ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

วิธีปกป้องตัวเองจากเพลิงไหม้ที่เกิดในตัวเมืองหลังแผ่นดินไหว

ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวคันโตปี 2466 เป็นผู้เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้

เมื่อปี 2557 คณะกรรมการวิจัยแผ่นดินไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า มีความเป็นไปได้ร้อยละ 70 ที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่กรุงโตเกียวในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อเมืองใหญ่ประสบแผ่นดินไหวรุนแรง จะมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นด้วย 

ทางการกรุงโตเกียวประมาณว่าในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เช่นนี้ แค่กรุงโตเกียวที่เดียว อาจมีอาคารบ้านเรือนราว 112,000 แห่งถูกเพลิงไหม้ จะสามารถปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้อย่างไร เราจะนำเสนอวิธีการเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้

มีผู้คนราว 105,000 คนเสียชีวิตหรือสูญหายในเหตุแผ่นดินไหวใหญ่คันโตเมื่อวันที่ 1 กันยายนปี 2466 ราวร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิต หรือคิดเป็น 92,000 คน คาดกันว่าเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ 

อะไรที่เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขนาดนี้ เหตุผลหนึ่งก็คือช่วงเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นช่วงก่อนเที่ยงวันเล็กน้อยในวันเสาร์ และผู้คนกำลังทำอาหารกลางวันโดยใช้ถ่าน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นพร้อม ๆ กัน การใช้แก๊สหรือน้ำมันในฐานะแหล่งพลังงาน ยังไม่ได้รับความนิยมในช่วงนั้น และตอนนั้นก็ยังมีไต้ฝุ่นเหนือทะเลญี่ปุ่น ทำให้ลมจากทิศใต้พัดเข้ากรุงโตเกียวแรงมาก ไฟลุกไหม้ลามไปอย่างรวดเร็วตามแรงลม 

ยิ่งไปกว่านั้น นักดับเพลิงไม่สามารถดับเพลิงได้ เนื่องจากแผ่นดินไหวได้ทำลายโครงข่ายการจ่ายน้ำในตัวเมือง ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ได้แก่ กรุงโตเกียวเป็นเมืองที่มีบ้านไม้ตั้งอยู่ติด ๆ กัน ทำให้ไฟลามอย่างรวดเร็ว และผู้อพยพหนีไฟยังนำสิ่งของใดก็ตามของครอบครัวที่สามารถหยิบติดตัวมาด้วย แม้ของเหล่านั้นจะติดไฟและทำให้ไฟลามก็ตาม 

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2566)

ความเสียหายที่ตามมาจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลังแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิปี 2538

เมื่อเมืองใหญ่ประสบแผ่นดินไหวใหญ่ ก็มักจะมีเหตุเพลิงไหม้ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้นี้ได้อย่างไร โดยมุ่งเน้นที่เหตุเพลิงไหม้จำนวนมากที่เกิดขึ้นไม่นานหลังแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิปี 2538

แผ่นดินไหวที่มีแรงสั่นสะเทือนสูงสุดที่ระดับ 7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0-7 ถูกบันทึกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการเฝ้าสังเกตการณ์ เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิเมื่อวันที่ 17 มกราคมปี 2538

ในบรรดาผู้เสียชีวิต 6,434 คน มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้เสียชีวิตเนื่องจากติดอยู่ใต้ซากอาคารบ้านเรือนที่พังถล่มและจมอยู่ในกองเพลิง แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ราว 290 กรณี ซึ่งทำลายอาคารบ้านเรือนกว่า 7,000 แห่งอย่างสิ้นซาก

ลักษณะเด่นที่สุดของเพลิงไหม้นี้คือเป็นเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในพื้นที่หลายแห่ง อาคารบ้านเรือนที่พังถล่มลงมาติดไฟได้ง่าย จึงเกิดเปลวไฟเกือบทุกพื้นที่ทั่วเมือง

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุอย่างยากลำบาก เนื่องจากการจราจรติดขัดและมีเศษซากมาขวางกั้นบนถนน ผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นและหน่วยดับเพลิงอาสาสมัครพยายามอย่างสุดความสามารถในการดับเพลิง อย่างไรก็ตาม ไม่มีน้ำมากพอให้ใช้เพราะการจ่ายน้ำถูกตัดสืบเนื่องจากภัยพิบัติ เปลวเพลิงลุกไหม้ไปจนถึงช่วงกลางคืน สามวันต่อมาจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ทั้งหมด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2566)

ความเสียหายจากเพลิงไหม้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวใหญ่ใต้แผ่นดินโตเกียว

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร โดยมุ่งเน้นว่าความเสียหายจากเพลิงไหม้แบบใดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีแผ่นดินไหวใหญ่ที่ใต้แผ่นดินของกรุงโตเกียวโดยตรง

รัฐบาลประมาณว่าแผ่นดินไหวเช่นว่านี้อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 23,000 คน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 95 ล้านล้านเยน หรือเกือบ 24 ล้านล้านบาท

คาดว่าแผ่นดินไหวใหญ่ในกรุงโตเกียวจะทำให้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ทันที ในการคาดการณ์ที่เผยแพร่โดยทางการกรุงโตเกียวเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ระบุว่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7.3 ขึ้นในช่วงเย็นของฤดูหนาวซึ่งมีลมพัดอยู่ที่ประมาณ 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาคารบ้านเรือนประมาณ 112,000 หลังในกรุงโตเกียวอาจถูกเพลิงไหม้เผาทำลาย

การคาดการณ์ดังกล่าวระบุยอดรวมของผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวไว้ที่ 6,148 คน ในจำนวนนี้ 2,482 คน หรือกว่าร้อยละ 40 คาดว่าเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ คาดว่าแนวโน้มของเพลิงไหม้จะไม่แผ่ขยายออกไปในพื้นที่ที่มีอาคารคอนกรีตสูงตั้งอยู่หนาแน่นภายในวงรอบของทางรถไฟสายยามาโนเตะของการรถไฟญี่ปุ่น ซึ่งวิ่งเป็นวงกลมรอบใจกลางกรุงโตเกียว

แต่อีกแง่หนึ่ง อาคารบ้านเรือนจำนวนมากมีแนวโน้มถูกเพลิงไหม้เผาทำลายในพื้นที่ทางตะวันตกและตะวันออกของทางรถไฟสายยามาโนเตะ ซึ่งหลายย่านแถวนั้นมีบ้านไม้ตั้งเรียงรายหนาแน่น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2566)

เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลังเหตุแผ่นดินไหว

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร โดยมุ่งเน้นเรื่องเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลังแผ่นดินไหวใหญ่

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูดประมาณ 7 ซึ่งเกิดขึ้นที่ใต้พื้นที่ทั้งในและโดยรอบกรุงโตเกียวนั้น จะทำให้เกิดเพลิงไหม้พร้อมกันราว 2,000 จุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนหลายแห่ง รัฐบาลระบุว่าเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว มีประมาณ 600 กรณีที่จะไม่สามารถดับเพลิงได้ก่อนที่จะลามออกไป ทำให้กลายเป็นเพลิงไหม้ครั้งใหญ่

พื้นที่ที่เสี่ยงมากต่อเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวก็คือพื้นที่ที่มีบ้านไม้ตั้งอยู่หนาแน่น ถนนในย่านเหล่านี้มีแนวโน้มเป็นถนนแคบ ๆ ทำให้ไฟลามไปยังอาคารบ้านเรือนอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงได้โดยง่าย

ที่กรุงโตเกียวนั้น พื้นที่ที่มีบ้านไม้ตั้งอยู่ใกล้กันกระจายเป็นวงรอบบริเวณใจกลางเมือง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 130 ตารางกิโลเมตร หน่วยดับเพลิงของกรุงโตเกียวได้จำลองสถานการณ์ในเขตซูงินามิซึ่งเป็นย่านพักอาศัยที่มีบ้านไม้ตั้งอยู่หนาแน่น เพื่อดูว่าเพลิงไหม้ที่เริ่มจากบ้านหนึ่งหลังจะลามไปยังบ้านหลังอื่น ๆ ได้อย่างไร โดยพบว่าถ้าในขั้นแรก ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เพลิงไหม้อาจลามไปยังอาคารบ้านเรือน 13,000 แห่งใน 76 ชั่วโมงนับจากที่เพลิงเริ่มลุกไหม้

กลุ่มอาคารบ้านเรือนที่อาจเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งเดียวเรียกว่า “ชุมชนที่มีชะตากรรมร่วมกันในเหตุเพลิงไหม้” งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวพบว่า มีชุมชนเช่นว่านี้ 70 แห่งในกรุงโตเกียว โดยแต่ละแห่งมีอาคารบ้านเรือนอย่างน้อย 3,000 หลังตั้งอยู่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2566)

พายุเพลิงคืออะไร

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร โดยมุ่งเน้นเรื่องพายุเพลิงซึ่งเป็นเพลิงไหม้ประเภทหนึ่งที่พบเห็นได้ในพื้นที่เขตเมืองหลังจากเกิดแผ่นดินไหว

พายุเพลิงเป็นลมหมุนชนิดหนึ่งที่เกิดจากเพลิงไหม้ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ ลมหมุนที่เกิดจากเพลิงไหม้แบบมีเปลวไฟ และลมหมุนที่เกิดจากเพลิงไหม้แบบไม่มีเปลวไฟ

ลมหมุนที่เกิดจากเพลิงไหม้แบบมีเปลวไฟนั้น ในบางครั้งเปลวไฟอาจสูงกว่า 200 เมตร ส่งผลเกิดเป็นทอร์นาโดเพลิงขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับลมพัดรุนแรงซึ่งสามารถถอนรากถอนโคนอาคารบ้านเรือนรวมถึงผู้คน และสามารถเผาไหม้เมืองทั้งเมืองได้ พายุเพลิงทำให้ละอองไฟกระจายไปในบริเวณที่กินวงกว้าง ส่งผลให้เพลิงไหม้ขยายวงไปยังพื้นที่ที่ไม่ได้เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่แรก

ลมหมุนที่เกิดจากเพลิงไหม้แบบไม่มีเปลวไฟก็เป็นอันตรายเช่นกัน และอาจทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ เชื่อว่าเหตุดังกล่าวพัฒนาไปเป็นทอร์นาโดอันดำมืด เนื่องจากลมแรงหอบทรายและควันมา

หลังเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ คาดว่าพายุเพลิงก่อตัวขึ้นจากการปะทะกันระหว่างกระแสลมที่พัดขึ้นสูงกับลมที่อยู่รอบ ๆ ในบางครั้ง พายุเพลิงที่คล้ายกับทอร์นาโดสีดำเกิดขึ้นใต้ลมของเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ พายุเพลิงประเภทนี้อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บครั้งใหญ่ตามมาได้ เนื่องจากผู้คนไม่สามารถตรวจจับได้ว่ามันกำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางคืนที่ด้านนอกมืดแล้ว

พายุเพลิงเคลื่อนตัวไม่เหมือนเพลิงไหม้ทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพยากรณ์ทิศทางที่พายุเพลิงดังกล่าวจะพัดไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566)

พายุเพลิงอาจสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร โดยมุ่งเน้นเรื่องพายุเพลิงที่โหมรุนแรงว่าสามารถทำลายพื้นที่ประสบแผ่นดินไหวได้อย่างไร

เกิดพายุเพลิงขนาดใหญ่หลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 จู่ ๆ เกิดลมหมุนเปลวไฟขนาดใหญ่ที่เมืองเคเซ็นนูมะในจังหวัดมิยางิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกำลังต่อสู้กับเพลิงไหม้หลังเกิดแผ่นดินไหว

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ดับเพลิงระบุว่าวัตถุที่ถูกเพลิงไหม้ก่อตัวเป็นลมหมุนและเคลื่อนขึ้นสูง คล้ายกับงูที่กำลังขดตัวช้า ๆ ลอยขึ้นไปบนฟ้า ต่อมาผู้เชี่ยวชาญระบุว่าพายุเพลิงดังกล่าวสูง 230 เมตร และกว้าง 130 เมตร

ในเหตุแผ่นดินไหวใหญ่คันโตเมื่อปี 2466 กล่าวกันว่าผู้คน 38,000 คน หรือราวร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้หลังแผ่นดินไหว เสียชีวิตเพราะพายุเพลิง ในช่วง 34 ชั่วโมงนับจากหนึ่งชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว พบเห็นพายุเพลิง 110 จุดในกรุงโตเกียว และ 30 จุดในโยโกฮามะ หนึ่งในพายุเพลิงดังกล่าวเคลื่อนตัวเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร โดยหอบเอาผู้คน รถลาก ท่อนไม้ และสิ่งของอื่น ๆ ขึ้นไปบนท้องฟ้า

การป้องกันไว้ก่อนจึงสำคัญจำเป็นเนื่องจากพายุเพลิงทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บใหญ่หลวงในเมืองที่มีผู้คนหนาแน่นอย่างเช่นกรุงโตเกียว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2566)

จะรับมือกับพายุเพลิงได้อย่างไร

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นว่าควรปฏิบัติอย่างไรในยามที่เกิดเหตุการณ์เช่นว่านี้

ชิโนฮาระ มาซาฮิโกะ นักวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิจัยแห่งชาติด้านเพลิงไหม้และภัยพิบัติกล่าวว่า มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับกลไกของพายุเพลิง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีการกำหนดมาตรการที่แน่นอน แต่เขาให้คำแนะนำโดยอิงจากข้อมูลในอดีตและข้อพิสูจน์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

– ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่เพลิงไหม้แผ่ลามไปอย่างมาก เนื่องจากพายุเพลิงครั้งใหญ่ที่เคลื่อนตัวเร็วมากนั้น มีแนวโน้มเกิดขึ้นในสถานที่เช่นว่านี้
– ไม่ควรไปอยู่ด้านใต้ลมของเพลิงไหม้ เนื่องจากในบางครั้ง อาจเกิดพายุเพลิงที่คล้ายทอร์นาโดดำมืด
– เฝ้าระวังตื่นตัวต่อสัญญาณเตือนซึ่งอาจบ่งชี้ว่าพายุเพลิงจวนจะเกิดขึ้น สัญญาณดังกล่าวรวมถึงฟ้ามืดที่มีขี้ดินและควันหมุนวนขึ้นไปบนอากาศ และเสียงคำรามสนั่นคล้ายกับที่เกิดขึ้นเวลามีฝนตกหนัก
– เมื่อคุณอยู่ใกล้กับลมหมุนที่เกิดจากเพลิงไหม้แบบไม่มีเปลวไฟซึ่งดูคล้ายกับควันดำ ให้หนีไปยังอาคารที่มั่นคง เช่น อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และอยู่ให้ห่างจากหน้าต่างที่เป็นกระจก หรือควรไปหลบภัยที่ด้านหลังอาคารและงอตัว ไม่ควรอยู่ใกล้รถยนต์ ที่เก็บของ และเสาไฟ เนื่องจากลมหมุนอาจทำให้สิ่งเหล่านี้ปลิวว่อน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2566)

จะรับมือกับเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างไร

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องวิธีการอพยพหลบภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้พร้อมกันหลายจุดหลังแผ่นดินไหวใหญ่

ศาสตราจารย์มูโรซากิ โยชิเตรุ จากมหาวิทยาลัยเฮียวโงะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติระบุว่า ผู้คนควรคิดว่าเพลิงไหม้ในลักษณะที่เกิดขึ้นพร้อมกันในพื้นที่เขตเมืองนั้นแตกต่างจากเพลิงไหม้ทั่ว ๆ ไป เขากล่าวว่าทันทีหลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ การจะระบุจุดที่เกิดเพลิงไหม้นั้นเป็นเรื่องยาก ภายใต้สถานการณ์เช่นว่านี้ ผู้คนไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะหนีไปทางใด ทำให้การลงมือปฏิบัติอย่างรวดเร็วไม่สามารถทำได้

คุณควรเฝ้าระวังแม้ดูเหมือนว่าเพลิงไหม้จะเกิดขึ้นในสถานที่ที่อยู่ไกล เนื่องจากมีความเป็นไปได้ด้วยว่าเปลวเพลิงกำลังลามอยู่ภายในบ้านที่ดูเหมือนไม่เสียหายอะไรรอบ ๆ ตัวคุณ

นอกจากเพลิงไหม้แล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้การหลบภัยเป็นเรื่องยาก ถ้ามีบ้านหลายหลังพังถล่มในพื้นที่ที่มีบ้านไม้ตั้งอยู่หนาแน่นและมีทางเดินแคบ ๆ คุณจะเผชิญความยากลำบากในการหนีไปจากที่นั่น มีหลายคนจะรีบไปยังทางเดินไม่กี่เส้นทางเพื่อให้ผ่านออกไปให้ได้ ซึ่งทำให้เกิดความอลหม่าน เพื่อเลี่ยงสถานการณ์อันสับสนวุ่นวาย คุณควรไปยังสถานที่อพยพหลบภัยที่กำหนดไว้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณควรจำไว้ว่า “ถ้าเห็นกลุ่มควันมากกว่าสองกลุ่มอยู่ห่างไปราว 500 เมตร คุณควรเริ่มอพยพหลบภัย”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566)

ควรอพยพหลบภัยไปที่ใดเมื่อเกิดเพลิงไหม้พร้อมกันหลายจุด

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องความแตกต่างของสถานที่ที่สามารถอพยพหลบภัยได้ในยามเกิดภัยพิบัติ และควรอพยพไปที่ใดเมื่อเกิดเพลิงไหม้พร้อมกันหลายจุด

ที่ญี่ปุ่นนั้น มีสถานที่ 2 ประเภทที่กำหนดไว้โดยทางการท้องถิ่นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถอพยพหลบภัยได้ ซึ่งได้แก่ สถานที่พักพิงอพยพหลบภัยและสถานที่อพยพหลบภัยแบบเปิดโล่ง

สถานที่พักพิงอพยพหลบภัยนั้นเป็นอาคารที่ผู้คนสามารถพักอาศัยได้ในยามที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองเนื่องจากภัยพิบัติ โดยปกติแล้ว โรงยิมของโรงเรียนประถมและมัธยมต้น รวมถึงศูนย์บริการของชุมชน ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่พักพิงอพยพหลบภัย

ส่วนสถานที่อพยพหลบภัยแบบเปิดโล่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถหาที่คุ้มครองได้ในยามเกิดภัยพิบัติ เมื่อต้องหนีมาจากภัยอันตรายถึงชีวิตที่เกิดขึ้นแบบจวนตัว สถานที่ที่กำหนดไว้นั้นรวมถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่และพื้นที่ริมแม่น้ำ

เพื่อเป็นการปกป้องชีวิตของคุณจากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุด ในทางหลักการแล้ว คุณควรหนีไปยังสถานที่อพยพหลบภัยแบบเปิดโล่ง สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่กลางแจ้งที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้คุณทิ้งระยะห่างได้อย่างปลอดภัยจากเพลิงที่กำลังลุกลามและปกป้องคุณจากรังสีความร้อนที่แผ่ออกมาจากเพลิงไหม้

การอพยพไปยังสนามเด็กเล่นของโรงเรียนหรือสถานที่กลางแจ้งที่มีขนาดใกล้เคียงกันนั้นถือเป็นเรื่องอันตราย สถานที่เช่นว่านี้ไม่ใหญ่พอที่จะปกป้องคุณจากเพลิงไหม้ที่กำลังลุกลามอยู่ใกล้ ๆ เนื่องจากคุณจะหายใจเอาอากาศร้อนจากรังสีความร้อนเข้าไปเป็นระยะเวลานาน

กรุณาทำให้มั่นใจว่าได้ตรวจสอบแผนที่ความพร้อมรับมือภัยพิบัติและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดทำโดยทางการท้องถิ่น และควรทราบถึงสถานที่พักพิงอพยพหลบภัยและสถานที่อพยพหลบภัยแบบเปิดโล่งในย่านพักอาศัยของคุณ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2566)

การกลับเข้าบ้านอาจไม่ปลอดภัย

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องควรทำอย่างไรหากอยู่ในใจกลางกรุงโตเกียวขณะที่เกิดภัยพิบัติ

คนจำนวนมากอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวในช่วงกลางวัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักงานและสถานที่ทำงานอื่น ๆ หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในตอนกลางวัน ถนนก็จะคลาคล่ำด้วยผู้คนที่พยายามกลับบ้าน

เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันศุกร์ ที่กรุงโตเกียวนั้น รถไฟระงับให้บริการและส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ ผู้คนประมาณ 5.15 ล้านคนซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับบ้านอย่างไร ใช้วิธีการเดินไปเรื่อย ๆ ในพื้นที่ตัวเมืองโตเกียวและรอบ ๆ

แต่พฤติกรรมเหล่านี้อาจเพิ่มอันตรายแก่ตัวเรามากขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้หลายจุดซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันหลังแผ่นดินไหว คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ใต้กรุงโตเกียวโดยตรง จะเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่คล้ายรูปโดนัทในใจกลางกรุงโตเกียว อาคารบ้านเรือนจำนวนมากที่ศูนย์กลางของย่านกลางกรุงโตเกียวสร้างขึ้นจากวัสดุอย่างเช่นคอนกรีต ซึ่งทนเพลิงไหม้ได้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจเกิดเพลิงไหม้ไม่กี่จุดในพื้นที่ดังกล่าว แต่หากผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเริ่มมุ่งหน้ากลับบ้านจากหลายทิศทาง ก็อาจเจอกับเหตุเพลิงไหม้ระหว่างทาง รัฐบาลแนะนำว่าหากอยู่ในอาคารที่มั่นคงแข็งแรงในใจกลางกรุงโตเกียวหรือที่อื่น ๆ อยู่แล้ว ก็ให้อยู่ที่เดิมไปก่อนแทนที่จะเสี่ยงกลับมาบ้าน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2566)

การป้องกันเพลิงไหม้ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของเพลิงไหม้

เพลิงไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากในเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิ เมื่อเดือนมกราคมปี 2538 ร้อยละ 60 ของเพลิงไหม้มีสาเหตุมาจากไฟฟ้า

กว่าครึ่งหนึ่งของเหตุเพลิงไหม้เมื่อครั้งแผ่นดินไหวใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นในปี 2554 ก็เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น สิ่งของที่กระจัดกระจายเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนรุนแรงอาจไปโดนเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าและติดไฟได้ ส่วนกรณีอื่น ๆ ก็คือสายไฟที่เสียหายอาจปล่อยประกายไฟออกเมื่อไฟฟ้ากลับมาใช้งานได้ตามปกติหลังไฟดับ หากเริ่มเกิดเพลิงไหม้ในตอนที่ไม่มีใครอยู่บ้าน ก็อาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่เพื่อนบ้านด้วย

มาตรการดังต่อไปนี้ใช้ได้ผลในการป้องกันเพลิงไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้า
– เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง ควรรีบปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและถอดปลั๊กออก
– ปิดเซอร์กิตเบรกเกอร์หลักเมื่อต้องอพยพหลบภัย
– ติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ตรวจจับแผ่นดินไหวได้เพื่อให้ตัดไฟอัตโนมัติ เมื่อตรวจจับได้ว่าเกิดแรงสั่นสะเทือนในระดับหนึ่ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2566)

การจำกัดความเสียหายด้วยการดับเพลิงตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม

เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวได้อย่างไร ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการดับเพลิงตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม

การดับเพลิงแต่เนิ่น ๆ นั้นสำคัญเพื่อจำกัดความเสียหาย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ รถดับเพลิงอาจไปไม่ถึงสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้และอาจเกิดปัญหาขัดข้องเรื่องการจ่ายน้ำด้วย

มีประเด็นสำคัญสามข้อที่ควรทราบไว้ในการรับมือช่วงแรกเริ่มที่เกิดเพลิงไหม้ภายในอาคาร

ข้อแรก การรักษาความปลอดภัยของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในยามเกิดแผ่นดินไหว ถึงแม้จะมีบางสิ่งติดไฟแล้วและเปลวเพลิงเล็กอยู่ ก็คอยให้แผ่นดินไหวหยุดก่อนถึงค่อยดับก็ได้

ข้อที่สอง ตะโกนบอกผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเตือนเรื่องเพลิงไหม้และขอความช่วยเหลือ

ข้อที่สาม ควรรู้ว่าต้องล้มเลิกความตั้งใจดับเพลิงด้วยตนเองตอนไหน เมื่อเพดานติดไฟ เปลวเพลิงอาจลามไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปลวเพลิงสูงถึงระดับตา ควรเลิกล้มความตั้งใจดับเพลิงและหนีออกมาทันที

ที่ดับเพลิงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการดับเพลิงที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น ควรเรียนรู้วิธีใช้เอาไว้

ศาสตราจารย์นากาบายาชิ อิตซูกิ จากมหาวิทยาลัยนครโตเกียว เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยพิบัติในตัวเมือง เขากล่าวว่าแต่ละคนต้องพยายามช่วยป้องกันเพลิงไหม้ เมื่อทำเช่นนี้แล้ว อาจมีเพลิงไหม้เกิดขึ้นพร้อมกันน้อยลงหลังแผ่นดินไหว

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566)