ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

การอพยพหลบภัยสำหรับชาวต่างชาติ วิธีช่วยให้ทุกคนปลอดภัยยามเกิดภัยพิบัติ

ชาวต่างชาติที่อาศัยในญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ

เมื่อเกิดภัยพิบัติ ในบางครั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอาจกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เนื่องจากพวกเขาเผชิญความเสี่ยงมากมายเพราะความต่างเรื่องภาษาและวัฒนธรรม เราจะเอาชนะภัยพิบัติในญี่ปุ่นได้อย่างไร ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภัยพิบัติหลายกรณีทั่วญี่ปุ่น

ปัจจุบันมีชาวต่างชาติประมาณ 3,000,000 คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งไม่รวมผู้เดินทางมาพักอาศัยในระยะเวลาสั้น ๆ จึงเท่ากับว่าทุก ๆ 50 คนจะมีชาวต่างชาติ 1 คน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมดในญี่ปุ่น

เมื่อแบ่งจำนวนชาวต่างชาติในญี่ปุ่นตามประเทศและภูมิภาคนั้น จีนมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือเวียดนาม มีชาวเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่มายังญี่ปุ่นในโครงการฝึกอบรมทางเทคนิคเพื่อเรียนรู้ทักษะด้านการผลิตและเกษตรกรรม เกาหลีใต้ตามมาเป็นอันดับ 3 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 4 และบราซิลอันดับ 5

หยาง จื่อ จากสถาบันความหลากหลายของมนุษย์แห่งญี่ปุ่นซึ่งมาจากจีน ได้ไปเยือนสถานที่ประสบภัยพิบัติหลายแห่งซึ่งรวมถึงเมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในจังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 ด้วย งานวิจัยของเธอมุ่งเน้นเรื่องสถานการณ์ของชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

หยางกล่าวว่าถึงแม้คำว่า “ชาวต่างชาติ” จะใช้สำหรับผู้ที่เป็นชาวต่างชาติรวมกันทั้งหมด แต่ชาวต่างชาติก็มีภาษาและธรรมเนียมของตนเอง ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญต่อทั้งชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นที่จะทำความเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเกิดภัยพิบัติ เธอเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับภาษาและวัฒนธรรมอันหลากหลาย

ในตอนต่อไป เราจะเสนอกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดคูมาโมโตะ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566)

ปัญหาเรื่องกำแพงภาษาที่ชาวต่างชาติเผชิญยามเกิดภัยพิบัติ

เมื่อเกิดภัยพิบัติ ในบางครั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอาจกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เนื่องจากพวกเขาเผชิญความเสี่ยงมากมายเพราะความต่างเรื่องภาษาและวัฒนธรรม เราจะเอาชนะภัยพิบัติในญี่ปุ่นได้อย่างไร ครั้งนี้เราจะเสนอเรื่องราวของชายชาวปากีสถานคนหนึ่งที่เผชิญเหตุแผ่นดินไหวใหญ่หลังจากที่มาถึงญี่ปุ่นได้ไม่นาน

คุณชีราซ เอส ข่าน อิหม่ามชาวปากีสถานอาศัยอยู่ที่เมืองคูมาโมโตะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น

เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7 ที่คูมาโมโตะเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นช่วง 1 เดือนหลังจากที่เขาย้ายมาอาศัยที่เมืองนี้ คุณข่านคิดว่าการอยู่ในอาคารเป็นอันตราย จึงอพยพไปยังสวนใกล้กับมัสยิดพร้อมกับชาวมุสลิมคนอื่น ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงกลางคืนและฝนเริ่มตก

ในตอนนั้น คุณข่านและคนอื่น ๆ เผชิญ “กำแพงภาษา” เขากล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ขับรถมาและบอกอะไรบางอย่างกับเรา แต่ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขาพูดว่าอะไร เราเลยต้องค้างคืนอยู่ที่นั่น”

ท้ายที่สุด คุณข่านและคนอื่น ๆ ก็ย้ายไปยังศูนย์อพยพหลบภัย แต่พวกเขากลับพบอีกปัญหาหนึ่งนั่นคือเรื่องอาหารที่ศูนย์หลบภัยดังกล่าว

ชาวมุสลิมเลือกรับประทานอาหารที่ได้รับการรับรองฮาลาล โดยฮาลาลเป็นการกำหนดว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้ภายใต้กฎหมายอิสลาม

คุณข่านกล่าวว่าเขาไม่ทราบว่ามีส่วนผสมอะไรอยู่บ้างในอาหารที่เสิร์ฟในศูนย์อพยพหลบภัย เขาจึงไม่สามารถรับประทานอะไรได้ เขาสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ดังกล่าวเกี่ยวกับส่วนผสมในอาหาร แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าพวกตนไม่ทราบเนื่องจากกำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2566)

กลุ่มแลกเปลี่ยนในท้องถิ่นช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติได้อย่างไร

เราจะมุ่งเน้นว่าผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะภัยพิบัติได้อย่างไร โดยครั้งนี้จะเสนอว่ากลุ่มแลกเปลี่ยนในท้องถิ่นช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติได้อย่างไร

เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อเดือนเมษายน 2559 ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติราว 4,500 คนที่อาศัยอยู่ในคูมาโมโตะได้รับผลกระทบ กลุ่มคนเหล่านี้รวมถึงผู้ที่มาจากปากีสถาน, จีน, เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์

มูลนิธินานาชาติคูมาโมโตะได้เข้าช่วยเหลือพวกเขา องค์กรนี้ดำเนินการโดยทางการเมืองคูมาโมโตะ ซึ่งตามปกติแล้วจะให้คำปรึกษาแก่ชาวต่างชาติเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน มูลนิธินี้ตั้งอยู่ในศูนย์นานาชาติเมืองคูมาโมโตะ มีการกำหนดให้สถานที่แห่งนี้เป็นฐานปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือชาวต่างชาติในยามภัยพิบัติ

คุณยางิ ฮิโรมิตสึ หัวหน้ากองเลขาธิการในสมัยนั้น ได้ดำเนินการโดยทันที เพื่อให้ศูนย์ดังกล่าวเป็นสถานที่อพยพหลบภัยที่รองรับภาษาและวัฒนธรรมอันหลากหลายได้ คุณยางิกล่าวว่าเขาได้พูดคุยเพื่อสอบถามผู้คนไปรอบ ๆ เกี่ยวกับภาษาหรือปัญหาอื่น ๆ และเรื่องที่ว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเองหรือไม่

ผู้คนมากถึง 140 คนซึ่งรวมถึงชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่อพยพมายังศูนย์หลบภัยแห่งนี้ รับรู้เกี่ยวกับตารางมื้ออาหาร การเดินทาง และข้อมูลอื่น ๆ ที่ติดไว้บนกระดานเป็นภาษาอังกฤษ จีน และภาษาอื่น ๆ

เจ้าหน้าที่ยังตอบสนองความต้องการด้านอาหารอันหลากหลายตามศาสนาและวัฒนธรรมอีกด้วย คุณยางิกล่าวว่าการอธิบายเรื่องส่วนผสมในอาหารช่วยให้ผู้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกเบาใจ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2566)

การใช้ชีวิตของชาวต่างชาติเมื่ออยู่ในสถานที่อพยพหลบภัย

เราจะมุ่งเน้นว่าผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะภัยพิบัติได้อย่างไร โดยครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสถานที่อพยพหลบภัย

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อเดือนเมษายน 2559 สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่รวมถึงถนนที่เสียหายหนัก ไม่ใช่ว่าชาวต่างชาติทุกคนที่สามารถมายังสถานที่ที่กำหนดให้เป็นฐานปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือชาวต่างชาติยามภัยพิบัติได้ ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงแบ่งกลุ่มกันและตระเวนไปตามสถานที่อพยพหลบภัย

คุณหยาง จุน ซึ่งอาศัยในคูมาโมโตะมา 30 ปีเข้าช่วยเหลือผู้อพยพชาวจีน เธอให้คำปรึกษาเป็นภาษาจีนที่มูลนิธินานาชาติคูมาโมโตะ เมื่อเธอไปเยี่ยมสถานที่อพยพหลบภัย ก็สังเกตเห็นว่าชาวต่างชาติแยกตัวออกจากสถานที่ที่มีแต่คนญี่ปุ่น

คุณหยางกล่าวว่า “ตอนที่ดิฉันถามพวกเขาว่า ‘เป็นอย่างไรบ้างคะ’ โดยใช้ภาษาแม่ แม้แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมานานหลายปีแล้วก็ดูโล่งใจ บางคนถึงกับน้ำตาไหลเลยค่ะ”

กำแพงภาษานำไปสู่ปัญหามากมาย แต่ที่ศูนย์หลบภัยแห่งหนึ่ง ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นบ่นว่าชาวต่างชาตินำสิ่งของช่วยเหลือไปมากเกินความจำเป็น คุณหยางได้พูดคุยกับชาวต่างชาติและพบว่าชาวต่างชาติคนนั้นนำสิ่งของช่วยเหลือไปให้สมาชิกในครอบครัวที่ไม่อยู่ในตอนกลางวัน เมื่อเธออธิบายเรื่องนี้ให้ผู้อพยพคนอื่น ๆ ได้รับฟัง การทะเลาะเบาะแว้งนี้ก็คลี่คลายลง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566)

แนวทางป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติต้องถูกแบ่งแยกออกจากคนอื่น

เราจะมุ่งเน้นว่าผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะภัยพิบัติได้อย่างไร โดยครั้งนี้เกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติต้องถูกแบ่งแยกออกจากคนอื่น

เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อเดือนเมษายน 2559 มีกรณีที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในกลุ่มผู้คนในชุมชนท้องถิ่นได้ช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติไม่ให้ถูกแยกออกจากคนอื่น

คุณชิว กุ่ย เฟิน จากไต้หวันเข้าร่วมชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นในเมืองคูมาโมโตะ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว เธอพยายามอพยพไปยังที่หลบภัยพร้อมกับลูกเล็กและสามีของเธอ แต่ศูนย์หลบภัยทุกแห่งมีผู้อพยพเต็มไปหมดและครอบครัวของเธอจำต้องพักอยู่ในรถยนต์หรือบ้านของเพื่อน เธอไม่สามารถรับสิ่งของบรรเทาทุกข์หรือรับข้อมูลใด ๆ ก็ตามนานหลายวัน

หลังจากผ่านไป 4 วัน เธอก็สามารถกลับบ้านได้ในที่สุด แต่เธอมีปัญหาเรื่องน้ำประปา แม้ว่าน้ำประปาจะสามารถกลับมาใช้ได้แล้ว แต่น้ำจากก๊อกน้ำยังขุ่นอยู่และไม่สามารถใช้ดื่มหรืออาบได้ เธอถามเพื่อนที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ ระหว่างที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนรู้จักที่อยู่ในชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยกัน

เมื่อได้ทราบเกี่ยวกับความยากลำบากที่คุณชิวและคนอื่น ๆ ต้องเผชิญ คุณครูอาสาสมัครจากชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน พวกเขาได้ตั้งกลุ่มสำหรับชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นโดยใช้ LINE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรับ-ส่งข้อความ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการแจกจ่ายอาหารและสถานที่ที่สามารถไปอาบน้ำได้

คุณชิวกล่าวว่ากลุ่มนี้ได้ให้ข้อมูลเฉพาะทางเรื่องสถานที่ที่อยู่ใกล้กับท้องถิ่นที่ครอบครัวของเธอและคนอื่น ๆ อาศัยอยู่ และสิ่งนี้ช่วยได้มาก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2566)

ภาษาญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติเข้าใจได้ง่าย

เราจะมุ่งเน้นว่าผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะภัยพิบัติได้อย่างไร โดยครั้งนี้เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติเข้าใจได้ง่าย

เราได้รายงานไปก่อนหน้านี้เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่จังหวัดคูมาโมโตะเมื่อปี 2559 กรณีดังกล่าวชี้เป็นนัยว่าการเอาชนะกำแพงภาษายังคงเป็นความท้าทายสำคัญในยามที่เกิดภัยพิบัติ

ผู้คนสามารถใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนเพื่อแปลข้อมูลที่จำเป็นออกมาเป็นหลายภาษาได้ นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถใช้สิ่งที่เรียกว่า “Easy Japanese” ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลญี่ปุ่นและทางการท้องถิ่น

“Easy Japanese” คือการทดลองพยายามสื่อสารข้อมูลภาษาญี่ปุ่นที่เข้าใจได้ง่ายในรูปแบบที่กระชับ มีการใช้ “Easy Japanese” บนเว็บไซต์และประกาศของทางการท้องถิ่นต่าง ๆ โดยคาดว่าจะนำไปใช้ที่ศูนย์อพยพหลบภัยด้วยเช่นกัน

บางคนกล่าวว่าสำนวนภาษาญี่ปุ่นในบางครั้งมีความหมายที่ไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ชาวต่างชาติจะทำความเข้าใจ

ยกตัวอย่างเช่นประโยคที่ว่า “Gojiyu ni omochi kudasai” หรือ กรุณาบริการตนเอง ประโยคนี้ใช้บ่อย ๆ เมื่อมีการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ศูนย์อพยพหลบภัย

ประโยคนี้มักใช้โดยหมายความว่าผู้คนสามารถนำสิ่งของที่แจกจ่ายไปได้ แต่เอาไปในจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้ผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สามารถรับสิ่งของดังกล่าวไปได้เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เผชิญภัยพิบัติระบุว่า เมื่อมีการถ่ายทอดข้อมูลในแบบที่เข้าใจได้ง่ายและถูกต้อง ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเข้าใจผิด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2566)

อาหารฉุกเฉินที่ใส่ใจเรื่องวัฒนธรรมทางอาหารอันหลากหลาย

เราจะมุ่งเน้นว่าผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะภัยพิบัติได้อย่างไร โดยครั้งนี้เกี่ยวกับอาหารฉุกเฉินที่ใส่ใจเรื่องวัฒนธรรมทางอาหารอันหลากหลาย

มีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรับประทานซุปที่ทำจากครัวในศูนย์อพยพหลบภัยได้เนื่องด้วยเหตุผลทางศาสนาและวัฒนธรรม

อาหารเดียวที่ชาวมุสลิมสามารถรับประทานได้ก็คืออาหารฮาลาล ซึ่งเป็นอาหารที่ผลิตและเก็บรักษาไว้ตามกฎอันเข้มงวดของมุสลิม ทั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์อาหารฉุกเฉินในญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองฮาลาลด้วย

ที่ญี่ปุ่นนั้น มีอาหารฉุกเฉินที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะชาววีแกนที่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์วีแกนมีหลากหลาย ซึ่งรวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยซึ่งไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์หรือปลาเลย

คุณหยาง จื่อ จากสถาบันความหลากหลายของมนุษย์แห่งญี่ปุ่นซึ่งวิจัยสถานการณ์ของชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้คนที่ต้องได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษเรื่องอาหาร เพื่อที่จะได้สำรองอาหารฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า คุณหยางกล่าวเสริมว่าศูนย์อพยพหลบภัยควรเก็บสำรองอาหารพิเศษเหล่านี้สำหรับชาวต่างชาติและสำหรับชาวญี่ปุ่นที่อยากจะลองรับประทานอาหารแบบนี้ด้วย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566)

บทบาทของผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่เป็นผู้นำในด้านการป้องกันภัยพิบัติ

เราจะมุ่งเน้นว่าผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะภัยพิบัติได้อย่างไร โดยครั้งนี้จะเสนอเรื่องบทบาทของผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่เป็นผู้นำด้านการลดผลกระทบจากภัยพิบัติในชุมชนท้องถิ่น

มีชาวต่างชาติประมาณ 1,500 คนซึ่งรวมถึงชาวเวียดนามและบราซิล อาศัยอยู่ในเมืองโซจะ จังหวัดโอกายามะ เมื่อ 10 ปีก่อน เมืองนี้ได้เริ่มโครงการฝึกอบรมสำหรับผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ เพื่อให้พวกเขาได้มีบทบาทเป็นผู้นำในด้านการป้องกันภัยพิบัติในชุมชนของตนเอง

คุณทัน ชุน ไวจากบราซิลคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการนี้ เขากลายเป็นพลเมืองชาวญี่ปุ่นเพราะได้สัญชาติแล้ว และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการเมือง คุณทันรับรู้ถึงภาวะวิกฤติได้ดีหลังจากได้ทราบว่าชาวต่างชาติที่ไม่รู้ว่าจะอพยพหลบภัยอย่างไร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในตอนที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554

เขาตระหนักเป็นอย่างดีถึงความจำเป็นที่ชาวต่างชาติจะต้องมีความรู้เรื่องการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เขาจึงขอให้เมืองโซจะจัดการฝึกอบรม เช่น การเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลหรือวิธีการทำกระสอบทราย ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะกลายเป็น “ผู้นำด้านการป้องกันภัยพิบัติของผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ” และจะมีบทบาทในการเข้าร่วมฝึกซ้อมด้านภัยพิบัติในชุมชนของตนเอง

ปัจจุบัน เมืองโซจะมีผู้นำด้านการป้องกันภัยพิบัติ 43 คนจาก 8 ประเทศ เมื่อปี 2561 เกิดภัยพิบัติฝนตกหนักทางตะวันตกของญี่ปุ่นและสร้างความเสียหายรุนแรงในเมืองนี้ คุณทันและผู้นำคนอื่น ๆ ได้ให้ข้อมูลเป็นภาษาที่ตัวเองถนัด เช่น จีนและโปรตุเกส พวกเขายังแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนั้นและไปเยือนพื้นที่ที่เสียหายหนักเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยด้วย

พวกเขามีแผนที่จะจัดทำคู่มือภัยพิบัติซึ่งรวมไอเดียจากชาวต่างชาติ โดยจะแปลข้อมูลเป็นภาษาต่าง ๆ 8 ภาษาและแจกจ่ายให้แก่ผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ

การที่ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในด้านการป้องกันภัยพิบัติในชุมชนของตนเอง นำไปสู่ความร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นเพื่อเอาชนะภัยพิบัติทั้งหลายร่วมกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2566)