ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

11 คีย์เวิร์ดในการป้องกันภัยพิบัติเพื่อปกป้องชีวิต

ข้อควรระวังเกี่ยวกับมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวแบบเก่า

เมื่อวันที่ 14 และ 16 เมษายน 2559 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในจังหวัดคูมาโมโตะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ทำให้บ้านเรือนราว 200,000 หลังถูกทำลายหรือเสียหาย และมีผู้เสียชีวิต 275 คน ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องมาจากภัยพิบัติด้วย เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยจะมุ่งเน้นเรื่องโครงสร้างที่สร้างขึ้นตามมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวแบบเก่า

เมืองมาชิกิในจังหวัดคูมาโมโตะเผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงสองครั้ง โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ระดับ 7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7

ที่ในใจกลางเมือง บ้านเรือนร้อยละ 30 ที่พังถล่มลงมา สร้างขึ้นตามมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวแบบเก่าซึ่งใช้มาจนถึงการปรับแก้เมื่อปี 2524 มาตรฐานดังกล่าวกำหนดโดยกฎหมายเพื่อทำให้มั่นใจว่า โครงสร้างที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ระดับหนึ่ง

มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้นจำนวน 50 คนซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกทับจนเสียชีวิต ศาสตราจารย์อูชิยามะ โมโตยูกิ จากมหาวิทยาลัยชิซูโอกะได้ทำการสำรวจการเสียชีวิตเหล่านี้ และพบว่ามีอย่างน้อย 13 คนที่เชื่อว่าได้อพยพหลบภัยไปแล้วหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน แต่หวนกลับมาที่บ้านของตนเอง และเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 16 เมษายน

หากคุณอาศัยอยู่ในอาคารไม้เก่า ไม่ควรกลับมายังบ้านของตัวเองหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยควรไปอยู่ตามสถานที่หลบภัย

คุณสามารถตรวจสอบความทนทานในการต้านแผ่นดินไหวของบ้านคุณได้หากได้รับการทดสอบแรงสั่นสะเทือน หลายเมืองมอบเงินอุดหนุนให้สำหรับการทดสอบเช่นว่านี้ รวมถึงการปรับปรุงการต้านแผ่นดินไหวให้ดียิ่งขึ้นด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566)

การหลบภัยในรถยนต์และบริเวณด้านนอกซึ่งอยู่ใกล้บ้านหลังเกิดแผ่นดินไหว

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการหลบภัยในรถยนต์และบริเวณด้านนอกซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้าน

หลังจากที่จังหวัดคูมาโมโตะเผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงสองครั้ง ก็ยังมีแรงสั่นสะเทือนตามมาอีกหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ อาคารจึงเสียหายหนักกว่าเดิมและผู้คนจำต้องอยู่บริเวณนอกบ้าน และเข้าไปหลบภัยในรถยนต์และสถานที่ด้านนอกที่อยู่ใกล้บ้านเรือนของตน บางคนเลือกที่จะค้างคืนในรถยนต์เนื่องจากเหตุผลหลากหลายอันเกี่ยวเนื่องกับครอบครัว สัตว์เลี้ยง และอื่น ๆ

สองสัปดาห์หลังเหตุแผ่นดินไหว NHK ได้เก็บข้อมูลผู้คนที่อาศัยอยู่ในรถยนต์ของตัวเอง 100 คน โดยผู้ตอบ 69 คนให้เหตุผลว่าหวาดกลัวที่จะต้องกลับไปบ้านของตัวเองท่ามกลางอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และ 67 คนตอบว่าบ้านของตนพังเสียหายและพวกตนไม่สามารถกลับไปบ้านได้

ช่วงเวลาที่ต้องหลบภัยอยู่ข้างนอกนั้นยาวนานออกไป และนี่ถือเป็นลักษณะหนึ่งของเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะ ผู้ที่ค้างคืนในรถยนต์เริ่มล้มป่วยกันทีละคน เนื่องจากเผชิญภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำเพราะต้องนั่งอยู่ในที่แคบ หรือ Economy class syndrome และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และบางคนป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต

การเตรียมสิ่งของไว้สำหรับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยลองสมมติดูว่าต้องหลบภัยในรถยนต์หรืออยู่บริเวณด้านนอกที่ใกล้กับบ้านเรือนของตน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566)

ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำเนื่องจากต้องนั่งอยู่ในที่แคบ หรือ Economy class syndrome

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Economy class syndrome

การเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นระยะเวลานานทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ หรือ Economy class syndrome ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีลิ่มเลือดในขาและลิ่มเลือดเคลื่อนไปที่ปอดทำให้เกิดการอุดตัน

ในช่วง 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวระลอกแรกที่จังหวัดคูมาโมโตะ มีผู้คน 51 คนที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการ Economy class syndrome ในจำนวนนี้ 42 คนเป็นผู้อพยพหลบภัยที่นอนในรถยนต์ของตัวเอง พวกเขาล้วนมีอาการเจ็บหน้าอกหรือรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อก้าวลงจากรถ

เพื่อป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด การเดิน การออกกำลังกายเบา ๆ และยืดเส้นยืดสาย ตลอดจนนวดที่ขาและดื่มน้ำบ่อย ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ การสวมถุงน่องรัดเส้นเลือดขอดก็ได้ผลเช่นกัน

เมื่อต้องนอนในรถยนต์ การทำ “เตียงจากกระดาษลูกฟูก” ก็ช่วยได้ โดยสามารถทำได้ด้วยการเอนเบาะนั่งในรถยนต์และใช้กระดาษลูกฟูกมาปรับเพื่อแก้ปัญหาส่วนที่ไม่เสมอกันหรือตรงที่มีช่องว่าง เมื่อทำเช่นนี้ก็จะสามารถนอนราบโดยที่เท้าเหยียดตรงออกไปได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2566)

มาตรฐานด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องชุดมาตรฐานด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงสถานที่หลบภัยฉุกเฉิน

สองปีหลังเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะ NHK ได้สำรวจผู้คน 211 คนที่สาเหตุการเสียชีวิตของพวกเขาไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง แต่เป็นผู้เสียชีวิตในภายหลังเนื่องจากปัญหาสุขภาพและสาเหตุอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องมาจากภัยพิบัติ

ข้อมูลที่ได้จากทางการท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 95 คนที่พักค้างคืนที่ศูนย์อพยพหลบภัยหรือที่ในรถยนต์ของตน ผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะจำนวนหนึ่งบอกว่า ศูนย์อพยพหลบภัยมีคนอยู่หนาแน่นและต้องนอนใกล้กับคนอื่น และเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่าเหมือนอยู่ในนรก

จริง ๆ แล้ว มาตรฐานด้านการจัดสถานที่อพยพหลบภัยนั้นรวมอยู่ในมาตรฐานสเฟียร์ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสภากาชาดและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเมื่อกว่า 20 ปีก่อน หลังจากเกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวรวันดา

มาตรฐานดังกล่าวขอให้สถานที่หลบภัยรับประกันว่าแต่ละคนจะต้องมีพื้นที่อยู่อาศัยขั้นต่ำ 3.5 ตารางเมตร ส่วนการเข้าถึงห้องน้ำ มาตรฐานนี้ระบุว่าต้องมีห้องน้ำอย่างน้อย 1 ห้องต่อผู้คน 20 คน และควรมีสัดส่วนของห้องน้ำหญิง 3 ห้องต่อห้องน้ำชายทุก ๆ 1 ห้อง เพื่อตอบสนองการใช้งานห้องน้ำของผู้หญิงที่นานกว่าผู้ชาย เป็นต้น

ความพยายามทำให้สถานที่อพยพหลบภัยมีความสะดวกสบายมากขึ้นโดยอิงจากมาตรฐานสเฟียร์นี้ จะช่วยปกป้องชีวิตของผู้คนไว้ได้ในยามเกิดภัยพิบัติ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2566)

ข่าวลือผิด ๆ หลังเกิดภัยพิบัติ

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องข่าวลือผิด ๆ

หลังเกิดแผ่นดินไหวเพียงไม่นาน ก็มีรายงานแพร่ในทวิตเตอร์ว่าสิงโตหนีออกมาจากสวนสัตว์แห่งหนึ่งในเมืองคูมาโมโตะ ทำให้ชาวเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเกิดความหวาดกลัว ต่อมาผู้ที่โพสต์เรื่องโกหกนี้ถูกจับกุม มีหลายกรณีคล้ายกันนี้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันไม่มีมูลความจริงและก่อให้เกิดความสับสนหลังภัยพิบัติ

รองศาสตราจารย์เซกิยะ นาโอยะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า เขาเชื่อว่าองค์ประกอบ 3 ประการนี้รวมกันทำให้เกิดข่าวลือผิด ๆ แพร่ออกไป องค์ประกอบเหล่านี้ได้แก่ “ความกลัว” เหตุการณ์ที่ไม่ทราบว่าคืออะไร “ความโกรธ” ที่ไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์นี้จะสิ้นสุดลง และ “เจตนาดี” ของผู้คนที่พยายามแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

รองศาสตราจารย์เซกิยะชี้ว่าข้อมูลอันไม่มีมูลความจริงนี้ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตได้ และว่าในยามภัยพิบัติ ผู้คนควรมีสติตั้งมั่นไม่ว่าข้อมูลที่เห็นบนโซเชียลมีเดียและที่อื่น ๆ จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เขากล่าวว่าการที่ผู้คนต้องใช้แนวทางบางประการกับข้อมูลเหล่านี้ เช่น ไม่ส่งต่อ หรือไม่ลงมือปฏิบัติตามข้อมูลนั้นโดยทันที ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2566)

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อก

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมา หรืออาฟเตอร์ช็อก

ในเหตุแผ่นดินไหวจังหวัดคูมาโมโตะ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน จากนั้นก็เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่าเดิมในพื้นที่เดียวกันในอีก 28 ชั่วโมงต่อมาในวันที่ 16 เมษายน แผ่นดินไหวรุนแรงทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ นี้ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง อาคารบางแห่งที่สามารถทนแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งแรกได้ กลับพังถล่มลงมาในเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่ 2

ต่อมาสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งแรกเป็น “แผ่นดินไหวนำ” และแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 เป็น “แผ่นดินไหวหลัก”

หลังเหตุแผ่นดินไหวที่คูมาโมโตะ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะหยุดใช้คำว่า “อาฟเตอร์ช็อก” หรือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อต้องเตือนประชาชนเกี่ยวกับแรงสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวใหญ่

ทั้งนี้เนื่องมาจากคำว่า “อาฟเตอร์ช็อก” ให้ความรู้สึกที่ว่าแรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหวแรกเริ่มนั้นจะเป็นเหมือนแผ่นดินไหวเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวครั้งแรก โดยทางสำนักงานได้ตัดสินใจที่จะแนะนำให้ระมัดระวังหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ด้วยการออกประกาศที่มีข้อมูลอย่างเช่น “แผ่นดินไหวในระดับเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงประมาณหนึ่งสัปดาห์นี้” แทน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2566)

อันตรายที่เกิดจากการอพยพผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องอันตรายที่เกิดจากการอพยพผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล

ในเหตุแผ่นดินไหวจังหวัดคูมาโมโตะ อาคารและสาธารณูปโภคของโรงพยาบาลหลายแห่งเสียหายอย่างหนัก ทำให้ต้องย้ายผู้ป่วยในไปยังสถาบันการแพทย์แห่งอื่น ๆ

นับจนถึงเดือนมีนาคมปี 2566 มีผู้ป่วยรวม 46 คนที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้เสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับภัยพิบัติในเหตุแผ่นดินไหวที่คูมาโมโตะ หลังพวกเขาเสียชีวิตจากความเครียดทางร่างกายที่เกิดขึ้นจากการถูกย้ายตัวไปยังโรงพยาบาลอื่น หรือจากการที่โรงพยาบาลต้องหยุดการรักษา

หนึ่งในนั้นคือมิยาซากิ คาริน ซึ่งในตอนนั้นมีอายุ 4 ขวบและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเมืองคูมาโมโตะ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว คารินนอนพักอยู่บนเตียงหลังการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด เธอต้องนอนเฉย ๆ ห้ามขยับร่างกาย แต่โรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หลังจากที่อาคารเสียหายอย่างหนัก คารินถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดฟูกูโอกะที่ไกลออกไป 100 กิโลเมตร เธอเสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมา

ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวที่คูมาโมโตะ มีหลายโรงพยาบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานต้านแผ่นดินไหว ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลเมืองคูมาโมโตะที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ซึ่งเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย สถาบันทางการแพทย์ควรดำเนินการต้านแผ่นดินไหวและมาตรการอื่น ๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่าสามารถดำเนินงานต่อไปได้ในยามที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566)

รอยเลื่อนที่มีพลังซึ่งจัดอยู่ในระดับ S

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องรอยเลื่อนที่มีพลังซึ่งจัดอยู่ในระดับ S ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายที่สุด

แผ่นดินไหวคูมาโมโตะเกิดจากการเคลื่อนตัวในเขตรอยเลื่อนที่มีพลังฟูตางาวะและฮินางุ นับจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2566 มีรอยเลื่อนที่มีพลัง 31 จุดในญี่ปุ่นที่ถูกจัดอยู่ในระดับ S โดยญี่ปุ่นกำหนดให้แผ่นดินไหวเป็นภัยเร่งด่วนมากที่สุด

รอยเลื่อนที่มีพลังเหล่านี้แบ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ในแผ่นดินญี่ปุ่นหรือในน่านน้ำใกล้เคียง ซึ่งได้รับการยืนยันผ่านการศึกษาด้านธรณีวิทยาว่ามีการเคลื่อนตัวและทำให้เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนที่มีพลังนั้นอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างตื้น ด้วยเหตุนี้หากเกิดแรงสั่นสะเทือนในแผ่นดิน ก็จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง เหมือนที่เกิดขึ้นในเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะและแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิปี 2538

ในเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะนั้น ส่วนที่อยู่ทางใต้ของรอยเลื่อนที่มีพลังฮินางุไม่ได้เคลื่อนตัวและเป็นรอยเลื่อนที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับ S การศึกษาของผู้เชี่ยวชาญแสดงให้เห็นว่ารอยเลื่อนนี้อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่แรงสั่นสะเทือนอยู่ที่ระดับ 7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7

ผู้คนในบริเวณนี้ควรเตรียมพร้อม เนื่องจากหลังเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ก็อาจเกิดสึนามิขึ้นทันทีที่ทะเลยัตสึชิโรไกซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2566)

ความเสี่ยงที่เกิดจากการถมดิน

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องความเสี่ยงที่เกิดจากเนินดินที่ใช้ถมหุบเขาหรือใช้เพื่อทำให้พื้นเรียบ

หลังเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะ มีข้อมูลชี้ว่าอาคารที่เสียหายหนักมักเป็นอาคารที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ถมดินหรือพื้นที่ที่รากฐานไม่มั่นคง ในบางแห่งที่พื้นที่มีการถมดินนั้น เกิดพังถล่มลงมา นี่ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมดเป็นอันตราย แต่ภัยจากการถมดินก็เป็นที่ทราบกันดีจากภัยพิบัติครั้งก่อน ๆ

นอกจากนี้ พื้นซึ่งไม่มั่นคงยังทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงกว่าเดิมไปอีก ถ้าเราเปรียบพื้นดินเหมือนกับเยลลี แรงสั่นสะเทือนขนาดเท่ากันจะทำให้เยลลีที่อ่อนนุ่มสั่นอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าเยลลีที่แข็ง ด้วยเหตุนี้ แรงสั่นสะเทือนจะยิ่งมากขึ้นเมื่อพื้นที่นั้นรากฐานไม่แข็งแรง จึงทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า

มีข้อมูลที่ระบุว่ารากฐานที่ซับซ้อนไม่มั่นคงซึ่งอยู่บริเวณใต้ดิน อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ใจกลางของเมืองมาชิกิในจังหวัดคูมาโมโตะเสียหายอย่างหนักด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566)

แผนการทำให้ธุรกิจดำเนินต่อเนื่องไปได้ในภาวะฉุกเฉิน

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องแผนการความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP

เหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะส่งผลกระทบต่อหลายบริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัทในเครือของโซนี่และโรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในจังหวัดคูมาโมโตะ ทำให้เกิดปัญหาต่อการป้อนสินค้าทั่วญี่ปุ่น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่เช่นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 มีการหารือถึงความสำคัญของแผนการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP ในตอนนั้นด้วย

BCP เป็นแผนจัดทำวิธีหรือกรอบงานซึ่งรับประกันว่าบริษัททั้งหลายจะสามารถดำเนินธุรกิจของตนต่อไปได้แม้จะเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการระบาดของโรคติดเชื้อ และหากว่าธุรกิจเหล่านั้นต้องชะงักไป แผนการดังกล่าวก็มุ่งที่จะทำให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ภายในระยะเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

BCP ไม่เหมือนแผนการลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่มุ่งหวังจะรักษาชีวิตผู้คนเอาไว้ แต่เป้าหมายของ BCP ก็คือการรับประกันว่าธุรกิจจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง แผ่นดินไหวคูมาโมโตะยิ่งตอกย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องร่างแผน BCP

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566)

การคัดกรองทางโทรศัพท์

เราจะย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ได้จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ผ่านคีย์เวิร์ด 11 คำ โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการคัดกรองทางโทรศัพท์

ในเหตุแผ่นดินไหวคูมาโมโตะ มีโทรศัพท์ที่โทร. เข้ามาที่หน่วยดับเพลิงของเมืองคูมาโมโตะอย่างท่วมท้นทันทีหลังเหตุแผ่นดินไหว ระหว่างวันที่ 14 เมษายนซึ่งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ถึงวันที่ 16 เมษายนที่เกิดแผ่นดินไหวหลักนั้น หน่วยดับเพลิงได้รับสายมากกว่า 2,800 สาย คิดเป็นประมาณ 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติ

อย่างไรก็ตาม มี 1,700 สาย หรือร้อยละ 60 ของสายที่โทร. เข้ามานี้ ไม่ได้ขอรับบริการกู้ภัยหรือบริการฉุกเฉินแต่อย่างใด และเป็นสายที่เร่งด่วนน้อยกว่า หลายคนโทร. เข้ามาเพื่อแจ้งเรื่องไฟฟ้าดับหรือเพื่อถามว่าต้องไปอพยพหลบภัยที่ไหน

หน่วยดับเพลิงไม่สามารถตอบรับสายโทรศัพท์ทั้งหมดได้ และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งพนักงานของตนออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามลำดับความสำคัญ หน่วยดับเพลิงใช้ประสบการณ์นี้และการเตรียมความพร้อมต่อเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ในการจัดทำคู่มือลำดับขั้นตอนสำหรับการคัดกรองเพื่อตัดสินความเร่งด่วนของโทรศัพท์ที่โทร. เข้ามา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น

ประชาชนก็ควรพิจารณาด้วยว่าสถานการณ์ของตนนั้นเร่งด่วนหรือไม่ ก่อนที่จะติดต่อขอรับบริการฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ไปช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ โดยไม่ควรติดต่อหน่วยดับเพลิงทันทีหลังเกิดภัยพิบัติหากไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน เช่น การขอข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณูปโภค

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566)