ถาม-ตอบเรื่องภัยพิบัติ

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 1

เราจะรายงานเรื่องประเภทของข้อมูลและการแจ้งเตือนที่มีขึ้นหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่รวมถึงสิ่งที่คุณพึงระวังเอาไว้

ในบางครั้ง สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะออก “คำเตือนก่อนแผ่นดินไหว” ล่วงหน้าการเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง โดยระยะเวลาระหว่างการแจ้งเตือนกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมานั้น ทิ้งห่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานมักจะไม่สามารถออกคำเตือนได้ทันท่วงที ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรกก็คือการดำเนินขั้นตอนเพื่อรับประกันความปลอดภัย

เมื่ออยู่ภายในอาคาร ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ป้องกันศีรษะของคุณและไปหลบยังสถานที่ปลอดภัย เช่น ใต้โต๊ะที่แข็งแรง
2. ไม่ควรรีบออกไปข้างนอก หรือพยายามมากจนเกินไปในการปิดเตาประกอบอาหารหรือเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟ
3. เมื่ออยู่ภายในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากอยู่ร่วมกัน ไม่ควรรีบไปยังทางออก
4. ไม่ควรยืนใต้หลอดไฟแบบแขวนหรือวัตถุอื่น ๆ ที่อยู่เหนือศีรษะ
5. หากใช้ลิฟต์อยู่ ให้หยุดที่ชั้นที่ใกล้ที่สุด

เมื่ออยู่ภายนอกอาคาร ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. อยู่ห่างจากอาคารในกรณีที่อาจเกิดกำแพงถล่ม ป้ายสัญญาณต่าง ๆ หรือกระจกจากหน้าต่างที่แตกร่วงลงมาจากด้านบน
2. อพยพและเข้าไปอยู่ในอาคาร หากอาคารนั้นดูเหมือนว่าก่อสร้างมาอย่างแข็งแรง
3. ระมัดระวังกำแพงอิฐบล็อกหรือเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติล้มลงมาทับ
4. พยายามอยู่ห่างจากภูเขาหรือเนินที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดหินร่วงและหิมะถล่ม
5. เมื่อขับรถยนต์ ไม่ควรชะลอรถโดยทันที ก่อนอื่นควรเปิดไฟสัญญาณฉุกเฉิน จากนั้นก็ลดความเร็วลง ควรทิ้งกุญแจรถไว้บนรถเมื่อออกมาจากรถ

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 2

เราจะมุ่งเน้นเรื่องระดับการวัดแรงสั่นสะเทือนที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นใช้อยู่

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นใช้การวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชินโดะ” ในการออกคำเตือนก่อนแผ่นดินไหว โดยวัดจากเครื่องวัดที่ติดตั้งอยู่ทั่วญี่ปุ่น

การวัดนี้มีทั้งหมด 10 ระดับ เริ่มจาก 0, 1, 2, 3, 4, 5-, 5+, 6-, 6+ และ 7 ทางสำนักงานแบ่งแต่ละระดับโดยใช้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ระดับ 0 คือระดับที่ผู้คนไม่รู้สึกแต่สามารถวัดได้จากเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว

ระดับ 1 คือระดับที่ผู้คนที่อยู่เงียบ ๆ ภายในอาคาร จะรู้สึกได้เล็กน้อย

ระดับ 2 คือระดับที่ผู้คนที่อยู่เงียบ ๆ ในอาคารหลายคนรู้สึกได้ บางคนที่นอนอยู่อาจตื่นนอน วัตถุที่แขวนอยู่ เช่น โคมไฟอาจแกว่งเล็กน้อย

ระดับ 3 คือระดับที่ผู้คนจำนวนมากในอาคารรู้สึกได้ บางคนที่เดินอยู่อาจรู้สึก คนจำนวนมากที่นอนอยู่ตื่นนอน จานชามในตู้อาจกระทบกันจนเกิดเสียง สายไฟฟ้าแกว่งเล็กน้อย

ระดับ 4 คือระดับที่ผู้คนส่วนใหญ่ตกใจ คนที่เดินอยู่ส่วนมากรู้สึกได้ ผู้คนส่วนมากที่นอนอยู่ตื่นนอน วัตถุที่แขวนอยู่ เช่น โคมไฟแกว่งอย่างเห็นได้ชัด และจานชามในตู้กระทบกันจนเกิดเสียง ของประดับที่ไม่มั่นคงอาจร่วงลงมา สายไฟแกว่งอย่างเห็นได้ชัด พาหนะที่ขับเคลื่อนอยู่อาจสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนได้

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 3

เราจะเสนอเรื่องระดับการวัดแรงสั่นสะเทือนที่ใช้ในญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นที่ระดับ 5 ซึ่งแบ่งเป็น 5- และ 5+ โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นแบ่งแต่ละระดับโดยใช้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ระดับ 5- คือระดับที่ผู้คนจำนวนมากหวาดกลัวและรู้สึกว่าต้องยึดจับอะไรบางอย่างให้มั่นคง วัตถุที่แขวนอยู่ เช่น โคมไฟ แกว่งอย่างรุนแรง จานชามในตู้และของที่อยู่บนชั้นหนังสืออาจร่วงลงมา ของประดับที่ไม่มั่นคงจำนวนมากร่วงลงมา เครื่องเรือนที่ไม่มีตัวยึดอาจเคลื่อนได้ และเครื่องเรือนที่ไม่มั่นคงอาจล้มลงมา ในบางกรณี หน้าต่างกระจกอาจแตกและร่วง ผู้คนจะเห็นว่าเสาไฟฟ้าสั่นไหว อาจเกิดความเสียหายบนท้องถนน

ระดับ 5+ คือระดับที่ผู้คนจำนวนมากเคลื่อนไหวลำบาก เป็นเรื่องยากที่จะเดินโดยไม่จับอะไรบางอย่างให้มั่นคง จานชามในตู้และสิ่งของบนชั้นหนังสือมีแนวโน้มสูงที่จะร่วงลงมา โทรทัศน์อาจร่วงจากชั้นวาง และเครื่องเรือนที่ไม่มีที่ยึดอาจล้มคว่ำ กระจกหน้าต่างอาจแตกและร่วงลงมา กำแพงอิฐบล็อกที่ไม่เสริมความแข็งแรงอาจพังถล่มและเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ติดตั้งไม่ดีอาจล้มลง รถยนต์อาจต้องหยุดเพราะคนขับบางคนรู้สึกว่าขับต่อไปได้ยาก

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 4

เราจะเสนอเรื่องระดับการวัดแรงสั่นสะเทือนที่ใช้ในญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นที่ระดับ 6 ซึ่งแบ่งเป็น 6- และ 6+ และระดับ 7 โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นแบ่งแต่ละระดับโดยใช้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ระดับ 6- คือระดับที่ยืนต่อไปลำบาก เครื่องเรือนจำนวนมากที่ไม่ได้ยึดไว้เคลื่อนที่และอาจล้มลง อาจเปิดประตูไม่ได้ กระเบื้องบนกำแพงและหน้าต่างอาจเสียหายและร่วงลงมา

ระดับ 6+ คือระดับที่ไม่สามารถยืนได้หรือไม่อาจเคลื่อนที่ได้ถ้าไม่คลานไป ผู้คนอาจกระเด็นตัวลอยด้วยแรงสั่นสะเทือน เครื่องเรือนที่ไม่ได้ยึดไว้เคลื่อนที่ และมีโอกาสสูงที่จะล้มลงมา กระเบื้องที่กำแพงและหน้าต่างมีแนวโน้มสูงที่จะแตกและร่วง กำแพงอิฐบล็อกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เสริมความแข็งแรงถล่มลงมา

ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เครื่องเรือนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ยึดไว้เคลื่อนที่และล้มลงมา หรืออาจกระดอนขึ้นไป กระเบื้องที่กำแพงและหน้าต่างยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีกที่จะแตกและร่วง กำแพงอิฐบล็อกซึ่งรวมถึงที่ไม่ได้เสริมความแข็งแรงอาจถล่มลงมา

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 5

เราจะเสนอเรื่องการเคลื่อนที่ของแผ่นดินที่กินระยะเวลานาน

แผ่นดินไหวใหญ่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นดินเป็นระยะเวลานานซึ่งทำให้อาคารสูงทั้งหลายสั่นอย่างช้า ๆ เป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่ออาคารที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวไปหลายร้อยกิโลเมตร

ยิ่งแผ่นดินไหวใหญ่มากและจุดศูนย์กลางอยู่ตื้นมากเท่าไหร่ การเคลื่อนที่ของแผ่นดินเป็นระยะเวลานานก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นมากเท่านั้น แม้ว่าแรงสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้บนแผ่นดินจะต่ำแต่การเคลื่อนที่ของแผ่นดินเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปของอาคารสูงทั้งหลายโอนเอนไปมาได้

เมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ส่งผลให้อาคารสูงไม่ใช่แค่ในกรุงโตเกียวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงในโอซากาซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวไปราว 700 กิโลเมตร เกิดความเสียหายเนื่องจากการเคลื่อนที่ของแผ่นดินเป็นเวลานาน โดยแรงสั่นสะเทือนที่วัดได้บนแผ่นดินที่โอซากา ณ ช่วงเวลานั้นอยู่ที่ระดับ 3

เมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นดิน เครื่องเรือนและเครื่องถ่ายเอกสารที่มีล้อเลื่อนติดอยู่ที่ฐานจะเคลื่อนไปอย่างมาก เครื่องเรือนที่ไม่ได้ยึดไว้สามารถเคลื่อนที่หรือล้มคว่ำลงมาได้ กรุณาปกป้องตัวของคุณเองด้วยการอยู่ในที่ที่มีเครื่องเรือนและวัตถุน้อยชิ้นจนกว่าแรงสั่นสะเทือนจะหยุด

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 6

เราจะเสนอว่าแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเตือนว่าแผ่นดินไหวใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในหลายด้านดังต่อไปนี้

– เรื่องแก๊ส อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในมิเตอร์แก๊สอาจทำงานโดยหยุดการจ่ายแก๊ส ในกรณีที่เกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง อาจมีการหยุดจ่ายแก๊สทั่วทั้งพื้นที่ให้บริการ
– เรื่องน้ำประปาและไฟฟ้า อาจมีการระงับการจ่ายน้ำประปาและไฟฟ้าอาจดับ
– เรื่องบริการรถไฟและทางด่วน การให้บริการรถไฟอาจถูกระงับและอาจปิดใช้ทางด่วนเพื่อตรวจสอบยืนยันความปลอดภัย บรรดาผู้ประกอบการอาจกำหนดเรื่องความเร็วและข้อจำกัดอื่น ๆ ตามการตัดสินใจของตน
– เรื่องโทรศัพท์และวิธีอื่น ๆ ในการติดต่อสื่อสาร อาจเกิดปัญหาในการเชื่อมต่อโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนมากทั้งในและโดยรอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยพวกเขาพยายามยืนยันความปลอดภัยของครอบครัวและเพื่อนฝูง หรือเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ เพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมจะให้บริการกระดานฝากข้อความและบริการข้อความเสียง
– เรื่องลิฟต์ ลิฟต์ที่มีอุปกรณ์ควบคุมเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะหยุดโดยอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัย โดยจะกลับมาให้บริการอีกครั้งก็ต่อเมื่อตรวจสอบยืนยันเรื่องความปลอดภัยแล้ว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 7

เราจะเสนอว่าควรระมัดระวังอะไรหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่

1. อาคารทั้งหลายที่ความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวต่ำอาจถล่มลงมาได้ หากคุณรู้สึกกังวล ควรไปหลบภัยยังศูนย์อพยพหลบภัย
2. อาจเกิดโคลนถล่มตามหน้าผาและพื้นที่ลาดเอียง หากคุณรู้สึกกังวล ควรไปหลบภัยยังศูนย์อพยพหลบภัย ถ้าไม่สามารถไปยังสถานที่เช่นว่านี้ได้ ให้อาศัยอยู่ที่ชั้นสองหรือสูงกว่านั้น หรือย้ายไปยังห้องที่อยู่ห่างจากหน้าผาและพื้นที่ลาดเอียง
3. อาจเกิดภาวะดินเหลวในพื้นที่ถมใหม่และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ส่งผลให้พื้นผิวอ่อนตัวและมีรอยแยก ควรระมัดระวังขณะเดินในช่วงที่อพยพหลบภัย
4. เพลิงไหม้ในพื้นที่ที่อยู่ติดกันอาจลามออกไปและมาใกล้ในย่านที่คุณพักอาศัย กรุณาไปหลบภัยที่ศูนย์อพยพหลบภัยก่อนที่จะสายเกินไป
5. คุณอาจต้องใช้แสงจากเทียนในช่วงที่ไฟฟ้าดับ แต่ต้องมั่นใจว่าดับเทียนทุกครั้งที่คุณไม่ได้ใช้ นอกจากนี้ก็ควรสับสวิตช์เพื่อตัดวงจรไฟฟ้าในบ้านก่อนที่จะอพยพ เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ที่เกิดจากสายไฟฟ้าส่วนที่เสียหายหลังจากที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2565)

ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนที่ 8

เราควรระมัดระวังเรื่องแผ่นดินไหวอีกหลายครั้งที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวครั้งแรกอย่างไร

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ก็มักจะมีแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงน้อยกว่าซึ่งเรียกว่าอาฟเตอร์ช็อกหรือแผ่นดินไหวระลอกหลังตามมาอีกหลายครั้ง

แต่ในบางครั้ง แผ่นดินไหวที่รุนแรงมากกว่าอาจเกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายนปี 2559 เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 6.5 ในจังหวัดคูมาโมโตะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งหากวัดด้วยมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีระดับ 0-7 นั้น แผ่นดินไหวดังกล่าวอยู่ในระดับ 7 ประมาณ 28 ชั่วโมงหลังจากนั้น เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดหรือแมกนิจูด 7.3 ที่บริเวณเดียวกันนี้

หลังเกิดแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัย คุณควรระมัดระวังดังต่อไปนี้

1. ระมัดระวังอาฟเตอร์ช็อกที่อาจรุนแรงเท่ากับแผ่นดินไหวครั้งแรกในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์
2. เตรียมพร้อมสำหรับอาฟเตอร์ช็อกที่มีความรุนแรงมากกว่าแผ่นดินไหวครั้งแรกในช่วง 2-3 วัน
3. ระมัดระวังหินร่วงและดินถล่มที่อาจเกิดขึ้นได้
4. เฝ้าระวังว่าอาจเกิดอาคารถล่มหลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับ 6 ขึ้นไปตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น

มีการแนะนำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเฝ้าระวังตื่นตัวต่ออาฟเตอร์ช็อกและแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงมากกว่าซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาในระยะหนึ่ง

(ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2565)