ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

จะปกป้องตนเองจากฟ้าผ่าได้อย่างไร

ความเสี่ยงที่อาจถูกฟ้าผ่า

ที่ญี่ปุ่นนั้น เหตุฟ้าผ่าลงพื้นเกิดขึ้นที่ประมาณ 100,000 ครั้งต่อเดือน แต่เดือนที่เกิดฟ้าผ่าบ่อย ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงถึง 1,000,000 ครั้ง ฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงฤดูร้อนในยามที่สภาพอากาศแปรปรวน ขณะนี้ญี่ปุ่นเข้าใกล้ช่วงฤดูร้อน เราจึงขอนำเสนอว่าจะปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าได้อย่างไร

เมฆคิวมูโลนิมบัสอาจทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง และฟ้าผ่า เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้อง ควรเข้าไปยังสถานที่ปลอดภัยในอาคารทันที ถึงแม้ว่าจะมีช่วงทิ้งห่างระหว่างฟ้าแลบกับฟ้าร้อง แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าคุณจะปลอดภัย

เสียงเดินทางประมาณ 340 เมตรต่อวินาที ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าแลบกับฟ้าร้อง มีช่วงเว้นห่าง 10 วินาที หมายความว่าฟ้าแลบอยู่ห่างออกไป 3.4 กิโลเมตร แต่กล่าวกันว่าขนาดของเมฆพายุนั้นยาวหลายสิบกิโลเมตร ถ้าจะพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ หากคุณได้ยินเสียงฟ้าร้อง นั่นเท่ากับว่าคุณอาจอยู่ใต้เมฆพายุแล้ว และฟ้าแลบก็อยู่ใกล้พอที่อาจจะผ่าลงมาที่คุณ

ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณเข้าใกล้เมฆคิวมูโลนิมบัสที่ก่อตัวขึ้นมาแล้ว คุณควรเฝ้าระวังอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ซึ่งรวมถึงการที่อยู่ดี ๆ ฟ้าก็มืดลง ลมเย็น หรือจู่ ๆ เกิดลูกเห็บตก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าอาจเกิดฟ้าผ่าได้

หากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออกคำเตือนฉุกเฉิน คุณควรงดออกไปข้างนอกหรือรอจนกว่าฝนจะเบาลง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566)

สถานที่ที่เสี่ยงสูงว่าจะถูกฟ้าผ่า: ในพื้นที่เปิดโล่งและที่ทะเล

ที่ญี่ปุ่นนั้น เกิดเหตุการณ์ที่ผู้คนเสียชีวิตเพราะถูกฟ้าผ่าอยู่บ่อยครั้ง ฟ้าผ่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนในตอนที่สภาพอากาศแปรปรวน เราจะนำเสนอว่าจะปกป้องตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าได้อย่างไร ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ว่าสถานที่แบบไหนที่เราจะเผชิญความเสี่ยงสูงจากเหตุฟ้าผ่า

เมื่อคุณยืนในสถานที่เปิดโล่ง เช่น ที่ราบ ชายหาด ยอดเขา หรือสันเขา คุณจะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกฟ้าผ่าได้โดยตรง หากยืนตรงพื้นที่ราบโดยไม่มีอาคารสูงอยู่ใกล้ ๆ เลย จะยิ่งเป็นอันตรายมาก ซึ่งรวมถึงเมื่ออยู่ในสนามกอล์ฟ บริเวณที่ตั้งแคมป์ หรือบนสนาม

สนามเบสบอลบางแห่งและสนามอื่น ๆ ติดตั้งสายล่อฟ้า แต่สิ่งนี้ป้องกันพื้นที่ได้แค่ภายในรัศมีไม่กี่สิบเมตรเท่านั้น ดังนั้น คุณจึงยังมีความเสี่ยงถูกฟ้าผ่าในพื้นที่ที่ไม่มีสายล่อฟ้า ฟ้าผ่ามักผ่าลงมายังวัตถุที่แหลมสูง ด้วยเหตุนี้จึงควรหุบร่มในยามที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

เมื่ออยู่กลางทะเลก็เป็นอันตรายเช่นกัน เนื่องจากไม่มีวัตถุสูง ๆ อยู่ใกล้ มีรายงานอุบัติเหตุจมน้ำซึ่งเกิดจากการปล่อยพลังงานของฟ้าผ่าทางอ้อม โดยกระแสดังกล่าวเคลื่อนผ่านน้ำทะเลมา

เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 มีผู้คน 4 คนบาดเจ็บเนื่องจากฟ้าผ่าลงชายหาดในเมืองอิโตมังของจังหวัดโอกินาวา สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าคุณไม่อาจคาดเอาว่าจะปลอดภัยเมื่อขึ้นมาจากน้ำ เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องตอนอยู่ในทะเล ให้ขึ้นมาจากทะเลโดยทันทีและหาที่หลบภัยในอาคารที่แข็งแรง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566)

สถานที่ที่เสี่ยงสูงว่าจะถูกฟ้าผ่า: ใต้ต้นไม้และสถานที่จัดงานกลางแจ้ง

เราจะมุ่งเน้นเรื่องการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า โดยครั้งนี้จะนำเสนอว่าสถานที่แบบใดที่เผชิญความเสี่ยงสูงว่าจะถูกฟ้าผ่า

เมื่อมีความเสี่ยงว่าจะเกิดฟ้าผ่า ไม่ควรไปหลบใต้ต้นไม้ กระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจกระโดดจากต้นไม้มายังร่างกายของมนุษย์ซึ่งมีแนวโน้มเป็นตัวนำไฟฟ้า ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า “side flash” หรือฟ้าผ่าด้านข้าง

ส่วนป่าไม้ที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน แต่หากมีต้นไม้ที่สูง 5 ถึง 30 เมตร คุณสามารถปกป้องตัวเองได้ด้วยการยืนอยู่ในพื้นที่วงกลมที่ทำมุม 45 องศาจากยอดของต้นไม้ลักษณะคล้ายกรวยคว่ำ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 เมตร สิ่งนี้เรียกว่า “cone of protection” หรือกรวยป้องกัน

เมื่อคุณอยู่ในเทศกาลกลางแจ้งหรือสถานที่ชมดอกไม้ไฟ คุณอาจไม่สามารถอพยพได้เร็วอย่างที่ต้องการเนื่องจากมีผู้คนแออัดมากเกินไป ในเดือนสิงหาคมปี 2560 มีหลายคนบาดเจ็บหลังถูกฟ้าผ่าบริเวณริมแม่น้ำทามะ ซึ่งเป็นสถานที่ชมเทศกาลดอกไม้ไฟ พื้นที่ริมน้ำเป็นอันตรายมากพอ ๆ กับบริเวณชายหาดและสันเขา เนื่องจากไม่มีพื้นที่ใกล้เคียงให้หลบภัย เมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่ผู้คนแออัด คุณอาจไม่สามารถหนีได้เร็วตามที่ต้องการ ทำให้การอพยพหลบภัยให้ทันเวลานั้นเป็นเรื่องยาก เป็นสิ่งสำคัญที่ควรตรวจสอบสภาพอากาศบ่อย ๆ และควรตัดสินใจออกจากสถานที่จัดงานก่อนจะสายเกินไป

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2566)

ควรหลบภัยที่ใดเพื่อปกป้องตนเองจากความเสี่ยงถูกฟ้าผ่า

เราจะมุ่งเน้นเรื่องการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า โดยครั้งนี้จะนำเสนอว่าควรอพยพหลบภัยในสถานที่แบบใดในกรณีที่เกิดฟ้าผ่า  

เพื่อปกป้องตนเองจากความเสี่ยงถูกฟ้าผ่า คุณสามารถเข้าไปอยู่ในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและอาคารที่แข็งแรงอื่น ๆ ได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้อาคารที่คุณอยู่จะถูกฟ้าผ่า แต่คุณจะปลอดภัยเพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะถูกดูดลงดินผ่านผนังของอาคาร ส่วนการอยู่ในอาคารไม้ที่แข็งแรงก็ปลอดภัยเช่นกัน 

หากคุณบังเอิญเผชิญความเสี่ยงถูกฟ้าผ่าขณะอยู่ด้านนอกอาคาร ควรหลบภัยไปยังอาคารที่อยู่ใกล้เคียง การอยู่บนรถยนต์หรือในรถไฟ รถบัส และเครื่องบิน ก็ปลอดภัยเช่นกัน ต้องมั่นใจว่าหน้าต่างทุกบานปิดสนิท และห้ามจับส่วนที่เป็นโลหะใด ๆ ของรถไฟหรือยานพาหนะอื่น ๆ 

หากบริเวณใกล้เคียง ไม่มีอาคารหรือที่หลบภัยใด ๆ ให้ใช้วิธีนั่งยอง ๆ แบบพิเศษเพื่อรับมือเหตุการณ์เช่นว่านี้ โดยวางเท้าให้ติดกัน ย่อเข่า และนั่งยอง ๆ ทิ้งน้ำหนักบนปลายนิ้วเท้าและพยายามย่อตัวให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อทำให้ส่วนต่าง ๆ ของเท้าสัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้มือทั้งสองข้างปิดหูเพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อแก้วหูแตก 

คุณสามารถลดความเสี่ยงลงได้อย่างมากด้วยการยืนใต้สายไฟฟ้าที่พาดอยู่เหนือศีรษะ เนื่องจากสายไฟทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า 

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2566) 

ควรกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติเมื่อใดหลังจากเมฆพายุเคลื่อนผ่านไปแล้ว

เราจะมุ่งเน้นเรื่องการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า โดยครั้งนี้เป็นคำถามที่ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติได้อย่างไรหลังจากที่เมฆพายุฝนฟ้าคะนองผ่านพ้นไปแล้ว 

หนึ่งในเกณฑ์ที่จะสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ก็คือ คุณไม่ได้ยินเสียงฟ้าผ่ามา 30 นาทีแล้ว นอกจากนี้ ก็ขอแนะนำให้ตรวจสอบว่ามีเมฆพายุอยู่รอบ ๆ คุณหรือไม่ โดยดูข้อมูลเรดาร์เมฆฝนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาหรือแอปพลิเคชันข่าวของ NHK

ความพยายามกู้ชีพอย่างรวดเร็วสามารถรักษาชีวิตผู้ที่ถูกฟ้าผ่าไว้ได้ พยายามใช้ AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หากรอบตัวคุณมีเครื่องนี้อยู่ แต่หากไม่มี ใช้วิธีการนวดหัวใจกู้ชีพและเรียกบริการฉุกเฉิน 

เป็นเรื่องไร้สาระที่จะถอดเครื่องประดับและสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นโลหะออกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้าผ่า ในทางตรงกันข้าม การสวมสิ่งเหล่านี้ไว้ จริง ๆ แล้วเป็นประโยชน์ในตอนที่คุณถูกฟ้าผ่า เนื่องจากมันสามารถช่วยลดปริมาณกระแสไฟที่ไหลผ่านตัวคุณได้ สิ่งนี้เรียกว่า “zipper effect”

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566)

สิ่งที่ควรป้องกันไว้ก่อน เมื่ออยู่ในอาคาร

เราจะมุ่งเน้นเรื่องการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า โดยครั้งนี้จะเสนอเรื่องควรป้องกันไว้ก่อนอย่างไรเมื่ออยู่ภายในอาคาร 

หากคุณอยู่ภายในโครงสร้างที่แข็งแรงมั่นคง เช่น อาคารคอนกรีต ถึงแม้ว่าจะเกิดฟ้าผ่าที่อาคารนี้ คุณก็จะปลอดภัยดีเนื่องจากกระแสไฟจะเคลื่อนผ่านผนังกำแพงและถูกดินดูดซับไว้ 

ส่วนโครงสร้างไม้นั้น โดยทั่วไปก็ปลอดภัยเช่นกัน แต่มีความเสี่ยงที่จะถูกไฟดูดจากการสัมผัสวัตถุต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และวัตถุที่เป็นโลหะ เช่น ก๊อกน้ำ 

ขณะอยู่ภายในอาคารไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างคอนกรีตหรือไม้ ควรมั่นใจว่าอยู่ห่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าใด ๆ ก็ตาม ตลอดจนผนังและเพดาน ให้มากกว่าหนึ่งเมตร 

การอยู่ภายในอาคารไม่ได้หมายความว่าคุณปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์จากเหตุฟ้าผ่า หลายคนบาดเจ็บจากไฟดูดภายในรถยนต์หรือในบ้าน 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองจากคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ควรถอดปลั๊กจากจุดที่เสียบปลั๊กไว้ทั้งหมด รวมถึงสาย LAN ด้วย และกดบันทึกข้อมูลไว้เพื่อความปลอดภัย 

บริษัทประกันระบุว่าประเมินความเสียหายรายปีเนื่องจากฟ้าผ่าไว้อยู่ที่ประมาณ 100,000 ถึง 200,000 ล้านเยน หรือราว 25,000 ถึง 50,000 ล้านบาท บริษัททั้งหลายควรดำเนินมาตรการซึ่งรวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ากระชากไว้ในสำนักงานของตน เพื่อปกป้องอุปกรณ์และเครื่องจักรจากเหตุฟ้าผ่า 

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566)