ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

การเตือนภัยฉุกเฉิน

ตอนที่ 1

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงหรือภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน เราจะนำเสนอรายละเอียดเรื่อง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” เช่น ความแตกต่างระหว่าง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” กับ “การเตือนภัย” ปกติ และสถานการณ์แบบใดที่จะมีการออกคำเตือนภัยเหล่านี้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นออกคำเตือนภัยฉุกเฉินเพื่อแจ้งเตือนผู้คนเรื่องหายนะที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติ ในประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศนั้น ทางสำนักงานจะออกคำเตือนฉุกเฉิน 6 ประเภทได้แก่ ฝนตกหนัก, พายุ, คลื่นพายุ, คลื่นสูง, หิมะตกหนัก และพายุหิมะ

คำเตือนฉุกเฉินจะแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่ปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นซึ่งเป็นระดับที่เกินจากระดับ “การเตือนภัย” ปกติไปมาก มีความเป็นไปได้สูงที่ภัยพิบัติรุนแรงได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่มีการออกคำเตือนนี้

พื้นที่ที่อยู่ภายใต้คำเตือนภัยฉุกเฉินเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี และผู้คนจำนวนมากไม่เคยเผชิญมาก่อน โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวควรระวังภัยอย่างสูงสุดเพื่อปกป้องชีวิตของตนเอง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2565)

ตอนที่ 2

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงหรือภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน เราจะนำเสนอรายละเอียดเรื่อง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” เช่น ความแตกต่างระหว่าง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” กับ “การเตือนภัย” ปกติ และสถานการณ์แบบใดที่จะมีการออกคำเตือนภัยเหล่านี้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นใช้ระบบการเตือนภัยฉุกเฉินเนื่องจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีต การเตือนภัยเรื่องฝนตกหนัก ดินถล่ม และภัยพิบัติอื่น ๆ ไม่ได้ผลมากพอที่จะทำให้ผู้คนอพยพหลบภัยโดยทันทีหรือดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหาย แม้ว่าจะออกคำเตือนภัยดังกล่าวซ้ำ ๆ ก็ตาม

ไต้ฝุ่นลูกหนึ่งเมื่อเดือนกันยายนปี 2554 ที่พัดถล่มคาบสมุทรคิอิ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน แม้ว่าทางสำนักงานเรียกร้องให้เฝ้าระวังตื่นตัวต่อภัยพิบัติร้ายแรง

เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 ทางสำนักงานได้ออกคำเตือนภัยสึนามิใหญ่ แต่คำเตือนภัยเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้อยู่อาศัยอพยพหลบภัยได้โดยทันที จากนั้น ทางสำนักงานจึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อปี 2556 เพื่อเริ่มใช้ระบบการเตือนภัยฉุกเฉิน โดยมีจุดประสงค์ที่จะสื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงภาวะวิกฤติรุนแรงในแบบที่เข้าใจได้ง่าย และเรียกร้องให้ประชาชนดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องตนเอง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2565)

ตอนที่ 3

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงหรือภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน เราจะนำเสนอรายละเอียดเรื่อง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” เช่น ความแตกต่างระหว่าง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” กับ “การเตือนภัย” ปกติ และสถานการณ์แบบใดที่จะมีการออกคำเตือนภัยเหล่านี้

สถานการณ์แบบใดที่ทำให้ต้องออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน และเมื่อมีความเสี่ยงสูงมากว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรง ทางการจะระบุว่าอย่างไรในคำเตือนดังกล่าว

นี่คือการออกคำเตือนเมื่อมีการพยากรณ์ว่าจะเกิด “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในรอบ 50 ปี” ในภูมิภาคหนึ่ง ๆ หรือเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ

สภาพอากาศที่ผ่านมาในอดีตซึ่งได้นำไปสู่การออกคำเตือนภัยฉุกเฉินนั้นมีทั้งสึนามิใหญ่ที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 เหตุดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายมากกว่า 18,000 คน

เหตุคลื่นพายุเมื่อปี 2502 ที่เกิดจากไต้ฝุ่นอ่าวอิเสะ ซึ่ง ณ ตอนนั้นได้ทำให้ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาในญี่ปุ่น และมีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 5,000 คน

เหตุฝนตกหนักเนื่องจากไต้ฝุ่นลูกหนึ่งเมื่อปี 2562 ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เป็นวงกว้างทางตะวันออกของญี่ปุ่นและทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 100 คน

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งทำให้ทางการต้องออกคำเตือนภัยฉุกเฉินโดยเร็วนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในญี่ปุ่น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2565)

ตอนที่ 4

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงหรือภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน เราจะนำเสนอรายละเอียดเรื่อง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” เช่น ความแตกต่างระหว่าง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” กับ “การเตือนภัย” ปกติ และสถานการณ์แบบใดที่จะมีการออกคำเตือนภัยเหล่านี้

เมื่อมีการออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน ประชาชนควรปฏิบัติอย่างไร ในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก หากมีการออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน มีแนวโน้มสูงที่ผู้คนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีเช่นว่านี้ การอพยพหลบภัยก่อนที่จะมีการออกประกาศคำเตือนภัยฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ข้อมูลการอพยพหลบภัยที่เกี่ยวเนื่องกับฝนตกหนักและคำเตือนด้านสภาพอากาศแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คำเตือนภัยฉุกเฉินนั้นคือคำเตือนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

เมื่อมีการออกคำเตือนภัยระดับ 3 เนื่องจากฝนตกหนักหรือน้ำท่วม ขอแนะนำให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายอพยพหลบภัย ส่วนคำเตือนภัยระดับ 4 นั้น คือคำสั่งอพยพหลบภัยสำหรับผู้คนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อันตรายโดยให้อพยพทันที

คำเตือนภัยระดับ 5 คือข้อมูลการเกิดน้ำท่วมที่บริเวณแม่น้ำตลอดจนคำเตือนภัยฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อถึงระดับนี้แล้วนั้น เป็นไปได้ว่าภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นแล้ว และอาจเป็นการยากสำหรับผู้คนที่จะอพยพไปยังศูนย์อพยพหลบภัย ขอแนะนำให้ขึ้นไปยังชั้นสองหรือชั้นที่สูงกว่า หรือดำเนินวิธีการอื่น ๆ เพื่อปกป้องตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงการย้ายไปยังห้องที่อยู่ห่างจากหน้าผา หากว่าบ้านของคุณตั้งอยู่ใกล้กับหน้าผา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565)

ตอนที่ 5

NHK จะตอบคำถามเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงหรือภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออกคำเตือนภัยฉุกเฉิน เราจะนำเสนอรายละเอียดเรื่อง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” เช่น ความแตกต่างระหว่าง “การเตือนภัยฉุกเฉิน” กับ “การเตือนภัย” ปกติ และสถานการณ์แบบใดที่จะมีการออกคำเตือนภัยเหล่านี้

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัตินั้น การเตรียมพร้อมอย่างดีมีความสำคัญพอ ๆ กับการอพยพหลบภัยโดยเร็ว การทราบข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของภัยพิบัติที่อาจกระทบต่อพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยและสถานที่หลบภัยที่ปลอดภัยนั้นช่วยได้มากเมื่อถึงเวลาลงมือปฏิบัติ

แผนที่ภัยพิบัติที่ทางการท้องถิ่นแจกจ่าย ถือว่ามีประโยชน์ในการหาข้อมูลสิ่งที่คุณต้องรู้ นอกจากนี้ คุณยังเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงทีหากติดตั้งแอปพลิเคชันข้อมูลภัยพิบัติไว้ในสมาร์ตโฟนของคุณ

อีกหนึ่งคำแนะนำก็คือคุณไม่ควรลดระดับการเฝ้าระวังเมื่อช่วงที่รุนแรงที่สุดของพายุได้ผ่านไปแล้ว และมีการลดระดับคำเตือนภัยฉุกเฉินมาเป็นคำเตือนภัยปกติ ในเดือนตุลาคมปี 2562 แม่น้ำหลายสายเอ่อล้นหลังจากมีการยกเลิกคำเตือนภัยฉุกเฉินสืบเนื่องจากฝนตกหนักเพราะไต้ฝุ่นฮากีบิส ผู้คนจำนวนหนึ่งเดินทางกลับบ้านจากที่หลบภัย เพียงเพราะจะไปดูระดับน้ำที่สูงขึ้นและไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของตน

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้เรียนรู้บทเรียนนี้ ปัจจุบันหน่วยงานดังกล่าวใช้คำว่า “มีการลดระดับคำเตือนภัยฉุกเฉินมาเป็นคำเตือนภัย” แทนที่จะใช้คำว่า “ยกเลิกคำเตือนภัยฉุกเฉินแล้ว” เจ้าหน้าที่ขอให้ประชาชนยังคงเฝ้าระวังตื่นตัวต่อเหตุน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่งและความเสี่ยงอื่น ๆ แม้ว่าจะไม่ได้ประกาศใช้คำเตือนภัยฉุกเฉินก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2565)