาพอากาศของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับพื้นที่ที่คุณกรอกข้อมูลลงทะเบียนไว้ ข้อมูลสถานการณ์ของเมฆฝนและแม่น้ำก็มีบอกไว้ด้วยเช่นกัน

คำเตือนภัย ระวังภัย และข้อมูลการอพยพที่ประกาศไว้ในหลายพื้นที่ก็ปรากฏอยู่ด้วย

เมื่อ NHK ออกอากาศข่าวที่เกี่ยวข้องในช่วงเกิดไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว หรือสถานการณ์ภัยพิบัติอื่น ๆ คุณสามารถรับชมการออกอากาศสดของทีวีได้พร้อมกับเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม อาจเกิดการดีเลย์ และสัญญาณเวลาหรือการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวอาจมาช้ากว่าที่มีการประกาศจริง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2567)

NHK นำเสนอข้อมูลประเภทใด ตอนที่ 2

NHK จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการทราบถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในท้องถิ่นจากแผนที่ภัยพิบัติ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องที่ว่า NHK นำเสนอข้อมูลประเภทใด

ในเว็บไซต์ “Your Weather and Bosai” ที่เรานำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้วนั้น คุณสามารถดูแผนที่ภัยพิบัติของพื้นที่ของคุณได้ผ่านแอปพลิเคชัน “News/Bosai” เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปนี้และกรอกข้อมูลพื้นที่ที่คุณต้องการรับทราบข้อมูล

แอปนี้สามารถส่งการแจ้งเตือนได้เมื่อมีคำเตือนภัยเรื่องสภาพอากาศหรือการออกข้อมูลอพยพในพื้นที่ที่ผู้ใช้งานบันทึกไว้ บนหน้าจอของแผนที่ คุณสามารถตรวจสอบแผนที่ภัยพิบัติ แผนที่การกระจายตัวของเมฆฝน และสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง

แอป “News/Bosai” ซึ่งให้ข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น สามารถดาวน์โหลดได้ที่ App Store (iOS) และ Google Play (Android) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าธรรมเนียมการสื่อสาร และการเรียกเก็บค่าสื่อสารแบบแพ็คเกจนั้น ผู้ใช้งานต้องรับผิดชอบเอง

แอปดังกล่าวยังสามารถใช้ได้นอกญี่ปุ่นด้วย แต่บางวิดีโอและภาพถ่ายอาจรับชมไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์และอื่น ๆ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2567)