ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

“Phase-free” ทำลายรอยต่อระหว่างช่วงเวลาปกติกับช่วงเวลาฉุกเฉิน

อะไรคือ “phase-free”

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ซึ่งเป็นไอเดียที่จะใช้ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นประโยชน์ในฐานะสิ่งของยามฉุกเฉิน ด้วยการทำลายรอยต่อระหว่างช่วงเวลาปกติกับช่วงเวลาฉุกเฉิน เราจะนำเสนอเกี่ยวกับไอเดีย “phase-free” และการปฏิบัติอันหลากหลายซึ่งเกี่ยวข้องกับไอเดียดังกล่าว

แนวคิดเรื่อง “phase-free” ที่พัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องนั้นได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้

ตัวอย่างง่าย ๆ ของเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่รู้จักกันว่า “rolling stock” ซึ่งเกี่ยวกับการซื้ออาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันในสัดส่วนที่มากกว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ขณะเดียวกันก็ใช้เพื่อเป็นอาหารสำรองฉุกเฉินในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คืออุปกรณ์กลางแจ้งเพื่อใช้ในการปีนเขาหรือตั้งแคมป์ มองกันว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็น “phase-free” ได้ เนื่องจากสามารถใช้ในสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าหรือแก๊สได้

การสำรวจโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งพบว่าราวร้อยละ 40 ของครัวเรือนในญี่ปุ่นไม่มีสิ่งของสำรองอะไรเลย ในการเตรียมตนเองให้พร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

รองศาสตราจารย์ฮาดะ ยาซูโนริ จากมหาวิทยาลัยยามานาชิได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวางแผนเรื่องข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในแบบที่สามารถนำไปใช้ยามภัยพิบัติได้ด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2566)

เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติด้วย “rolling stock”

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันว่า “rolling stock”

เหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้องรอนานถึง 15 วันกว่าที่ไฟฟ้า แก๊ส และน้ำประปาจะสามารถกลับมาให้บริการได้ รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้ประชาชนเก็บสำรองสิ่งของจำเป็นสำหรับใช้ในหนึ่งสัปดาห์สำหรับภัยพิบัติครั้งใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำรองสิ่งของได้มากมายเช่นนั้น ของบางอย่างอาจหมดอายุไปโดยที่คุณไม่ทันรู้ เพื่อเลี่ยงสิ่งนี้ คุณอาจลองใช้วิธี “rolling stock” ได้

วิธีนี้ทำได้โดยการซื้ออาหารที่คุณและครอบครัวกินบ่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยตอนออกไปจับจ่าย กินของที่ใกล้จะหมดอายุก่อนและจากนั้นก็นำของใหม่มาแทนที่กินไปโดยทันที พูดอีกแง่หนึ่งก็คือวิธี “rolling stock” คือการที่คุณซื้อของ เก็บสำรอง และบริโภคของเหล่านั้นซ้ำ ๆ จนเป็นวัฏจักร

คุณสามารถรักษาของที่สำรองไว้ให้พอดีได้ง่าย ๆ ด้วยการกินและใช้ของในชีวิตประจำวันที่คุณเก็บสำรองไว้ ทำให้มั่นใจว่านอกจากน้ำดื่มและอาหารหลักแล้ว คุณต้องหมั่นสำรองผักและผลไม้ไว้ด้วย เนื่องจากในยามภัยพิบัตินั้น เป็นเรื่องยากที่ร่างกายจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุ

เมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ยากที่จะบอกได้ว่าคุณต้องรอนานแค่ไหนกว่าที่ความช่วยเหลือจะมาถึง ด้วยเหตุนี้ “rolling stock” จึงเป็นวิธีที่ได้ผลเพื่อทำให้มั่นใจว่าคุณจะสามารถเอาชีวิตรอดได้ด้วยตัวเองในช่วงหนึ่งสัปดาห์

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2566)

ประเด็นที่ควรพิจารณาในการเก็บสำรองสิ่งของยามภัยพิบัติ

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะนำเสนอประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับการเก็บสำรองสิ่งของยามภัยพิบัติ

เมื่อครั้งเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าจังหวัดชิบะเมื่อปี 2562 ลมที่พัดแรงมากได้ทำให้เสาไฟฟ้าหลายต้นล้ม ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับใน 640,000 ครัวเรือน ผู้อยู่อาศัยจำต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีไฟฟ้าไปจนกว่าที่ไฟฟ้าจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทราบกันทีหลังว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องปั่นไฟ 250 เครื่องที่ทางการท้องถิ่นเตรียมไว้ยามภัยพิบัตินั้น ถูกปล่อยไว้โดยไม่ได้นำมาใช้ เครื่องปั่นไฟเหล่านี้เก็บสำรองไว้เพื่อให้ยืมในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินตามคำขอของทางการท้องถิ่น แต่ทางการท้องถิ่นไม่ทราบว่ามีเครื่องปั่นไฟเหล่านี้อยู่

พบกรณีคล้ายคลึงกันนี้ที่จังหวัดชิซูโอกะเช่นกัน พายุโซนร้อนลูกหนึ่งทำให้เกิดฝนตกมากเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2565 ส่งผลให้ครัวเรือนราว 63,000 ครัวเรือนไม่มีน้ำประปาใช้เกือบสองสัปดาห์ มีการจัดรถบรรทุกน้ำเพื่อไปจ่ายน้ำให้แก่ผู้อยู่อาศัย ต่อมาพบว่าถังบรรจุน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้ยามฉุกเฉินนั้น ถูกปล่อยไว้ไม่ได้ใช้ เนื่องจากผู้อยู่อาศัยไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้

จากกรณีเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทางการท้องถิ่นสำรองไว้เพื่อใช้ยามฉุกเฉินนั้นเปล่าประโยชน์ หากประชาชนไม่ทราบว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2566)

สินค้าเพื่อจำหน่ายกลายเป็นอาหารเพื่อผู้หลบภัย

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะนำเสนอวิธีที่ไม่เหมือนใครที่สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดโทกูชิมะเก็บสำรองอาหารเอาไว้

การทดแทนอาหารที่เก็บสำรองไว้ยามฉุกเฉินทุก ๆ ครั้งเมื่อถึงวันหมดอายุนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก ในบางกรณี อาหารเหล่านี้ต้องถูกทิ้งไปโดยไม่ได้นำมากิน แต่หากแทนที่ของที่เก็บสำรองไว้อยู่เป็นประจำ และของเหล่านี้ก็พร้อมเสมอที่จะนำมาใช้กิน ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายเมื่อยามเกิดภัยพิบัติ

“คูรูคูรุ นารูโตะ” สถานที่ท่องเที่ยวริมทางในจังหวัดโทกูชิมะใช้ระบบที่ไม่เหมือนใคร โดยสถานที่แห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายเนื่องจากจำหน่ายของขึ้นชื่อของท้องถิ่นและอาหารทะเลสดใหม่มาตั้งแต่เปิดร้านเมื่อเดือนเมษายนปี 2565

สินค้าเพื่อจำหน่ายที่สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นอาหารของผู้หลบภัยในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางร้านใช้แนวคิด “phase-free” และตั้งใจสำรองอาหารไว้มากกว่าเดิม ยกเว้นอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย

พื้นที่ของร้านสามารถเก็บอาหารได้มากพอที่จะเลี้ยงดูผู้หลบภัยได้ราว 1,000 คน นาน 3 วัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2566)

เตรียมพร้อมสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งสามารถใช้เป็นสถานที่อพยพหลบภัยได้

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะนำเสนอสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สามารถใช้เป็นสถานที่อพยพหลบภัยได้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ

สวนบนชั้นดาดฟ้าของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดโทกูชิมะออกแบบมาเพื่อให้รองรับผู้อพยพได้ในยามเกิดสึนามิ สถานที่แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 6 กิโลเมตรนั้น คาดว่าระดับน้ำจะสูงถึง 3 เมตรหากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามแนวร่องนังไก นอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น

พื้นที่บนชั้นดาดฟ้าดังกล่าวเปิดให้คนทั่วไปเข้าได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเวลาทำการของสถานที่แห่งนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม

มีการทำทางลาดที่ปูหญ้าไว้ซึ่งเป็นทางที่ขึ้นไปถึงดาดฟ้าดังกล่าว ในยามปกติ ผู้คนสามารถใช้เลื่อนลื่นลงมาได้ แต่ในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็สามารถใช้เป็นทางให้ยานพาหนะขึ้นไปได้

สวนแห่งนี้มุ่งหวังที่จะดึงดูดผู้คนให้มาพักผ่อนหย่อนใจอยู่เป็นประจำ เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่ออกแบบมาอย่างน่าสนใจรวมถึงของที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก็เหมาะกับการถ่ายรูปสวย ๆ ด้วย ทางการท้องถิ่นหวังว่าผู้คนจะคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้และตระหนักว่าสามารถอพยพมาที่นี่ได้ในยามภัยพิบัติ

ชุมชนท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่นกำลังดำเนินการสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ โดยพบว่าสถานที่ดังกล่าวมีประโยชน์สำหรับผู้หลบภัยหลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2554 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ให้จอดรถ มีน้ำและอาหาร รวมถึงห้องน้ำ เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินความพยายามเพื่อปรับปรุงสถานที่เหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในยามภัยพิบัติ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2566)

บริหารจัดการโรงแรมในแบบ “phase-free”

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะนำเสนอโรงแรมแห่งหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นได้นอกเหนือจากการเป็นที่พัก

โรงแรมที่อยู่ในจังหวัดชิบะนี้รับรองผู้คนที่มาเยือนชิบะทางรถยนต์เพราะมาทำงาน แต่ในยามภัยพิบัติ ห้องพักในโรงแรมสามารถส่งไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อใช้เป็นสถานที่อพยพหลบภัย หรือเป็นคลินิกชั่วคราวได้

ห้องพักดังกล่าวมีโต๊ะและห้องน้ำสำเร็จรูป เหมือนกับห้องพักโรงแรมทั่ว ๆ ไป แต่การก่อสร้างนั้นใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งและมีล้อติดอยู่ด้านล่างเหมือนกับรถบ้าน เมื่อนำไปติดเข้ากับรถบรรทุกแล้ว ก็สามารถลากไปที่ต่าง ๆ ได้โดยง่าย

บริษัทที่บริหารจัดการโรงแรมนี้เคยผลิตห้องจากตู้คอนเทนเนอร์ และให้บริการห้องเก็บของโดยใช้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ หลังภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2554 ผู้จัดการโรงแรมเห็นว่าที่หลบภัยสำหรับผู้อพยพขาดความเป็นส่วนตัว จึงเปิดที่พักชั่วคราวสำหรับผู้หลบภัยโดยใช้ห้องคอนเทนเนอร์ สิ่งนี้ทำให้บริษัทดังกล่าวผันตัวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม

ปัจจุบัน บริษัทนี้ทำกิจการโรงแรมตู้คอนเทนเนอร์ที่สถานที่ 60 แห่งทั่วญี่ปุ่น ในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บริษัทให้ทางการท้องถิ่นเช่าโรงแรมคอนเทนเนอร์นี้เป็นสถานที่ตรวจ PCR หรือใช้เป็นห้องพักผ่อนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ บริษัทได้ทำข้อตกลงกับทางการท้องถิ่น 108 แห่งทั่วญี่ปุ่น เพื่อให้เช่าห้องคอนเทนเนอร์นี้เป็นกรณีพิเศษในยามเกิดภัยพิบัติ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2566)

สินค้าเพื่อเอาชีวิตรอดในยามฉุกเฉินที่อิงจากแนวคิด “Phase-free”

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะนำเสนอสินค้าเพื่อเอาชีวิตรอดในยามฉุกเฉินที่พัฒนาขึ้นโดยอิงจากแนวคิด “phase-free”

เมื่อไม่นานมานี้ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้แนวคิด “phase-free” จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้วยกระดาษอเนกประสงค์ที่มีการเขียนบอกปริมาณติดเอาไว้ ในยามอพยพหลบภัย ถ้วยดังกล่าวมีประโยชน์สำหรับใช้กินยาและสำหรับแม่ที่ต้องเตรียมนมผงให้ลูก

ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้แก่ ปากกาลูกลื่นซึ่งใช้ไส้อัดแรงดัน ปากกาดังกล่าวสามารถใช้เขียนได้ทั้งแนวราบและแนวตั้ง หรือเขียนบนกระดาษที่เปียกชื้นได้

อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งก็คือกระเป๋าเป้ที่มีนกหวีดติดอยู่ที่สายสะพายไหล่ ในยามฉุกเฉิน นกหวีดสามารถส่งเสียงได้ดังมากพอที่จะไปถึงระยะไกล ๆ ได้

ท้ายสุดคือผ้าฟูโรชิกิที่ไว้ห่อของ ผ้านี้มีประโยชน์มากในช่วงภัยพิบัติ ผ้าที่มีลักษณะเป็นผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้สามารถพับเป็นกระเป๋าคาดเอวเพื่อเก็บของสำคัญ และยังสามารถใช้เป็นหมวกเพื่อคลุมศีรษะและปิดปากเมื่อมีฝุ่นละอองลอยอยู่ในอากาศ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นเป้อุ้มเด็กได้ด้วย หรือยังทำหน้าที่เป็นเสื่อเมื่อพื้นเย็น ควรพกผ้านี้ติดตัวไว้ตลอดเวลา เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและไม่เทอะทะ

สิ่งของเหล่านี้ไม่ควรนำไปเก็บไว้จนกว่าจะเกิดภัยพิบัติ หากนำมาใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้งานได้ทันทีในช่วงภัยพิบัติ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2566)

การเรียนการสอนเรื่อง “Phase-free” ในโรงเรียน

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์และสถานที่ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด “phase-free” ครั้งนี้เราจะนำเสนอชั้นเรียนสำหรับเด็ก ๆ ที่มีการเรียนการสอนอิงแนวคิด “phase-free”

โรงเรียนบางแห่งในญี่ปุ่นกำลังจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับแนวคิด “phase-free” โรงเรียนประถมศึกษาในเมืองนารูโตะ จังหวัดโทกูชิมะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่สอนเรื่องนี้

ในชั้นเรียนพลศึกษา เด็ก ๆ ในโรงเรียนนี้จะได้ฝึกฝนการเดินบนคานทรงตัวไปพร้อมกับการหลบลูกบอลสีแดง ที่วางไว้เพื่อใช้แทนสิ่งกีดขวาง คุณครูถามเด็ก ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อต้องเหยียบไปบนของบางอย่างที่อันตรายซึ่งร่วงลงมาตอนเกิดแผ่นดินไหว เด็กนักเรียนคนหนึ่งตอบว่า “ของบางอย่างอาจบาดเท้าได้ ทำให้เลือดออก” อีกคนหนึ่งตอบว่า “นั่นอาจทำให้บาดเจ็บได้” การฝึกฝนเช่นนี้ทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าควรต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์นั้น เด็ก ๆ เปรียบเทียบความเร็วของคลื่นสึนามิกับการวิ่งของนกกระจอกเทศและยีราฟ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการคำนวณว่าสึนามิเคลื่อนมาด้วยความเร็ว 10 เมตรต่อวินาที หมายความว่าสึนามิใช้เวลา 5 วินาทีในการเคลื่อนไป 50 เมตร เด็ก ๆ สังเกตว่าการเริ่มอพยพหลังสึนามิเคลื่อนมาแล้วถือเป็นเรื่องที่สายเกินไป เนื่องจากเด็ก ๆ ทราบว่าต้องใช้เวลากี่วินาทีถึงจะวิ่งได้ 50 เมตรในชั้นเรียนพลศึกษา การสอนด้วยวิธีนี้ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ว่าสึนามิเคลื่อนตัวเร็วเพียงใด

โรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยมต้นทั้งหมดในเมืองนารูโตะเข้าร่วมแนวคิดเรื่อง “phase-free” ในหลักสูตรการเรียนการสอนของตน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2566)