ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

การเตรียมตัวรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติฝนตกหนัก

ตอนที่ 1

อีกไม่นานญี่ปุ่นก็จะเข้าสู่ฤดูฝนและพายุไต้ฝุ่น เมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนักรุนแรง สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออกประกาศเตือนภัยและระวังภัย และทางการท้องถิ่นจะออกคำสั่งให้อพยพหลบภัย เมื่อปี 2562 ญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระดับคำเตือนใหม่ที่มี 5 ระดับ สำหรับฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม

การใช้ระดับคำเตือนดังกล่าวจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าเมื่อใดที่ควรอพยพ โดยการแก้ไขปรับปรุงระดับคำเตือนใหม่มีขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2564 สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังจัดทำข้อมูลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ จีน และเวียดนาม

เราจะอธิบายระดับคำเตือนและให้คำแนะนำว่าควรระมัดระวังอะไรเมื่อต้องอพยพหลบภัย ครั้งนี้ถือเป็นตอนแรก โดยตอนต่อ ๆ ไป เราจะนำเสนอเรื่องระดับของความอันตรายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับคำเตือนแต่ละระดับ และสิ่งที่ทางการแนะนำให้ลงมือปฏิบัติสำหรับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่กำหนด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 2

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม โดยจะมุ่งเน้นที่ 2 ระดับแรก และสิ่งที่ควรทำเมื่อมีการออกคำเตือนดังกล่าว

เมื่อมีการออกคำเตือนระดับ 1 มีการแนะนำให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ระบุในคำเตือนติดตามข้อมูลล่าสุดด้านสภาพอากาศ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของตนเรื่องการเตือนภัยและการเฝ้าระวังภัยที่คาดว่าจะออกประกาศ สิ่งนี้เป็นการแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องความเป็นไปได้ที่จะออกคำเตือนภัยที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศภายในไม่กี่วันนี้ เมื่อมีการออกคำเตือนระดับ 1 คุณควรเฝ้าติดตามข้อมูลล่าสุดด้านสภาพอากาศ ด้วยการตรวจสอบเว็บไซต์ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เป็นต้น

เมื่อมีการออกคำเตือนระดับ 2 มีการขอให้ประชาชนตรวจสอบว่าจะอพยพอย่างไรและอพยพไปที่ใด ในช่วงเวลาดังกล่าว ทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นอาจจะออกประกาศให้ระวังภัยสำหรับฝนตกหนักและน้ำท่วม หากคุณอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด กรุณาทบทวนว่าควรทำอะไรในตอนที่กำลังจะออกจากบ้านและไปหาที่หลบภัย ตรวจสอบแผนที่ภัยพิบัติเพื่อดูว่าในบริเวณที่คุณอยู่อาศัยนั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดภัยพิบัติเช่นใดขึ้นบ้าง ตลอดจนที่หลบภัยที่อยู่ใกล้คุณมากที่สุด และเส้นทางที่คุณจะไปถึงที่นั่น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 3

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นที่คำเตือนระดับ 3 และ 4

เมื่อมีการออกคำเตือนระดับ 3 ขอแนะนำให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายเริ่มการอพยพหลบภัย ทางการท้องถิ่นจะออก “คำเตือนให้อพยพหลบภัย” สำหรับผู้สูงอายุและผู้อยู่อาศัยคนอื่น ๆ

ภายใต้สถานการณ์นี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นอาจจะออกประกาศเตือนภัยเกี่ยวกับฝนตกหนักและน้ำท่วม หน่วยงานต่าง ๆ อาจจะออกเตือนภัยเรื่องน้ำล้นตลิ่ง ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายควรเริ่มอพยพหลบภัย ส่วนคนอื่น ๆ ควรตรวจสอบสถานที่อพยพหลบภัยและเริ่มจัดเก็บข้าวของที่ต้องการนำติดตัวไปด้วย กลุ่มคนเหล่านี้ควรอพยพด้วยความสมัครใจ หากรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย

คำเตือนระดับ 4 คือคำสั่งให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่อันตรายอพยพหลบภัย ทางการท้องถิ่นจะเป็นผู้ออกคำสั่งนี้ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดฝนตกหนักจนทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดดินถล่ม หน่วยงานต่าง ๆ อาจจะประกาศเตือนภัยเรื่องดินถล่ม ตลอดจนเตือนภัยเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น

ผู้คนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่อันตรายซึ่งไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น ควรย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัยเพื่อปกป้องตนเอง สถานที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปหลบภัยได้ไม่ได้มีแค่สถานที่อพยพหลบภัยเพียงเท่านั้น แต่อาคารที่ก่อสร้างอย่างแข็งแรงในย่านพักอาศัยก็เป็นสถานที่ปลอดภัยเช่นกัน ผู้คนควรตรวจสอบสถานที่เช่นว่านี้ไว้ล่วงหน้าโดยใช้แผนที่ภัยพิบัติที่ทางการท้องถิ่นจัดเตรียมไว้ให้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 4

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นที่คำเตือนระดับ 5 ซึ่งเป็นคำเตือนระดับสุดท้าย

คำเตือนระดับ 5 คือคำขอเร่งด่วนฉุกเฉินให้ผู้อยู่อาศัยดำเนินการอะไรก็ตามที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตของตนเอง ทางการท้องถิ่นจะสั่งการให้ประชาชนดำเนินการเพื่อให้ตนเองปลอดภัยโดยทันที มีความเป็นไปได้สูงที่ภัยพิบัติจวนจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ อาจจะเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสถานที่ที่แม่น้ำได้ล้นตลิ่งแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นอาจจะออกคำเตือนภัยฉุกเฉินสูงสุด และอาจจะสายเกินไปที่จะอพยพหลบภัยไปยังสถานที่หลบภัย

เราควรตระหนักไว้ว่าคำสั่งให้ “ดำเนินการเพื่อความปลอดภัย” ของทางการท้องถิ่นนั้นอาจไม่ได้ออกมาอย่างทันท่วงที จึงมีความเสี่ยงที่คุณอาจไม่สามารถทำให้ตัวเองปลอดภัยได้ในสถานการณ์เช่นนี้

เราควรอพยพเมื่อมีการออกประกาศเตือนภัยระดับ 4 ไม่ควรรอจนถึงระดับ 5 ควรพิจารณาว่าคำเตือนระดับ 5 เป็นการขอร้องให้ผู้ที่ไม่สามารถอพยพได้ในช่วงนั้น ดำเนินการอย่างเต็มที่เป็นครั้งที่ 2 เพื่อปกป้องชีวิตของตนเอง อย่าคิดว่ายังคงมีเวลาอยู่เพราะยังไม่มีการออกคำเตือนระดับสุดท้าย ดังนั้น ควรไปยังสถานที่หลบภัยเมื่อมีคำสั่งให้อพยพหลบภัย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 5

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นว่าเรามีตัวเลือกอะไรบ้างเมื่อพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะอพยพหลบภัย

เมื่อเกิดฝนตกหนักกินเวลานานหลายชั่วโมง สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ข้อมูลซึ่งเรียกร้องให้ผู้สูงอายุรวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายอพยพหลบภัย ตลอดจนคำสั่งให้อพยพหลบภัยนั้น อาจออกมาไม่ทันท่วงที อาจเป็นเรื่องยากที่จะย้ายไปยังสถานที่อพยพหลบภัยที่อยู่ไกล หากกำลังมีน้ำท่วมไหลเข้ามาโดยรอบย่านพักอาศัย

ทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ภายใต้สถานการณ์เช่นว่านี้ก็คือการอพยพหลบภัยไปยังสถานที่ปลอดภัยหรืออาคารที่อยู่ใกล้เคียง ถ้าไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกไปข้างนอก ก็อาจขึ้นไปอยู่ชั้นบนของบ้าน หรือไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอาคารให้ห่างจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น หน้าผา

แม่น้ำขนาดกลางหรือขนาดเล็กในบริเวณภูเขาอาจมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ระดับความอันตรายที่เกิดกับชุมชนนั้นอาจต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างชุมชนกับแม่น้ำ และความสูงที่ต่างกันระหว่างที่ตั้งของชุมชนกับแม่น้ำ

พื้นที่ริมแม่น้ำหรือในบริเวณที่อาจจมอยู่ใต้น้ำเมื่อเกิดน้ำท่วมนั้น บ้านเรือนจะมีความเสี่ยงสูงที่จะพังทลายหรือถูกน้ำพัดไป รัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ กำหนดให้สถานที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมซึ่งมีโอกาสที่อาคารจะพังถล่ม ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเช่นนี้ การอพยพอย่างง่ายไปยังชั้นสองของอาคาร อาจไม่เพียงพอต่อการปกป้องชีวิต จึงขอแนะนำให้หาสถานที่ที่ปลอดภัยกว่านั้น

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565)

ตอนที่ 6

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องความจำเป็นที่ผู้คนต้องมี “สวิตช์อพยพหลบภัย” ของตนเอง

หน่วยงานด้านภัยพิบัติและทางการท้องถิ่นจะออกคำเตือนภัยประเภทต่าง ๆ ในช่วงที่ภัยพิบัติจวนจะเกิดขึ้น ทางการท้องถิ่นไม่อาจดูแลประชาชนทุกคนได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นที่ประชาชนจะต้องจัดทำ “สวิตช์อพยพหลบภัย” ของตนเอง เพื่อตัดสินใจล่วงหน้าเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมว่าจะอพยพหลบภัยเมื่อใดและที่ไหน

ประชาชนควรทำให้ตนเองมีความคุ้นเคยกับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติในชุมชนของตน และเรียนรู้ที่จะอพยพหลบภัยอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดภัยพิบัติ

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่ผู้คนอพยพหลบภัยแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลง เมื่อน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่งยามที่เกิดฝนตกหนัก รถยนต์อาจถูกน้ำพัดพาไปได้ง่าย ๆ หากทางการท้องถิ่นออกคำสั่งอพยพหลบภัย ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงต้องเริ่มอพยพหลบภัยโดยทันที

สำหรับผู้ที่ต้องใช้เวลานานกว่าในการอพยพ เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ควรเริ่มอพยพหลบภัยเมื่อมีการออกคำเตือนภัยระดับ 3

ในตอนต่อไป เราจะมุ่งเน้นหัวข้อเฉพาะเจาะจงของสิ่งที่ควรระวังเมื่ออพยพหลบภัย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2565)

ตอนที่ 7

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องหัวข้อเฉพาะเจาะจงของสิ่งที่ควรระวังเมื่ออพยพหลบภัยโดยจะเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการอพยพด้วยการเดิน

ขอแนะนำให้คุณสวมใส่เสื้อผ้าที่เคลื่อนไหวได้คล่องตัวสำหรับการอพยพหลบภัย เช่น กางเกง เลือกเสื้อผ้าแขนยาวและกางเกงขายาวแม้จะเป็นช่วงฤดูร้อน เพื่อเลี่ยงการบาดเจ็บ ส่วนรองเท้านั้น รองเท้าผ้าใบใส่สบายที่คุณสวมอยู่ตลอดถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ไม่แนะนำให้สวมรองเท้าบูทเพราะเมื่อเปียกน้ำแล้วจะหนัก ทำให้เดินลำบาก ไม่ควรสวมรองเท้าแตะเพราะว่าลื่นได้ง่าย

เตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าและใส่สิ่งของจำเป็นเอาไว้ไม่ต้องมากนักเพื่อให้กระเป๋ามีน้ำหนักเบาและถือไปได้ง่าย ขอแนะนำให้ใช้กระเป๋าแบบสะพายหลังเพื่อจะได้ไม่หกล้มและทำให้มือว่าง ควรใช้เสื้อกันฝนแทนที่จะใช้ร่มเพื่อให้คุณปลอดภัย

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2565)

ตอนที่ 8

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องหัวข้อเฉพาะเจาะจงของสิ่งที่ควรระวังเมื่ออพยพหลบภัยโดยจะเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการอพยพด้วยการเดิน ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการเดินไปคนเดียว

เมื่ออพยพหลบภัย ไม่ควรไปคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่มแบบ 2 คนหรือมากกว่านั้นเท่าที่จะเป็นไปได้ เลี่ยงพื้นที่ที่น้ำท่วม เมื่อระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตรหรือสูงเหนือเข่า แรงดันน้ำจะทำให้เดินลำบาก ต่อให้เป็นผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เมื่อน้ำไหลไป ผู้คนอาจเสียการทรงตัวและถูกน้ำพัดไป แม้จะเป็นน้ำตื้น ๆ ก็ตาม

เมื่อน้ำท่วมถนน เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นพื้นถนน ดังนั้นผู้คนอาจสะดุดได้โดยง่าย บางคนอาจตกลงไปในท่อระบายน้ำที่ฝาท่อเปิดอยู่ หรือตกลงไปในคูคลองและถูกน้ำพัดไป

เมื่อคุณต้องอพยพผ่านบริเวณที่ถูกน้ำท่วมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ควรเลี่ยงสถานที่ที่มีน้ำท่วมสูงและน้ำไหลบ่า ใช้ร่มหรือไม้ยาว ๆ เพื่อตรวจดูว่าจุดที่จะก้าวไปข้างหน้านั้นปลอดภัยหรือไม่ และเดินไปอย่างระมัดระวัง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565)

ตอนที่ 9

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ตลอดจนหัวข้อเฉพาะเจาะจงของสิ่งที่ควรระวังเมื่ออพยพหลบภัย ครั้งนี้จะเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการอพยพโดยรถยนต์

อย่าคิดว่าคุณจะสามารถอพยพหลบภัยได้อย่างปลอดภัยด้วยการขับรถยนต์เสมอไป เมื่อครั้งที่มีพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสเมื่อเดือนตุลาคม 2562 นั้น ผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่อยู่ด้านนอกร้อยละ 40 เสียชีวิตขณะหนีภัยด้วยรถยนต์ บางคนถูกน้ำท่วมพัดพารถไปขณะกำลังขับรถ บางคนเสียชีวิตหลังจากที่รถของตนตกลงไปในหลุมบนถนนที่ทรุดลงไป

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไม่ให้ผู้คนพยายามกลับบ้านหรือไปทำงานด้วยความรีบเร่ง โดยคิดว่าจะปลอดภัยตราบใดที่อยู่ในรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบริเวณนั้นมีฝนตกหนักและลมแรง

ควรหลีกเลี่ยงการขับรถบนถนนเลียบแม่น้ำหรือริมนาข้าว เมื่อน้ำในแม่น้ำหรือในนาข้าวเอ่อล้นออกมา การแยกขอบเขตระหว่างส่วนที่เป็นถนนกับผืนน้ำนั้นถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก รถยนต์จึงอาจตกลงในแม่น้ำหรือนาข้าวได้โดยง่าย บางคนเสียชีวิตด้วยเหตุนี้เมื่อครั้งที่มีพายุไต้ฝุ่นและฝนตกหนักในอดีต ในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก ต้องมั่นใจว่าถนนที่คุณใช้มีความปลอดภัย แม้คุณจะคุ้นเคยกับถนนนี้ดีก็ตาม

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565)

ตอนที่ 10

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ตลอดจนหัวข้อเฉพาะเจาะจงของสิ่งที่ควรระวังเมื่ออพยพหลบภัย ครั้งนี้จะเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการอพยพโดยรถยนต์ซึ่งจะมุ่งเน้นยังข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อเกิดน้ำท่วม รถยนต์อาจถูกพัดพาไปได้อย่างง่ายดาย

การขับรถบนถนนที่ถูกน้ำท่วมนั้นอันตราย แม้จะดูเหมือนว่าน้ำท่วมไม่ได้รุนแรงอะไร แต่จริง ๆ แล้วน้ำอาจลึกก็เป็นได้ มีความเสี่ยงที่รถยนต์ของคุณอาจดับอยู่ในน้ำหรือถูกน้ำพัดพาไป นอกจากนี้ เมื่อถนนถูกน้ำท่วมและคุณมองไม่เห็นพื้นผิวถนน ก็อาจเสี่ยงที่จะตกลงไปในหลุม คูน้ำ และคลองชลประทานเพราะไม่ทันสังเกตเห็น

ควรเลี่ยงที่จะขับรถไปยังถนนที่ถูกน้ำท่วมและเลือกเส้นทางอื่นแทน เมื่อคุณจำต้องขับบนถนนที่มีน้ำท่วม ให้ขับช้า ๆ และทิ้งระยะห่างระหว่างรถของคุณกับคันข้างหน้าให้เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำที่กระเด็นมาจากรถคันข้างหน้าอาจบดบังทัศนวิสัยของคุณได้ และคุณก็อาจชนกับรถคันข้างหน้าหากคันนั้นเบรกกะทันหัน นอกจากนี้ การขับรถด้วยความเร็วสูงจะทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ที่อาจไหลเข้ามายังเครื่องยนต์และทำให้เกิดความเสียหายได้

เมื่อขับไปบนถนนที่มีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เครื่องยนต์จะดับ เมื่อระดับน้ำแตะที่ 50 เซนติเมตรหรือสูงกว่านั้น รถของคุณอาจเริ่มลอยและถูกน้ำพัดพาไป ในกรณีที่เป็นรถยนต์โดยสาร ควรมั่นใจว่าระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าประตูรถหรืออยู่ใต้ท้องรถ แต่ก็ควรระวังไว้ด้วยว่ารถอาจถูกน้ำพัดพาไปได้โดยง่ายแม้กระทั่งในน้ำตื้น ๆ หากว่ากระแสน้ำแรง เช่น น้ำในแม่น้ำที่เอ่อล้นตลิ่ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2565)

ตอนที่ 11

เราจะนำเสนอระดับคำเตือน 5 ระดับของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ตลอดจนหัวข้อเฉพาะเจาะจงของสิ่งที่ควรระวังเมื่ออพยพหลบภัย ครั้งนี้เราจะแนะนำการขับรถยนต์อย่างระมัดระวังเมื่อต้องขับผ่านทางลอดในยามที่ต้องอพยพหลบภัยโดยรถยนต์

ทางลอดที่อยู่ใต้ทางรถไฟและถนนนั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกน้ำท่วม ทางลอดเหล่านี้อยู่ต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบ น้ำฝนจึงสะสมในเวลาอันสั้น ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากผู้ขับขี่ขับเข้าไปในทางลอดโดยไม่ได้ระวังว่ามีน้ำท่วมอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงขอแนะนำให้คุณเลี่ยงการใช้ทางลอดในยามที่ต้องอพยพหลบภัย หากเป็นไปได้ก็ให้เลือกถนนเส้นอื่นแทน ถ้าไม่มีทางเลือกอื่น ให้ขับช้า ๆ และตรวจสอบระดับน้ำบนถนนขณะที่กำลังขับไป

เมื่อรถติดอยู่ในน้ำท่วม การเปิดประตูจากด้านในรถจะทำได้ยากเนื่องจากแรงดันน้ำ ยิ่งประตูมีขนาดใหญ่แค่ไหน แรงดันน้ำก็ยิ่งมากเท่านั้น ดังนั้นก็จะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่จะออกจากรถยนต์ที่มีประตูขนาดใหญ่หรือประตูเลื่อน

ขอแนะนำให้คุณเก็บเครื่องมือไว้ในรถเพื่อทุบกระจกให้แตกในกรณีฉุกเฉิน ถ้าคุณไม่มีเครื่องมือใด ๆ ให้ดึงพนักพิงศีรษะออกจากเบาะที่นั่ง ใช้แท่งโลหะด้านใดด้านหนึ่งเสียบลงไปในช่องระหว่างกรอบประตูรถกับกระจกหน้าต่าง และงัดแท่งโลหะไปข้างหน้าเพื่อทำให้กระจกแตก จำไว้ว่าแม้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คุณยังสามารถเปิดประตูรถได้เมื่อมวลน้ำปริมาณมากไหลเข้ามาในรถและระดับน้ำภายในรถกับด้านนอกรถอยู่ในระดับเดียวกัน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2565)