ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

ควรเตรียมของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรเพื่อรับมือภัยพิบัติ

ตอนที่ 1

การสำรองสิ่งของต่าง ๆ นั้นจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ แต่ต่อให้คุณทราบเรื่องนี้ ก็อาจมีหลายคนที่สงสัยว่าควรสำรองสิ่งของประเภทใดและในจำนวนมากเท่าใด เราจะนำเสนอเกี่ยวกับการสำรองสิ่งของโดยมุ่งเน้นว่าควรสำรองสิ่งของประเภทใดและวิธีสำรองให้ได้ประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติแนะนำสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “rolling stock” ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสำรองสิ่งของไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

นี่เป็นวิธีการสำรองสิ่งของตามปกติโดยเทียบดูจากสิ่งที่สามารถเก็บได้นาน เช่น เครื่องดื่มและอาหาร ตลอดจนสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน และของสำหรับบริโภคซึ่งใกล้จะถึงวันหมดอายุแล้ว จากนั้นจึงนำของใหม่มาเปลี่ยนแทนของที่ได้ใช้ไปแล้ว

น้ำและอาหารจัดเป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับการเก็บสำรอง คุณควรสำรองสิ่งของสำหรับกรณีฉุกเฉินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้อย่างน้อย 3 วัน แต่แนะนำให้สำรองไว้สำหรับ 1 สัปดาห์

การสำรองน้ำ อาหาร และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันให้เพียงพอสำหรับ 1 สัปดาห์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วิธีแบบ “rolling stock” จะช่วยให้คุณเตรียมสิ่งที่คุณต้องการได้

สำหรับน้ำที่ใช้ดื่มและประกอบอาหารนั้น บุคคล 1 คนจะใช้น้ำ 3 ลิตรต่อวัน และควรเตรียมน้ำให้เพียงพอสำหรับใช้ 3 วันเป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใหญ่ 2 คนจะต้องสำรองน้ำโดยนำจำนวน 3 ลิตรมาคูณ 2 และคูณ 3 วันเข้าไปด้วย ซึ่งจะเท่ากับ 18 ลิตร

คุณสามารถสำรองเครื่องดื่มอื่น ๆ ไว้ด้วยได้ เช่น ชาหรือน้ำอัดลม

ปัจจุบัน น้ำดื่มที่สามารถเก็บได้นาน 5 ถึง 10 ปีมีวางจำหน่ายแล้วในญี่ปุ่น คุณสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เช่นว่านี้เก็บสำรองไว้รวมกับน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไปได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2565)

ตอนที่ 2

การสำรองสิ่งของต่าง ๆ นั้นจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเคล็ดลับอันเป็นประโยชน์ในการสำรองสิ่งของทั้งหลายที่สามารถทำได้อย่างง่าย ๆ โดยตอนนี้จะมุ่งเน้นว่าควรเก็บสำรองอาหารอะไร

เราแนะนำให้สำรองอาหารที่คุณรับประทานเป็นปกติไว้ในสิ่งของสำรองยามฉุกเฉิน เพื่อให้มีปริมาณมากเพียงพอ แต่เมื่อคำนึงว่าการประกอบอาหารอาจเป็นเรื่องยากในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉิน จึงขอแนะนำให้รวมอาหารพิเศษบางชนิดที่คุณสามารถประกอบอาหารได้โดยไม่ต้องใช้ไฟ

อาหารประจำวันที่ได้รับการแนะนำมากที่สุดได้แก่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือบะหมี่แห้ง ข้าวกึ่งสำเร็จรูป และอาหารรีทอร์ต เช่น แกงหรือเนื้อที่ผ่านการปรุงแล้วบรรจุถุงปิดสนิท ตลอดจนอาหารกระป๋อง น้ำผักและผลไม้ประเภทที่สามารถเก็บได้นาน

ในบรรดาอาหารฉุกเฉินนั้น มีการแนะนำให้สำรองข้าวอบแห้งที่ในญี่ปุ่นเรียกว่า “alpha-mai” ซึ่งสามารถรับประทานได้เพียงแค่เทน้ำลงไป และบรรจุภัณฑ์อาหารฉุกเฉินที่มีอุปกรณ์อุ่นในตัว ตลอดจนขนม เช่น ขนมปังอบแห้งและคุกกี้

ในยามฉุกเฉิน ผู้คนมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ด้วยเหตุนี้การเตรียมอาหารกระป๋องและน้ำผักเอาไว้จึงสำคัญ เพื่อให้คุณได้สารอาหารอื่น ๆ จากเนื้อสัตว์ ปลา และผัก

นอกจากนี้ ยังควรตระหนักไว้ด้วยว่านม อาหารสำหรับเด็กทารก และอาหารที่ปราศจากสารที่ทำให้แพ้ อาจหายากในช่วงฉุกเฉิน จึงจำเป็นที่จะต้องสำรองอาหารเช่นว่านี้ไว้ในปริมาณที่มากพอสำหรับเด็กทารก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังรวมถึงภูมิแพ้

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้สำรองอาหารต่าง ๆ ไว้สำหรับ 2 สัปดาห์ เนื่องจากการจัดหาสิ่งของเหล่านี้อาจชะงักไปหลังเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 3

การสำรองสิ่งของต่าง ๆ นั้นจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเคล็ดลับอันเป็นประโยชน์ในการสำรองสิ่งของทั้งหลายที่สามารถทำได้อย่างง่าย ๆ โดยตอนนี้จะมุ่งเน้นเรื่องน้ำ

เมื่อเกิดภัยพิบัติ การจ่ายน้ำประปาอาจระงับไประยะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว แม้กระทั่งการกดชักโครก เราก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับดื่มและประกอบอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงน้ำที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ด้วย วิธีหนึ่งก็คือการเก็บน้ำไว้ในอ่างอาบน้ำแทนที่จะปล่อยทิ้งไปหลังจากอาบเสร็จ แต่ครอบครัวที่มีเด็กเล็กต้องระวังเรื่องนี้ เพราะเด็กเล็กอาจตกลงไปในอ่างน้ำและจมน้ำได้

นอกจากนี้ ยังขอแนะนำให้คุณสำรองสิ่งของต่าง ๆ ที่สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้น้ำ เช่น ชุดห้องน้ำฉุกเฉิน แชมพูแบบที่ไม่ต้องใช้น้ำ ทิชชูเปียกและพลาสติกใสสำหรับห่ออาหาร เพราะการใช้พลาสติกใสดังกล่าวมารองบนจานเวลารับประทานอาหาร จะช่วยให้จานยังคงสะอาดอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องใช้น้ำล้างจาน

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 4

การสำรองสิ่งของต่าง ๆ นั้นจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเคล็ดลับอันเป็นประโยชน์ในการสำรองสิ่งของทั้งหลายที่สามารถทำได้อย่างง่าย ๆ โดยตอนนี้จะมุ่งเน้นเรื่องสิ่งที่ควรทำเพื่อรับมือเหตุไฟฟ้าดับ

เมื่อไม่มีไฟฟ้าก็หมายถึงไม่มีแสงไฟ และเมื่อไม่มีไฟฟ้า คุณก็ไม่สามารถเปิดโทรทัศน์หรือใช้งานสมาร์ตโฟนได้ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นจึงควรเตรียมอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างไว้ให้พร้อม เช่น ไฟฉายขนาดเล็ก ไฟฉายแบบคาดศีรษะ ไฟแบบคล้องคอ และไฟฉายขนาดใหญ่ไว้สำหรับใช้งานภายในบ้าน

ไฟฉายและหลอดไฟแบบ LED เหมาะสมมากกว่าสำหรับการอพยพหลบภัยเป็นเวลานานเนื่องจากแบตเตอรี่อยู่ได้นานกว่าหลอดไฟแบบปกติ

สำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น ควรเตรียมวิทยุพกพาและแบตเตอรี่สำรองสำหรับชาร์จสมาร์ตโฟนที่สามารถให้พลังงานจากแบตเตอรี่แห้งหรือพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้

เมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ กล่าวกันว่าการกลับมาจ่ายแก๊สได้อีกครั้งนั้นใช้เวลานานมากที่สุดในบรรดาบริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลาย ดังนั้น การเตรียมเตาแก๊สแบบพกพาและอุปกรณ์ประกอบอาหารอื่น ๆ เอาไว้ให้พร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คุณสามารถทำอาหารอุ่น ๆ รับประทานได้

เมื่อใช้เตาแก๊สแบบพกพา คุณต้องมีแก๊สสำรองประมาณ 6 กระป๋องต่อ 1 คน ต่อ 1 สัปดาห์

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2565)

ตอนที่ 5

การสำรองสิ่งของต่าง ๆ นั้นจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เราจะนำเสนอเคล็ดลับอันเป็นประโยชน์ในการสำรองสิ่งของทั้งหลายที่สามารถทำได้อย่างง่าย ๆ โดยตอนนี้จะมุ่งเน้นเรื่องสิ่งของสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งของเหล่านี้จะช่วยได้เมื่อคุณต้องอยู่ที่สถานที่อพยพหลบภัยเป็นเวลาหลายวัน

เราขอแนะนำให้คุณหมั่นเก็บสำรองสิ่งของเหล่านี้ไว้เป็นพิเศษในกระเป๋าฉุกเฉินของคุณ โดยเฉพาะสิ่งที่ใช้ร่วมกับคนอื่นลำบาก สิ่งของดังกล่าวได้แก่
– แปรงสีฟัน, น้ำยาบ้วนปาก
– แว่นตา, คอนแทคเลนส์, น้ำยาทำความสะอาด
– ห้องน้ำแบบพกพา, กระดาษชำระ, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้หญิง
– ถุงน่อง ซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันอาการที่เกิดจากหลอดเลือดดำอุดตัน เนื่องจากการนั่งท่าเดิมนาน ๆ หรือ economy class syndrome
– ที่ปิดตา, ที่อุดหู
– ถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะ ซึ่งสามารถใช้เป็นเสื้อกันฝนและห้องน้ำชั่วคราวได้ด้วย
– รองเท้าสวมเดินในบ้านแบบใช้แล้วทิ้ง
– พัดกระดาษและผ้าเย็นสำหรับช่วงฤดูร้อน
– อุปกรณ์ให้ความอบอุ่นสำหรับใส่ไว้ในเสื้อผ้าและถุงมือสำหรับช่วงฤดูหนาว

การเตรียมสิ่งของทั้งหมดในคราวเดียวอาจเป็นเรื่องยาก แต่กรุณาตระหนักไว้ว่าภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสำรองสิ่งของพิเศษเหล่านี้ไว้อย่างสม่ำเสมอ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565)